รำโทนเป็นการแสดงพื้นบ้านที่พัฒนา
มาจากรำวงกลางบ้าน เป็นการละเล่นทางวัฒนธรรมของประชาชนในภาคกลาง เริ่มในสมัยสงครามโลกครั้งที่
2 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในยุคชาตินิยม ได้สนับสนุนการรำโทน
โดยมีการแต่งเพลง รำโทนขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วภาคกลาง เนื้อเพลงบรรยายความรักท้องถิ่น
ความเข้าใจในท้องถิ่น สอดแทรกวัฒนธรรมประเพณี เข้าไว้อย่างลึกซึ้ง ประชาชน
นำเนื้อร้องมาใส่ท่ารำ เน้นความสนุกสนาน และการแสดงออกที่เป็นธรรมชาติของสังคมเป็นหลัก
ที่จังหวัดกำแพงเพชร
ประชาชน หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุมอำเภอเมือง ได้อนุรักษ์และสืบทอดไว้ได้อย่างดี
เป็นตัวอย่างในการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไว้ รำโทนมีเครื่องดนตรีประกอบ
มีกลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ และผู้เล่นจะร้องเพลงประสานเสียงกัน ผู้รำหนุ่มจะมาโค้งสาว
ออกมารำ ทำท่าทางตามที่ประดิษฐ์ขึ้น มีมาตรฐานที่ชัดเจน แน่นอน ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่น
สวมเสื้องดงาม ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขายาว เสื้อคอกลมลายดอก มีผ้าขาวม้าคาดเอว
ดังเพลงสายน้ำปิงที่ว่า
สายน้ำแม่ปิงไหลนอง น้ำเหนือไหลเซาะตลิ่ง
ไหลดิ่งวิ่งเอ่อฝั่ง เย็นสองเรามานั่ง เย็นสองเรามาสั่ง ฝากความหวังไว้ให้แก่กัน
สายน้ำคือสายสัมพันธ์ เอ้า เธอกับฉันเป็นชาวฝั่งปิง
แสดงถึงสายน้ำปิงอันอุดมสมบูรณ์ที่ไหลผ่าน ตัวเมืองกำแพงเพชร ทำให้ชาวนครชุมประดิษฐ์ท่ารำขึ้น
ประกอบเพลงได้อย่างน่าชม
เพลงดอกกุหลาบ ดอกกุหลาบดอกน้อยหนามคม
อยากจะชมว่าชื่นอุรา หนามเหน็บ
ทำไมถึงเจ็บหนักหนา ทุกคืนวันมาพาให้สุขใจ อยากรู้จักแม่มายเดลี่ แม่ยอดสตรีแห่งดวงดารา
ข้านี้เปรียบเสมือนกระต่ายน้อย จะมาคอยดวงจันทรา ฟังดู ฟังดูคารม ชายจะชมไม่ชื่นอุรา
ใจชายเชื่อไม่ได้ดอกหนา ใจหญิงเชื่อไม่ได้ดอกหนา ทุกคืนวันมาพาให้สุขใจ ซึ่งสอนให้มีความรอบคอบในความรัก
ให้รู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตน สุจริตต่อความรัก จริงใจซึ่งกันและกัน
เพลงดอกบัวไทย ดอกบัวไทยนั้นช่างงามผุดผ่อง แต่ฉันมอง ฉันว่าเธอสวยกว่า เธอนั้นสวยจริงๆ
สวยยิ่งกว่าเทพธิดา รักเธอ รักเธอ หนักหนา รักกว่าชีวิตของฉัน หากเธอตายฉันต้องวายชีวัน
มาตายด้วยกัน ขึ้นสวรรค์กับฉันและเธอ
เพลงดอกบัวไทย แสดงความรัก ของหนุ่มสาว ที่สาบานต่อกัน ไม่สามารถขาดความรักต่อกันได้
เป็นความรักที่แสน อมตะ และลึกซึ้ง
เพลงหงส์ หงส์ หงส์ หงส์ อย่าทะนงไปนัก เดี๋ยวปีกของเจ้าจะหัก หักลงอยู่ตรงกลางหนอง
อย่างทะนงถือดีว่าเป็นหงส์ทอง ยามเมื่อฉันแลมอง หงส์เอย หงส์ทองขยับปีกบิน
แสดงถึงการเจียมเนื้อเจียมตัวไม่อวดดี ไม่ดูถูกซึ่งกันและกัน ระวังตัวผู้ที่หยิ่งจองหองจะเสียใจเสมอ
เพลงชากังราว
ชากังราววัยคะนอง เราจะต้องไว้ ชื่อ ให้โลกเล่าลือ ขึ้นชื่อว่าชากังราว ใครจะรำก็เชิญ
เราไม่เมินหน้าหนี พวกเรายินดี เชิญซิมาเล่นฟ้อนรำ ขอเชิญสาวงามมารำถวายเจ้าพ่อ
อนิจจารูปหล่อ คิ้วต่อข้างเดียว พายเรือมารับ ขากลับกระไรน้ำเชี่ยว พายเรือคนเดียว
น้ำเชี่ยวอุตส่าห์พายมา
แสดงถึงสภาพภูมิศาสตร์ของลำน้ำปิงที่
ที่ไหลเชี่ยวและกว้างใหญ่ประชาชนพายเรือจากฝั่งนครชุมมารำถวายเจ้าพ่อหลักเมืองหลักใจของชาวกำแพงเพชร
เพลงรำโทนเป็นเพลงพื้นบ้านที่ใหม่ที่สุด
การรำ การเล่น สนุกสนาน เป็นต้นแบบแห่งการรำวงมาตรฐาน ของกรมศิลปากร จังหวัดกำแพงเพชรมีเพลงรำโทนจำนวนมาก
แต่ยังไม่มีผู้
รวบรวมไว้ทั้งหมด ควรที่มีผู้สนใจรวบรวม และวิเคราะห์วิจัย เพลงรำโทนไว้ ให้อนุชนได้ทราบสภาพบ้านเมือง
ประเพณี วัฒนธรรมและแนวคิด ที่ชัดเจนของกำแพงเพชร ในช่วง 60 ปี ที่ผ่านมา เพลงรำโทนฉายภาพเหล่านี้ได้ชัดที่สุด
น่าศึกษาและอนุรักษ์ไว้ เพื่อชาวกำแพงเพชรของเรา |
|