Category : วัดโบราณในจังหวัดกำแพงเพชร

วัดโบราณในจังหวัดกำแพงเพชร

2012-03-05_16-25
วัดเจดีย์กลางทุ่ง

วัดเจดีย์กลางทุ่ง เมืองนครชุม ในช่วงที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในสมัยสุโขทัย มีการสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ ทรงดอกบัวตูม ไว้หลายแห่ง อาทิ วัดพระบรมธาตุนครชุม เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เจดีย์ที่ บ้านโนนม่วง และเจดีย์ที่วัดเจดีย์กลางทุ่ง ล้วนเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งสิ้น นอกจากที่นครชุมมีที่วัดวังพระธาตุ นครไตรตรึงษ์ วัดกะโลทัย ท้ายเมืองกำแพงเพชร แม้ที่วัดช้างรอบ ก่อมีการก่อเจดีย์ทรงลังกาซ้อนเจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ไว้ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นอิทธิพลของ อาณาจักรสุโขทัยอย่างแท้จริง เมื่อสุโขทัยสิ้นอำนาจและสิ้นความสำคัญลง มีการสร้างเจดีย์ทรงระฆังครอบไว้หลายแห่ง วัดเจดีย์กลางทุ่ง เดิมชื่อวัดอะไร ไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมเห็นแต่ มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางทุ่งนา จึงเรียกขานกันว่าวัดเจดีย์กลางทุ่ง ลักษณะของวัดเจดีย์กลางทุ่ง น่าจะสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18- 19 ในสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ มีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ ทั้งสี่ด้านที่เรียกกันว่า อุทกสีมา ภายในอุทกสีมา มีวิหารขนาดใหญ่ ลักษณะค่อนข้างแปลก เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และอยู่ต่ำกว่าปกติ ด้านหลังมีเจดีย์ประธาน ที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ขนาดใหญ่ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และสมส่วน สร้างด้วยอิฐที่ได้จากดินเหนียวบริเวณทุ่งเศรษฐี ลานประทักษิณรอบๆเจดีย์ มีขนาดกว้างมาก ทำ ศาสนพิธี ได้อย่างสะดวกสบาย มีฐานเขียงสี่เหลี่ยม ซ้อนกันลดหลั่นอย่างสวยงาม รับฐานบัวแก้วและอกไก่ ส่วนยอดสุดหักตกลงมาไม่เห็นมีหลักฐาน นับว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ขนาดใหญ่ ที่งดงามมาก เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครชุมเลยทีเดียว รอบๆ เจดีย์ประธาน มีเจดีย์รายที่เห็นมีหลักฐานเหลืออยู่เพียงองค์เดียว

2012-03-05_16-22
วัดกาทึ้ง

วัดกาทึ้ง ริมฝั่งปิง มีเมืองโบราณ คือเมืองคณฑี หรือคนทั่วไปเรียกว่ากันว่าบ้านโคน เป็นชุมชนโบราณที่ไม่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จทอดพระเนตรชุมชนโบราณแห่งนี้เมื่อ ปีพุทธศักราช 2450 ทรงกล่าวถึงชุมชนบ้านโคนว่า คงเป็นเมืองมาแต่โบราณ แต่หาคูหรือเทินและกำแพงไม่ได้ วัดเก่าที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ ชื่อวัดกาทึ้ง ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ อุโบสถก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ถัดจากอุโบสถไปทางทิศตะวันออกเป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่กว่า ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่เช่นเดียวกัน พระประธานในวิหารพระพักตร์ยาว 1 ศอก เป็นพระพุทธรูปหมวดกำแพงเพชร ตามโคกเนิน ได้พบเศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดาและแบบเผาแกร่ง แบบเคลือบและแบบไม่เคลือบ ชุมชนโบราณบ้านโคน เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเมืองคณฑี ตามที่กล่าวไว้ในจารึกสุโขทัย หลักที่ 1ที่ว่า เบื้องหัวนอน รอดคณฑี พระบาง????.นอกจากนั้นยังเชื่อว่าบ้านโคนมีตำนานของ พระร่วงโรจนราช บรรพบุรุษของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ไปจากเมืองคณฑี ที่เมืองคณฑี มีวัดเก่าอยู่ริมน้ำ ที่เรียกกันว่าวัดปราสาท ซึ่งมี โบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย ที่ค้นพบ ที่ในบริเวณเมืองคณฑี มีเมืองเก่าอยู่เมืองหนึ่ง มีวัดใหญ่อยู่กลางเมือง ประชาชนเรียกวัดสำคัญวัดนี้ว่าวัดกาทึ้ง เป็นวัดโบราณ น่าจะเก่าเสมอสมัย ทวาราวดี วันนี้ เราไปชมวัดกาทึ้ง วัดประจำเมืองคณฑี ด้วยกัน

