วัดสิงห์

 

           ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมืองมรดกโลก มีวัดขนาดใหญ่มากมาย ประมาณ 40 วัด วัดหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ และวัดช้างรอบ คือ วัดสิงห์ ทั้ง สี่ วัด เรียงต่อเนื่องกัน แทบจะกำแพงวัดติดต่อกัน นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งของเมืองกำแพงเพชร จากวัดพระนอน ที่มีเสาศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาเป็นวัดพระสี่อิริยาบถ มีมหามณฑปยิ่งใหญ่ พระนอน พระยืน พระนั่ง และพระนอน อยู่ในอิริยาบถที่งดงาม ห่างจากวัดพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือประมาณ 10 เมตร มีวัดขนาดใหญ่ ที่คนทั่วไป มักจะผ่านไปไม่เข้าไปชม วัดนั้นคือ วัดสิงห์ วัดสิงห์นี้ มีกำแพงศิลาแลง โดยรอบทั้ง 4 ด้าน ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านตะวันออก 1 ทาง และทางตะวันตก 1 ทาง ภายในบริเวณวัดแบ่งเป็น เขตพุทธาวาส และสังฆาวาส ชัดเจน เช่นเดียวกับวัดอื่นๆในเขตอรัญญิก สิ่งก่อสร้างในเขตพุทธาวาส จะวางไม่ตรงตามแกนทิศตะวันออก ตะวันตก โดยจะเฉียงลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย จากการขุดแต่งวัดสิงห์ โดยกรมศิลปากร ในปี 2525 พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร และการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของอาคารดังกล่าวคือ อาคารใหญ่ที่อยู่หน้าสุดตั้งอยู่บนฐานทักษิณ สภาพในปัจจุบันคือพระอุโบสถ ด้วยมีฐานใบเสมาตั้งอยู่บนฐานทักษิณโดยรอบ แต่ภายในโถงอาคารมีแนวอาสนสงฆ์ตรงผนังด้านทิศใต้ จึงทำให้ทราบว่าอาคารหลังนี้ ดั้งเดิมคือวิหารที่สร้างให้เป็นแกนหลักของวัด ตามความนิยมสมัยสุโขทัย ต่อมาในสมัยหลังหรือสมัยอยุธยาซึ่งนิยมสร้างโบสถ์ให้มีขนาดใหญ่ ได้เปลี่ยนหน้าที่ของอาคารจากวิหาร เป็นอุโบสถโดยการปักเสมาโดยรอบ ใบเสมาที่ค้นพบ สลักจากหินชนวน บางใบประดับลวดลายพรรณพฤกษาในกรอบลายรูป สามเหลี่ยม และที่ขอบของใบเสมาสลักเป็นแถวลาย กระหนกปลายแหลมซึ่งเป็นลวดลายศิลปะแบบอยุธยา ลวดลายบนใบเสมา จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดง ให้เห็นว่าการประดับใบเสมาเพื่อเปลี่ยนแปลงหน้าที่ใช้สอยอาคารจากวิหารเป็นพระอุโบสถอยู่ในช่วงสมัยอยุธยา พระอุโบสถหรือวิหารตั้งอยู่บนฐานทักษิณขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับวิหารวัดพระสี่อิริยาบถ บันไดทางขึ้นฐานทักษิณด้านหน้าสร้างแปลกกว่าที่อื่น คือบันไดทำเจาะลงไปในฐานก่อไม่ได้ก่อยื่นออกมาจากฐาน ชานชาลาด้านหน้าบนฐานทักษิณก่อเป็นแท่นยกสูง ขึ้นจากระดับพื้นประดับสิงห์ปูนปั้น ทวารบาลและนาคที่มีแกนเป็นศิลาแลง พระอุโบสถหรือวิหารเดิมที่อยู่บนลานประทักษิณ ลักษณะอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอาคารเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ เสารองรับเครื่องบนเป็นเสาแปดเหลี่ยม ในอาคารปรากฎแนวอาสน์สงฆ์และฐานชุกชี หรือแท่นประดิษฐานพระประธาน
           เจดีย์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ สภาพในปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐานหน้า กระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวส่วนยอดหักพังลง มีซุ้มยื่น
ออกมาจากฐานล่าง ทั้ง 4 ด้าน ภายในซุ้มมีร่องรอยการประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนศิลาแลง จากการขุดแต่ง พบว่าน่าจะเป็นองค์ระฆังฐานสี่เหลี่ยม คล้ายกับเจดีย์วัดกำแพงงาม คือเป็นแบบเจดีย์ทรงระฆังฐาน โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่ง ได้เศียรพระพุทธรูปสำริด เศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบ พบถ้วยจานเครื่องลายคราม สมัยราชวงศ์หมิง พบตะปูตอกเครื่องไม้ ใบเสมาหินชนวน โบราณวัตถุมีทั้งแบบสุโขทัย และอยุธยา ปะปนกัน วัดสิงห์ จึงเป็นวัดที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดวัดหนึ่ง ในเขตอรัญญิกอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร……
.