เพลงพื้นบ้านชุมชนท่าไม้

 

          เพลงพื้นบ้านในสังคมไทย มีอยู่ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน เป็นความสุข ความรื่นรมย์ของคนไทย เราพบเพลงพื้นบ้านในกำแพงเพชร เกือบทุกหมู่บ้าน วันนี้ไปชมวัดอินทาราม วัดซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวัดหลวงของเมืองบางจันทร์ ในสมัยสุโขทัย ไปพบ การแสดงพื้นบ้านของประชาชน พบความเป็นกลุ่มก้อน ความสามัคคีในหมู่คณะการเป็นกันเองการเสียสละ อย่างท่วมท้น โดยกลุ่มผู้สูงอายุบ้านท่าไม้ นำการแสดงมาต้อนรับเราอย่างเต็มใจ ดูสนุกสนาน และเป็นรูปแบบ ของการพัฒนาเพลงพื้นบ้านมาสู่การออกกำลังกายมากกว่า เป็นการแสดงพื้นบ้านอย่างเดียว
          คุณไพโรจน์ ดิสกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้ ด้วยไมตรีจิตที่ยื่นให้คณะของเรา อย่างจริงใจ ท่านเล่าว่า บ้านชุมชนท่าไม้ เดิมชื่อบ้านสับฟาก มีการล่องไม้ล่องซุง ผ่านคลอง แม่ระกา ไปยังแม่น้ำปิง จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นตำบลท่าไม้ ในที่สุด
          สำหรับการแสดงพื้นบ้านของชุมชนท่าไม้ มีดนตรีประกอบ ใช้ซอ เป็นดนตรีสำคัญ มีนางรำประกอบ มีหลายเพลงที่นำมาใช้รำ ล้วน มีกลิ่นอายของภาคเหนือกับภาคกลางเจือกับภาคอีสานอย่างลงตัว แม่เพลงสองท่านที่ เป็นต้นแบบของการแสดงคือ
          คุณแม่เคียน หุ่นเที่ยง อายุ 70 ปี คุณแม่ซ้อม มณีเขียว อายุ 72 ปี เป็นหลักในการดำเนินการร้องรำ ของบ้านท่าไม้ นับว่าบ้านท่าไม้เป็นชุมชนเข้มแข็ง ที่น่ายกย่องแห่งหนึ่งในสังคมกำแพงเพชร
          เพลงพื้นบ้านที่ตำบลท่าไม้ ดั้งเดิมคงมีหลายเพลง แต่ ได้รับการดัดแปลง จากผู้นำสถานีอนามัยตำบลท่าไม้ นำมาสู่การออกกำลังกาย โดยใช้ท่ารำให้ผู้สูงอายุแสดงท่าทาง ....จนไปประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศ จากสถานีอนามัย ใน จังหวัดกำแพงเพชร
          เพลงพื้นบ้านเป็นวัฒนธรรม ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน อาจตั้งแต่เริ่มสร้างชาติ แต่เลือนหายไป เพราะ มีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ การฟื้นฟูเพลงพื้นบ้านจึงนับว่าเป็น คุณอเนกประการ แก่สังคมไทย ที่ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง เนื้อเพลงและการแสดงออก ล้วนบอกถึงภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรม ท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน
          ใครก็ตามที่คิดจะฟื้นฟูเพลงพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย คนผู้นั้นเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่แผ่นดินไทย ความเป็นคนไทย ไม่ลืมตัว ไม่มั่วในวัฒนธรรมต่างชาติ นับว่าน่ายกย่องอย่างที่สุด ชุมชนบ้านท่าไม้เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่น่ายกย่องและจับตา ว่าการฟื้นฟูเพลงพื้นบ้านท่าไม้ ท้าทายความสามารถเพียงใดของผู้เริ่มต้นฟื้นฟู