2012-03-05_16-19
วัดหนองลังกา

วัดหนองลังกา บริเวณอรัญญิกเมืองนครชุม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง ห่างจากแนวกำแพงเมืองที่ถูกทำลายไปแล้วโดยสิ้นเชิงออกไปประมาณ 500 เมตร กลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองนครชุมแตกต่างจากกลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร คือส่วนใหญ่นิยมสร้างด้วยอิฐ ขนาดสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตมากนัก วัดที่สำคัญ เช่น วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหม่องกาเล และวัดหนองยายช่วย รูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จมาเมืองนครชุม แผนผังของวัด การวางผังวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีเจดีย์หรือมณฑป เป็นประธานวัด ด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหาร แต่สภาพของที่ตั้งวัดอยู่ในที่ลุ่มต่ำ จึงมีการขุดคูเป็นขอบเขตวัด เพื่อนำดินจากการขุดคูไปปรับถมที่บริเวณวัดให้สูงขึ้น และเป็นคูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้งด้วย วัดหนองลังกา เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุด ในเขตอรัญญิกเมืองนครชุม ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบ 4 ด้าน อันเป็นลักษณะแบบอุทกสีมา ของพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ที่นิยมแพร่หลายในช่วงสุโขทัยเจดีย์ประธาน เป็นลักษณะเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ลักษณะองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงเตี้ยๆ ฐานล่างทำเป็นซุ้มยื่นมาทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูป อยู่ประจำทิศ แต่ถูกขุดค้นทำลายจนสิ้นซาก ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน สี่เหลี่ยมและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ หรือฐานปัทม์สี่เหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกันไป ชั้นมาลัยเถามีลักษณะเป็นแบบชั้นบัวคว่ำและบัวหงายซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังที่ มีขนาดงดงาม สมบูรณ์ เหมาะสม และสวยงามยิ่งนัก บัลลังก์เป็นฐานปัทม์ สี่เหลี่ยม ส่วนท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ ถัดจากบัลลังก์ขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ซึ่งประดับลูกแก้วอกไก่ 2

2012-03-05_16-18
วัดริมทาง

วัดริมทาง ริมถนนภายในอุทยานประวัติศาสตร์ระหว่างวัดช้างรอบ กับวัดอาวาสใหญ่ ซึ่งเป็นถนนสายโบราณ เรียกกันมาแต่โบราณว่าถนนพระร่วง เช่นกัน มีวัดที่มีพื้นที่ไพศาลตั้งอยู่เรียกกันมาแต่โบราณว่า วัดริมทางหรือวัดริมถนน เพราะตั้งอยู่ริมถนน …. ด้านหน้าวัด มีห้องน้ำขนาดใหญ่ สองห้อง สำหรับชำระร่างกายก่อนเข้าสู่วัด ภายในวัดมีศาลาขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่มีพื้นศาลาค่อนข้างต่ำ จำนวนห้องมีมากมาย เรียงรายติดกัน คงเป็นที่พักสำหรับคนเดินทาง กุฏิสงฆ์ที่ยังมีหลักฐานเหลืออยู่บ้าง …ด้านหน้ามีโบสถ์ขนาดเล็กเตี้ยมากเมื่อเทียบกับโบสถ์ทุกแห่งภายในอุทยานประวัติศาสตร์ ด้านหลังมีเจดีย์ประธานขนาดเล็กมากเหมือนกัน …. ในสมัยสุโขทัย ช่วงหนึ่งให้ความสำคัญแก่โบสถ์ น้อยกว่าวิหารมาก ถัดไปเป็นวิหารขนาดใหญ่ สูงกว่าโบสถ์ มี พระประธานเหลืออยู่ส่วนหนึ่ง เฉพาะฐานถึงพระอุระ ก่อด้วยศิลาแลงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ ดูพุทธลักษณะที่เหลืออยู่น่าจะงดงามมาก เนื่องจากวัดริมทาง อยู่ติดถนนและมีวัดขนาดใหญ่มากมาย นับร้อยวัด จึงมิค่อยมีใครเข้าไปแวะชม อาจเพราะมีเวลาจำกัด ในการเที่ยวชม ี เมื่อเข้าไปศึกษาให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นว่าวัดริมทางเป็นวัดหนึ่งที่น่าสนใจและศึกษาเปรียบเทียบความเป็นไปของวัดในอุทยานประวัติศาสตร์จะทราบความมหัศจรรย์ ไขความลับ ของกำแพงเพชรว่า ทำไมภายในอรัญญิก จึงมีวัดขนาดใหญ่มากมายเรียงรายติดกัน เช่นนี้จะมีคำตอบเกิดขึ้นในใจและเป็นเสน่ห์อันสำคัญยิ่งของผู้สนใจในรากเหง้าของตน

