การเลี้ยงปลาจีน
( ความรู้เรื่องการเลี้ยงปลา โดย เฉลิมวิไล ชื่นศรี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2539 )

ความสำคัญ
          ปลาจีนเป็นปลาที่มีต้นกำเนิดมาจากลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ประเทศจีน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิดคือ ปลาไน ปลาเฉา ปลาลิ่น ปลาซ่ง และปลาเฉาดำ แต่มีเพียง 3 ชนิดที่นิยมเลี้ยงรวมกันคือ ปลาเฉา ปลาลิ่น และปลาซ่ง ส่วนปลาไนนั้นเลี้ยงกันจนเป็นปกติวิสัยและบางท่านไม่นับเป็นปลาจีน
          ปลาจีนทั้งสามชนิดดังกล่าว ในปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ได้ในประเทศไทยปี พ.ศ.2509 หลังจากที่ได้ประสพผลสำเร็จแล้วในอินเดีย ( ค.ศ. 1962) ในไต้หวัน ( ค.ศ. 1963) และในสาธารณรัฐสหภาพโซเวียตรัสเซีย ( ค.ศ. 1966 ) ปลาจีนเติบโตได้รวดเร็ว เนื้อมีรสดี แต่ตลาดจำหน่ายค่อนข้างจำกัด ปลาเฉา หรือ เฉาฮื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ctenopharyngodon idellus ( ซี-โน-ฟา-ริ้ง-โก-ดอน-เดล-ลัส) ปลาลิ่น ปลาเล่ง ลิ่นฮื้อหรือเล่งฮื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypophthalmichthys molitrix ( ไฮ-โพพ-ทาล-มิค-ทีส์-โม-ลิ-ทริกส์ ) ส่วนปลาซ่งหรือซ่งฮื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aristichthys nobilis ( อะ-ริส-ทีส์-โน-บิ-ลีส )
รูปร่างลักษณะ           ปลาจีนทั้งสามชนิดเป็นปลาจำพวกเดียวกับปลาไน รูปร่างและลักษณะคล้ายกัน มีลักษณะต่างกันมองเห็นได้ง่ายๆคือ ปลาเฉา เป็นปลาที่มีเกล็ดใหญ่เช่นเดียวกับปลาไน ลำตัวกลมยาวคล้ายกระบอกไม้ไผ่ สีตามลำตัวค่อนข้างเขียว ที่สำคัญคือชอบหากินอยู่ตามผิวน้ำ หรือว่ายน้ำยู่ตามผิวหน้าน้ำ ส่วนปลาลิ่นและปลาซ่งนั้นมีเกล็ดละเอียด ปลาลิ่นตัวแบนข้าง สีเงิน ท้องเป็นสันที่บริเวณตั้งแต่กระพุ้งแก้มเรื่อยไปจนถึงครีบก้น หากินอยู่ตามบริเวณกลางน้ำในระดับ 1-1.5 เมตร ส่วนปลาซ่งนั้น หัวค่อนข้างใหญ่ หลังสีดำ ตัวสีคล้ำ ท้องเป็นสันตั้งแต่ครีบท้องถึงครีบก้น หากินตามพื้นดินก้นบ่อ ปลาจีนทั้งสามชนิดอยู่ในครอบครัวเดียวกัน คือ Cyprinidae (ไซ-บริ-นิ-ตี้ )
การเพาะพันธุ์ปลาจีน
          ปลาจีนทั้งสามชนิดไม่วางไข่กับเองตามธรรมชาติ แต่สามารถใช้วิธีผสมเทียมฉีดฮอร์โมนเร่งให้ปลาวางไข่ได้ พ่อแม่พันธุ์ต้องเลือกเอาที่มีน้ำเชื้อสมบูรณ์และมีไข่แก่เต็มที่ อายุประมาณ 2-4 ปี น้ำหนักประมาณ 1.5-5 กิโลกรัม แม่พันธุ์ฉีดต่อมใต้สมองของปลาไนหรือปลาชนิดเดียวกันในอัตรา 0.5 -2 โดส 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 5-8 ชั่งโมง ครั้งแรกอาจฉีดในอัตราน้อยกว่าครั้งที่สอง พ่อพันธุ์ฉีดต่อมใต้สมองของปลาไน หรือปลาชนิดเดียวกันอัตรา 0.5-1.5 โดส เพียงครั้งเดียว 8 ชั่วโมงก่อนการผสมไข่กับน้ำเชื้อในเวลาเช้ามืด 04:30-6:00 น.
