บายศรี

 

         บายศรี เป็นการใช้ภูมิปัญญาไทย ในการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ ผู้ได้รับการทำพิธี บายศรีจึงเป็นของสูง สิ่งมีค่าของไทย มาแต่โบราณ ในงานมงคลทุกงานจะมีพิธี ที่มีบายศรีเป็นส่วนสำคัญ เป็นศาสนพิธี ของศาสนาพราหมณ์ คำว่าบาย เป็นภาษาเขมรหมายถึง ข้าวสุก ศรี เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึงมิ่งขวัญ บายศรี จึงหมายถึง ขวัญข้าว หรือภาชนะใส่เครื่องสังเวย
          ก่อนทำพิธี สู่ขวัญ ต้องมีการจัดพาขวัญหรือขันบายศรี หมายถึงภาชนะใส่เครื่องสังเวยบูชาก่อนการเรียกขวัญ ตกแต่งอย่างสวยงามด้วย ใบไม้ เช่นใบตองกล้วย นำมาพับ เป็นมุมแหลมและเย็บซ้อนอย่างสวยงาม อาจทำเป็น 3 ชั้น 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้จัดพิธี บายศรีจึงเป็นความเชื่อ ของคนทุกภาคในประเทศไทย การทำพิธี โดยใช้บายศรี ก่อให้เกิดขวัญกำลังใจ ช่วยให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถเผชิญภยันตรายได้อย่างดี ทำให้เกิดโชคลาภและสิริมงคลแก่ผู้กระทำ การใช้บายศรี มีทั้งเหตุการณ์ดีและเหตุการณ์ไม่ดี
         การสู่ขวัญโดยใช้บายศรีในเหตุการณ์ดี เช่น การเกิด บวช แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ฉลองตำแหน่ง ผูกเสี่ยว การกลับมาบ้าน เพื่อให้เกิดสิริมงคล ยิ่งๆขึ้นไป
         การสู่ขวัญโดยใช้บายศรี ในเหตุการณ์ที่ไม่ดี เช่น การเจ็บป่วย การเกิดอุบัติเหตุ หรือ
เหตุการณ์ร้าย ต่างๆที่ทำให้เสียขวัญ เพื่อสะเดาะเคราะห์ ให้หายจากเหตุการณ์ร้าย

         หมอขวัญ จะเป็นผู้ประกอบพิธี โดยเชิญเทวดาอารักษ์ มาเป็นสักขีพยาน และบันดาลให้เจ้าของขวัญ ประสบความสำเร็จ ความสุขและความเจริญ บายศรี ตั้งแต่โบราณมีหลายชนิด แต่ละชนิด มีชื่อเรียกแตกต่างกัน มีวิธีทำและวิธีใช้ที่ไม่เหมือนกัน อาทิ
         บายศรีเทพ ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ สำหรับบวงสรวง เทพ พรหม เทวาอารักษ์ ประกอบด้วยบายศรี เก้าชั้น ทั้งหมด แปดตัว ประดับพานด้วยดอกดาวเรือง กุหลาบและดอกรัก ยอดตัวบายศรีปักด้วยเม็ดโฟม และเข็มหมุด ห้อยอุบะดอกรักประดับยอด ด้วยดอกดาวเรือง และดอกบัว
         บายศรีพรหม ใช้ในงานพิธีใหญ่ สำหรับบวงสรวงเทพยดา หรือองค์พรหม ประกอบด้วยบายศรี ตัวแม่ เก้าชั้น 4 ตัว และตัวบายศรี 6 ชั้น 4 ตัว ประดับด้วยดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ ดอกบานไม่รู้โรย ห้อยอุบะดอกรักยอดประดับด้วยดอกบัวและดอกดาวเรือง
         บายศรีตอ ใช้ในงานบวงสรวง ครูแขนงต่างๆ ประกอบด้วยบายศรีตัวแม่ เก้าชั้น ตัวลูกเจ็ดชั้นประดับพานด้วยดอกดาวเรือง กุหลาบ ห้อยอุบะดอกรัก ประดับยอดด้วยดอกดาวเรื่องและดอกบัว
         บายศรีปากชาม นิยมทำ 3 ชนิด คือ
         บายศรีปากชาม 7 ยอด (เล็ก) เป็นบายศรีขนาดเล็กที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์มากใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่นตั้งศาลพระภูมิ ทำบุญต่างๆ ยอดกรวยเสียบด้วยไข่ และดอกไม้ที่เป็นมงคล
         บายศรีปากชาม 7 ยอด ใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่นทำขวัญเด็กเกิดใหม่ โกนผมไฟ โกนจุก สร้างบ้านยกเสาเอก ไหว้ครู ตั้งศาลพระภูมิ
         บายศรี ปากชาม 9 ยอด ใช้ในงานพระราชพิธีใหญ่ ๆ เพื่อสักการะบูชา ครูบาอาจารย์ บวงสรวงเทพยดา ประดับด้วยบายศรีตัวแม่ 9 ชั้น รอบพานประดับด้วย ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ประดับยอดด้วยดอกดาวเรือง
         บายศรีจึงเป็นงานฝีมือ ของภูมิปัญญาไทย ที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้อยู่ในพิธี ซึ่งน่าสนใจว่าจะไม่สาบสูญ อย่างแน่นอน เพราะคนไทยยังนิยม ใช้บายศรี ในพิธีต่างๆอยู่เสมอ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนทำบายศรี เป็นมีน้อยลงทุกที การสืบทอดไม่สามารถ เรียนรู้กันได้อย่างจริงจัง ขึ้นอยู่กับฝีมือและหัวใจ ดังเช่น คุณบุญลือ โอสา ที่ทำบายศรีสืบต่อจากแม่มา จนรุ่นลูก เราจึงหวังว่ารุ่นหลาน คงสามารถ สืบทอดต่อได้เช่นเดียวกัน
         บายศรีคุณค่าแห่งภูมิปัญญาไทย ที่คนไทยควรศึกษา และเรียนรู้อย่างยิ่ง เป็นงานฝีมือ ที่วิจิตร สามารถ ใช้วัสดุท้องถิ่นและใกล้ตัวอย่างน่าสนใจบายศรี วิถีชีวิตของคนไทย