2012-03-05_16-15
วัดหนองพิกุล

วัดหนองพิกุล บริเวณอรัญญิก เมืองนครชุม มีวัดโบราณเก่าแก่แปลกและสวยงามอยู่วัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกขานกันว่าวัดหนองพิกุล อยู่บริเวณทางเข้าวัดพิกุล หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุมจังหวัดกำแพงเพชร ในท่ามกลาง วัดซุ้มกอ วัดหนองพุทรา วัดหนองลังกา วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล และบริเวณวัดเจดีย์กลางทุ่งอันงดงามตระการตา วัดหนองพิกุล เป็นวัดที่สร้างขึ้น ในกลุ่มอรัญญิกนอกเมืองทางทิศใต้ แผนผังของวัดเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำโดยรอบทั้ง 4 ด้าน หรือที่เรียกว่า อุทกสีมา สิ่งก่อสร้างภายในวัดหนองพิกุล แตกต่างจากวัดแห่งอื่นๆ คือสร้างมณฑปอยู่หลังวิหารทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะของมณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ฐานสูงประมาณ 1.50 เมตร ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ทั้งที่ฐานและตัวอาคาร เครื่องบนพังลงหมด เดิมเป็นเครื่องไม้ ใช้กระเบื้องดินเผาแบบตะขอ เป็นกระเบื้องมุงหลังคา ทรงหลังคาเป็นมณฑปยอดแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ลักษณะมณฑปแบบนี้เหมือนกับมณฑปวัดศรีชุม มณฑปวัดตระพังทองหลาง กรุงสุโขทัย ด้านข้างและด้านหลังมีเจดีย์ 8 องค์ ศาสนสถานกลุ่มนี้มีมีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ ด้านหน้าของมณฑปนอกกำแพงแก้ว มีฐานวิหารที่เหลืออยู่หนึ่งหลัง บริเวณหลังกำแพงแก้ว มีฐานศาลา อยู่หลายแห่ง วัดหนองพิกุลแห่งนี้สันนิษฐานว่าเป็น เทวาลัยมาก่อน โดยประดิษฐานรูปเคารพ อาจเป็นเทพเจ้าทั้ง 3 ของพราหมณ์ คือพระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวร แต่เมื่อศาสนาพราหมณ์ หมดความนิยม ได้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานแทน เพราะมีร่องรอยการสร้างที่ซ้อนทับกันอยู่ วัดหนองพิกุลแห่งนี้ ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า ผู้สร้างวัดหนองพิกุล

