การขุดแต่งแนวกำแพงเมืองกำแพงเพชร

 

           เมืองกำแพงเพชร มีชื่อที่เรียกขานอย่างเป็นทางการว่ากำแพงเพชร ภาษาบาลี เรียกว่า
วชิรปราการ ซึ่งแปลว่ากำแพงเพชรเหมือนกัน กำแพงเมืองกำแพงเพชร แข็งแกร่งและงดงามราวกับเพชร จนทำให้เกิดตำนาน การสร้างกำแพงเมืองว่าผู้สร้างคือพระวิษณุกรรม เทพเจ้าแห่งช่างเป็นผู้สร้าง ตามตำนานสิงหนวัติกุมารที่บันทึกไว้ว่า....
........พระเจ้าพรหม ขับไล่ขอมดำ จากเหนือลงสู่ใต้ มาติดลุ่มน้ำแม่ปิง ไม่สามารถหนีต่อไปได้พระอินทร์ เกรงผู้คนจะล้มตายจนสูญเผ่าพันธุ์ จึงโปรดให้พระวิษณุกรรม เนรมิตรกำแพงเมืองขึ้น กำแพงนั้นคือ กำแพงเพชร ....พระเจ้าชัยศิริ โอรสพระเจ้าพรหม อพยพผู้คนลงมาทางใต้ เห็นแนวกำแพงที่แข็งแกร่งและงดงาม จึงตั้งเมืองกำแพงเพชรขึ้น ในราวพุทธศักราช 1600 ...กำแพงเมืองกำแพงเพชร เป็นที่เล่าลือกันมากว่าสร้างอย่างแข็งแกร่ง ใครๆกำเกรงและเรียกขานว่ากำแพงเพชรเป็นสมรภูมิที่มั่นคงที่สุด
.....สัญลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร คือกำแพงเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า บวกกับสี่เหลี่ยมคางหมู แต่เป็นลักษณะโค้งเล็กน้อย ขนานไปกับลำน้ำปิงฝั่งตะวันออก ความยาวของกำแพงด้านเหนือ 2,200 เมตร ความยาวทางด้านใต้ 2,000เมตร ด้านกว้างทางทิศตะวันออก กว้าง 500 เมตร ด้านแคบสุดทางทิศตะวันตก ประมาณ 250 เมตร..
.....กำแพงเมืองกำแพงเพชร มีลักษณะเป็นตรีบูร คือมีคูน้ำและคันดินสามชั้น มีระบบการนำน้ำจากแม่น้ำปิงมาเลี้ยงคูเมืองโดยรอบทั้ง 3 ชั้น ทางคลองที่ไขน้ำเข้าบริเวณมุมเมืองได้ถูกทับถมตื้นเขินหมดสภาพไปแล้วแต่สามารถเห็นร่องรอยได้..
.......กำแพงเมืองชั้นใน เป็นชั้นที่แข็งแรงที่สุด โดยมีลักษณะการก่อสร้างแกนในที่เป็นดินที่ขุดจากคูเมืองขึ้นมาถมเป็นคันดินก่อน แล้วจึงก่อหุ้มแกนดินด้วยศิลาแลง ขึ้นไปถึงเชิงเทินตลอดแนวทั้งหมดโดยรอบ จากนั้นก่อใบเสมาศิลาแลงอยู่ด้านบนสุด แต่ละด้านของกำแพงเมือง จะมีประตูเข้าออก ทั้งหมด 10 ประตู และมีป้อมปราการที่มั่นคงเหลือให้เห็นเพียง 9 ป้อม
....กำแพงเมืองที่น่าสังเกตด้านหนึ่งคือ ด้านที่ติดลำน้ำปิง ที่เรียกว่าประตูดั้น มีป้อมเจ้าจันทร์ตั้งอยู่หน้าประตู น่าจะเป็นที่สังเกตการณ์ และควบคุมการเข้าออกทางด้านประตูดั้น สำหรับคูเมืองด้านนอกที่ติดกับกำแพงเมือง เดิมมีความกว้างราว 30 เมตร ภายในกำแพงเมืองมีสิ่งก่อสร้างโบราณที่สำคัญคือ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ สระมน ศาลพระอิศวร
... กำแพงเมืองกำแพงเพชร น่าจะมีการซ่อมสร้างครั้งสำคัญ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นการสร้างกำแพงและป้อมอย่างประเทศในยุโรปและอาจเปลี่ยนชื่อจาก ชากังราวมาเป็นกำแพงเพชร ในคราวเดียวกัน เมืองกำแพงเพชร ถูกทิ้งร้างในสมัย การเสียกรุงครั้งที่ 2 ทำให้แนวกำแพงเมือง การเป็นโบราณสถาน ที่ถูกทำลายไปบางส่วน โดยเฉพาะในส่วนตั้งแต่ หลังที่ทำการไปรษณีย์จนกระทั่งถึง หลังทัณฑสถานวัยหนุ่ม ประมาณ 500 เมตร ถูกรื้อทำลายไปสิ้น และกำแพงเมืองในแนวนั้น ได้ถูกรื้อถอนไปนำศิลาแลงไปสร้างเรือนจำ ทำให้ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของกำแพงเพชรเสียหายไป และในที่สุดกำแพงเมืองตอนนี้ ได้ถูกเพิกถอนการเป็นโบราณสถานเสียแล้วด้วยความไม่เข้าใจในรากเหง้า แห่งความเป็นกำแพงเพชร
.........น่ายินดีอย่างยิ่งที่จังหวัดกำแพงเพชร ตระหนักถึงความสำคัญของ แนวกำแพงเมืองจึงได้มีการอนุมัติเงิน อีก 50 ล้าน เพื่อขุดแต่งและบูรณะแนวกำแพงเมือง ตั้งแต่ประตูสะพานโคม วนไปถึงประตูดั้น และถึงแนวกำแพงเมืองที่ถูกรื้อไป บริเวณต้นโพ ทำให้เราได้เกิดจินตนาการแห่งความภูมิใจในความเป็นเมืองกำแพงเพชร......เมืองมรดกโลกของเรา และเราจะได้พบกับ คุณธนสิทธ์ คชศิลา นักโบราณคดี ที่ควบคุมการขุดแต่งกำแพงเมืองกำแพงเพชรของเราซึ่งจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน 2548........