ลิเก

 

            เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่า ลิเก ในภาษามลายู แปลว่า ขับร้อง เดิมเป็นการสวดบูชาพระ ต่อมามีผู้คิดเล่นลิเกอย่างละคร คือ เริ่มร้องเพลงแขก แล้วต่อไปเล่นอย่างละครรำ และใช้ปี่พาทย์อย่างละคร
             วิธีแสดง เดินเรื่องรวดเร็ว ตลกขบขัน การแสดงเริ่มด้วยโหมโรง 3 ลา จบแล้วบรรเลงเพลงสาธุการ ให้ผู้แสดงไหว้ครู แล้วจึงออกแขก บอกเรื่องที่จะแสดง สมัยก่อนมีการรำถวายมือหรือรำเบิกโรง แล้วจึงดำเนินเรื่อง ต่อมาการรำถวายมือก็เลิกไป ออกแขกแล้วก็จับเรื่องทันที การร่ายรำน้อยลงไปจนเกือบไม่เหลือเลย คงมีเพียงบางคณะที่ยังยึดศิลปะการรำอยู่
           ผู้แสดง เดิมใช้ผู้ชายล้วน ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ให้บุตรสาวชื่อละออง แสดงเป็นตัวนางประจำคณะ ต่อมาคณะอื่นก็เอาอย่างบ้าง บางคณะให้ผู้หญิงเป็นพระเอก เช่น คณะกำนันหนู บ้านผักไห่ อยุธยา การแสดงชายจริงหญิงแท้นั้น คณะนายหอมหวล นาคศิริ เริ่มเป็นคณะแรก ผู้แสดงต้องมีปฏิภาณในการร้องและเจรจา ดำเนินเรื่องโดยไม่มีการบอกบทเลย หัวหน้าคณะจะเล่าให้ฟังก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ การเจรจาต้องดัดเสียงให้ผิดปกติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของลิเก แต่ตัวสามัญชนและตัวตลกพูดเสียงธรรมดา
           เรื่องที่แสดง นิยมใช้เรื่องละครนอก ละครใน และเรื่องพงศาวดารจีน มอญ ญวน เช่น สามก๊ก ราชาธิราช และเรื่องสมัยใหม่ด้วยตามความต้องการของตลาด
            การแต่งกาย แต่งตัวด้วยเครื่องประดับสวยงาม เลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์ จึงเรียกว่าลิเกทรงเครื่อง "สมัยของแพง" ก็ลดเครื่องแต่งกายที่แพรวพราวลงไป แต่บางคณะก็ยังรักษาแบบแผนเดิมไว้ โดยตัวนายโรงยังแต่งเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ในส่วนที่มิใช่เครื่องต้น เช่น นุ่งผ้ายกทอง สวมเสื้อเข้มขาบหรือเยียรบับ แขนใหญ่ถึงข้อมือ คาดเข็มขัดนอกเสื้อ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ แต่ดัดแปลงเสียใหม่ เช่น เครื่องสวมศีรษะ เครื่องประดับหน้าอก สายสะพาย เครื่องประดับไหล่
ตัวนางนุ่งจีบยกทองบางทีใช้กระโปรงปักงดงาม สวมเสื้อแขนกระบอกยาว ห่มสไบปักแพรวพราว สวมกระบังหน้าต่อยอดมงกุฎ ที่แปลกกว่าการแสดงอื่นๆ คือสวมถุงเท้ายาวสีขาวแทนการผัดฝุ่นอย่างละคร แต่ไม่สวมรองเท้า
            เวทีลิเกหรือโรงลิเกเป็นเวทีชั่วคราวยกพื้นมีหลังคา แบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วน คือ เวทีแสดง เวทีดนตรี และหลังเวทีสำหรับผู้แสดงพักผ่อน เวทีแสดงมีระบายแขวนเป็นกรอบเวที โดยมีชื่อคณะและสถานที่ติดต่ออย่างชัดเจน การจัดพื้นที่ของเวทีลิเกในปัจจุบันมี ๒ แบบ แบบเดิมมีเวทีดนตรีอยู่ถัดเวทีแสดงไปทางขวาของผู้แสดง แบบใหม่มีเวทีดนตรีเป็นยกพื้นอยู่ด้านหลังเวทีแสดง ฉากลิเกมี ๒ แบบ คือ ฉากเดี่ยว ทำด้วยผ้าใบเขียนเป็นรูปท้องพระโรง พร้อมผ้าใบเขียนสีอีก ๑ คู่ กับผ้าระบายด้านบนเขียนชื่อคณะ และ ฉากชุด ทำด้วยผ้าใบเขียนสีเป็นสถานที่ต่างๆตามท้องเรื่อง เช่น ท้องพระโรง ห้องรับแขก ป่า ถ้ำ น้ำตก แต่ละฉากม้วนเก็บไว้เหนือเวทีแสดง อุปกรณ์ฉากเป็นตั่งหรือเตียงไม้ขนาดพอนั่งแสดงได้ ๓ คน มีตั่งเพียงตัวเดียวก็ใช้ได้อเนกประสงค์ ปัจจุบันบางคณะ ไม่ใช้ฉากแล้ว
            เพื่อให้ถูกใจคนชมหรือแม่ยก คณะลิเกสมัยใหม่จะมีดนตรีลูกทุ่ง ผสมเข้าไปด้วย ทำอย่างยิ่งใหญ่ ระบบแสงสีเสียง ทำให้เป็นการเปิดตัวลิเกในแบบของนักร้องได้อย่างสมบูรณ์แบบ การแสดงจะไม่อยู่ในรูปแบบของลิเกแบบเดิมคือยึดถือเอา ความสนุกของผู้ชมเป็นหลัก ดูลิเกแล้วเหมือนชม คณะตลกคณะใหญ่อีกคณะหนึ่ง
            การดูลิเกในปัจจุบัน จะมีโอกาสได้ชมศิลปะของลิเกน้อยมาก ส่วนใหญ่จะได้ชมวงดนตรีลูกทุ่ง และตลกคณะดังแทน คือใช้ตัวตลกลิเกเป็นตัวเดินเรื่อง เพราะถ้าเล่นลิเกล้วนๆแล้วจะไม่มีผู้ชมมาก การอยู่รอดของลิเกไทยในปัจจุบัน
จะต้องทำให้ถูกใจผู้ชม ระดับรากแก้ว ต้องพอใจ เพราะคนชมลิเก จะเป็นประชาชนเดินดินธรรมดา
      
      ถ้ามีโอกาสชมลิเก ขอให้ได้ให้กำลังใจ ชาวคณะที่นับวัน จะสูญหายไปหรือล้มหายตายจากไป ทีละคณะ ท่านอาจเป็นคนหนึ่งที่ต่อลมหายใจให้คณะลิเก ศิลปะไทยที่กำลังลำบาก ให้มีชีวิตต่อไปอีกสักหนึ่งร้อยปี ....หรือให้อยู่ยืนยาวตลอดไป คู่กับสังคมชาวบ้านอย่างแท้จริง ลิเกศิลปะของชาวบ้านที่ควรดูแลรักษา..ไว้ให้คู่สังคมไทยให้นานเท่านาน