วัดหนองลังกา

 

         บริเวณอรัญญิกเมืองนครชุม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง ห่างจากแนวกำแพงเมืองที่ถูกทำลายไปแล้วโดยสิ้นเชิงออกไปประมาณ 500 เมตร กลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองนครชุมแตกต่างจากกลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร คือส่วนใหญ่นิยมสร้างด้วยอิฐ ขนาดสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตมากนัก วัดที่สำคัญ เช่น วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหม่องกาเล และวัดหนองยายช่วย รูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จมาเมืองนครชุม
        แผนผังของวัด การวางผังวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีเจดีย์หรือมณฑป เป็นประธานวัด ด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหาร แต่สภาพของที่ตั้งวัดอยู่ในที่ลุ่มต่ำ จึงมีการขุดคูเป็นขอบเขตวัด เพื่อนำดินจากการขุดคูไปปรับถมที่บริเวณวัดให้สูงขึ้น และเป็นคูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้งด้วย วัดหนองลังกา เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุด ในเขตอรัญญิกเมืองนครชุม ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบ 4 ด้าน อันเป็นลักษณะแบบอุทกสีมา ของพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ที่นิยมแพร่หลายในช่วงสุโขทัยเจดีย์ประธาน เป็นลักษณะเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ลักษณะองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงเตี้ยๆ ฐานล่างทำเป็นซุ้มยื่นมาทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูป อยู่ประจำทิศ แต่ถูกขุดค้นทำลายจนสิ้นซาก ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน สี่เหลี่ยมและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ หรือฐานปัทม์สี่เหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกันไป ชั้นมาลัยเถามีลักษณะเป็นแบบชั้นบัวคว่ำและบัวหงายซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังที่ มีขนาดงดงาม สมบูรณ์ เหมาะสม และสวยงามยิ่งนัก บัลลังก์เป็นฐานปัทม์ สี่เหลี่ยม ส่วนท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ ถัดจากบัลลังก์ขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ซึ่งประดับลูกแก้วอกไก่ 2 แถว แล้วเป็นบัวฝาละมี ปล้องไฉน ปลียอด เจดีย์ทรงระฆังวัดหนองลังกา รูปทรงสูงชะลูด หรือเพรียวสมส่วน มีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบ ในเมืองนครชุม
        วัดหนองลังกา ควรจะได้รับการปรับภูมิทัศน์ ให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรม ของเมืองนครชุม ก่อนที่จะถูกนักเลงพระขุดทำลาย เพื่อนำพระเครื่องไปจำหน่ายจ่ายแจก เขตอรัญญิกทุ่งเศรษฐี เมืองนครชุมกำลังอยู่ในภาวะที่กำลัง ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากการถมที่ดิน เท่ากับถนนใหญ่ ทำให้โบราณสถานโบราณวัตถุ กลายเป็นทัศนะอุจาด จากอรัญญิกที่งดงาม ได้จังหวะในการก่อสร้าง ถูกทิ้งร้าง เป็นป่าทึบเรียกว่า ดงเศรษฐี ต่อมาป่าไม้ถูกตัดทำลายไปสิ้น เปลี่ยนมาเป็น ทุ่งเศรษฐีในปัจจุบัน และเมื่อได้รับการถมที่ดิน ลักษณะนี้ บริเวณนี้ คงกลายเป็น บึงเศรษฐี ในที่สุดอรัญญิกเมืองนครชุมคงกลายเป็นเพียงตำนานที่คนกำแพงเพชรเคยภาคภูมิใจ