          ปลาเฉานั้น ไข่ที่รีดออกมาใหม่ๆมีสีเหลืองปนน้ำตาลเล็กน้อย มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2.0 มิลลิเมตร เมื่อผสมน้ำเชื้อแล้ว ไข่จะดูดน้ำเส้นผ่าศูนย์กลางเป็น 4.0-5.0 มิลลิเมตร จะฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 13-14 ชั่วโมง อุณหภูมิน้ำ 27-33 องศาเซลเซียส แม่ปลาตัวหนึ่งๆจะให้ลูกปลา 5,000-10,000 ตัว
          ปลาลิ่นนั้น ไข่ปลาจะมีสีเทา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.4 มิลลิเมตร เมื่อผสมน้ำและพองน้ำแล้วจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-5.0 มิลลิเมตร ฟักออกเป็นตัวภายใน 14-16 ชั่วโมง อุณหภูมิน้ำ 27-33 องศาเซลเซียส แม่ปลาตัวหนึ่งๆจะให้ลูกปลา 5,000-10,000 ตัว
          ปลาซ่งนั้น ไข่ปลาจะมีสีเหลืองทองปนน้ำตาลเล็กน้อย เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2.0 มิลลิเมตร เมื่อผสมน้ำเชื้อและพองน้ำแล้วจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.0-5.0 มิลลิเมตร ฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 15-19 ชั่วโมง แม่ปลาตัวหนึ่งๆจะให้ลูกปลา 10,000-20,000 ตัว ไข่ปลาทั้งสามชนิดฟักออกเป็นตัวโดยใช้ระบบน้ำหมุนเวียนขึ้นสู่ผิวน้ำ
การเตรียมต่อมใต้สมอง
          นำต่อมใต้สมองมาบดในในแก้วสำหรับบด หรือ โกร่งแก้ว ให้ละเอียด ผสมด้วยน้ำกลั่น บริสุทธ์และน้ำเกลือ ( น้ำเกลือมีความเข้มข้น 0.7 เปอร์เซ็นต์ หรือน้ำเกลือที่ใช้ฉีดยาโดยทั่วไป ) นำน้ำยาที่ผสมไปปั่นให้ตกตะกอนแล้วใช้หลอดแก้วพร้อมเข็มฉีดยาดูดแต่น้ำใสๆนำไปฉีด ถ้าต่อมสะอาดก็ไม่จำเป็นต้องนำไปปั่นให้ตกตะกอน น้ำกลั่นหรือน้ำเกลือที่ใช้ผสมนั้นไม่ควรเกิน 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ( ลบ.ซม. หรือ ซีซี )
การให้อาหารลูกปลา
          ประมาณ 2-3 วันหลังจากลูกปลาฟักออกจากไข่ ถุงอาหารหน้าท้องจะยุบ เริ่มให้อาหารแก่ลูกปลาได้ ในระยะ 3-7 วันแรก ให้ไข่แดงต้มสุกบดละเอียด ในระยะ 8-15 วัน ให้ไข่แดงต้มสุกปนกับข้าวสาลีร่อนด้วยแล่งร่อนแป้งเป็นอาหาร ต่อจากนั้นให้อาหารแป้งสาลีปนกับรำละเอียดร่อนด้วยแล่งร่อนแป้งเป็นอาหาร
บ่อเลี้ยงลูกปลา
          ในขณะที่ถุงไข่ยังไม่ยุบ ให้ฟักลูกปลาในถุงฟักไข่ เมื่อลูกปลาอายุได้ 2-7 วัน จึงนำลงอนุบาลในบ่อ 1.5 ด 2.5 ด 1 เมตร ต่อจากนั้นนำลงเลี้ยงในบ่อขนาด 400 ตารางเมตร
การเตรียมบ่อเลี้ยง
