แม่สำเนียง ชูพินิจ เล่าถึงสภาพสังคมเมืองกำแพงเพชรในช่วงปี 2447 – 2547
สังคมกำแพงเพชร เมื่อ หนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา

           แม่สำเนียง ชูพินิจ เกิดเมื่อวันที่ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบุตรนายสอน และนางชื้น ชูพินิจ มีพี่น้องร่วมบิดาดังนี้……
                      
1. นายมาลัย ชูพินิจ ถึงแก่กรรม
                      
2. นางสาวสำเนียง ชูพินิจ
                      
3. นายประสาน ชูพินิจ ถึงแก่กรรม
                      
4. นางสาวมาลี ชูพินิจ ถึงแก่กรรม
           
ในปี พ.ศ. 2460 เกิดมากำพร้าแม่ตั้งแต่แรกเกิด ยายและน้าเป็นผู้เลี้ยงดูมา ยายเป็นน้องสุดท้องของยายชื่อยายแดง แสงสุวรรณ และน้าเป็นน้องคนสุดท้องของแม่ ชื่อน้าหนู กลิ่นบัว
ได้จ้างแม่นมมาเลี้ยงเมื่อแรกเกิด ต่อจากแม่นมก็กินนมข้น ยายและน้าได้เลี้ยงดูมาตลอด
           พ.ศ. 2467 เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบาง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ครูผู้สอนคือ คุณครูแสวง แถลงการณ์ เป็นครูใหญ่ คุณครูเหม็ง พระครูประสงค์คุณครูระวิ ครองแก้ว ครูผู้หญิงมีคุณครูชุด คุณครูแฉล้ม ผู้สอน เย็บปักถักร้อยและประดิษฐ์ดอกไม้
          
พ.ศ.2470 จบการเรียนชั้นประถมศึกษาเมื่ออายุ 10 ขวบ ออกจากโรงเรียนได้ช่วยน้าทำไร่ ที่เกาะหน้าวัดเสด็จ ปลูกผักสวนครัวทุกชนิด ข้าวโพด แตงโม ฟักทอง และปลูกยาสูบด้วย พี่ชุด พี่ชิด กลิ่นบัว ได้ช่วยทำไร่ด้วย การทำไร่ยาสูบ ปลูกแล้วต้องรดน้ำทุกวัน จนกระทั่งใบยาแก่ เมื่อใบยาแก่จึงเก็บมาบ่มในที่ๆเตรียมไว้ ใช้ใบตองกล้วยปูพื้น แล้วเอาใบยาซ้อนกันแล้ววางเรียงลงในที่บ่ม เอาใบตองคลุมไว้ประมาณ 3วัน ใบยาจะเหลือง เอามาลอกก้านกลางใบออก แล้วเอามาวางซ้อนกัน ให้ยาวประมาณ 1 เมตร และให้หนาพอที่จะมวนใบยา ให้โตประมาณเท่าลำไม้ไผ่ ขนาดกลาง แล้วจึงหั่น โดยมีม้าหั่นยา และมีดหั่นยาโดยเฉพาะ พี่ชุดและพี่ชิดช่วยกันหั่น น้าฉันเป็นคนตาก เวลาตากต้องมีแผงสานด้วยไม้ไผ่ ยาวประมาณ 1เมตรครึ่ง กว้าง 1ศอก ตากับยายเขียนเป็นคนสานให้ ตาได้ทำแผง เล็กๆให้ฉัน หัดตากด้วย การตากยาต้องรู้วิธีตาก มิฉนั้นจะไม่แห้งเสมอกัน แล้วนำไปตากแดดเมื่อแห้งแล้วต้องกลับเอาด้านบนลงด้านล่าง โดยเอาแผงเปล่ามาประกบกันแล้วกลับ เมื่อยาแห้งดีทั้งสองด้านแล้วตัดเป็นชิ้นๆ ต้องมีไม้แบบเป็นเหมือนไม้บรรทัดกว้าง 1คืบ ใช้ไม้กระดานบางๆ กว้าง 1 คืบ ยาวเท่ากับยาที่ตากไว้ แล้วทำไม้เล็กๆตีบนแผ่นกระดานสำหรับจับวางบนยา แล้วใช้มีดตัดจนตลอดแผง ตากน้ำค้างไว้ให้ยาอ่อน ตอนเช้าเอามาเก็บพับหัวท้าย แล้วเอาซ้อนกันประมาณ 5-6 ชิ้น เรียกว่ายาตั้ง แล้วเอาใบตองพลวงที่ตากแห้งมาห่อๆหนึ่ง ประมาณ 10 ตั้ง ยาที่ทำแล้วจะมีสีเป็นสีน้ำตาลไหม้ มีกลิ่นฉุน เรียกว่า ยาฉุน ผู้ที่สูบยาจะเอาใบตองกล้วยแห้งมามวนยาสูบ ผู้ที่กินหมากจะเอามาสีฟัน ยามีสองชนิด คือ ยาฉุน
และยาจืด วิธีทำก็เหมือนกัน แต่ทำยาจืด ต้องเก็บใบยาเมื่อยังอ่อน เอามาหั่นแล้วล้างด้วยน้ำสารส้ม เพื่อล้างยางออก เอาขึ้นจากน้ำใส่ตะแกรงไว้ให้น้ำแห้ง แล้วจึงตากในแผง เมื่อยาแห้งจะมีสีขาว ไม่มีกลิ่น เรียกว่า ยาจืด ใช้เป็นยาสีฟันโดยเฉพาะ
           
