การนำเครื่องเงินมาเป็นเครื่องประดับการแต่งกายของชาวเขาเผ่าเย้า

 

        ชาวเขาเผ่าเย้า หรือเมี้ยน ที่เราไปสัมภาษณ์การทำเครื่องเงินเพื่อประดับชุดผู้หญิงของเขาอยู่ที่บ้านเขาน้อย หมู่ที่ 1 ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งนิยมสร้างบ้านบริเวณที่ลาดชันตามไหล่เขา ผู้หญิงชาวเย้า จะแต่งตัวด้วย เครื่องเงินที่งดงามมาก มีน้ำหนักหลายกิโลกรัม แต่ละชุดจะมีมูลค่าของเครื่องเงินนับแสนบาท จึงทำให้ชายชาวเขา เป็นช่างที่ทำเครื่องเงินได้งดงามมากและหลากหลายรูปแบบมาก
้          จากการสัมภาษณ์นายขวานทอง จ๋าวเสรี (กวานตอง แซ่จ๋าว) นายช่างทำเครื่องเงิน ชาวเย้า ขณะนี้ เขามิได้ทำเครื่องประดับชุดการแต่งกายสุภาพสตรีชาวเย้าแต่อย่างเดียว แต่เขาทำส่งประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย
้          สุภาพสตรีชาวเย้าที่ เป็นแบบให้เรา บันทึกภาพ และเป็นนางแบบในการแสดงชุดของหญิงชาวเย้าในชุดแต่งกาย ที่งดงามราวกับเจ้าหญิงคือ คุณสุมาลี หงิงเส็ง (แซ่จ๋าว) น้องสาวนายขวานทอง ผู้จัดทำเครื่องเงินประดับให้น้องสาว ในชุดแต่งงานที่งดงาม โดยเฉพาะผ้าคลุมไหล่ ที่มีเครื่องเงินจำนวนมากประดับอยู่ มีมูลค่ามหาศาล ผ้าโพกศีรษะ จะพันด้วยเครื่องเงินราวกับมงกุฏ
้          เครื่องเงินจะมีบทบาทสำคัญมากที่สุด ในวัฒนธรรมของชาวเย้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน แต่งงานในวันสู่ขอ เถ้าแก่จะวางกำไลเงินคู่หนึ่ง ในถาดถ้าเจ้าสาวเก็บกำไลก็แสดงว่ารับไมตรี เจ้าสาวจะปักเสื้อด้วยตนเอง เป็นความภูมิใจ สินสอดการแต่งงานจะเป็นเงิน 3 ถึง 6 แท่ง แล้วแต่ฐานะของผู้ชาย
้          เครื่องเงินกับชาวเขาเผ่าเย้าจึงเกี่ยวข้องเป็นจิตวิญญาณของพวกเขาไปตลอดกาลอาจกล่าวได้ว่าไม่มีช่างฝีมือทำเครื่องเงินชาติใดที่มีฝีมือประณีต เสมอด้วยชาวเขาเผ่าเย้า ชาวเขาเผ่าเย้าภูมิใจ ในวัฒนธรรมการทำเครื่องเงินของเขาตลอดไป การผลิตเครื่องเงินจึงเป็นวิถีชีวิต แท้แท้ของเย้าหรือเมี้ยน สืบทอดงานฝีมือการทำเครื่องเงินให้เป็น แก่นแท้หรือรากฐานของชาวเย้าที่ไม่รู้ลืมดังที่ บรรพบุรุษชาวเย้า สืบทอดและศึกษามานับพันปี นี่แหละคือการทำเครื่องเงิน ประดับเสื้อผ้า สุภาพสตรี ที่งดงามที่สุด ที่เราเคยพบเห็นมา ชาวเย้ากับเครื่องประดับเงินอันล้ำค่า