2012-03-05_16-13
วัดมณฑป

วัดมณฑป วัดมณฑป เป็นวัดขนาดเล็ก ที่อยู่ริมถนนทางทิศตะวันออกของวัดหมาผี ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 ประกอบด้วยโบราณสถานที่สำคัญคือ มณฑปยอดเจดีย์ ซึ่งเป็นประธานของวัด มีวิหารขนาดปานกลางอยู่ด้านหน้า มีกำแพงล้อมโดยรอบปัจจุบันเหลือเพียง 3 ด้าน มีบ่อน้ำอยู่หน้าวัด วัสดุหลักในการสร้างวัดคือศิลาแลง ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เหมือนวัดทั่วไปในเขตอรัญญิก สิ่งที่งดงามและแปลกตาของวัดมณฑปคือ เจดีย์ประธานที่เป็นมณฑปมียอดเจดีย์ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชั้นล่างสุด ฐานเขียงก่อด้วยศิลาแลงซ้อนกันสองชั้น ขนาดกว้างยาว ด้านละ 6 เมตร ลดหลั่นไปถึงยอดมณฑป ส่วนเรือนยอด ีศิลาแลงก่อเป็นวงกลมซึ่งคาดว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆัง หรือทรงกลม ซึ่งหักพังลงมายังเห็นหลักฐาน ตกอยู่ข้างๆมณฑป ภายในมณฑป ก่อเป็นห้องคูหา ขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ปัจจุบัน ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว ผนังห้องทั้งด้านข้างและด้านบน ฉาบด้วยปูน ยังมีสภาพดี พระวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาดวิหารกว้าง 11 เมตร ยาว 16.320 เมตร ที่น่าสนใจคือพื้นวิหารที่ไม่สูง มีความสูง เพียง 65 เซนติเมตร ด้านหน้ามีบันไดขึ้นสองทาง แต่ชำรุด ส่วนบนวิหาร มีเสาวิหาร 4 แถว แถวละ หกต้น มีปูนฉาบอยู่บางส่วน มีชิ้นส่วนพระพุทธรูปโกลนศิลาแลงอยู่หลายชิ้น ได้เก็บตั้งไว้บนฐานพระประธาน

2012-02-29_13-58_kpp
วัดป่าไทรงาม

วัดป่าไทรงาม วัดไทรงามหรือในนามที่ประชาชนเรียกขานกันโดยทั่วไปว่าวัดป่าไทรงาม กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกย่องเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2542 ให้วัดป่าไทรงามเป็นศูนย์พัฒนา จิตเฉลิมพระเกียรติ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องในมงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2544 จังหวัดกำแพงเพชรได้จัดตั้งให้วัดป่าไทรงามเป็นศูนย์สังคมจิตเวชชากังราว มีบทบาทหน้าที่ในการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วัดป่าไทรงามในปัจจุบันอยู่ความปกครองดูแลของ พระครูโสภณวชิรกิจ หรือพระสง่า อุฏฐาโน โดยมีกำนันวิชัย ครองสมบัติ กำนันตำบลไทรงาม ทำหน้าที่สนับสนุนในกิจกรรมทาง พระพุทธศาสนา อยู่ในความร่วมมือของทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน วัดป่าไทรงามตั้งขึ้นจากการดำริของหลวงปู่อินทร์ ได้ปรารภที่สร้างวัดและสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นแต่ท่านมรณภาพไปก่อน ต่อมาจึงเปิดเป็นสำนักสงฆ์อินทราราม โดยมีหลวงพ่อจันทร์ อินทวีโร (พระครูบรรพตวรกิจ) และในวันที่ 28 มีนาคม 2533 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรับรองสำนักสงฆ์อินทราราม เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ชื่อวัดไทรงาม โดยมีพระสง่า อุฎฐาโน เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดป่าไทรงามมีลักษณะพิเศษ คือเป็นสถานที่ฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน ในปีหนึ่งจำนวนมากและได้ผลอย่างดียิ่งทุกครั้ง ทำให้วัดป่าไทรงาม มีผู้เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนกระทั่งตั้งอาคารสำหรับทำบุญและอบรมคุณธรรมขนาดใหญ่ จุคนได้นับพันคนแต่กระนั้นก็ยังไม่พอกับความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม ในศาลา มีพระประธานขนาดใหญ่ โดยจำลองมาจากประเทศอินเดีย พุทธลักษณะงดงามยิ่งแปลกตากว่าทุกวัด รอบวัดมีลักษณะเป็นวัดป่าที่กำลังพัฒนาให้เป็นป่าท่ามกลางท้องนา รอบๆศาลาอเนกประสงค์ มีสระบัวล้อมรอบ สะพานไม้ ท่านพาเราข้ามไปชมพระอุโบสถที่กำลังก่อสร้าง ที่แปลกกว่าอุโบสถโดยทั่วไปคือมีสองชั้น ชั้นล่างจะใช้สำหรับนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สอนให้คนเกรงกลัวบาป