กำแพงเพชรในช่วงก่อนที่แม่สำเนียง ชูพินิจ ยังไม่เกิด คุณยายแม่สำเนียงเล่าให้ฟังว่า
ยายแม่และน้า มีอาชีพเย็บผ้าด้วยมือ เมื่อจำความได้ ก็เห็นแต่ยาย น้า ลุง และตา ทุกท่านรักและเมตตาฉันเหมือนลูก
           
ตาบุญ กับยายเป็นพี่น้องกัน เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษา ได้ไปถือศีลทุกวันพระ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ และไปฟังเทศน์ตอนเย็นทุกวัน ตลอดพรรษา ตอนเช้าตักบาตรพระเดินหน ทุกวัน
           ลุงเป็นพี่ของแม่ ชื่อลุงกาบ กลิ่นบัว ลุงได้ตั้งเป็นโรงเรียน เพื่อสอนหนังสือหลานๆ ที่อายังไม่ถึง 7 ขวบ มีน้องของพี่ชิด รวมด้วยรวม 5-6 คน ตอนเช้าเรียนหนังสือทุกวัน ตอนค่ำสวดมนตร์ อิติปิโส และพาหุง ทุกคืน
           ยายและน้าก็เย็บผ้า ถ้ามีการแต่งงาน บางคนจะเอาผ้ามาให้เย็บที่นอน หมอน มุ้ง บางคนก็เอานุ่นมายัดที่นอนด้วย
           เมื่อมีงานบวช บางคนเขาจะเอาผ้ามาให้เย็บสบง และจีวร เห็นยายเย็บจีวร เป็นห้องๆละหนึ่งตารางฟุต ตลอดทั้งผืน ริมจีวรโดยรอบพับขึ้นประมาณ 2 นิ้วฟุต และเย็บตลอด การที่เย็บจีวรเป็นห้องๆนั้น ตากับยายเล่าว่าพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ เปรียบเหมือนบิ้งนา ห้องหนึ่งเปรียบเหมือนนา 1 บิ้ง มีเรื่องเล่ามากกว่านี้ ฉันยังเป็นเด็กไม่ได้ถามยายอีกเลย เพราะเป็นประวัติสมัยพระพุทธเจ้า น่าจำจำไว้เผยแพร่ให้กับลูกหลานต่อไป ขอให้ท่านเรียนถามพระท่านที่มีความรู้สูงท่านจะทราบด้วยละเอียด สบงจีวร เมื่อเย็บเสร็จแล้ว เขาจะเอาไปย้อมด้วยน้ำขมิ้นชันสดโขลกละเอียด เอาน้ำใส่แล้วกรองเอากากออก เอาน้ำมาย้อมผ้า จะมีสีเหลืองสวย และหอมกลิ่นขมิ้นด้วย ฉันอ่านหนังสือพบว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สีเหลืองเป็นสีป้องกันโรคได้ด้วย จดไว้นานแล้ว ไม่ทราบว่าจากหนังสืออะไร
           ………… เรื่องของสีป้องกันโรคได้……พระพุทธเจ้าทรงทราบมาก่อน พุทธกาลแล้ว ในเรื่องของสีป้องกันเชื้อโรคได้ เพราะพระองค์เป็นโลกวิทู รู้แจ้งโลกหยั่งรู้ความเป็นไปของโลกอย่างชัดแจ้ง อย่างแท้จริง สิ่งสำคัญยิ่งของสี ก็คือสีของพระภิกษุ สามเณร ใช้สีเหลือง ตามพุทธบัญญัตินั้นเป็นการป้องกันเชื้อโรค