แม่น้ำกงจีน

 

           …….แม่น้ำกงจีน เป็นชื่อที่ชาวกำแพงเพชร เกือบทุกคนรู้จัก แต่มีชาวกำแพงเพชร เพียงไม่กี่คนที่ได้เห็นหรือได้สัมผัส หรือได้ล่องเรือในแม่น้ำกงจีน แม่น้ำในตำนาน แม่น้ำในประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้แม่น้ำใด ๆ ในประเทศไทย
          
มีเรื่องเล่าขานตำนานของแม่น้ำกงจีนกันมาช้านาน ในสมัยเมื่อเป็นนักเรียนราว 50 ปีทีผ่านมา ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาคาร อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เด็กทุกคนอยากเห็นแม่น้ำ กงจีน แต่การไปชมแม่น้ำกงจีนในสมัยนั้นยากมาก จึงเป็นเรื่องที่เล่าขานเป็นตำนานสืบมา เท่านั้น……เป็นตำนานเดียวกับท้าวแสนปม….แห่งนครไตรตรึงษ์ ทำให้เชื่อได้ว่า แม่น้ำกงจีน และแม่น้ำปิง เชื่อมต่อเป็นสายเดียวกัน สืบทอดวัฒนธรรมและอารยธรรมกันต่อเนื่องมาช้านาน จึงเกิดตำนานแม่น้ำกงจีนขึ้น…..
         
ท้าวไตรตรึงษ์ …..แห่งนครไตรตรึงษ์ มีธิดาที่แสนงดงาม คือนางอุษา ..ความงามเลื่องลือถึงกษัตริย์แห่งเมืองเทพนคร ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม เพื่อลองใจนางว่านางรักผู้ชายที่รูปลักษณ์ภายนอก หรือรักที่จิตใจ จึงปลอมพระองค์เป็นชายเข็ญใจ ชื่อแสนปม มาอาศัยอยู่ในสวนขวัญ ของพระราชวังนครไตรตรึงษ์ ชายเข็ญใจ ได้ปัสสาวะรดต้นมะเขือทุกวัน จนผลดกและโตสวยงามมาก พระธิดา โปรดเสวยมะเขือ และได้ทรงครรภ์ขึ้น ท้าวไตรตรึงษ์ไม่ทราบว่า ธิดา ทรงครรภ์กับผู้ใด จึงได้เสี่ยงทายว่า ว่าพระราชบุตรของนางอุษา รับของจากผู้ใด ผู้นั้นคือพระราชบิดา ท้าวไตรตรึงษ์ได้ทรงป่าวประกาศให้เจ้าชายทุกเมืองมาเลือกคู่ ……เจ้าชายแห่งกรุงจีน ได้แสดงฤทธิ์ โรยยาเสกเป็นทางน้ำ เป็นทางลัดเพื่อให้ถึงนครไตรตรึงษ์โดยเร็ว มาโดยสำเภาลำใหญ่ และเรือมาล่มที่อู่สำเภา ลำน้ำที่เจ้าชายแห่งกรุงจีน โรยยาเสกมา กลายเป็นลำน้ำกงจีน บรรดาขันหมากและของที่นำมาเป็นบรรณาการ กลายเป็นจระเข้เฝ้าลำน้ำกงจีน….. ในสมัยโบราณบริเวณ หน้าวัดอู่สำเภายังเห็นเสากระโดงเรือสำเภา เล่าขานสืบกันมา ขณะที่น้ำแห้งในหน้าแล้ง มีผู้พบ เศษถ้วยชามกระเบื้อง และข้าวของเครื่องใช้มากมาย ในบริเวณที่เรือสำเภาล่ม แต่ไม่พบเรือสำเภาแต่ประการใด จึงเป็นที่กังขามาตลอดว่า แม่น้ำกงจีน มีสำเภาจากกรุงจีนมาล่มที่หน้าวัดอู่สำเภาจริงหรือ….เป็นเรื่องที่น่าสืบค้นและสำรวจกันต่อมา…..
        
