รำวงย้อนยุค เมืองนครชุม ( ใช้เพลงสาวรำวง เป็นพื้น )

 

            ชนชาติ ไทย เป็นชนชาติที่รักสนุก ในทุกเทศกาลทุกโอกาส แม้ในชีวิตประจำวัน จะมีความสุขกับงานรื่นเริงทุกประเภท อาจเป็นเพราะว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ การทำมาหากินสะดวก ทำให้ประชาชนมีเวลาสนุกสนาน รื่นเริงกันใ นทุกครั้งที่มีโอกาส ซึ่งทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของชนชาติไทยในเวลาเดียวกัน
            ในราวพุทธศักราช 2495 – 2505 การรำวงบนเวที การเชียร์รำวง เป็นมหรสพที่สำคัญและกำลังรุ่งเรืองสุดขีด โดยใช้ จังหวะการเต้นรำของชาวตะวันตก ผสมผสานกับการรำของชาวไทย โดยมีสาวรำวง แต่งตัวนุ่งน้อยห่มน้อย นั่งคอยชายหนุ่มนักรำ นักเต้น อยู่บนเวที ชายหนุ่มทั้งหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ พากันซื้อบัตรขึ้นไปโค้งเต้นกันรำกันบนเวที อย่างสุดเหวี่ยง จะหวะเพลงที่เร้าใจ จังหวะคาริปโซ่
จังหวะทวิท จังหวะ ช่าช่าช่า หรือคนไทยเรียกกันว่า สามช่า จังหวะคองก้า จังหวะม้าย่อง หรือรำวงแบบไทย เร้าใจนักรำและนักเต้นทุกคน
          ในงานมหรสพ ทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ งานวัดงานจังหวัด งานอำเภอ งานตำบล จะมีการรำวง ทุกงานและสร้างความครื้นเครงแก่ทั้งผู้รำและผู้โค้ง เสียงโฆษกพิธีกรบนเวที เร่งเร้าให้คนซื้อบัตรขึ้นมารำ สายรุ้งบนเวทีขยับไปตามเวทีที่สั่นสะเทือน สนุกสนาน และมัความสุขถ้วนหน้ากัน
          เวลาผ่านไป ประมาณ ปีพุทธศักราช 2510 การรำวง เริ่ม หายไปจากงานวัด เพราะ ผู้คนพากันนิยม การแสดงของนักร้องลูกทุ่งมากขึ้น วงดนตรีลูกทุ่ง ผงาดขึ้นมาแทนที่ ในที่สุด รำวงบนเวที หายไปอย่างไม่มีวันกลับคืนมา บรรดาสาวรำวง พากันมีอายุมากขึ้น
            เวลาผ่านไปราว 40 ปี ที่บ้านนครชุม สาวรำวงกลุ่มนี้ มีอายุมากขึ้น บางท่าน 60 ปี บางท่าน 70
บางท่านมากกว่านั้น ได้รวมตัวกัน จัดการแสดงรำวงย้อนยุคขึ้น ที่วัดพระบรมธาตุ เมืองนครชุม ในการจัดการถนนวัฒนธรรม ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร่วมมือกับเทศบาลตำบลนครชุม โดยนำรายได้ทั้งหมดทำบุญ กับวัดพระบรมธาตุ
            นับว่าเป็นความคิดที่แปลกใหม่ของ ของสาวรำวงยุคโบราณ จึงเกิดรำวงย้อนยุคขึ้นอย่างมีความหมายกับทุกคน นับว่าย้อนอดีตและความทรงจำได้อย่างงดงามที่สุด รายการโทรทัศน์วัฒนธรรมขอปรบมือให้กับ การมีน้ำใจของประชาชน และศิลปินพื้นบ้าน ชาวนครชุมทุกคน ที่รังสรรค์การแสดงรำวงย้อนยุค ได้อย่างน่าชมที่สุด โดยมีความสุข เหมือนเมื่อสมัยสาวๆ อีกครั้ง