บันทึกเพลงพื้นบ้านที่จะกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้
คือ บันทึกเรื่อง รำพิษฐาน หรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า การเก็บดอกไม้เข้าโบสถ์
ลุงเหรียญเล่าว่าในช่วงของวันตรุษสงกรานต์ของทุกปี
ชาวบ้านของตำบลวังแขม จะพากันไปทำบุญตักบาตรกันที่วัดวังแขม หรือวัดจันทารามในปัจจุบันครั้นพอทำบุญเสร็จแล้ว
บรรดาหนุ่มๆสาวๆ ก็จะพากันไปเก็บดอกไม้สวยที่ปลูกอยู่ตามบ้าน แล้วนำมาบรรจงเรียงใส่พานให้สวยงาม
เมื่อนำดอกไม้ใส่พานได้อย่างสวยงามแล้ว ก็พากันนำมาถวายพระประธานในโบสถ์คือหลวงพ่อศรีมงคล
ซึ่งเป็นพระประธานในโบสถ์เก่า ซึ่งสร้างกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรียกว่า
พิษฐาน ในโบสถ์กัน
การนำดอกไม้มาพิษฐานในโบสถ์
หญิงและชายจะนั่งคนละข้างกัน แล้วต่างคนต่างนำพานดอกไม้ กราบพระกันตามประเพณี
เมื่อเสร็จจากกราบหลวงพ่อศรีมงคลแล้ว ฝ่ายชายจะหันมาทางฝ่ายหญิง แล้วเริ่มร้องเพลงเกี้ยวสาวที่นั่งในโบสถ์
ในทำนองเพลงพิษฐาน บทร้องจะร้อง เป็นการโต้ตอบกับระหว่างชายหญิง ฝ่ายหญิงจะร้องก่อนว่า
ตั้งใจหมายจิตยอดพิษฐานเอย สองมือถือพานทองเอาดอกพุด เกิดมาชาติหน้าแสนใดก็ขอให้ได้บริสุทธิ์
พิษฐานบรรเลงขอให้เกรงอย่างพิษฐานเอย ฝ่ายชายจะร้องต่อ โดยจะเปลี่ยนกลอนตรงท้ายบทตรงชื่อดอกไม้ให้ลงกับชื่อฝ่ายหญิงที่ตนเองร้องแซวว่า
ตั้งใจหมายจิตยอดเจ้าพิษฐานเอย สองมือถือพานเอาดอกกระดังงา เกิดชาติหน้าแสดใดก็ขอให้ได้กับแม่วรรณา
พิษฐานบรรเลงขอให้เกรงอย่างพิษบานเอย
เมื่อฝ่ายชายร้องจบ
ฝ่ายหญิงก็จะโต้ตอบว่า ตั้งใจหมายจิตเจ้าพิษฐานเอย สองมือถือพานเอาดอกกระดังงาให้พี่ทำบุญเสียให้เกือบตาย
ก็ยังไม่ได้กับแม่วรรณา พิษฐานบรรเลงขออย่าให้เกรงพิษฐานเอย ทั้งพ่อเพลงและแม่เพลง
ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะร้องโต้ตอบกันเป็นลักษณะของกลอนสดเป็นการใช้ปฏิภาณไหวพริบมาร้องซึ่งกันและกัน
แต่จะลงท้ายบทกลอนด้วยคำว่า เอย เสมอ หลังจากร้องโต้ตองเพลงพิษฐานในโบสถ์แล้วก็พากันกราบพระ
และออกมาร้องรำทำเพลงกันต่อที่หน้าโบสถ์ เป็นเพลงโต้ตอบกันในลักษณะแนะนำหมู่บ้าน
โดยร้องเป็นเพลงคล้ายเพลงพวกมาลัยจนเวลาใกล้เที่ยง เมื่อถึงเวลาเที่ยง
ฝ่ายหญิงก็จะชวนฝ่ายชายไปรับประทานอาหารกลางวันกันที่บ้านเพื่อแสดงออกถึงความสนิทสนมและคุ้นเคยกันในกลุ่ม
ครั้นตะวันเริ่มบ่าย
พระอาทิตย์อ่อนแสงลง ก็จะพากันไปเล่นรำวงที่ริมหาดทรายหน้าวัด โดยร้องเป็นเพลงรำวงง่ายๆเช่น
จำปีลอยมา จำปาลอยวน จะรำก็รำ อย่ามาทำเดินวน แล้วก็ร้องเพลงอื่นๆเป็นเพลงรำวงตามถนัด
นอกจากการเล่นรำวงกันริมท่า บางพวกก็จะมีกิจกรรมอื่นๆเช่นการเล่นลูกโยน
และขนทรายเข้าวัดไปร่วมกันก่อพระเจดีย์ทรายในวัดซึ่งเป็นรูปเจดีย์ใหญ่องค์เดียวที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันก่อขึ้นมาปรากฏเห็นเป็นเจดีย์องค์ใหญ่
อยู่ในวัดจันทารามมาตราบเท่าทุกวันนี้
|