แคนหรือเก้งของชาวม้ง


          ดนตรีชาวเขาเผ่าม้ง ไพเราะแว่วมาอย่างโหยหวน แสดงความสูญเสีย ที่สลับซับซ้อน ชาวม้ง เรียกดนตรีชิ้นนี้ว่า เก้ง คนพื้นราบเรียกกันว่า แคน แต่เดิมดนตรีที่เรียกว่าเก้งใช้ในการเป่าเพื่อส่งวิญญาณของผู้ตาย เมื่อได้ยินเพลงจากแคน แสดงถึงมีการตาย มีการลั่นกลองประกอบ เมื่อมีการตายชาวม้งต้องนำศพไปฝังบนเขา ผู้นำขบวนจะเดินเป่าแคนเพื่อส่งวิญญาณไปสวรรค์ จากการสัมภาษณ์ นายหวั่งเซ้ง จังเจริญกุล ชาวเขาเผ่าม้ง อายุ 63 ปี มีอาชีพทำแคนขายท่านเล่าให้ฟังว่า
          ดนตรีประจำชาวเขาเผ่าม้งที่สำคัญ คือ แคนหรือเก้ง ใช้เป่าเพื่อส่งวิญญาณผู้ตายไปสู่สวรรค์ มีเพลงประกอบหลายเพลง เพลงที่น่าสนใจได้จัดลำดับไว้ ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้
          เพลงที่ 1 เป็นเพลงสำหรับไหว้ครู
          เพลงที่ 2 ท่วงทีและทำนอง แนะนำให้คนตายเดินทางขึ้นสวรรค์
          เพลงที่ 3 แนะให้ขึ้นม้าขี่ไปเมืองผี หรือเมืองสวรรค์ แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมา
          เพลงที่ 4 จะนำไปฝังศพ แนะนำให้ใช้ชีวิต ในเมืองผี

          ปัจจุบัน วัฒนธรรมการเป่าแคนเปลี่ยนแปลงไป ใช้เป่าในหลายงาน แม้งานรื่นเริงก็ใช้เป่า อาจเป็นเพราะมีการปรับสภาพตามความเป็นจริง ในปัจจุบัน เสียงแคนไพเราะมาก น้ำเสียง ลีลาทำนอง ให้อารมณ์ ความรู้สึกที่บอก ถึงความรักอาลัย และความสูญเสีย……….
          นายหวั่งเซ้ง จังเจริญกุล สอนถึงวิธีการทำแคนโดยละเอียด เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมของชาวม้ง ไปสู่ลูกหลานของชาวม้ง ท่านบอกว่า ขณะนี้ทั้งประเทศมีผู้ทำแคนชาวม้ง ได้ไม่กี่คน มีความตั้งใจที่อยากจะถ่ายทอด สู่เยาวชน หรือผู้สนใจ แต่ยังขาดทุนทรัพย์ในการดำเนินการ ร้องขอผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยลงทุนในการดำเนินการตั้งโรงเรียนการทำแคนและเป่าแคน เพื่อสืบทอดวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าม้งอีกแนวทางหนึ่ง ใครเล่าจะช่วยภารกิจอันสำคัญ ของนายหวั่งเซ้ง จังเจริญกุล…
          การเป่าแคนหรือเก้ง ของชาวม้งนี้ มีท่าเต้นประกอบการเป่าแคนด้วย มีลีลาและอารมณ์ที่น่าสนใจ น่าเรียนรู้และน่าสืบทอด
          การบันทึกเรื่องราวของการทำแคน การเป่าแคน การเต้นตามทำนองแคน สู่รายการโทรทัศน์วัฒนธรรม จึงการบันทึกวัฒนธรรม โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามารับใช้วัฒนธรรม…… อาจทำให้วัฒนธรรม การเป่าแคน การทำแคน และการเต้นตามทำนองของแคน อยู่คู่วัฒนธรรมชาวม้งต่อไป อย่างนิจนิรันดร์