เพราะปัจจุบันได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยทำอาหารของแบคทีเรียย้อมสีต่างๆ แล้วปล่อยแบคทีเรียลงไป ปรากฏว่าอาหารทุกสี แบคทีเรียอยู่เต็ม เว้นแต่สีเหลืองที่มีแบคทีเรียน้อยที่สุด เกือบจะไม่ได้ หลอดไฟฟ้ากันยุง ได้มาทำเป็นสีเหลือง วิทยาศาสตร์เพิ่งจะมาค้นพบในปัจจุบัน……
           ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น มีสินค้าต่างๆบรรทุกเรือถ่อ (เรียกว่าเรือเป็ด) ในสมัยนั้นไม่มีเรือยนต์และรถยนต์ จากปากน้ำโพมาขาย สินค้าที่นำมามี ของกิน เช่นกปิ น้ำปลา ของใช้ต่างๆ ผ้าต่างๆ และในขณะนี้ยายแลน้าก็ไม่ได้รับเย็บผ้าแล้ว….เพราะยายมีอายุมากแล้ว ประมาณปี 2469 น้าพยวน ภู่สวาสดิ์ ได้เอาผ้าแพรอย่างดีเนื้อหนามาให้เย็บจีวร เย็บเสร็จน้าพยวนเอาไปย้อมเอง เป็นจีวรชิ้นสุดท้ายที่ยายและน้าได้เย็บ ต่อจากนั้นไม่ได้เย็บอีกเลย ……
            ประมาณปี พ.ศ. 2473 พี่ชุดได้มาแต่งงานกับพี่ชิด ซึ่งเป็นญาติทั้งสองฝ่าย ครอบครัวฉันกับครอบครัวพี่ชิดสนิทกันมานานแล้ว ที่ว่าเป็นญาติทั้งสองฝ่าย เพราะยายพี่ชิด เป็นพี่ยายฉัน ปู่พี่ชุดเป็นน้องตาฉัน บ้านฉันกับบ้านพี่ชิดห่างกันเล็กน้อย หันหน้าบ้านไปทางเดียวกัน มีชานเดียวตลอดถึงกัน ยายพี่ชิดขยันทำกับข้าว มีอาหารอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน ไปมาเหมือนครอบครัวเดียวกัน เวลามีการทำบุญใหญ่ เช่นวันตรุษสิ้นเดือน 4 น้าฉันกับพี่ชิดจะทำขนม ข้าวเหนียวแดง หรือข้าวเหนียวแก้ว ถ้าขนมที่ทำไม่ยากก็ต่างคนต่างทำ ถ้าขนมที่ทำยากก็จะช่วยกันทำ
            วันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน น้าฉันและพี่ชิดจะช่วยกันทำขนมกวน ใช้กระทะใบใหญ่เรียกกระทะใบบัว (เดี่ยวนี้เรียกกระทะเคี่ยวน้ำอ้อย) เตรียมขูดมะพร้าว โม่แป้งข้าวเหนียว คั้นกะทิใส่กระทะใส่แป้งและน้ำตาล ให้มีรสหวานและมัน ใช้ไม้พายกวนแป้งกับน้ำตาลให้เข้ากัน วิธีดูว่าขนมจะเหลวหรือแข็งเกินไป ให้ใช้ฝ่ามือจุ่มลงไปแล้วยกมาดูที่หลังมือ ถ้ามีแป้งติดหลังมือบางๆ แสดงว่าขนมจะเหลวเกินไป ถ้าจุ่มมือลงไปแล้วยกขึ้นมาดูแล้วหลังมือมีแป้งติดมาก แสดงว่าขนมจะแข็งเกินไป…ถ้ามีแป้งฝังอยู่บางๆ แสดงว่าขนมจะนิ่มพอดี แล้วกวนต่อจนได้ที่ ..
การทำขนมกวนอีกแบบหนึ่ง ไม่ต้องโม่แป้ง… แช่ข้าวเหนียวให้ขึ้นน้ำดีแล้วแล้ววักขึ้นจากน้ำให้แห้ง คั้นกระทิใส่กะทะใส่ข้าวเหนียวลงไปกวนให้สุก……. ให้เหลือแกนข้าวขาวข้างในเม็ดข้าวนิดหน่อย เวลากินจะทำให้กรอบ แล้วใส่น้ำตาลปีบลงไปกวน เช่นเดียวกับขนมกวน ( เรียกว่าขนมกะละแม) ขนมกวนต้องมีถั่วลิสงโรยหน้า แต่กะละแมไม่ต้องโรยถั่วลิสง ขนมที่จะทำกระจาดถวายพระ ใช้ใบตองสองชั้นกลัดติดกันแล้วตัดเป็นรูปกลม วางไว้ในจานแล้วตัดขนมใส่ เอากาบกล้วยมาทำเป็นวงกลม ใช้ไม้กลัดเป็นกากบาท เอาใบตองกล้วยมาฉีกประมาณ นิ้วครึ่ง แล้วพับเป็นกลีบๆ เย็บติดกัน กาบกล้วยที่ทำเป็นวงกลมนั้นให้รอบ แล้วตัดใบตองเป็นรูปกลมวางลงสำหรับรองขนมเอาขนมสำหรับถวายพระตอนเช้า           
            วันสารท…. แรม 15 ค่ำ เดือน 10 น้าฉันและพี่ชิด จะกวนกระยาสารท ต้องเตรียมของหลายอย่าง มะพร้าวกะเทาะเปลือกออก ปอกผิวดำๆออกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆตากแดดไว้ ถั่วลิสง งาดำแช่น้ำร้อน พอเปลือกยุ่ย เอามาใส่กระด้งขัดเปลือกออกตากแดดไว้ ตำข้าวเม่า คั่วข้าวตอกเตรียมไว้ เวลาจะกวนเอาของที่เตรียมไว้ทุกอย่างยกเว้นข้าวตอก เอามาคั่วให้กรอบ ขูดมะพร้าวคั้นกะทิ ใส่กะทะ ใส่น้ำตาล ประมาณ พ.ศ.2475 ยังไม่มี แบะแซ ขาย พี่ชิดเอาน้ำตาลทรายใส่โถประมาณ 2 กิโลกรัม แล้วแต่เครื่องกระยาสารทมาหมักไว้ ใส่น้ำผึ้งเพื่อให้มีกลิ่นหอม …………
ถ้าไม่ใส่น้ำผึ้งจะอบของที่คั่วแล้วหลายวันด้วยเทียนอบก็ได้ ยกกระทะตั้งไฟเคี่ยวไปจนน้ำตาลเหนียว คะเนดูว่าถ้าจะน้ำตาลว่าได้ที่หรือยัง ให้เอาไม้พายตักน้ำตาลในกระทะขึ้นมาหยอดลงในขันที่มีน้ำ ถ้าน้ำตาลไม่จับเป็นก้อน แสดงว่าน้ำตาลยังไม่เหนียว เคี่ยวต่อไปอีก ถ้าตักขึ้นมาหยอดและจับขึ้นมาปั้นได้ แสดงว่าเหนียวได้ที่แล้ว ยกกระทะลงเอาเครื่องที่คั่วไว้ใส่ลงในกระทะ ใช้ไม้พายคนให้ทั่ว อาข้าวตอกโรยลงในกระด้ง รองเพื่อไม่ให้น้ำตาลติดกระด้ง ตัดกระยาสารทเกลี่ยให้ทั่วกระด้ง โรยข้าวตอกแล้วเอาขวดสะอาดกดกลิ้งไปมา เพื่อให้กระยาสารทแน่น เมื่อเย็นดีแล้วจึงตัดเป็นชิ้นๆ เตรียมไว้ทำกระจาดถวายพระวันสารท และนำไปแจกญาติๆโดยทั่วถึงกัน