2012-02-29_13-53_kpp
วัดศรีโยธิน

หลวงพ่อศรีสรรเพชญ์วัดศรีโยธิน ที่วัดศรีโยธิน ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นวัดที่สร้างโดยรอ.ทำนอง โยธินธนสมบัติ ต่อมาท่านได้บวชและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส นาม หลวงพ่อทำนอง คุณังกะโร เมื่อท่านสร้างวัด ท่านนิมิตว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาเข้านิมิตและจะมาช่วยสร้างวัด เมื่อท่านตื่นขึ้นก็ไปเที่ยวหาพระตามนิมิต และพบพระพุทธรูป โกลนศิลาแลง ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร จมดินอยู่บริเวณหลัง ฌาปนสถานของเทศบาล ในลักษณะฝังดินอยู่ ได้ทำพิธี อัญเชิญขึ้นมามีชิ้นส่วนหลายชิ้น ตามหลักการสร้างพระโกลนศิลาแลงขนาดใหญ่ เมื่ออัญเชิญขึ้นมาเกิดพายุใหญ่ ลมหมุน มืดครึ้มไปทั่วบริเวณ ได้ยกขึ้นมาพบแมงป่องจำนวนมาก อยู่ใต้ฐานพระ ยกมาประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดศรีโยธิน ได้ตกแต่งให้เป็นองค์พระที่งดงาม เดิมเรียกกันว่าหลวงพ่อศิลาแลงภายหลังขนานนามท่านว่าหลวงพ่อศรีสรรเพชญ์ เมื่อนำผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีมาตรวจสอบพบว่า หลวงพ่อศรีสรรเพชญ์องค์นี้ น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่วัดพระแก้วภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชรที่ถูกเคลื่อนย้ายไป และนำไปซ่อนไว้ที่พบพระและไม่สามารถนำไปได้ด้วยเหตุผลหลายประการ เมื่อหลวงพ่อทำนองมาพบและนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในโบสถ์วัดพระศรีสรรเพชญ์ เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดมหัศจรรย์หลายประการต่อมามีผู้โชคดีจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลที่นำเงินที่ได้มาส่วนหนึ่งมาสร้างวัด ทำให้วัดศรีโยธินเจริญอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นความเชื่อของผู้คนในยุคสมัย หลวงพ่อศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน จึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งที่พบในเมืองกำแพงเพชร

2012-02-29_11-41_kpp
วัดนาคเจ็ดเศียร

วัดนาคเจ็ดเศียร วัดขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ใหญ่เปรียบได้กับ วัดพระสี่อิริยาบถ หรืออาจกล่าวได้ว่า ใหญ่ที่สุดในกำแพงเพชร ที่คนกำแพงเพชรไม่เคยเห็นหรือรู้จัก เพราะป้ายขนาดมหึมา หน้าวัดที่ทำไว้อย่างมาตรฐานถูกคนร้ายลักไปขายเสียแล้ว เหมือนกับวัดอื่นๆที่ ป้ายบอกความเป็นมาของวัด หายไปจำนวนมาก อาจเป็นเพราะความไม่รู้ความเห็นแก่ตัวหรือจิตสำนึกในความรักและหวงแหนในมรดกโลกไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเกิดขึ้นลักษณะของวัดนาคเจ็ดเศียร คล้ายกับวัดพระแก้วในเขตกำแพงเมือง คือมีลักษณะเหมือนสองวัดติดต่อกัน คือวัดพระแก้วที่มีวิหารขนาดใหญ่มาก มีมณฑปพระแก้วมรกต มีเจดีย์ประธานมีสิงห์ล้อมรอบ มีวิหารรอง มีเจดีย์ประธานที่มีช้างล้อมรอบ ที่เราเรียกกันว่า วัดช้างเผือก ที่จริงคือวัดเดียวกัน?. วัดนาคเจ็ดเศียรก็เช่นเดียวกัน ด้านหน้าเป็นวิหารขนาดใหญ่ สูง ฐานสิงห์งดงามมีบันไดขึ้นสองทาง มีห้องขนาดใหญ่มีอาสนะสงฆ์และมีฐานพระประธานขนาดใหญ่มาก ใต้ฐานด้านหน้าพระประธาน มีพระพุทธรูปโกลนศิลาแลงจำนวนมากประดิษฐานเรียงรายอยู่น่าจะประดิษฐานแต่แรก แต่ก็ถูกทุบทำลาย เหลือแต่ซาก บนฐานพระประธานมี เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางราวสองฟุต วางอยู่ ด้านหลังวิหาร ตรงทางลง มีพระเพลา ของพระประธาน วางอยู่ครึ่งเดียว ลักษณะเหมือนถูกทุบทิ้ง ด้านหลังมีเจดีย์ประธานขนาดไม่ใหญ่สมกับวิหาร เป็นเจดีย์ทรงลังกา ฐานสี่เหลี่ยมยอดหัก ถัดไปเป็นซุ้มพระขนาดพองาม พระหายไป อาจเป็นที่มาของชื่อคือที่ตั้งของนาคเจ็ดเศียร หรือพระนาคปรก ได้พูดคุยกับคุณบุญเ ชิด ศรีโพธิ์ช้าง ผู้ที่มีส่วนดูแล วัดบริเวณนี้มาช่วง 15 ปี เล่าให้ฟังว่าเคยพบแต่ชิ้นส่วนของ นาคเจ็ดเศียร แต่ไม่เคยเห็นตัวจริงเลย ด้านหลังของวัดมีกำแพงแก้ว กั้นทั้งหมด ทางเข้าไปอยู่ด้านข้างลึกไปทางด้านหลัง เลยทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนละวัด วิหารด้านหน้าของเจดีย์ประธานองค์หลังเป็นเสากลม ขนาดพองาม แต่ที่น่าทึ่งที่สุดคือ เจดีย์ประธานทรงแปดเหลี่ยม ทั้งองค์ มีซุ้มทั้งสี่ซุ้ม ขนาดใหญ่มาก

