การบูรณะฉัตรพระบรมธาตุเจดีย์

 

           ที่เมืองนครชุม มีวัดพระบรมธาตุ เป็นวัดประจำเมือง สร้างตั้งแต่ต้นกรุงสุโขทัย พญาลิไท นำพระบรมสารีริกธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์ จากลังกาทวีปประดิษฐาน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1900 อันเป็นปฐมเหตุ แห่งตำนาน ประเพณี นบพระ เล่นเพลง… หลังจาก เมืองนครชุมร้างไป ในช่วงปี พุทธศักราช 2000 เนื่องจาก น้ำกัดเซาะทำลายกำแพงเมืองไปแถบหนึ่ง…เมืองนครชุมกลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในสมัยอยุธยา
           .เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต ) เสด็จมาเยี่ยม ญาติของท่านที่เมืองกำแพงเพชร ตามตำนานว่า มารดาของสมเด็จพุฒาจารย์(โต) เป็นชาวกำแพงเพชรท่าน ได้อ่านจารึก
นครชุม ได้ความว่า มีพระบรมธาตุอยู่ฝั่งนครชุม จึงให้พระยากำแพง ผู้มีศักดิ์เป็นหลานค้นหา และค้นพบพระเจดีย์สามองค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และพบพระบรมสารีริกธาตุ …จึงบูรณะและปฏิสังขรณ์ขึ้น ..มีเริ่มมีพระภิกษุ มาจำพรรษา ที่วัดพระบรมธาตุ …
           อีกประมาณเกือบร้อยปี ต่อมา พญาตะก่า..เศรษฐีชาวกะเหรี่ยง ขออนุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 สร้างเจดีย์ทรงมอญ ครอบเจดีย์สามองค์ไว้ เป็นองค์เดียว แต่ไม่ทันเสร็จ พญาตะก่า ถึงแก่กรรม พะโป้น้องชาย บูรณะต่อ และนำฉัตรทองมาจากเมืองมะระแหม่ง มาประดิษฐาน บนยอดเจดีย์ พระบรมธาตุ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2449 ก่อนพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จวัดพระบรมธาตุ เพียงสามเดือน…
……ฉัตรทองนี้ได้รับการบูรณะครั้งแรก ในปีพุทธศักราช 2533 ดังจารึก ที่ประดิษฐานไว้บนยอดเจดีย์พระบรมธาตุ มีความว่า….
……ฉัตรพระบรมธาตุเจดีย์ บูรณะครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก โดยสร้างใหม่ทั้งหมด เนื่องจากเนื้อโลหะเดิมหมดอายุตามกาลเวลา บูรณะใหม่เป็นเนื้อทองเหลือง พร้อมลงรักปิดทองแบบลวดลายระฆังเหมือนเดิม จากเงินเช่าบูชา พระพิมพ์ซุ้มกอจำนวน 1,500,000 บาท นำโดย ร.ต.ทวี ผดุงรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ควบคุม ลวดลายออกแบบโดยอาจารย์อนันต์ สวัสดิเสวณีย์
เริ่มจัดสร้างเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2533 แล้วเสร็จ วันที่ 1 สิงหาคม 2533 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตร เมื่อวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2533 เวลา 15.00 น.
          จากการสัมภาษณ์ นายช่างชูชาติ สัตตอาภาภรณ์ ช่างศิลป์ ผู้ดำเนินการซ่อมแซมฉัตร ท่านได้ให้รายละเอียด การซ่อมแซมฉัตร ดังนี้
          ฉัตรทองยอดพระบรมธาตุ มีทั้งหมด 28 ชิ้น ประกอบด้วยยอดฉัตร ยาว 10 เมตร น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ยอดเป็นลายสิงห์ ในวรรณคดี ประดับด้วยลวดลายใบสาละ …ส่วน ฉัตร มี เก้าชั้นลวดลายพม่า ลวดลายคล้ายดอกกระดังงา จะแล้วเสร็จ ในเดือนพฤษภาคม 2548….นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในชีวิต ที่ชนสามัญมีโอกาสชมในช่วงชีวิตมนุษย์…..โอกาสได้ทัศนาความงามของฉัตรทองมีเพียง 3 เดือน โปรดหาเวลามาชมฉัตรทองขนาดมหึมา…ก่อนที่จะขึ้นประดิษฐานบนยอดเจดีย์ และไม่ทราบว่าอีกกี่ สิบปี จะได้พบ ความงามแห่งฉัตรทองนี้อีก มาร่วมศึกษา ตำนานแห่งฉัตรทอง แห่งพระบรมธาตุเจดีย์…นี้ ร่วมกัน…ที่ลานวัดพระบรมธาตุ นครชุม….