แม่น้ำกงจีน เป็นแม่น้ำด้วน คือไม่สามารถค้นพบ ทางเข้าและทางออกของแม่น้ำได้ว่าน้ำไหลมาจากที่ใดและไปที่ใด แต่ลักษณะของแม่น้ำลึกและกว้างใหญ่ไพศาลมาก ยาวประมาณ 10กิโลเมตร ห่างจากลำน้ำปิงราว 5 กิโลเมตร จากตำบลท่ามะเขือ มาบริเวณลำน้ำกงจีนช่วงอำเภอทรายทองวัฒนา…. ต่อมานายประสาท บุตรดา นายอำเภอทรายทองวัฒนา ได้ดำเนินโครงการขุดเชื่อมแม่น้ำกงจีน กับแม่น้ำปิงได้สำเร็จ ทำให้แม่น้ำกงจีน มีกระแสน้ำไหลจากแม่น้ำปิง ทำให้อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี หลังจากได้ทำการสัมมนา เรื่องแม่น้ำกงจีน กันที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอทรายทองวัฒนาแล้ว โดยมีบุคคลสำคัญและผู้รู้เข้าร่วมสัมมนากันหลายท่านอาทินายอำเภอประสาท บุตรดา ประธานในการสัมมนา นายปรารภ คันธวัน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร นายวัง พิลึก อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อายุ 77 ปี นายระเบียบ ดวงมาลา อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อายุ 71 ปี นายเสมอ นาคเมือง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 17 อายุ 36 ปี นายมนตรี อ่อนสิงห์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งทราย นายวิโรจน์ แสงหิรัญวัฒนา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งทราย นายเอกชัย สีดำ เจ้าหน้าที่ปกครอง 5 พระจำลอง แสงอรุณ อดีตผู้ใหญ่บ้าน อายุ 67 ปีพระสอิ้ง เกศวงษ์ อายุ 64 ปี แห่งวัดอู่สำเภา นายศิริวัฒน์ ขาวผิว ประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอทรายทองวัฒนา นางสาวบุศกร กฤษณัมพก นายจักพรรดิ์ ร้องเสียง ผู้สื่อข่าวทิพย์เคเบิลทีวี และอาจารย์จันทินี อภัยราช อาจารย์ 3 ระดับ 8 โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ร่วมอภิปรายสืบค้น มีอาจารย์สันติ อภัยราช ผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น ร่วมรับฟังและสรุปข้อมูล เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2547 เวลาประมาณ 15.00 น. – 20.00 น. ……
        หลังจากการสัมมนา นายอำเภอได้พาคณะสำรวจและสืบค้นแม่น้ำกงจีน ลงเรือท้องแบนชมแม่น้ำกงจีน ในช่วงสนธยา ได้เห็นวิถีชีวิตของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำกงจีน ยังดำรงชีวิตตามวัฒนธรรมพื้นถิ่น ……ธรรมชาติ ยามเย็นที่แม่น้ำกงจีนงดงาม ลำน้ำลึกกว้าง น้ำเขียว สองฝั่งครึ้มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ ….ที่มีอายุหลายร้อยปี มีนกน้ำมาอาศัยเป็นจำนวนมาก ฝูงปลาแหวกว่าย อยู่หลายขนาด ทั้งเล็กและใหญ่…แสดงถึงความสมบูรณ์ของแม่น้ำกงจีน เรือท้องแบนบรรทุกผู้คนเกือบ 20 ชีวิต แล่น ชมแม่น้ำกงจีน อยู่ประมาณ 20 นาที มีการบันทึกภาพ จากกล้องวีดีทัศน์ 3 กล้อง กล้องถ่ายรูปอีก 2 กล้อง เพื่อบันทึกความทรงจำไว้ให้มากที่สุด ….ถึงบริเวณอู่สำเภา หรือที่เราเรียกกันว่า บริเวณสำเภาล่ม ที่ชาวบ้านเห็นเสากระโดงเรือสำเภา บริเวณนี้เป็นคุ้งน้ำกว้างใหญ่ ประมาณ 150 เมตร กว้างกว่าทุกตอน บริเวณสำเภาล่มชาวบ้านได้เอาไม้ไผ่ปักไว้ เป็นเหมือนเครื่องแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมว่าบริเวณนี้ คือ บริเวณสำเภาล่มที่มาของชื่อแม่น้ำกงจีน อยู่ตรงกับวัดอู่สำเภา ถึงบริเวณสำเภาล่ม พลบค่ำพอดี ดูน่ากลัวมาก เพราะบริเวณนั้น ดูน้ำลึกกว้างมาก น้ำดูเขียว นิ่ง อย่างน่าเกรงขาม เหมือนกับบอกพวกเรา ว่าที่ตรงนี้ คือบริเวณสำเภาล่ม ขึ้นฝั่งกันที่ ท่าน้ำวัดอู่สำเภา ซึ่งกำลังสร้างศาลาท่าน้ำทรงไทยงดงาม แต่ยังไม่แล้วเสร็จ บันทึกรายการโทรทัศน์วัฒนธรรม หน้าวัดเสร็จเกือบทุ่ม ….ลงเรือกลับ มืดสนิท เราไม่ทราบว่า ข้างหน้าจะมีอะไร เรือไม่มีไฟ และไม่เคยแล่นในแม่น้ำกงจีนตอนกลางคืนมาก่อน นึกถึงบรรยากาศตอนเย็นผ่านขณะถึงบริเวณสำเภาล่มยิ่งเวิ้งว้างว่างเปล่า และน่าหวาดกลัวมาก นึกภาพออกอย่างชัดเจน กว่าจะถึงท่าเรือ…… โชคดี หรือโชคร้ายไม่ทราบเครื่องเรือไม่ติด นายท้ายเรือพยายามจนสุดความสามารถ อยู่เกือบครึ่งชั่วโมง สุดท้าย ต้องนั่งรถกระบะ กลับกัน…โล่งอกไปที…
        แม่น้ำกงจีน……. เป็นแม่น้ำที่น่าสนใจมาก หลังจากการขุดเซื่อมกับแม่น้ำปิงแล้วทำให้มีน้ำไหลตลอดปี ปากแม่น้ำแม่น้ำกงจีน ไหลลงสู่แม่น้ำยม หลังจากที่ถามผู้ร่วมสำรวจกันในวันนั้น ยังไม่เคยมีใครสำรวจแม่น้ำกงจีน กันตลอดสาย เพื่อทำแผนที่และบันทึกการเดินทางตลอดเส้นทาง องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งทราย ควรตั้งงบประมาณสำรวจแม่น้ำกงจีนอย่างเป็นทางการ เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์แม่น้ำกงจีน ในปี พ.ศ .2547
…. แม่น้ำกงจีน ยังรักษาสภาพธรรมชาติไว้ได้เป็นอย่างดี ถ้าจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แล้วแม่น้ำกงจีนจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่น่าชมที่สุด โดยนำตำนานแม่น้ำกงจีน กับสำเภาล่มประสานกัน เป็นการท่องตำนานแม่น้ำกงจีน…. แม่น้ำที่คนกำแพงเพชร ดั้งเดิมรู้จักด้วยกันทุกคน……..ให้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่น่าสนใจที่สุด …… แม่น้ำกงจีน อารยธรรมสำเภาของเจ้าชายแห่งกรุงจีน ล่ม …..วิญญาณคง วนเวียน ที่อยากจะพบกับสาวงาม แห่งเมืองนครไตรตรึงษ์…………กำแพงเพชรจึงเกิดเป็นตำนาน แม่น้ำกงจีนที่น่าสนใจและน่าค้นคว้าอย่างยิ่ง……….