เมืองนครชุม

 

           เมืองที่เจริญสูงสุดในลุ่มน้ำปิง นอกจาก เมืองเชียงทอง เมืองคลองเมือง เมืองแปบ เมืองคณฑี เมืองเทพนคร และเมืองไตรตรึงษ์แล้ว เมืองนครชุม เป็นเมืองสำคัญที่สุด แห่งหนึ่ง ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่กว่าสองร้อยปี ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 1800
           ลักษณะตัวเมือง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปกำแพงเมือง สร้างคดเคี้ยวตามลำน้ำปิง กว้างประมาณ 400 เมตร ยาวประมาณ 2,900 เมตร มีคูเมือง 2 ชั้น กำแพงเมืองเป็นคันดิน 3 ชั้น ที่เรียกกันว่า ตรีบูร กำแพงเมืองทางทิศตะวันออก ปากคลองสวนหมาก ผ่านไปทางทิศใต้ของสะพานกำแพงเพชรไปสิ้นสุดที่บ้านหัวยาง กำแพงเมืองทางด้านลำน้ำปิงถูกน้ำกัดเซาะ พังทลายไปสิ้น
           แนวกำแพงเมือง บริเวณสถานีขนส่ง หรือบริเวณ หน้าโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม ยังมีแนวให้เห็นค่อนข้างชัด แต่กำลังถูกทำลายเกือบหมดสิ้น คูเมือง ถูกประชาชนบุกรุกปลูกที่อยู่อาศัย รุกล้ำโบราณสถาน อย่างไม่รู้ค่า เทศบาลตำบลนครชุม กำลังทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ คงจะไม่สายเกินไป ถ้าประชาชนช่วยกันอย่างจริงจัง เมืองนครชุมจะไม่เป็นแค่ตำนาน ที่ปรากฏหลักฐานในจารึกนครชุมเท่านั้น ถ้าภาครัฐ ภาคเอกชน ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
           เมืองนครชุม เจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท โดยพระองค์เสด็จไปสถาปนาพระบรมธาตุและทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองนครชุม ที่เป็นตำนานแห่งประเพณีนบพระเล่นเพลง สืบต่อมาจนปัจจุบัน
           โบราณสถานและโบราณวัตถุ ในเมืองนครชุม มีทั้งในเมืองนครชุมและเขตอรัญญิก ในตัวเมือง มีวัดพระบรมธาตุ เป็นวัดประจำเมืองนครชุม ซึ่งน่าจะเป็นเมืองลูกหลวงในสมัยสุโขทัย ในบริเวณโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม สันนิษฐานว่า เป็นเขตพระราชฐาน ของเมืองนครชุม โบราณสถานอื่นๆ ไม่มีเหลือให้เห็น เพราะเมืองนครชุมใหม่สร้างซ้อนเมืองนครชุมเก่า ทำให้เมืองนครชุม ไม่มีหลักฐานใดๆให้เห็นนอกจากบ้านเรือนที่สร้างซ้อนทับบน เจดีย์ และโบสถ์ วิหาร
น่าเสียดายยิ่ง
           บริเวณอรัญญิก อยู่ห่างจากแนวกำแพงเมืองไปประมาณ 500 เมตร มีวัดสำคัญ หลายวัด อาทิ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดซุ้มกอ วัดหม่องกาเล และอีกหลายสิบวัดที่ถูกทำลาย ไปหมดสิ้น ด้วยฝีมือของมนุษย์ ในยุด 30 -40 ปีที่ผ่านมานี้เอง
           ป้อมทุ่งเศรษฐี เป็นป้อมที่งดงาม สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหมด เป็นลักษณะป้อมจากยุโรป อยู่ในสภาพที่บูรณะ
ปฎิสังขรณ์ เรียบร้อยแล้ว อยู่ทางเข้าเมืองกำแพงเพชร น่าแวะชมอย่างที่สุด
           เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2449 พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสนครชุมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนครชุมให้หายหวาดกลัวไข้ป่าและโรคระบาด โดยเสด็จขึ้นที่บ้านพะโป้ และวัดพระบรมธาตุ ขึ้นเสวยพระกระยาหารกลางวันที่หาดทรายหน้าเมือง ล้วนเป็นรอยจารึกแห่งประวัติศาสตร์ ของชาวนครชุมทั้งสิ้น
           เมืองนครชุม อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองสูงสุด ในอดีต เคย เมืองลูกหลวงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 200 ปี กลายเป็นเมืองร้าง ถูกลดชั้น เป็นตำบลเล็กๆตำบลหนึ่งในเมืองกำแพงเพชร แต่ทว่าภาพในอดีตแห่งเมืองนครชุม ยังเปล่งประกายเจิดจ้า ท้าทายนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาเยี่ยมชมอย่างมิรู้ลืม………………ปัจจุบันได้รับการดูแลจากเทศบาลตำบลนครชุมเป็นอย่างดี เพื่อเนรมิต อดีตเมืองที่ยิ่งใหญ่ใน ปี พ.ศ. 1800 – 2000 ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งอย่าง ท้าทาย