การแทงหยวก

 

         การแทงหยวก เป็นวิชาความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยใช้วัสดุที่หาง่ายคือต้นกล้วย มาสร้างงานฝีมือซึ่งมักใช้ในงาน ตกแต่งประดับประดา เมรุเผาศพ งานบวช งานกฐิน และงาน ตกแต่งอื่นๆ สืบทอดกันมาหลายร้อยปี
          นายธรรมนูญ ยายอด เป็นผู้รับสืบทอดวิชาการแทงหยวกมาจากบิดา คือนายคำ ยายอด นายธรรมนูญ ยายอดมีความสามารถในการแทงหยวก และอุทิศกำลังกายและใจ ความรู้และความสามารถ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม
          กระบวนการแทงหยวกนั้น ต้องเริ่มจากการไหว้ครู เพื่อรำลึกถึงครูอาจารย์ มีธูป 3 ดอก เทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม ดอกไม้ 3 สี สุรา 1 ขวด ผ้าขาวม้า 1 ผืน เงินค่าครู 142 บาท
          อุปกรณ์ประกอบด้วย มีดสำหรับแทงหยวก โดยการตีดิบ ไม่ต้องเอาไปเผาไฟ ตอก....ใช้สำหรับประกอบเข้าเป็นส่วนต่างๆ
          วัสดุที่ใช้ คือ ต้นกล้วยตานี เพราะไม่แตกง่าย ปัจจุบันต้นกล้วยตานีหายาก และมีขนาดไม่เหมาะสมสำหรับใช้งาน จึงนิยมใช้ต้นกล้วยน้ำว้าแทน โดยต้องเป็นต้นกล้วยน้ำว้าสาว คือต้นกล้วยที่ยังไม่มีเครือ หรือยังไม่ออกหวีกล้วย ต้นกล้วยจะอ่อนแทงลวดลายได้ง่าย กระดาษสี ใช้สำหรับรองรับลวดลายต้นกล้วยให้ปรากฏชัดเจน
         ขั้นตอนการแทงหยวก และประกอบเข้าเป็นลายชุดนั้น มี 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือขั้นเตรียมหยวกกล้วย ขั้นแทงลวดลายลงบนหยวก และขั้นประกอบเป็นลายชุด ซึ่งแต่ละขั้นตอนนั้น มีคุณค่าสูงด้านศิลปะ จิตใจ ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
         การแทงหยวก เป็นภูมิปัญญาที่นับวันจะเลือนหายไปจากสังคมไทย จึงควรได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน เผยแพร่ ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป