This text will be replaced
วัฒนธรรมการกินหมากของคนไทย
วัฒนธรรมการกินหมากของคนไทย พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดังจันทร พิศขนงก่งงอนดังคันศิลป์ พิศเนตรดังเนตรมฤคิน พิศทนต์ดังนิลอันเรียบราย ความงามของนางในวรรณคดี ของไทยทุกเรื่อง นางเอกต้องมีฟันดำราวกับนิล จึงจะถือว่างดงาม ดังนั้นการกินหมากจึงอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน และกำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทยในไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะคนไทยทุกคนเลิกกินหมาก เราจึงบันทึกวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตไว้ ให้เป็นหลักฐาน เพื่ออนุชนที่รักของเราได้เข้าใจ ในวัฒนธรรมการกินหมาก การกินหมากในสังคมไทยมีมาหลายศตวรรษ ประเทศในแถบตะวันออก ใช้หมากเป็นเครื่องดับกลิ่นปากและทำให้ฟันคงทน จากวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ มีคำว่า สลา ซึ่งหมายถึงหมาก ปู่เจ้าสมิงพราย เสกหมากให้พระลอเสวย ที่เรียกกันว่าสลาเหิน หรือหมากบิน ทำให้พระลอลุ่มหลงในพระเพื่อนพระแพง หมากจึงมีมานานหลายร้อยปี และคุ่กับชาติไทยมาช้านาน เมื่อกินหมากฟันต้องดำ คนฟันดำจึงเป็นคนสวยคนหล่อในอดีตของสังคมไทย ความจริงการกินหมาก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการ รักษาฟัน รักษาช่องปาก รักษาไม่ให้มีกลิ่นปาก เมื่อหนุ่มสาวย่างเข้าสู่วัยรุ่นต้องกินหมากกันทุกคนนับตั้งแต่พระยามหากษัตริย์จนถึงสามัญชน ล้วนกินหมากกันทั้งสิ้น การแต่งงาน เจ้าบ่าวต้องยก ขันหมาก ไปบ้านเจ้าสาว การกินหมากมายกเลิกไปในสมัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ ทุกคนเลิกกินหมาก เพราะท่านต้องการให้ ประเทศไทยเป็นอารยประเทศ จึงให้ทุกคนเลิกกินหมาก โค่นต้นหมาก การกินหมากจึงหายไปจากประเทศไทย การกินหมากมี เชี่ยนหมาก เป็นสิ่งบอกถึงฐานะทางสังคมของผู้เป็นเจ้าของ พระเจ้าแผ่นดิน มีเชี่ยนหมากทองคำหีบหมากจะทำหน้าที่เครื่องประดับยศ ที่จะได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน เชี่ยนหมาก เป็นภาชนะที่ใช้วาง ตลับหมาก ตลับยาเส้น กระปุกปูน และซองสำหรับใส่พลู เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการกินหมาก แต่เดิมการกินหมากเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ถือว่าการกินหมากเป็นสิ่งดีงาม และเชื่อกันว่าคนงามต้องฟันดำและปากแดง เชี่ยนหมากจึงเป็นสิ่งสำคัญของทุกครัวเรือน ที่ต้องมีติดบ้านไว้เสมอใช้สำหรับรับแขกที่มาเยี่ยมเยียนถึงเรือนชาน การเรียกเชี่ยนหมากเรียกไม่เหมือนกัน สำหรับพระมหากษัตริย์เรียกว่า พานพระศรี ภาคเหนือภาคกลาง เรียกว่าขันหมาก ในชนบทส่วนใหญ่จะพบ เชี่ยนหมากที่ทำด้วยไม้และทองเหลืองอยู่มาก เชี่ยนหมากจะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หรือไม้เนื้ออ่อนจำพวกขนุน ไม้มะม่วง นิยมทาสีผิวนอกเป็นสีดำ ทำจากเขม่าคลุกน้ำมันยางแล้วจึงแกะสลักลวดลาย โดยใช้มีดคมกรีดเป็นลายเส้นอย่างง่ายๆ เช่นลายขนมเปียกปูน ลายเส้น แต่งสีต่างๆตามความนิยมแต่ละท้องถิ่น การกินหมากใกล้จะกลายเป็นตำนาน หรือเป็นเรื่องเล่าขานกัน อย่างไม่จบสิ้น และคนรุ่นใหม่จะไม่เข้าใจว่าหมากคืออะไร เพื่อบันทึกเรื่องราวของวัฒนธรรมการกินหมาก เราจึงไปบันทึกรายการ การกินหมากของแม่เสนอ สิทธิปราชญ์ท้องถิ่นของนครไตรตรึงษ์ เพื่อบันทึกความทรงจำไว้ก่อนที่จะไม่มีใครกินหมากอีกต่อไป.... สันติ อภัยราช