ระบำร้องแก้
This text will be replaced

        เมืองนครชุม เป็นชุมชนโบราณ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง มีอายุต่อเนื่องกันมากว่า 600 ปี แม้บางยุคสมัยอาจขาดตอนไปบ้าง แต่สามารถรักษาเอกลักษณ์ของนครชุมไว้ได้ตลอด ในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา ชาวนคร เวียงจันทน์ ได้อพยพมาอยู่นครชุม ด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้เกิดการผสมผสาน ระหว่างคนพื้นเมืองกับชาวเวียงจันทน์ กลายเป็นบ้านปากคลองในปัจจุบัน
        วัฒนธรรมท้องถิ่นได้ผสมผสานกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ระบำร้องแก้ เป็นการแสดงพื้นบ้านนครชุม อย่างหนึ่ง ที่นำระบำกลางบ้านมาปรับปรุงเป็นระบำร้องแก้ คือร้องแก้กันระหว่างชายหญิง โต้ตอบกันอย่างสนุกสนาน กลายเป็นเพลงพื้นบ้านของชาวนครชุม ระบำร้องแก้ หายสาบสูญไปเกือบ 50ปี แม่สุวรรณ สังข์สุวรรณ ผู้นำประชาชนหมู่ที่ 4 นครชุม ได้รวบรวมผู้คนดำเนินการ จัดการแสดงพื้นบ้านระบำร้องแก้ขึ้น พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
        มีเนื้อร้องที่น่าสนใจ ที่จดจำกันมาดังนี้
ชาย นักจะเล่น ให้น้องเต้นออกมา อย่ามัวระอาแกมอาย
ลูกคู่ ชะเอ่อระเหย ลอยมา หงส์เอยลอยมาลอยไป
หญิง นักระบำอย่ามัวทำกระบวน ยื่นหน้าลอยนวล เถิดพ่อพวงมาลัย
ลูกคู่ ชะเอ่อระเหย ลอยมา หงส์เอยลอยมาลอยไป
ชาย แต่พอโดดเข้าวง พี่ก็โก่งเสียงร้อง เสียงกลมเหมือนดังกลอง ตีใกล้ดังไกล
ลูกคู่ ชะเอ่อระเหย ลอยมา หงส์เอยลอยมาลอยไป
หญิง พ่อสูงระหงโปร่งฟ้า มาแลดูหล่อกว่าใครเอยใคร
ลูกคู่ ชะเอ่อระเหย ลอยมา หงส์เอยลอยมาลอยไป
ชาย พี่รักน้องจริง เหมือนปลิงเกาะขา ยืดไปยาวมาเหมือนปลิงเกาะควาย
ลูกคู่ ชะเอ่อระเหย ลอยมา หงส์เอยลอยมาลอยไป
หญิง อย่ามารักน้องเลย นะพ่อเตยต้นต่ำ รักน้องไปทำเอยไหม
ลูกคู่ ชะเอ่อระเหย ลอยมา หงส์เอยลอยมาลอยไป
ชาย พี่รักน้องแท้ๆ เหมือนผ้าแพรแถบ พี่รักน้องเอาเสียแทบขาดเอ๋ยใจ
ลูกคู่ ชะเอ่อระเหย ลอยมา หงส์เอยลอยมาลอยไป
หญิง พี่รักน้องจริง หรือพี่รักน้องเล่น น้องยังไม่เห็นน้ำเอ๋ยใจ
ลูกคู่ ชะเอ่อระเหย ลอยมา หงส์เอยลอยมาลอยไป
        ระบำร้องแก้มีลักษณะคำประพันธ์ ที่ได้มาตรฐาน เหมือนเพลงปฏิพากย์ทั่วไปสภาพสังคมและวัฒนธรรมปรากฏในบทร้องจำนวนมาก อาทิ ผู้หญิงนิยมห่มผ้าแพรแถบ คือผ้าคาดอก ต่างเสื้อ ฝ่ายชายจึงอยากเป็นผ้าแพรแถบ ดังเนื้อร้องที่ว่า พี่รักน้องแท้ๆ เหมือนผ้าแพรแถบ พี่รักน้องเอาเสียแทบขาดเอ๋ยใจ.. คงทำให้สาวๆสมัยนั้น หน้าแดงด้วยความเขินอาย
        เพลงพื้นบ้านระบำร้องแก้ จึงเป็น เพลงพื้นบ้านที่น่าสนใจ ที่ควรศึกษาและอนุรักษ์ ฟื้นฟูและเผยแพร่ไว้ เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นที่ไม่รู้ลืม ขอบคุณศิลปินพื้นบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลนครชุมที่ยังรวมตัวกัน อย่างเหนียวแน่นเพื่ออนุรักษ์ วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นภูมิปัญญาที่ชนรุ่นหลังมิควรลืมเลือนรักษาไว้ ให้อยู่คู่กำแพงเพชรตลอดไป