ตานก๋วยสลาก

 

                                       บ้านน้ำโท้ง ตำบลท่าขุนราม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
        ตานก๋วยสลากในภาคเหนือ คือสลากภัตในภาคกลางเป็นประเพณีเก่าแก่ในพระพุทธศาสนาของชาวล้านนาที่อพยพมาอยู่ที่บ้านน้ำโท้ง ตำบลท่าขุนราม อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร หลายชั่วอายุคน
         มีชื่อเรียกแตกต่างกันแต่ละท้องถิ่น คือกินก๋วยสลาก กินสลาก ตานก๋วยสลาก
ตานสลากย้อมหรือสลากพระอินทร์ ซึ่งนิยมทำกันในช่วงราวปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม และจะทำถี่กันมากในเดือนกันยายน เพราะถือว่าเดือนนี้จะเป็นเดือนที่ชาวบ้านจะลำบากเรื่องอาหารการกิน เพราะปลายฤดูทำนา ข้าวปลาอาหารขาดแคลน เมื่อคนทั่วไปอดอยากจึงคิดถึงผู้เป็นญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว คงไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภคเช่นกัน จึงร่วมกันทำพิธีทำบุญทำทานโดยจัดอาหารการกิน เครื่องใช้ที่จำเป็นไปถวายแก่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้วและเป็นอานิสงส์สำหรับตนเองในโลกหน้า การทำบุญสลากภัตจะไม่จำเพาะเจาะจงจะถวายภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงนำสลากที่เขียนคำอุทิศในใบสลาก แล้วนำไปรวมกันให้พระภิกษุสามเณรจับสลาก หากว่าภิกษุหรือสามเณรรูปใดจับสลากได้ ก๋วยสลากหรือภาชนะที่บรรจุเครื่องไทยทานอันไหนก็จะยกถวายแก่รูปนั้น บรรยากาศ แห่งการไปถวายก๋วยสลาก นับว่าน่าชมมาก คือ พระภิกษุที่ได้สลากแล้ว จะไปนั่งยังแต่ร่มไม้ในแต่ละที่ วางสลากไว้ด้านหน้าประชาชนจะมาดูสลากของตน แล้วจะนำก๋วยถวาย พระภิกษุ พระภิกษุจะกรวดน้ำให้พรเป็นรายๆไปข้อความในสลาก จะกล่าวถึงญาติพี่น้องเจ้ากรรมนายเวรที่ล่วงลับไปแล้ว รับพรพระทุกคน นับว่าเป็นกลวิธีที่แยบยลมาก ที่ให้ประชาชน ได้ร่วมใจมาทำบุญกันอย่างล้นหลาม
         ส่วนสลากอุ้ม มีขนาดใหญ่ พระภิกษุต้องเดินมารับเอง ณ ที่ตั้งที่ประชาชนตั้งไว้ สลากอุ้มจะถวายวัดพระภิกษุแต่ละวัดไป….ส่วนสลากที่เรียกว่าสลากคุ้ม แต่ละกลุ่มบ้านจะจัดทำสลากคุ้มมาถวายพระแห่แหนกันมาเป็นสลากขนาดใหญ่ ตามธรรมเนียมจะถวายวัดที่จัดงานทั้งหมด
         ส่วนที่ประกอบเป็นก๋วยสลาก จะเป็นของที่จะเป็นใช้สำหรับประชาชนจริงๆ เช่นพริก เกลือ ข้าวสาร ข้าวเปลือก มะนาว ผลไม้รสเปรี้ยวรสหวาน อาหารที่พอหาได้ในหมู่บ้าน และบางก๋วยยังมีหมากพลู บุหรี่ ข้าวต้มมัด ขนมสมัยโบราณนานาชนิด บางบ้านมีฐานะ จัดให้มีเงิน ใส่มาด้วย นับว่าเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีงาม สืบต่อกันมาอย่างน่าสรรเสริญ
         ความกตัญญูกตเวที ที่มีต่อ บรรพบุรุษ การรู้จักทำบุญให้ทาน แก่บุคลที่ไม่รู้จัก เป็นทานที่ยิ่งใหญ่มาก นับเป็นภูมิปัญญาชาวเหนือ ที่ชาวบ้านน้ำโท้ง รักษาไว้ได้อย่างงดงาม ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่มิอาจขวางกั้นได้ ประชาชนส่วนใหญ่ ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิได้ทำเพื่อให้เสร็จ ทุกคนอิ่มเอิบและมีความสุข อย่างที่สุด ภาพการเอื้อเฟื้อ จริงใจ ที่หายไปจากในตัวเมือง ยังปรากฎอยู่ในชนบท ที่ชัดเจน งดงามและเป็นธรรมชาติมากที่สุด เมื่อได้ชมแล้วอดที่จะปลื้มใจมิได้ว่า กำแพงเพชรเรายังมีประเพณีที่งดงามอยู่แม้มิใช่สถานที่เกิดประเพณีก็ตาม