ลำตัด เพลงพื้นบ้านที่ปรากฏในกำแพงเพชร

 

          เพลงพื้นบ้าน ในประเทศไทย มีมาตั้งแต่ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จากจารึกหลักที่ 1 ของ พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งจารึกในปี พ.ศ 1835 ได้กล่าวถึงการเพลงพื้นบ้านไว้ว่า …… ใครมักเล่นเล่น ใครมักหัวหัว ใครมักเลื่อน เลื่อน…. ซึ่งอาจหมายถึงเพลงพื้นบ้าน แต่เป็นการกล่าวถึงรวมๆ ไม่ได้เน้นว่าเป็นการเล่นเพลงพื้นบ้านใด มาปรากฏหลักฐานในสมัยอยุธยา ที่พบคือเพลงเรือ เพลงเทพทอง … ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีเพลงปรบไก่ เพลงเรือ เพลงสักวา …จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเพลงฉ่อย ลิเก ลำตัด …หลังจากนั้นมีการบันทึกเรื่องราวของเพลงพื้นบ้านไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
          เพลงพื้นบ้านเกิดจาก……ความไม่สะดวกในการคมนาคม มหรสพอื่นๆไม่มี…ชาวบ้านต่างทำมาหากิน เมื่อมีเวลาว่างจึงแสวงหาความบันเทิง ร้องเล่นเหตุการณ์ปัจจุบัน และสะท้อนภาพของสังคม เพลงพื้นบ้านจึงมีความเรียบง่าย การใช้ถ้อยคำ สำนวน มีนัยแฝงอยู่ เรื่องของท้องถิ่น อาจมีการกระทบกระเทียบ เสียดสี สังคมท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ซึ่งปรากฏอยู่ในเพลงพื้นบ้านทั่วไปของไทย……..เพลงพื้นบ้านจะแทรกวิถีชีวิตของชาวบ้าน นับตั้งแต่ความเชื่อ เรื่องของประเพณี ค่านิยมและภาษาถิ่น ลักษณะของฉันทลักษณ์ มีลักษณะคล้องจอง ตามแต่ละชนิดของเพลงพื้นบ้านนั้นๆ อาจมีเครื่องประกอบจังหวะ อาจ ปรบมือ ใช้ฉิ่ง กรับ โทน หรือจะไม่มีก็ได้ การแต่งกายก็แต่งแบบพื้นบ้านที่มีอยู่…..ไม่ได้ประดิษฐ์ให้วิเศษไปแต่อย่างใด……
          ลำตัด เป็นเพลงพื้นบ้าน ของไทยชนิดหนึ่ง พบในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่า ดัดแปลงมาจากแขกมลายู ลำตัดจึงมีลักษณะ ตัด และเฉือดเฉือนกันด้วยเพลง(ลำ) การว่าเพลงลำตัด จึงเป็นการลับฝีปากของคนเจ้าบทเจ้ากลอนของไทย ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง มีทั้งบทเกี้ยวพาราสี ต่อว่า เสียดสี แทรกลูกขัด ลูกหยอด ให้ได้ตลกเฮฮากัน สำนวนกลอนมีนัย ถ้อยคำมีสองแง่สองง่าม เครื่องดนตรีที่ใช้ คือกลองรำมะนา ฉิ่ง วิธีการแสดงจะมีต้นเสียงร้องก่อน โดยส่งสร้อยให้ลูกคู่ร้องรับ แล้วจึงด้นกลอนเดินความ เมื่อลง ลูกคู่ก็จะรับ ด้วยสร้อยเดิม พร้อมกับตีรำมะนา เข้าจังหวะรับกัน……… เนื้อร้องจะด้นไป ตามเหตุการณ์ของท้องถิ่นหรือเหตุการณ์ ของบ้านเมือง ทำให้เกิดความสนุกสนาน ทำให้ลำตัดยังไม่หายสาบสูญไปจากสังคมไทย ยังมีผู้ร้องเล่นกันอยู่ทั่วไป…..ในภาคกลางของประเทศไทย
          ที่จังหวัดกำแพงเพชร……ได้พบการแสดงลำตัด ของโรงเรียนอนุบาลกำแพงเพชร…….ที่ฟื้นฟู โดยสามพี่น้อง ตระกูล มีขันหมาก คืออาจารย์มนูญ มีขันหมาก อาจารย์ดำรง มีขันหมาก และอาจารย์ละไม มีขันหมาก โดยเฉพาะอาจารย์ ละไม มีขันหมาก สอนที่โรงเรียนอนุบาลกำแพงเพชร ได้รวบรวมนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมปีที่ 6 ประมาณ 20 ชีวิต สืบทอดเพลงลำตัด ได้อย่าง งดงาม และถูกต้องตามวิถีการเล่นของลำตัด นักเรียนก็สามารถแสดงออกได้อย่างดี ซึ่งมีโอกาสได้ชมหลายครั้ง นับว่าเป็นการแสดงลำตัดที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก มีไหวพริบ ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการได้รับความร่วมมือ จากผู้ปกครองของนักเรียนทุกคน ได้รับความสนับสนุน จากผู้บริหารโรงเรียนอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะอาจารย์อุ่นเรือน กุศล ผู้ช่วยผู้อำนวยการให้การสนับสนุนอย่างยิ่ง ในการอำนวยการแสดง ของผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลกำแพงเพชรมาโดยตลอด
          เพลงพื้นบ้านลำตัดจึงเป็นเพลงพื้นบ้าน ที่ได้รับการสนับสนุน และดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และคาดหวังว่าจะดำรงอยู่ในสังคมไทย ได้ไปอีกนาน แสนนาน จึงขอคารวะ อาจารย์ละไม มีขันหมาก และผู้ร่วมสนับสนุนทุกท่าน ที่มีส่วนอนุรักษ์ และจรรโลง เพลงพื้นบ้านไทยเรา โดย เฉพาะ ลำตัด ให้มีคุณค่า ให้เยาวชนตัวน้อยๆ ได้สัมผัสกับ วิถีชีวิตไทยๆ แทนที่ จะหลงไหล ไปกับ ค่านิยมตะวันตกที่หลั่งไหลถั่งโถม มาทับถมวัฒนธรรมไทยจนสิ้น อย่างน้อย ก็มีเยาวชนตัวน้อยๆ เหล่านี้ ได้ซึมซับ ความเป็นไทยไว้บ้าง ก่อนที่จะสายเกินไป….