วัดป่าไทรงาม

 
}
         วัดไทรงามหรือในนามที่ประชาชนเรียกขานกันโดยทั่วไปว่าวัดป่าไทรงาม กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกย่องเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2542 ให้วัดป่าไทรงามเป็นศูนย์พัฒนา จิตเฉลิมพระเกียรติ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องในมงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2544 จังหวัดกำแพงเพชรได้จัดตั้งให้วัดป่าไทรงามเป็นศูนย์สังคมจิตเวชชากังราว มีบทบาทหน้าที่ในการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
        วัดป่าไทรงามในปัจจุบันอยู่ความปกครองดูแลของ พระครูโสภณวชิรกิจ หรือพระสง่า อุฏฐาโน โดยมีกำนันวิชัย ครองสมบัติ กำนันตำบลไทรงาม ทำหน้าที่สนับสนุนในกิจกรรมทาง พระพุทธศาสนา อยู่ในความร่วมมือของทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน วัดป่าไทรงามตั้งขึ้นจากการดำริของหลวงปู่อินทร์ ได้ปรารภที่สร้างวัดและสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นแต่ท่านมรณภาพไปก่อน ต่อมาจึงเปิดเป็นสำนักสงฆ์อินทราราม โดยมีหลวงพ่อจันทร์ อินทวีโร (พระครูบรรพตวรกิจ) และในวันที่ 28 มีนาคม 2533 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรับรองสำนักสงฆ์อินทราราม เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ชื่อวัดไทรงาม โดยมีพระสง่า อุฎฐาโน เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
        วัดป่าไทรงามมีลักษณะพิเศษ คือเป็นสถานที่ฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน ในปีหนึ่งจำนวนมากและได้ผลอย่างดียิ่งทุกครั้ง ทำให้วัดป่าไทรงาม มีผู้เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนกระทั่งตั้งอาคารสำหรับทำบุญและอบรมคุณธรรมขนาดใหญ่ จุคนได้นับพันคนแต่กระนั้นก็ยังไม่พอกับความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม ในศาลา มีพระประธานขนาดใหญ่ โดยจำลองมาจากประเทศอินเดีย พุทธลักษณะงดงามยิ่งแปลกตากว่าทุกวัด รอบวัดมีลักษณะเป็นวัดป่าที่กำลังพัฒนาให้เป็นป่าท่ามกลางท้องนา รอบๆศาลาอเนกประสงค์ มีสระบัวล้อมรอบ สะพานไม้ ท่านพาเราข้ามไปชมพระอุโบสถที่กำลังก่อสร้าง ที่แปลกกว่าอุโบสถโดยทั่วไปคือมีสองชั้น ชั้นล่างจะใช้สำหรับนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สอนให้คนเกรงกลัวบาป ท่ามกลางสังคมที่สับสนเป็นการฝ่ากระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไปอย่างกล้าหาญ
        ชั้นล่างด้านหลังพระอุโบสถ เป็นศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน ที่ตั้งใจจะทำให้ผู้เข้าชมได้รำลึกถึง ความต่อเนื่องระหว่างสมัย ระหว่างชีวิตที่มีคุณค่าอย่างมิขาดสายใย ชั้นบนเป็นพระอุโบสถ ที่เน้นการใช้ประโยชน์ในสังคม มากกว่าการยึดรูปแบบโดยทั่วไปนับว่าผู้ออกแบบมีความคิดก้าวหน้ามีวิสัยทัศน์ที่น่ายกย่องชมเชยยิ่งนัก
        วัดป่าไทรงาม หรือวัดไทรงาม เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตในสังคมและมี คุณค่าต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อย่างต่อเนื่อง มิได้ใช้วัตถุนิยมนำหน้าจิตนิยม แต่สามารถผสมกลมกลืนระหว่างวัตถุนิยมและจิตนิยมได้อย่างเหมาะสมและลงตัว