พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร

 

เมืองคนแกร่ง แหล่งนักรบ ผู้เก่งกล้า

  คือพระยา รามรณรงค์ ยิ่งยงแสน
พระยากำแพงนุช กระเดื่องแดน   ทุกแว่นแคว้น ไม่กล้า มาผจญ

ตามเสด็จไปสงคราม ปัตตานี

  ด้วยวิถี คนกล้า ย่ำทุกหน
พระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก โปรดบัดดล   ดาบฝักทอง ให้กับคน พิชิตชัย

พระแสงราชศัสตรา กำแพงเพชร

  งามก่องเก็จ คู่กำแพง ทุกสมัย
เฉลิมฉลอง ดาบฝักทอง ด้วยหัวใจ   ชาวกำแพงเพชร รวมดวงใจ ถวายพระพร

          พระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองกำแพงเพชร มีประวัติความเป็นมาที่มหัศจรรย์ คือเป็นดาบฝักทองคำ
ด้ามทองคำลงยา งดงาม คมกริบ เป็นดาบพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานแก่ พระยากำแพงนุช เมื่อไปรบชนะเมืองปัตตานี และพระราชทานตำแหน่งให้เป็นที่ พระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ กินเมืองกำแพงเพชร พร้อมทั้งพระราชทานแขกปัตตานีเชลย มาไว้ที่เกาะแขก จำนวน 100 ครอบครัว ..
         ดาบฝักทอง คล้าย พระแสงอาญาสิทธิ์พระราชทาน ประจำตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชร มาหลายชั่วอายุ
คน คือ พระยากำแพงนาค พระยากำแพงบัว พระยากำแพงน้อย พระยากำแพงเกิด พระยากำแพงอ้น และตกทอดมาถึงหลวงพิพิธอภัย(หวล ) บุตรพระยากำแพงอ้น ซึ่งมิได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร

        เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร หลวงพิพิธอภัย ได้นำดาบฝักทองพระราชทานไปถวายคืนแก่ พระพุทธเจ้าหลวง ดังความในพระราชนิพนธ์ จดหมายเหตุประพาสต้น เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ความว่า....
         วันที่ ๒๖ หมายจะยังไม่ตื่น แต่หมาเข้าไปปลุก ๒ โมงเศษ กินข้าวแล้วออกไปแจกของให้ผู้ที่มาเลี้ยงดูและรับทั้งผู้หญิงผู้ชาย หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วยซึ่งเป็นบุตรพระยากำแพง(อ้น) นำดาบฝักทองซึ่งพระพุทธยอดฟ้าพระราชทานพระยากำแพง(นุช)เป็นบำเหน็จมือ เมื่อไปทัพแขก แล้วตกมาแก่พระยากำแพง(นาค)ซึ่งเป็นสามีแพง บุตรีพระยากำแพง(นุช) บุตรพระยากำแพง(นาค)และแพงภรรยาได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองกำแพง ต่อมา ๔ คน คือ พระยากำแพง(บัว) พระยากำแพง(เถื่อน) พระยากำแพง(น้อย) พระยากำแพง(เกิด) ได้รับดาบนี้ต่อๆกันมา ครั้นพระยากำแพง(เกิด)ถึงอนิจกรรม ผู้อื่นนอกจากตระกูลนี้มาเป็นพระยากำแพงหลายคน ดาบตกอยู่แก่นายอ้นบุตรพระยากำแพง(เกิด) ซึ่งเป็นบิดาหลวงพิพิธอภัย ภายหลังนายอ้นได้เป็นพระยากำแพง ครั้นพระยากำแพง(อ้น)ถึงแก่กรรม ดาบจึงตกอยู่กับหลวงพิพิธอภัยบุตรผู้นำมาให้นี้ พิเคราะห์ดูก็เห็นจะเป็นดาบพระราชทานจริง เห็นว่าเมืองกำแพงเพชรยังไม่มีพระแสงสำหรับเมืองเช่นแควใหญ่ ไม่ได้เตรียมมา จึงได้มอบดาบเล่มนี้ไว้เป็นพระแสงสำหรับเมือง ให้ผู้ว่าราชการรักษาไว้สำหรับใช้ในพระราชพิธี .....
          พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร จึงเป็นพระแสงที่ได้รับพระราชทานจากสองมหาราช ผู้ยิ่งใหญ่
คือจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และจากพระปิยมหาราช นับได้ว่าไม่เหมือนกับพระแสงราชศัสตราองค์ใด ในประเทศไทย จึงมีค่าควรเมืองกำแพงเพชรยิ่งนัก
ผู้รับพระราชทานดาบฝักทองนี้ไว้คือ พระวิเชียรปราการ ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรในขณะนั้น
          ลักษณะดาบฝักทอง พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร เรียกลักษณะนามเป็นองค์ เป็นพระแสงด้ามทอง ฝักทอง ลักษณะอาวุธประจำกายมิได้ไว้รบระยะห่าง แต่ไว้รบเมื่อประชิดตัว เป็นพระแสงดาบคู่พระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีลักษณะเหมือนดาบล้านนา คือเรียวยาวและขนาดเล็ก
          มีความยาว 88.5 เซนติเมตร           ด้ามยาว 39.5 เซนติเมตร
          ฝักยาว 49 เซนติเมตร                     ใบดาบยาว 45.5 เซนติเมตร
          ใบดาบกว้าง 2.4 เซนติเมตร
          มีน้ำหนักของด้ามพร้อมใบพระแสงราชศัสตรา 471 กรัม
          น้ำหนักของฝักพระแสงราชศัสตรา 165.2 กรัม
          รวมน้ำหนักพระแสงราชศัสตรา 632.2 กรัม
เนื่องจากอายุของพระแสงราชศัสตรามากกว่า 300 ปี และมีลักษณะกรำศึก ทำให้มีบางส่วนชำรุดไป คือปลายฝัก ปลอกฝักทองหลุดหายไป ด้ามและฝักมีความหม่นหมอง ไม่เปล่งประกายโลหะทองคำและใบมีคราบสนิมจับอยู่บางส่วน
          หลังจากองค์สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงหันมาพัฒนาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดนางพญา วัดราชบูรณะที่พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงสร้างและสร้าง พระเครื่องให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารที่ออกรบอีกครั้ง ที่เหลือก็นำไปบรรจุไว้ในกรุวัดทั้งสามเพราะมีเขตขัณฑสีมาติดต่อกัน
          นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตซ่อมอนุรักษ์และจัดกิจกรรมสมโภชพระแสงราชศัสตรา ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อนุรักษ์พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรได้
          พระครูวิสุทธิธรรมภาณ ( พระมหาสมจิตร อภิจิตโต) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้มอบทองคำ น้ำหนัก 46.4กรัม สำหรับใช้ในการอนุรักษ์พระแสงราชศัสตราประจำเมืองและสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆในการดำเนินการของช่างผู้ปฏิบัติการทั้งหมด
          กรมศิลปากรผู้รับผิดชอบในการอนุรักษ์พระแสงราชศัสตราประจำเมือง ได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ กลุ่มงานช่างโลหะและช่างศิราภรณ์ กลุ่มประณีตศิลป์และการช่างไทย ได้เริ่มลงมือปฏิบัติการอนุรักษ์พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2550 ถึงวันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2550 โดย
