ผีนางด้ง

 

        ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นสิ่งที่สั่งสม มาช้านาน ถึงการนำอุดมการณ์แห่งความรัก ความสามัคคี ความอบอุ่น ความเข้าใจ และการอยู่ร่วมกัน ในกลุ่มชนอย่างผาสุก มาใช้ได้อย่างเหมาะสม แนบเนียน ในชีวิตประจำวัน ทำให้สังคมไทยอยู่อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในชีวิตความเป็นอยู่ที่สมถะ เรียบง่าย และไม่เน้นกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ยืดหยุ่น รักสงบ มีความสุข ในการทำกิจกรรมร่วมกัน
          การเข้าทรงนางด้ง หรือผีนางด้ง เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่สำคัญของคนไทย มิใช่เรื่องไร้สาระกิจกรรมทุกกิจกรรม ล้วนแฝงไว้ด้วยความลึกซึ้งของสังคมและวัฒนธรรม ในเกือบทุกภาค ที่มีอาชีพทำไร่ทำนา แต่ไม่มีหมู่บ้านใดดำรงความเป็นไทย และภูมิปัญญาไทยไว้ได้ ที่หมู่บ้าน ทุ่งตาพุก ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ประชาชนในหมู่บ้านไร้รื้อฟื้นประเพณี การละเล่นพื้นบ้านที่หายสาบสูญไปนับ ครึ่งศตวรรษ กับคืนมาด้วยความรัก และความสามัคคีของคนในหมู่บ้านได้อย่างน่าชื่นชม... เครื่องมือประกอบการแสดง การเข้าทรง ล้วนเป็นเครื่องมือในการเกษตรอย่างเช่น กระด้งสำหรับ ฝัดข้าว สากสำหรับการตำข้าว ผ้าขาวม้า.เพลงที่มีเนื้อร้องที่น่าสนใจ ในภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างลึกซึ้งและกลมกลืน....น่าฟัง...
         นางด้งเอย...ละป่าระหง ....กระด้งใหม่ๆ ....ของฝัดเครื่องแกง.... ข้าวแดง แมงเม่า....กระด้งฝัดข้าว ออกมาพึกๆ.... ออกมาผายๆ ...ขอคืนกาย มาเข้านางด้ง.....ขอเชิญพระเจ้า มาเข้านางด้ง....ร้องซ้ำไปซ้ำ มาอยู่หลายรอบ ความเยือกเย็นของน้ำเสียงทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ...ในการเข้าทรง... .....อุปกรณ์ที่สำคัญของการเข้าทรงคือ กระด้งของและสากตำข้าว ของแม่ม่าย มีข้อพิเศษ คือต้องไปเอาของสองสิ่งมาโดยไม่บอกให้เจ้าของทราบ...คือขโมยมานั่นเอง. การเข้าทรงหญิงเข้าทรงจะนั่งอยู่ตรงกลาง มีผู้ช่วยนั่งอยู่ตรงหน้า ในระหว่างสากทั้งสอง นำกระด้ง หุ้มด้วย ผ้าขาวม้า เมื่อไหว้ครูและเชิญวิญญาณ มาเข้า ทรงท่ามกลางเสียงเพลง ที่เยือกเย็นแต่แฝงไว้ด้วยความเชื่อมั่น ในความเชื่อเรื่อง ทรงเจ้า เข้าผีของ พวกเขา ...เมื่อวิญญาณมาเข้าแล้ว นางด้งจะเริ่มสั่นไปทั้งร่างกาย ผีจะเข้าทรงที่เรียกกันว่าผีนางด้ง จะเริ่มลุกขึ้นร่ายรำ อย่างสนุกสนาน และลืมความเหน็ดเหนื่อย ผีนางด้ง จะนำกระด้ง ไปกวักใคร หรือไปแตะใคร ผู้นั้นจะต้องออกมารำ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแห่งการมีส่วนร่วม ชาวบ้านจะร้องเพลงตีกลองให้จังหวะอย่างสนุกสนาน ในที่สุดก็จะ รำกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความสามัคคี ในหมู่คณะ ของชาวบ้าน .เมื่อรำไปได้สักพักหนึ่ง ชาวบ้านที่รักสนุกอยากจะหยอก ผู้เข้าทรงนางด้ง ก็จะลักสากตำข้าวไปซ่อน นางด้งก็จะโมโห และไล่นำกระด้งไปฟาด ผู้นั้นจนต้องนำมาคืน หรือหาสากพบ นำความสนุกสนานครื้นเครงมาสู่หมู่บ้านนั้นอย่างกลมกลืนและแนบเนียน
         เมื่อสนุกสนานกันได้ครู่หนึ่ง ก็จะมีการทำนายทายทักเรื่องราวต่างๆ ในหมู่บ้านหรือเรื่องทั่วไปเพื่อช่วยในการสร้างความสามัคคี และความอบอุ่นใจ โดยมีชาวบ้านที่ร่วมกิจกรรมการเข้าทรงมาถามเรื่องที่ตนเองสงสัย หรือถามเรื่องที่ทำความครึกครื้น ในหมู่บ้าน อันเกิดความเข้าใจและเกิดกำลังใจ ให้ชาวบ้านในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต เมื่อเห็นว่า นางด้งสนุกสนานช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ไม่น่าเบื่อ ก็จะเชิญนางด้งออก ผู้เข้าทรงจะไม่ทราบเรื่องรางที่ตนเองเข้าทรงเลย จะงงและถามว่าเกิดอะไรขึ้น
        การเข้าทรงนางด้ง จึงเป็นภูมิปัญญาไทยในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ที่ประกอบอาชีพ ในการทำไร่ ทำนา ทำเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานแห่งวิถีชีวิตอย่างลึกซึ้งของคนไทยที่นิยมเล่นกันในวันสงกรานต์ ...ต้องยกย่องประชาชน หมู่บ้านทุ่งตาพุก ที่สามารถฟื้นฟูวิถีชีวิตไทยสามารถนำภูมิปัญญาไทยมาสร้างสีสันได้อย่างเหมาะสม.มิใช่เป็นเรื่องความเชื่อแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีภูมิปัญญาที่ทรงไว้อย่างมั่นคง อย่างสงบ เรียบง่าย สมถะ ในเศรษฐกิจพอเพียง ของสังคมไทยนี่แหละวิถีชีวิตแท้ๆของไทย ที่นับวันจะสูญหายไปอย่างไร้คนเข้าใจและมักดูถูกรากเหง้าของตนเองว่าคร่ำครึ ไม่ทันสมัยรับวัฒนธรรมตะวันตกมาอย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ขอบคุณอีกครั้ง
สำหรับผู้ฟื้นฟูความเป็นไทยทุกคน