ตาลโตนด


                                 เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น         ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
                      เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน               ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล
          ตาลถูกกล่าวขานเปรียบเทียบในวรรณกรรมมาช้านาน ตาลจึงเป็นพืชที่ชาวไทยรู้จักเป็นอย่างดีและนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและเหมาะสม ทุกส่วนของตาลล้วน นำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ตาลโตนด เป็นต้นไม้ตระกูลเก่าแก่ มีมากกว่า 4,000 ชนิด ขึ้นอยู่ทั่วประเทศไทย มีอายุยืนนับร้อยๆปี นัก ชีววิทยา มีความเห็นว่า ตาลโตนด มีถิ่นกำเนิดทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย ขยายไปสู่ศรีลังกา สหภาพเมียนม่าร์ ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา ในประเทศไทยะพบมากที่ จังหวัดเพชรบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม มีปลูกมาก่อนสมัยทวาราวดีตาลโตนดเป็นพืชตระกูลปาล์มพัด มีชื่อหลายชื่อด้วยกัน เช่นตาลใหญ่ ตาลนา ภาคเหนือเรียกปลีตาล ภาคใต้เรียกโนด เขมรเรียกตะนอย ตาลโตนดที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร มีสามสายพันธ์ คือ
          1.ตาลหม้อ เป็นตาลที่มีลำต้นแข็งแรง ดูจากลำต้นไม่สามารถแบ่งแยกได้ สังเกตได้จากผลตาล ที่ให้ผลใหญ่ ผิวดำเป็นมันเรียบ แทบไม่มีสีอื่นปน เวลาแก่ผลมีรอยขีดเป็นแนวยาวของผล เปลือกหนา ในผลจะมี 2- 4เมล็ด ในหนึ่งทะลายจะมีประมาณ 10 – 20ผล จะให้ผลเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น
          2 ตาลไข่ มีลำต้นแข็งแรง ผลค่อนข้างเล็ก ตลาดนิยมตาลหม้อมากกว่า สีผลค่อนข้างเหลือง ในหนึ่งทะลายจะมีผล 10 –20 ผล จะให้ผลเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป
          3.ตาลพันธุ์ลูกผสม เป็นลักษณะสีดำผสมสีน้ำตาล พบที่จังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่จะให้ผลเมื่ออายุ 15 ปีขึ้นไป…
          อาชีพขึ้นตาลเพื่อนำผลไปจำหน่าย ในจังหวัดกำแพงเพชร มีมาช้านานตาลจะนิยมปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาไม่ทำเป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะโตช้า ให้ผลช้า การเก็บผลค่อนข้างยาก
จึงไม่มีการปลูกไว้ เพื่อการค้าขาย นักขึ้นตาลที่กำแพงเพชร มีไม่กี่คนที่ยังเหลืออยู่ พากันไปประกอบอาชีพอื่นๆ จนหมดสิ้น เนื่องจากเมื่อสูงอายุมากขึ้น ก็จะไม่สามารถขึ้นตาลได้ เพราะเต็มไปด้วยอันตราย
          ที่กำแพงเพชร เราพบหนุ่มสมชาย ภู่สอน ที่สืบทอดอาชีพการขึ้นตาลมาจากพ่อของเขา ในเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม เขาจะตระเวน ขึ้นตาล ที่ขึ้นตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะสูงเพียงใด ในที่สุดคณะทำงานของเรา ก็นัดกับ คุณสมชาย ภู่สอน ที่จะขึ้นตาล เนื่องจากเข้าฤดูฝน ทำให้การนัดผิดพลาดทุกครั้งเนื่องจากฝนตกตลอด ในที่สุด เราก็ได้ถ่ายทำรายการการขึ้นตาลได้ในที่สุด
          การขึ้นตาลในปัจจุบัน ไม่ใช้พะองพาด ลำต้นเหมือน ในอดีต เขาใช้ทอย คือเหล็กแหลมตอกลงไปบนต้นตาล แล้วขึ้นอย่างคล่องแคล่ว คล้ายไต่บันได เมื่อขึ้นยอดตาล เลือกหาตาลที่มีผลกำลังพอดี โรยเชือกลงมา อย่างนุ่มนวล แล้วไต่ลงมาเฉาะ ผลตาลเพื่อไปขายตามตลาด ในราคาถุงละ 20-25 บาท ประมาณ 10 ลอน ซึ่งเมื่อดูวิธีการขึ้นตาลแล้วนับว่าไม่แพง
          การขึ้นตาลในกำแพงเพชร ไม่มีการจ้างขึ้น ผู้ขึ้นจะตระเวน ไปตามบ้านต่างๆที่มีตาล แล้วขอขึ้น แบ่งผลที่ขึ้นได้ ในอัตราส่วนประมาณ 3 ต่อ 1 คือผู้ขึ้นจะได้ไป 3 ส่วน เจ้าของตาลจะได้ 1 ส่วน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ ไม่มีใครเขียนขึ้น
          การขึ้นตาลจึงเป็นอาชีพที่สำคัญของชาวกำแพงเพชร อีกอาชีพหนึ่งที่กำลังจะสาบสูญไปจากกำแพงเพชร ขอบคุณหนุ่มสมชาย ภู่สอน ที่สาธิตให้เราได้ถ่ายทำรายการเป็นบันทึกอีกหน้าหนึ่งของรายการโทรทัศน์วัฒนธรรม