|||||||||||||||<<<<<......ค้นหา......>>>>>|||||||||||||||
..1..พระมหากษัตริย์กับเมืองกำแพงเพชร
..2..แหล่งท่องเที่ยวและภูมิปัญญากำแพงเพชร
..3..วัดโบราณในจังหวัดกำแพงเพชร
..4..คหกรรมศิลป์ในจังหวัดกำแพงเพชร
..5..การแสดงพื้นบ้านจังหวัดกำแพงเพชร
..6..วัฒนธรรมประเพณีในจังหวัดกำแพงเพชร
ทุ่งขอมเมืองลับแลแห่งทรายทองวัฒนา
ทุกหมู่บ้านทุกตำบล ล้วนมีตำนานและวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง ที่บ้านทุ่งทรายอำเภอทรายทองวัฒนา มีตำนานอันมหัศจรรย์และเหลือเชื่อ ชาวบ้านเรียกกันว่า ทุ่งขอม เมืองลับแลแห่งทรายทองวัฒนา องค์ประกอบของทุ่งขอม ประกอบด้วยสระ สี่เหลี่ยม ประตูทางเข้าทุ่งขอม ชาวบ้านที่อพยพมาจากจังหวัดอ่างทอง ชัยนาทและภาคอีสานเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2490 เชื่อว่าเป็นสระโบราณที่หล่อเลี้ยงทุ่งขอม ให้วัฒนาถาวรขึ้นมาเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ในสมัยสมัยโบราณ มีผู้เห็นลำแสงประหลาดแสงนวลสว่างจากสระสี่เหลี่ยม ลอยไปสู่บริเวณสระคล้าซึ่งปัจจุบันคือวัดใหม่ทรายทองพัฒนา หรือวัดสระคล้าวนารามในอดีต
นายวัง พิลึก อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทุ่งทราย อายุ 77 ปี เล่าให้ฟังว่า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณทุ่งขอม ได้ขุดพบถ้วยชาม พระเครื่อง พระบูชา ของใช้ของคนโบราณ อาวุธ เช่น ดาบ กระบี่ ง้าว จำนวนมาก มีเครื่องบดยา พิมพ์พระ วัตถุโบราณจะอยู่ลึกประมาณ 1 เมตร ลักษณะการขุดพบเป็นลักษณะของกรุ พระโดยทั่วไป .. ที่เรียกกันว่า เมืองลับแล บริเวณสระสี่เหลียมและทุ่งขอม ประชาชนอพยพพากันมาหักร้างถางพง ในช่วงวันโกนและวันพระสิ่งที่พวกท่านเหล่านั้นพบเห็นและเล่าเป็นเสียงเดียวกันคือ คือความมหัศจรรย์ ที่ได้ยินเสียงตำน้ำพริก ที่แว่วมาตามสายลม กลิ่นหอมของอาหาร ได้ยินเสียงเครื่องดนตรี วงมโหรี สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครยืนยันได้ว่า มันคืออะไร แต่ทุกคนเชื่อกันว่า เป็นวิถีชีวิตของชาวลับแล ซึ่งอาจอยู่อีกมิติหนึ่งเขากำลัง ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของเขา ..
บริเวณสระสี่เหลี่ยมและทุ่งขอมในอดีตเต็ม ไปด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์นานาชนิด เช่น เสือ ช้าง เก้ง กวาง พออาทิตย์ลับขอบฟ้า ก็ไม่มีใครกล้าลงจากบ้าน . ทุกครั้งที่ไปขุดแต่งพื้นที่บริเวณทุ่งขอมและสระสี่เหลี่ยม เพื่อทำกิน จะพบของโบราณเสมอ ชาวบ้านเชื่อกันว่าดินแดนแห่งนี้ มีชุมชนโบราณอาศัยอยู่ มีอารยธรรมที่รุ่งเรือง มีการสืบทอดวัฒนธรรมมาหลายชั่วคน .. เรียกดินแดนแห่งนี้กันว่าทุ่งขอม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่อาศัยของขอมโบราณ .