ตากับยายเล่าว่า บุญตรุษกับบุญสารทเป็นบุญใหญ่ ปู่ย่า ตายาย ท่านผู้มีพระคุณ ทุกๆท่านที่ล่วงลับไปแล้ว จะมารัยส่วนกุศลโดยทั่วถึงกัน ฉะนั้นทุกบ้านเรือนจึงทำอาหาร(ขนม) เป็นพิเศษผิดกับบุญอื่นๆ เป็นขนมที่ทำยาก และต้องทำทุกๆปี จนมีคำพังเพยว่า วันตรุษอย่าได้ขาด วันสารทอย่าได้เว้น
            วันข้าวต้มบาต คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 น้าฉันและพี่ชิด จะทำข้าวต้มผัด เตรียมข้าวเหนียวแช่น้ำพอนิ่ม เอาขึ้นจากน้ำ ขูดมะพร้าวคั้นกะทิใส่กระทะใส่เกลือ น้ำตาลให้มีรสหวานและเค็มเล็กน้อย ยกกระทะตั้งไฟเคี่ยวให้กะทิแตกมันเอาข้าวเหนียวใส่ลงไป ผัดอย่าให้ข้าวสุกมาก ถ้าข้าวสุกมากเวลาห่อนึ่งแล้วข้าวจะแฉะ น้ากะทิที่เป็นน้ำมันจะไม่ซึมออกมานอกใบตอง ควรผัดพอให้ข้าวข้าง นอกสุก ข้างในเมล็ดข้าวยัง เป็นข้าวสารอยู่เล็กน้อย เวลาห่อนึ่งต้องใช้เวลานานหน่อย เมื่อห่อนึ่งสุกแล้วเมล็ดข้าวจะสวย น้ำกะทิที่เป็นน้ำมันจะซึมออกมานอกใบตองแลดูเป็นมัน เมื่อผัดได้ที่แล้วยกระทะลงจากเตา เอาไม้พายป้ายข้าวเหนียวมารวมกลางกระทะ แล้วใช้ชามครอบไว้
ขณะที่ยังร้อน เพื่อให้เมล็ดข้าวขยายตัวอีกเล็กน้อย เตรียมใบตองกล้วยน้ำว้าสุก ใบมะพร้าว ใบอ้อยมาตัดไว้ แล้วเตรียมห่อ พี่ชุดก็มาห่อด้วย พี่ชุดห่อข้าวต้มลูกโยน ห่อได้สวยด้วย และสานปลาสานนกก็ได้ ห่อเสร็จแล้วก็นึ่งเตรียมไว้ใส่บาตรตอนเช้า วันออกพรรษา
            สมัยก่อนนี้ ก่อนจะมีเทศน์ 1 วัน พระท่านจะตีกลองเพื่อให้ญาติโยมได้รู้ว่าทางวัดจะมีเทศน์มหาชาติ ท่านจะเตรียมต้นกล้วยต้นอ้อย ดอกไม้ต่างๆมาไว้ โยมผู้ชายจะไปช่วยท่านเรียกว่าแต่งศาลา และผู้ใจบุญทั้งหลาย ก็จะเอาดอกไม้มาร้อยเป็นพวงต่างๆ เรียกว่าพวงมะโหด มีทั้งข้าวต้มลูกโยน และผลไม้ต่างๆ มะพร้าวส้มโอ เอามาแขวนทั่วๆไป ทำให้บริเวณนี้เป็นบริเวณเหมือนป่า มีทั้งไม้ดอกไม้ผล เอามาแขวนไว้ที่หน้าธรรมาสน์และทั่วๆไป ตาและยายบอกว่า บริเวณนี้ท่านเปรียบเหมือนป่า หิมพานต์ เมื่อเทศน์ทั้ง 13 กัณฑ์แล้ว ท่านที่ทำนาก็จะ เสสังมังคะลายาจามิ หมายความว่าขออนุญาตเอาข้าวของจากพระท่านก่อน แล้วเอาของต่างๆมี ขนมที่เอามาแขวนไว้กล้วยอ้อย ดอกไม้ต่างๆ อย่างละเล็กอย่างละน้อยเพื่อเอาไปทำขวัญข้าวในไร่นาเพื่อเป็นสิริมงคล