ที่ท้ายเมืองเก่าของกำแพงเพชร
มีวัดอยู่ทางทิศตะวันออก นอกกำแพงเมือง พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐเรียกว่า
วัดยม เป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นที่พักทัพ ของ กษัตริย์ อยุธยาที่ยกมาเมืองกำแพงเพชร
หรือไปตีเมืองเหนือ ลักษณะของวัดที่ปรากฏ มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
หรือเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ขนาดใหญ่ที่งดงามและสมบูรณ์ ที่สุด และเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
องค์เดียว ทางฝั่งกำแพงเพชร วัดนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกะโลทัย
ไม่มีที่มาของชื่อวัด สืบไม่ได้ว่า
แต่เดิมชื่อว่าอะไร กันแน่ แต่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า
วัดกะโลทัยมาช้านานตั้งแต่สมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เดิมเป็นที่รกร้าง
มีแค่ทางเกวียนผ่านเท่านั้น สิ่งก่อสร้างที่สำคัญในวัด ประกอบด้วยวิหาร รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
หันไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบัน ไม่มีสภาพของวิหาร เพราะถูกขุดทำลาย จนไม่มีชิ้นดี
ไม่สามารถจะบูรณะได้ จึงปล่อยให้เป็นที่รกร้าง มีหลุมจากการถูกขุด หาพระเครื่อง
เป็นหลุมลึกโดยทั่วไป เจดีย์ราย ถูกทำลายไปทั้งหมด เหลือเป็นเนินดินข้างถนน ที่ไม่มีคนเหลียวแล
อาจเป็นเพราะเป็นวัดที่ใกล้ตา
จนเกินไป จึงรู้สึกว่า ไม่มีค่า เหมือนสิ่งที่ใกล้ตัวทั้งหลาย ตามที่คนสามัญคิดกัน
ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ขนาดใหญ่
เป็นประธาน เป็นทรงดอกบัวตูม หรือพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นโบราณสถานที่ร่วมสมัยกับเจดีย์กลางทุ่ง
ที่เมืองนครชุม ฐานล่างเป็นแบบฐานหน้ากระดานซ้อน
ลดหลั่น 4 ชั้น ก่อด้วยศิลาแลงเฉพาะฐานหน้ากระดานชั้นที่ 4 ก่อด้วยอิฐ ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้ว
อกไก่ที่ปรับทรงให้สูงขึ้น เรือนธาตุ ย่อสี่เหลี่ยม 20 ซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น จากนั้นเป็นส่วนยอดสุดของเจดีย์
ยอดปรักหักพังแต่ยังมีลักษณะที่งดงามมาก
บางท่านเล่าว่า รอบๆ ขององค์เจดีย์ทั้งองค์
บุ ด้วย พระกำแพงห้าร้อย ซึ่งในสมัย หลังไม่เห็นและไม่มีใครยืนยันได้แล้ว บางท่านเล่าว่า
ยอดของเจดีย์ มีพระพุทธรูปอยู่ ซึ่งก็ไม่มีหลักฐาน ใดๆ ยืนยันได้ เช่นกัน
ปัจจุบัน มีผู้นำ ซากของ ศาลพระภูมิ ทุกขนาดไปทิ้งไว้บริเวณวัด ทำให้ไม่งดงามซึ่งแก้ไขได้ยากเพราะเป็นจิตสำนึก
ของผู้คน ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กใครจะจัดการได้
.วัดกะโลทัย วัดที่เก่าแก่ และงดงามที่สุด แห่งหนึ่งของเมืองกำแพงเพชรที่คนกำแพงเพชรควรภูมิใจและดูแลให้มากกว่าที่เป็นอยู่
ใครจะเป็นผู้เริ่มต้นถ้ามิใช่คนในกำแพงเพชร |
|