อาหารและขนมไทย

        สังคมปัจจุบัน เป็นสังคมบริโภคนิยม การรับประทานอาหารแบบใหม่คือขนมถุงแบบตะวันตก กำลังระบาดเข้ามาในสังคมไทย ตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง เมื่อเปรียบเทียบกับขนมไทยหรืออาหารไทย เยาวชนไทยของเรากำลังเป็นทาสของการนิยมบริโภคแบบขาดการยั้งคิดซึ่งอาหารขยะเหล่านี้ล้วนมีโทษมากกว่ามีคุณค่า แต่ด้วยการหลงในการประชาสัมพันธ์ทำให้เยาวชนไทยเข้าไปสู่มหันตภัยอย่างไม่รู้สึกตัว ทั้งราคาและคุณภาพ
          สภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร นำโดยอาจารย์สันติ อภัยราช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดโดยตัวแทนคือคุณเตือนใจ ถมอินทร์ และศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยจังหวัดกำแพงเพชร ตัวแทนโดยอาจารย์สุปราณี แสงทอง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมลานวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนและครอบครัวขึ้น ที่โรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม โดยเชิญครูอาจารย์และนักเรียนในกลุ่มนครชุม จำนวน 10 โรงเรียนร่วมกิจกรรม เยาวชนได้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่เวลา 8.00 น. โดยร่วมทำอาหารไทยและขนมไทยกันอย่างสนุกสนาน ถือเป็นการเรียนรู้แบบอิ่มอร่อยควบคู่กันไป
         ขนมถั่วแปบ ขนมต้มของแม่สวอง เยาวชนช่วยกัน ตั้งแต่ผสมแป้ง นวดแป้ง ขูดมะพร้าว ลวกแป้ง ปั้น นึ่งกันอย่างพร้อมเพรียงและสนุกสนาน เมื่อทำเสร็จด้วยความภูมิใจ จึงได้ร่วมกันรับประทานอย่างรู้ซึ้งถึงคุณค่าของขนมไทย
         ขนมไทย ที่ใช้ใบตองห่อ เยาวชนสนุกสนานกับการตัดใบตอง ห่อขนม อันมีขนมสอดไส้ ขนมแตง ขนมฟักทอง ขนมต่างๆ ที่ป้าดำ บ้านหัวยางที่สั่งสมประสบการณ์การทำขนม มาสามชั่วอายุคน ทำให้เยาวชนเกิดความภูมิใจ ในขนมไทย และเข้าใจความเป็นไทยมากขึ้น
         ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหวาน ซึ่งรับมาจากชาติตะวันตกตั้งแต่สมัยอยุธยากลายเป็นขนมของไทยไปแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ เยาวชนสนใจฝึกการทำ ซึ่งมีวิธีการทำอย่างประณีต
แม่สุภาพ ได้ทำขายทุกวันที่ตลาดนครชุม เยาวชนชื่นชมกับสิ่งที่พบเห็น และทดลองทำกันอย่างรู้คุณค่าของขนมไทยเหล่านั้น
         อาหารไทยที่เป็นหลักในวันนี้คือผัดไทย ร้านแม่สุภาพนครชุมเช่นกัน เป็นผัดไทยโบราณอย่างแท้จริง มีรสชาติอร่อย มีผู้คนมาซื้อหากันอย่างเนืองแน่นทุกวัน เยาวชนได้ทดลองผัดเองรับประทานเอง สร้างความประทับใจ ทั้งเยาวชน พ่อแม่และครูอาจารย์กันอย่างทั่วถึง บางคนถามไปจดไปปฏิบัติไป
รับประทานไป ภาพเหล่านี้น่าประทับใจเช่นกัน
         อาหารที่ถูกใจวัยรุ่นที่สุดคือหมูสะเต๊ะ เกือบพันไม้ เยาวชนเสียบหมูด้วยตนเอง ปิ้ง ย่างด้วยตนเองแค่พริบตา หมูสะเต๊ะ หายเข้าไปอยู่ในท้องของเยาวชนเกือบหมด ด้วยฝีมือของแม่กิ่งแก้ว แม่ค้าหมูสะเต๊ะ ชาวนครชุม ภูมิปัญญาเหล่านี้คือการเรียนปนเล่น ซึ้งเข้าไปในใจโดยไม่รู้ตัว
         แกงที่ฮือฮาที่สุด มีผู้ใหญ่รับประทานมากที่สุดคือ แกงถั่วมะแฮะ ของแม่ถนอม บุญปรีย์
อายุกว่า 80ปี ทำอาหารนี้สืบทอดกันมานับร้อยปี เยาวชนบางคนก็สนใจอาหารของผู้ใหญ่ ยิ่งรับประทานกับข้าวเกรียบทอดแล้ว นับว่าอร่อยถูกปากมาก
         กิจกรรมลานวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนและครอบครัว โดยเฉพาะการสืบสานอาหารพื้นบ้านไทยขนมไทย นับว่ามีคุณค่า ต่อ ค่านิยมของเยาวชนไทย อย่างเหนียวแน่น เราคิดว่าความทรงจำดีๆเหล่านี้จะติดตรึงในความรู้สึกของเยาวชนไทยตลอดไป อย่างไม่รู้สึกตัวว่าได้ซึมซับความดีงามและความงดงามเข้าไปแล้วสู่ดวงใจน้อยๆของเขาและเธอทุกคน ลืมขนมขยะเสีย ความเป็นไทยจึงกลับคืน