นายยงยุทธ วรรณโกวิท นายช่างประณีตศิลป์
          เมื่อแล้วเสร็จ ส่งคืนให้จังหวัดกำแพงเพชรในวันที่ 21 ธันวาคม 2550 และได้จัดงานเฉลิมฉลอง พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรในโอกาสร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2550..... ในวันที่ ๒๙ -๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
          คำว่า " พระแสงราชศัสตรา " หมายถึงอาวุธมีคมของพระมหากษัตริย์ที่ใช้สำหรับเป็นเครื่องฟันแทง หมายรวมถึงอาวุธทุกชนิด แต่ในกรณีนี้จะหมายความเฉพาะพระแสงดาบ ซึ่งอาจพิจารณาแบ่งแยกนัยตามความสำคัญของพระแสงราชศัสตราได้เป็นสองประการ ดังนี้
          ประการแรก พระแสงราชศัสตราถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอย่างหนึ่งในชุดเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันแสดงฐานะความสำคัญของพระมหากษัตริย์ และพระราชอำนาจอันเป็นอาญาสิทธิ์สูงสุดในการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีมานับแต่ครั้งอดีตตราบจนถึงปัจจุบัน พระแสงราชศัสตราซึ่งใช้เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์นี้มีองค์เดียว คือ "พระแสงขรรค์ชัยศรี" ถือได้ว่าเป็นพระแสงสำคัญเหนือกว่าพระแสงทั้งปวง กำหนดให้ใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
          ประการที่สอง พระแสงราชศัสตราถือเป็นเครื่องราชูปโภคประเภทเครื่องราชศัสตราวุธ ซึ่งหมายรวมถึงพระแสงทุกองค์ ทั้ง กระบี่ หอก ดาบ ง้าว หลาว แหลน ฯลฯ และในบรรดาพระแสงเหล่านี้มีพระแสงดาบสำคัญองค์หนึ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกใช้ประจำพระองค์ และถือเป็นพระแสงสำคัญประจำรัชกาล
          เมื่อพระมหากษัตริย์พระราชทานพระแสงราชศัสตราแก่ผู้ใด หมายความว่า มีพระราชประสงค์ให้บุคคลนั้น มีอำนาจสิทธิขาดในการปฏิบัติราชกิจแทนพระองค์ในวาระสำคัญต่าง ๆ เช่น การทำศึกสงคราม หรือการปกครองดูแลหัวเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ ....พระแสงราชศัสตรา จึงถือเป็นพระแสงดาบอาญาสิทธิ์
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ จะฟื้นฟูธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตราไว้ประจำเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์และใช้สำหรับแทงน้ำในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นสำคัญ แต่ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะใช้ลงโทษเหมือนพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ในสมัยก่อน
          มีประเพณีสำคัญสำหรับพระแสงราชศัสตราว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปประทับแรมในเมืองใด เมื่อใด ให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระแสงราชศัสตรา มาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในเมืองนั้น
          ในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในส่วนภูมิภาค จังหวัดที่ได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองจะต้องอัญเชิญพระแสงราชศัสตราประจำเมืองพร้อมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งในมณฑลพิธี เมื่อเสร็จแล้วจึงอัญเชิญกลับไปประดิษฐานดังเดิม
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้รักษาธรรมเนียมการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองไว้เพียงประการเดียว...... โดยมิได้พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองเพิ่มเติมอีก ด้วยมีพระราชนิยมที่จะพระราชทาน “พระพุทธนวราชบพิตร” เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ซึ่งพระพุทธรูปที่พระราชทานนั้นจะเป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสูงสุด และเป็นนิมิตหมายสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทยทั้งชาติ
          พระแสงราชศัสตราองค์นี้ นับว่าเป็นโบราณวัตถุที่ล้ำค่ายิ่งของจังหวัดกำแพงเพชรสมควร ที่ชาว
กำแพงเพชรทุกคนควรได้ภูมิใจ...ที่มีโอกาสได้อนุรักษ์พระแสงราชศัสตราองค์นี้ คู่กับชาวกำแพงเพชรตลอดไป
          การสมโภชพระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองกำแพงเพชร เมื่อซ่อมอนุรักษ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว...จัดเป็นกิจกรรมใหญ่เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา...... ขอพระองค์ทรงพระเจริญ.....