วัดหม่องกาเล
This text will be replaced

          ในบริเวณอรัญญิกนครชุม มีวัดในเขตอรัญวาสี หลายวัด โดยเริ่มจากวัดซุ้มกอ วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองยายช่วย และวัดหม่องกาเล เรียงรายอยู่บนแนวถนนโบราณ จาก เมืองนครชุม ไปเมืองนครไตรตรึงษ์ แนวถนนโบราณ แนวคลองโบราณ…..ยังเห็นได้ชัด ถนนสายนี้ ชาวบ้านเรียกว่าถนนพระร่วงเหมือนกัน ซึ่งยังไม่ได้สืบค้นอย่างแน่ชัด…ถนนเส้นนี้อยู่ในแนว แผนที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งกำลังพิสูจน์สิทธิ์ ระหว่างเจ้าของที่ดิน ปัจจุบัน กับกรมธนารักษ์….คงทราบผลในเร็ววันนี้
             วัดหม่องกาเล เดิมชื่อวัดใดไม่ปรากฏชัดเจน ชาวบ้านเมืองนครชุมเรียกตาม ภูมินามที่พบเห็น
เช่นเห็นเจดีย์ อยู่กลางทุ่ง ก็เรียกวัดเจดีย์กลางทุ่ง อยู่ในบริเวณนาของยายช่วย ก็เรียกว่า วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล เช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่า บริเวณที่ค้นพบวัด อยู่ในที่จับจอง ของชาวพม่า ที่ชื่อหม่องกาเล ซึ่งสืบหาลูกหลานของท่านไม่ได้ รู้แต่ว่าหลังจากหม่องกาเล ที่บริเวณนั้น เป็นที่ครอบครองของตาหมอหร่อง ตาหมอหร่อง มีลูกเขยชื่อนายจันทร์ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณนี้ต่อมา และได้ขายที่ดินทั้งหมดให้ ผู้อื่น…..
          ปัจจุบัน วัดหม่องกาเล ตั้งอยู่บนแนวถนนโบราณ ที่ชาวบ้านเรียกว่าถนนพระร่วง หรือถนน
ตาพระร่วง ยังไม่ถูกบุกรุกทำลายมากอย่างวัดอื่นผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้ว จากกรมศิลปากร มีเจดีย์ประธานที่มีรูปทรงงดงาม ขนาดย่อมกว่าวัดหนองลังกา เล็กน้อย มีซุ้มที่ฐานเจดีย์ อยู่สามซุ้ม
ไม่ทราบว่า ไม่ได้บูรณะ 1 ซุ้ม หรือไม่มีแต่แรก แต่ถ้าสังเกตจากวัดหนองลังกา แล้วน่าจะมี 4 ซุ้ม
รูปทรงของเจดีย์ เพรียวและสง่างาม ยอดหักพังมาถึงคอระฆัง ไม่พบ ยอดที่หักตกลงมาเลย ในบริเวณนั้น อาจจะอยู่ในหนองน้ำ หรืออุทกสีมา ที่อยู่รอบๆ บริเวณพื้นที่ นั้นก็เป็นได้ ….ด้านหน้า มีวิหารเตี้ยๆคล้ายวิหารของวัด เจดีย์กลางทุ่ง….แต่มีร่องรอยของฐานวิหารที่ชัดเจน โดยรอบไม่มี เจดีย์ราย อาจถูกขุดทำลายหมด เพราะเป็นเจดีย์ ขนาดเล็ก คูน้ำล้อมรอบ เป็นคูน้ำขนาดใหญ่ ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ยังไม่ถูกรื้อทำลาย จากชาวบ้าน ชาวบ้านบริเวณนั้นมิกล้าเข้าใกล้ บริเวณ จึงมิถูกบุกรุกที่ดิน
           วัดหม่องกาเล มีกรุพระเครื่อง ที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะอย่างพระซุ้มกอ ขุดพบที่บริเวณวัดนี้จำนวนมาก
           ………วัดหม่องกาเล มิได้อยู่ในแนว การถมที่เพื่อทำบ้านจัดสรร จึงยังมีภูมิทัศน์ที่งดงาม เพียงแต่ขาดการดูแลที่ดี จากเจ้าหน้าที่เท่านั้น ถ้าโอนที่บริเวณวัดให้กับ องค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว การดูแลจะใกล้ชิดมากขึ้น และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยการดูแลควบคุม
จากกรมศิลปากรอีกต่อหนึ่ง…..
           วัดหม่องกาเล เป็นวัดในแนวถนนไปวังกระทะ และข้ามคลองไพร ไป ซึ่งยังไม่ได้สำรวจกันอย่างจริงจัง ว่าแนวถนนนี้มีโบราณสถาน โบราณวัตถุใดหลงเหลืออยู่บ้าง……แต่ก็ยังดีใจที่วัดหม่องกาเล อยู่ในแผนที่ของกรมศิลปากร และขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว จึงมิมีใครมาครอบครองได้….