          บ่อเลี้ยงลูกปลาจีนควรเป็นบ่อดิน มีความลึกประมาณ 1 เมตร ขนาดของบ่อไม่ควรเกิน 400 ตารางเมตร เลี้ยงลูกปลาจีนให้ได้ขนาด 12-15 เซนติเมตร จึงย้ายไปเลี้ยงในบ่อดินใหญ่ความลึกไม่เกิน 2.5 เมตร ขนาดประมาณ 400 ตารางเมตรขึ้นไป อัตราการเลี้ยงลูกปลาใช้ 5-10 ตัวต่อตารางเมตร ส่วนบ่อดินใหญ่ใช้อัตรา 40 ตัวต่อตารางเมตร ปลาจีนนั้นนิยมเลี้ยงรวมกันทั้งสามชนิด โดยใช้อัตราส่วน ปลาเฉา 7 ตัว ปลาลิ่น 2 ตัว และปลาซ่ง 1 ตัว ลูกปลาสามารถคัดได้ง่ายๆโดยการรวบรวมปลาไว้ในถังไม้ลึกประมาณ 1 เมตร ลูกปลาที่ว่ายลอยอยู่ผิวหน้าน้ำคือลูกปลาเฉา ลูกปลาที่ว่ายเป็นกลุ่มอยู่ในระดับกลางๆถัง คือ ลูกปลาลิ่น และลูกปลาที่ว่ายอยู่ก้นถังคือลูกปลาซ่ง
          การเตรียมบ่อเลี้ยง ควรใช้ปุ๋ยคอกเพาะจุลินทรีย์ ในน้ำในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อ 10 ตารางเมตร และควรกองหญ้าหมักไว้ตามมุมบ่อด้วย
          เมื่ออาหารบริบูรณ์ ปลาจะได้ขนาดไม่ต่ำกว่า 20 เซฯติเมตร และหนักไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม ในระยะเวลา 6 เดือน ตลาดนิยมปลาขนาดไม่เกินตัวละ 1 กิโลกรัม
การให้อาหารเสริม
          เกี่ยวหญ้าขนเลี้ยงปลาเฉาทุกวัน โดยจัดให้กินตามบ่อเป็นแหล่งๆไป อาหารเสริมถ้าจะให้ก็มี กากถั่ว ผักบุ้ง ผักชนิดต่างๆ ลูกปลาอาจให้รำละเอียดเป็นอาหาร ส่วนปลาลิ่นนั้นอาศัย จุลินทรีย์ที่เกิดจากมูลปลาเฉาเป็นอาหารเช่นเดียวกับปลาซ่ง ถ้าปลาอดอาหาร ปลาซ่งจะหาหอยตามพื้นดินก้นบ่อกินเป็นอาหาร
การจำหน่ายปลาจีน
          ปลาจีนมีตลาดจำกัด ยังไม่มีวางขายโดยทั่วไป การขายปลาต้องติดต่อกับผู้ซื้อซึ่งจะมีเป็นบางท้องที่ เช่น ตลาดเก่าเยาวราช และตามร้านขายอาหารจีน ปลาจีนจำหน่ายในขณะที่ปลายังมีชีวิตอยู่ ก่อนนำมาจำหน่ายต้องจับปลาให้อยู่ในน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 วัน ขนาดที่จำหน่ายนั้น ตั้งแต่ 0.5-1.0 กิโลกรัม หรือขนาดใส่จานเปลพอดี เมื่อปลาติดตลาด ผู้ซื้อจะคัดปลาเองที่บ่อเลี้ยง ส่วนมากการซื้อขายจะผูกพันกันเป็นลูกโซ่ เช่น ถ้าผู้เลี้ยงซื้อลูกปลาของผู้ขาย ผู้ขายคัดจำหน่ายปลาโตให้ ดังนี้เป็นต้น ราคาจำหน่ายอยู่ระหว่าง 15-20 บาทต่อกิโลกรัม ผู้ขายปลีกตามตลาดสดมักจะแบ่งปลาขายตัวหนึ่ง 2 ท่อนเท่านั้น คือท่อนหัวและท่อนหาง
การแปรรูปปลาจีน
          ปลาจีน ทำเป็นอาหารได้เช่นเดียวกับปลาน้ำจืดอื่นๆทั่วๆไป นอกจากการขอดเกล็ด ควักไส้ ทำความสะอาดบริเวณท้องแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ เยื่อบุช่องท้องที่เป็นสีดำต้องดึงออกทิ้งให้หมด มิฉะนั้นอาจทำให้ปลามีรสขมไม่น่ารับประทานได้ ปลาจีนมีก้างมากคล้ายปลาตะเพียน