การทำน้ำตาล ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน

 

           การทำน้ำตาลด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านหายสาบสูญ ไปจากเขตอำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร มานับสิบปี แต่เดิมบริเวณป่ามะปราง อำเภอเมือง เป็นแหล่งน้ำตาลของกำแพงเพชร แต่เนื่องจาก ต้นตาลถูกโค่นลง ประชาชน ไปประกอบอาชีพอื่นกัน ทำให้การทำน้ำตาลปึก น้ำตาลสด และน้ำตาลเมา หายไปจาก อำเภอเมือง โดยสิ้นเชิง นับว่าน่าเสียดายยิ่งนัก
        เมื่อมาเยี่ยมชม บ้านหนองตาสังข์ ตำบลลานกระบือ อำเภอลานกระบือ ได้พบกับ นายเคียน เกษแก้ว ชายร่างเล็ก มีน้ำใจ อายุ 60 ปี ท่าทางแข็งแรง นายเคียนได้แสดงขั้นตอน การผลิต น้ำตาลให้ชม โดยเริ่มจากการขึ้นต้นตาล โดยพะอง ที่ทำจากไผ่ทั้งลำ นำกระบอก รองน้ำตาล ขึ้นไปรองจากพวยตาล ท่าทางคล่องแคล่วยิ่ง นายเคียนขึ้นไปรองตอนเย็น ตอนเช้าจึงขึ้นไป เก็บน้ำตาลที่รองไว้ มาเคี่ยวในกะทะ ใบเขื่อง เมื่อคนจนได้ที่ จึงนำพิมพ์มา เทน้ำตาลลงไปในพิมพ์ เมื่อเย็นดีแล้วน้ำตาล แข็งตัว จึงได้เป็นน้ำตาลปึก มีผู้มาซื้อถึงบ้านโดย ไม่ต้องนำไปจำหน่ายข้างนอกบ้านหรือในตลาด นายเคียนและภรรยาเล่าว่า สามารถขายได้หมดทุกวัน ไม่มีเก็บไว้เลย
        เมื่อมีปริมาณ น้ำตาลมากกว่าปกติ นายเคียน ได้นำมาผลิตน้ำตาลสด เมื่อชิมแล้วรสหอมหวานมาก วิธีผลิตก็ไม่ยากเย็น เพียง นำน้ำตาลมาต้มหรือเคี่ยวให้สุกแล้ว ได้ที่ ตักใส่ถุงหรือเติมใส่ขวด มีผู้มารับไปขาย หรือไปดื่มกันไม่พอจำหน่าย นายเคียนเล่าไป สาธิตให้เราชมไป ด้วยความภูมิใจ ในอาชีพทำน้ำตาล ขาย
       เมื่อฤดูใดมีน้ำตาลมาก กว่าปกติ นายเคียน ขายน้ำตาลสด ไม่หมด จะนำน้ำตาลสดมาหมักไว้ คืนหรือสองคืน ในไห เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลเมา เพื่อไว้ดื่มหรือไว้จำหน่าย ในราคาลิตรละ 20บาท ซึ่งนับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและภูมิปัญญาไทย ที่ หาได้ยากมากขึ้นในชนบทของสังคมไทย
        น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ ไม่มีผู้สืบทอด การทำน้ำตาล จากนายเคียน เกษแก้ว ซึ่งอาจจะสูญหายไปจากกำแพงเพชร จากลานกระบือ อีกไม่นานเกินไป เหมือนภูมิปัญญาไทย อื่นๆ ที่ไร้ผู้สนับสนุน และเหลียวแล นำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาต่างชาติมาดำเนินการแทนทำให้ภูมิปัญญาไทยจึง สูญหายไปจากกำแพงเพชรในที่สุด เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นทางเดียวที่ทำให้ไทยเราอยู่รอด เมื่อเราเป็นประเทศเกษตรกรรม