อำเภอลานกระบือ

 

          อำเภอลานกระบือ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 โดยแยกมาจากอำเภอพรานกระต่าย
เดิมมี 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลลานกระบือ ตำบลหนองหลวง และตำบลช่องลม ปัจจุบัน มี 7 ตำบล โดยเพิ่มตำบล โนนพลวง ตำบลจันทิมา ตำบล บึงทับแรด และตำบลประชาสุขสันต์ ( ดงอีบุก)
          ในอดีต ตำบลลานกระบือ มีควายป่าเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และประชาชนทำนาปลูกข้าว ทุกบ้านเลี้ยงควายไว้ทำนา ทำให้มีจำนวนควายมากมาย จึงเรียกกันว่า ตำบลลานกระบือ
          เมื่อราว พ.ศ. 2504 – 2505 นายธวัช แผ่ความดี นายอำเภอพรานกระต่าย ได้สำรวจ เส้นทาง พรานกระต่าย ลานกระบือ จากทางเดิมซึ่งเป็นทางเกวียน ทำเป็นถนนอย่างถาวรทำให้ การคมนาคม จากอำเภอพรานกระต่าย มาตำบลลานกระบือสะดวกขึ้น จนแยกมาเป็นกิ่งอำเภอลานกระบือ และอำเภอลานกระบือในที่สุด
คำขวัญอำเภอลานกระบือ
            แหล่งน้ำมันสิริกิติ์     ผลิตก๊าซธรรมชาติ     พุทธศาสตร์ลือเลื่อง     เมืองแห่งความสะอาด    
แหล่งน้ำมันสิริกิติ์
         