นายอำเภอทรายทองวัฒนา นายประสาท บุตรดา มองเห็นการณ์ไกล เกรงว่าความทรงจำเหล่านี้ จะลบเลือนและหายไป พร้อมกับการล้มหายตายจากของผู้ใหญ่รุ่นแรก ที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่ทุ่งขอม จึงรวบรวมนักปราชญ์ ผู้สูงอายุ ในชุมชน เล่าตำนานย้อนหลัง เพื่อจดบันทึกไว้เป็นอนุสรณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2547 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอทรายทองวัฒนา อันประกอบด้วยนายอำเภอประสาท บุตรดา ประธานในการสัมมนา นายปรารภ คันธวัน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร นายวัง พิลึก อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อายุ 77 ปี นายระเบียบ ดวงมาลา อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อายุ 71 ปี นายเสมอ นาคเมือง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 17 อายุ 36 ปี นายมนตรี อ่อนสิงห์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งทราย นายวิโรจน์ แสงหิรัญวัฒนาปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งทราย นายเอกชัย สีดำ เจ้าหน้าที่ปกครอง 5 พระจำลอง แสงอรุณ อดีตผู้ใหญ่บ้าน อายุ 67 ปี พระสอิ้ง เกศวงษ์ อายุ 64 ปี แห่งวัดอู่สำเภา นายศิริวัฒน์ ขาวผิว ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอทรายทองวัฒนา นางสาวบุศกร กฤษณัมพก นายจักพรรดิ์ ร้องเสียง ผู้สื่อข่าวทิพย์เคเบิลทีวี และอาจารย์จันทินี อภัยราช อาจารย์ 3 ระดับ 8 โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ร่วมอภิปรายสืบค้น มีอาจารย์สันติ อภัยราช ผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น ร่วมเป็นที่ปรึกษา และป้อนคำถามหลังจาก และบันทึกภาพจากสถานที่จริง
เมื่อได้ฟังข้อมูลทั้งหมด และชมจากสถานที่ จริงแล้วเชื่อได้ว่า ทุ่งขอม เป็นชุมชนโบราณจริง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 18 หลักฐานจากวัตถุโบราณที่ค้นพบ จำนวนมากมาย ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของชาวขอม ไม่มีหลักฐานทางสิ่งก่อสร้างให้เห็นอย่างชัดเจนเพราะ ถูกทำลาย ไปหมดสิ้น เมื่อสันนิษฐานจากสระที่อยู่บริเวณทางเข้าทุ่งขอม มีสระโบราณขนาดใหญ่ ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ในอดีต นับถือศาสนาพุทธ มีวัฒนธรรมเจริญรุดหน้า อายุราวนครไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร หรือ คลองเมืองแต่ไม่มีหลักฐานการสร้างบ้านแปงเมือง ไม่มีคูน้ำและคันดิน อาจเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ และเจริญอยู่ชั่วระยะหนึ่ง การอพยพจากไป คงจะไปอย่าง เร่งด่วน เพราะทิ้ง โบราณวัตถุไว้เป็นจำนวนมาก ควรที่นักโบราณคดี หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง คือองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่ ตั้งงบประมาณในการขุดค้น เพื่อให้สันนิษฐาน ได้อย่างชัดเจนว่า
ที่แห่งนี้ คือ ทุ่งขอมเมืองลับแลแห่งทรายทองวัฒนา
จริงเพียงใด เป็นสิ่งที่ท้าทาย นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยิ่ง เพราะที่แห่งนี้ คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มิได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ของชาติไทย เป็นรากเหง้าแท้ๆ ที่มิได้ปรุงแต่งแต่อย่างใด ความเชื่อของชาวบ้าน ตำนานและนิทานพื้นบ้าน มิใช่เรื่องเหลวไหล แต่มันฉายภาพถึง อารยธรรมและ วัฒนธรรม ของท้องถิ่นนั้นๆอย่างดีที่สุด ถ้าเราวิเคราะห์วิจัยกันอย่างจริงจัง .