2012-02-29_11-30_kpp
วัดถ้ำเขาพระ

วัดถ้ำเขาพระ หลังจากชมบ่อเหล็กสิ่งมหัศจรรย์ของ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร แล้ว ภาคบ่ายนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ถ้ำกระต่ายทอง นายณรงค์ ปักธงชัย และ กำนันไกรทอง บดีรัฐ พร้อมคณะนำคณะของเรารายการโทรทัศน์วัฒนธรรมไปชม วัดถ้ำเขาพระ มีที่พักสงฆ์ มีพระภิกษุจำพรรษา อยู่เพียงหนึ่งรูป คือพระอาจารย์ทองแพน อฐิตสโท วัดถ้ำเขาพระเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเชิงธรรมนิเวศ ที่น่าสนใจมากเพราะสงบ ร่มเย็น ยังเป็นธรรมชาติค่อนข้างมากแม้อยู่ใกล้เมืองเพียงแค่เอื้อม?. ตามประวัติของวัดถ้ำเขาพระ เป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูป ที่ประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ และ วัดนำพระพุทธรูปที่สำคัญ ที่ศักดิ์สิทธิ์มาซ่อนไว้ที่ถ้ำเขาพระ เมื่อยามคับขัน เมื่อเกิดสงคราม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเล่าขานกันว่า ทุกซอกทุกมุมของเขาถ้ำพระจะเต็มไปด้วยพระพุทธรูปทุกขนาดเมื่อครั้งที่วัดถ้ำเขาพระยังอยู่ในป่าทึบ ?ต่อมาเมื่อเปิดป่าในช่วงเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา พระพุทธรูปที่ซ่อนอยู่จำนวนมาก ได้ถูกเคลื่อนย้ายไป ทั้งจากผู้หวังดีและไม่หวังดี ทำให้ไม่มีพระพุทธรูปโบราณให้เห็นอีกต่อไป ปัจจุบัน วัดถ้ำเขาพระ อยู่ห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำกระต่ายทอง ประมาณ 10 กิโลเมตร เส้นทางที่ไปวัดถ้ำเขาพระ บางตอนลาดยางและบางตอนเป็นคอนกรีต เข้าไปในป่าโปร่งพบภูเขาลูกใหญ่ ซึ่งเป็นภูเขาหินอ่อนที่ ชาวบ้านแถบนั้นอนุรักษ์ไว้ บริเวณหน้าผาที่สูงชันราว 200 เมตร มีถ้ำขนาดใหญ่ ที่ได้รับการตกแต่งจากธรรมชาติและมนุษย์ร่วมกันอย่างลงตัว มีพระพุทธรูปที่ นำเข้าไปประดิษฐานใหม่ ไม่กี่องค์ มีอาสนะสงฆ์สำหรับนั่งวิปัสสนา อย่างดูดี ความสูงชันของหน้าผาทำให้ถ้ำโปร่ง น่าอยู่และน่าเที่ยวชมยิ่ง สิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างมีพร้อมเพรียงทั้งหมด ไม่ว่าเป็นที่พัก ศาลา ห้องน้ำ น่าอยู่น่าชมอย่างยิ่ง เสียงหรีดเรไร ลั่นระงมป่า

Page 6 of 7« First...34567

Uses wordpress plugins developed by www.http://www.sunti-apairach.com