   อำเภอลานกระบือ เป็นแหล่งน้ำมันที่สำคัญ ของประเทศไทย ได้รับพระราชทานนามว่า
แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2524 โดยผลิตน้ำมันได้วันละ 19,000 – 20,000 บาร์เรลนับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง
ผลิตก๊าซธรรมชาติ
            แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ นอกจากผลิตน้ำมันดิบได้แล้ว ยังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติ ได้ถึงวันละ 40-50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถผลิตก๊าซหุงต้ม ( แอล พี จี) ได้ถึง 280 – 300 ตันต่อวัน ช่วยประหยัดการนำเข้าได้จำนวนมาก
พุทธศาสตร์ลือเลื่อง
            อำเภอลานกระบือ มีพระเถระผู้ใหญ่ที่ทรงพุทธคุณและวิทยาคุณ เป็นที่เลื่องลือไป ทั่วประเทศ คือหลวงพ่อขำ แห่งวัดโพธิ์เตี้ย และหลวงพ่อกลับ แห่งวัดแก้วสุริย์ฉาย คำสอนและความกรุณาที่มีต่อประชาชนยังตรึงใจและเป็นที่เล่าขานกันมาจนทุกวันนี้
เมืองแห่งความสะอาด
            อำเภอลานกระบือ เป็นอำเภอที่สะอาด มีระเบียบ ทั้งถนนหนทางและ อาคารสถานที่ ตลอดจนบ้านเรือนราษฎร รักษาความสะอาดกันทั้งบ้านเรือนและจิตใจ
            อำเภอลานกระบือจึงมีคำขวัญที่ฉายภาพ อำเภอได้อย่างเหมาะสมและเด่นชัด ทำให้การศึกษาเรื่องราว ของอำเภอลานกระบือ ง่ายและชัดเจน
            อำเภอลานกระบือ มีชื่อเรียกขานกันตั้งแต่สมัยโบราณว่า บ้านลานควาย เหตุที่เรียกว่า บ้านลานควายเพราะ เพราะในอดีต บริเวณที่ตั้งของวัดแก้วสุริย์ฉาย ในปัจจุบัน มีฝูงควายป่าจำนวนมากมาอาศัยกินดินโป่ง ต่อมาเมื่อมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น จึงยกฐานะขึ้นเป็นตำบล กิ่งอำเภอ และอำเภอในที่สุด และ เนื่องจากมีชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนืออพยพเข้ามาจำนวนมาก
ทำให้การเรียกชื่อบ้านลานควาย กลายเป็นอย่างอื่นไป จึงพร้อมใจกันเปลี่ยนเป็นลานกระบือในปัจจุบัน
            อำเภอลานกระบือ ตั้งอยู่ ถนนสายกำแพงเพชร - พิษณุโลก มีพื้นที่ 359 ตารางกิโลเมตร
โดยมีอาณาเขตดังนี้
                        ทิศเหนือ            ติดต่อกับ อำเภอคิรีมาศ จังหวัดสุโขทัย และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
                        ทิศใต้                ติดต่อกับ อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร
                        ทิศตะวันออก       ติดต่อกับ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
                        ทิศตะวันตก         ติดต่อกับ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
ลักษณะภูมิประเทศ
            พื้นที่เป็นที่ราบ เหมาะสำหรับทำการเกษตร ดินร่วนปนทราย มีพื้นที่ป่าเหลืออยู่เล็กน้อย ไม่มีภูเขา และแม่น้ำไหลผ่าน ได้ใช้น้ำจากคลองท่อทองแดงเป็นหลัก เพื่อหล่อเลี้ยงการเกษตร    ทรัพยากรที่สำคัญ คือแหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งบริษัท ไทยเชลล์ เอกพลอเรชั่นแอนด์โปรดักชั่น ได้รับสัปทานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 ปัจจุบัน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียมจำกัด ได้ซื้อหุ้น ทั้งหมดของบริษัทไทยเชลล์ ฯและรับโอนสิทธิ์ พันธะ และหน้าที่ ที่มีอยู่ในสัมปทานทั้งหมด เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่งหมายถึงประชาชนชาวไทย เป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันสิริกิติ์อย่างสมบูรณ์ด้วยความภูมิใจ
การปกครองของอำเภอลานกระบือ
           อำเภอลานกระบือ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 ตำบล และ 67 หมู่บ้าน ดังนี้
                      1.ตำบลลานกระบือ มี 11หมู่บ้าน คือ บ้านโนนตากแดด บ้านหนองตาสังข์บ้านปลักไม้ดำ บ้านหนองแขม บ้านนิคมสร้างตนเองบางระกำ 5 บ้านโนนสมอ บ้านอาชานุสรณ์ บ้านโนนใน บ้านบึงมาลย์น้อย บ้านบึงกิ่ว และบ้านวงฆ้องหมู่บ้านโนนตากแดด เป็นที่ตั้งของอำเภอลานกระบือและตำบลลานกระบืออันมีวัดแก้วสุริย์ฉาย เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนชาวลานกระบือ ความเจริญสูงสุดด้านวัตถุอยู่ที่แห่งนี้
                      2.ตำบลโนนพลวง ในอดีตเป็นป่าดงดิบ มีต้นพลวงหรือต้นควงอยู่หนาแน่น และมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ้านหนองควง ต่อมาหนองน้ำตื้นเขินขึ้นเป็นที่ดอนจึงเรียกกันว่าบ้านโนนพลวง มีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน คือ บ้านฟากทุ่ง บ้านโนนทอง บ้านสีเสียด บ้านอินทรานุสรณ์ บ้านโนนพลวง (เดิมเรียกว่าบ้านหนองควง) บ้านหนองสะเดือย และ
บ้านบัวสวรรค์
                      3. ตำบลจันทิมา เป็นหมู่บ้านตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2506 โดยตั้งชื่อจากผู้เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน คือ นายจันทร์ ม่วงแป้น และนางมา ม่วงแป้นภรรยา ประชาชนพร้อมใจกันเรียกหมู่บ้านแห่งใหม่นี้ว่าบ้านจันทิมา ตำบลจันทิมา มี 8 หมู่บ้านคือ บ้านหนองจิก บ้านเพชรไพรวัลย์ บ้านจันทิมา บ้านหนองทิ้งสุ่ม บ้านรุ่งโรจน์ บ้านใหม่เจริญสุข บ้านบึงช้าง และบ้านตะเคียนงาม
                      4. ตำบลบึงทับแรด เป็นตำบลที่มีบึงขนาดใหญ่ มีสัตว์ป่าจำนวนมากมาอาศัยอยู่ ชนิดที่มีมากคือแรด มาล้มตายบริเวณบึงนี้จำนวนมาก จึงเรียกกันว่าบึงทับแรด ตำบลบึงทับแรด ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน คือ บ้านเด่นพระ บ้านหนองท่าไม้ บ้านบึงทับแรด บ้านบึงสว่างอารมณ์ บ้านหนองละมั่งทอง บ้านทุ่งเกลา บ้านประดู่งาม และบ้านทุ่งโพธิ์เงิน
                      5. ตำบลหนองหลวง ตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้นำหมู่บ้านสมัยแรกคือ หมื่นยังหนองหลวงและได้สืบทอดเป็นผู้นำหมู่บ้านหลายชั่วอายุคน ตำบลหนองหลวงประกอบด้วย 14 หมู่บ้านคือ บ้านหนองปากดง บ้านลำมะโกรก บ้านหนองมะเกราะ บ้านบึงมาลย์ บ้านหนองหลวงบ้านใหม่สามัคคี บ้านหนองไม้แดง บ้านประดาเจ็ดรัง บ้านทรายทอง บ้านวังสระทอง บ้านบึงม่วง บ้านสุรเดชสามัคคี บ้านปรือกระเทียม และบ้านหนองเดื่อ
                      6.ตำบลช่องลม ในอดีตเป็นป่าดงดิบ และเป็นทิศทางเดินของลม เมื่อมีลมพัดมา ต้นไม้จะล้มเป็นช่อง จึงเรียกขานกันว่าบ้านช่อง บางท่านเล่าว่า นายพรานมาล่าสัตว์จนทำให้ต้นไม้น้อยใหญ่ล้มเป็นช่อง จึงเรียกกันว่าบ้านช่องลม ตำบลช่องลมประกอบด้วย 8 หมู่บ้านคือ บ้านช่องลม บ้านเกศกาสร บ้านบึงกระดาน บ้านปรือคันไถ บ้านวังยาง บ้านเพชรสุวรรณบ้านคลองเจริญ และบ้านบึงพระนางทอง
                      7. ตำบลประชาสุขสันต์ เดิมเรียกกันว่าดงอีบุก เนื่องจากมีต้นบุกขึ้นอยู่มากมาย ต่อมานายเชาวัศน์ สุดลาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร สมัยนั้น ได้ตั้งชื่อใหม่ว่าตำบลประชาสุขสันต์พลเมืองที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลประชาสุขสันต์ประกอบด้วย 10 หมู่บ้านคือ บ้านหร่ายการ้อง บ้านลานตาบัว บ้านประชาสุขสันต์ บ้านดงกระทิง บ้านหนองกรด บ้านเกาะควง บ้านไผ่ล้อม บ้านก้าวเจริญพร บ้านหนองปลาไหล และ
บ้านพรานอบ