โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย มีความเป็นมาที่ยาวนาน หลายศตวรรษ อาจพัฒนามาจากการเล่นหนังใหญ่ซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา หรืออาจพัฒนามาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เมื่อคนดู น้อยลงจึงพัฒนามาเป็นโขน เพื่อให้คนชมสนใจ
การแสดงโขน แต่เดิมเล่นกันกลางแปลง จึงเรียกกันว่าโขนกลางแปลง แสดงบนพื้นดินหรือสนามหญ้าไม่ต้องปลูกโรงให้เล่น นิยมการแสดงตอนยกทัพ หรือเรียกในภาษาโขนว่า ตอนยกรบ โดย เล่นเรื่องรามเกียรติ์ เป็นสงครามระหว่าง พระรามกับทศกัณฑ์ หรือระหว่างธรรมะกับอธรรม การยกกองทัพของทั้งสองฝ่าย ทำได้น่าสนใจโดยถอดแบบมาจากการสงครามจริงๆ คือ เมื่อพระมหากษัตริย์สั่งให้จัดทัพ แม่ทัพนายกอง ไปสั่งให้ ไพร่พลจัดการ เตรียมรี้พล เมื่อจัดกองทัพเสร็จแล้ว แม่ทัพนายกอง จะไปตรวจความเรียบร้อย ก่อนพระมหากษัตริย์อีกครั้ง ก่อนพระมหากษัตริย์จะมาตรวจไพร่พลด้วยตนเอง ทำเหมือนกันทั้งฝ่ายพระรามและฝ่ายทศกัณฑ์ การแสดงออกของตัวโขน ได้ซ่อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยไว้อย่างมากมาย
ภาษาท่าทาง ของโขน ในการแสดงออกนั้นมีภาษาท่าทางที่สามารถบอกได้ว่า ทำอะไร พูดอะไร คนที่ดูโขนเป็นก็จะสนุกและเข้าใจ ส่วนคนที่ดูโขนไม่เป็นก็จะบอกว่าน่าเบื่อ เชื่องช้า ไม่น่าสนใจ การแสดงโขนจึงเกือบสูญหายไปจากสังคมไทย ขณะนี้วิทยาลัยนาฏศิลป์จากกรมศิลปากร ได้ทำการอนุรักษ์โขนไว้
การแสดงโขนแต่ละครั้งต้องใช้เงินค่อนข้างมาก โดยเฉพาะชุดแต่งกาย การแสดงโขน ค่อนข้างแพง สามัญชนจึงมิค่อยมีโอกาสได้ชมการแสดงโขนตาที่สาธารณะ
การแสดงโขนที่บันทึกภาพในครั้งนี้ เป็นการแสดงโขนของ วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย เนื่องในงานสมโภช พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร จัดแสดงที่หน้าเมืองกำแพงเพชรเรื่องที่แสดงคือรามเกียรติ์ตอน ยกรบ จนถึงขยี้กล่องดวงใจ
การแสดงเต็มไปด้วยศิลปะ ชั้นสูง แสดงโดยคณาจารย์และนักแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย การดำเนินเรื่องงดงาม และไม่ช้าจนเกินไป นักแสดง แสดงได้อย่างดียิ่ง สมควรกับการได้รับการยกย่อง
การแสดงโขน แม้จะน่ายกย่องเพียงใด แต่คนที่ชมโขนรู้เรื่อง หาได้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะ
ไม่เข้าใจ การพูดบรรยายประกอบการแสดงโขนแม้จะทำให้เสียอรรถรสไปบ้าง แต่ก็ทำให้ผู้ชมโขนไม่รู้เรื่อง สามารถชมได้ด้วย
แม้โขนอาจเหมือนการแสดงพ้นสมัย แต่โขนคือศิลปะชั้นสูง ที่คนไทยควรได้เข้าใจรู้จักและเข้าใจวิธีชม จะทำให้การชมโขน ได้มีคุณค่า เพราะในการแสดงโขนนั้นนับวันจะหาโอกาสชมได้น้อยมากขึ้นทุกที พวกเราควรได้อนุรักษ์ ส่งเสริม สนับสนุน ให้เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงคู่ชาติเราต่อไป..................
|
|