หัวข้อ: เรื่องเล่าชาวปากคลอง เรื่องเล่าชาวปากคลอง ตอนที่ ๑๗ ตอนวัดท่าหมัน วัดสำคัญของคน เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ พฤษภาคม 05, 2017, 10:18:44 am เรื่องเล่าชาวปากคลอง
เรื่องเล่าชาวปากคลอง ตอนที่ ๑๗ ตอนวัดท่าหมัน วัดสำคัญของคนบ้านปากคลอง ในอดีต วัดท่าหมัน บ้านปากคลอง เคยเป็นวัดที่เก่าแก่และเคยเจริญรุ่งเรือง บ้านปากคลองเหนือ ที่เรียกว่าวัดท่าหมัน เพราะมีต้นหมันขนาดใหญ่ขึ้นเป็นร่มเงาของท่าน้ำ ที่มีการคมนาคมทางน้ำ มีการค้าขายทุกชนิดมีสินค้า ออกจากป่า ได้ หวาย น้ำมันยาง ไม้ท่อน ไม้แผ่นที่ขายเป็นยก สีเสียด น้ำผึ้ง หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ทุกชนิด มาขึ้นซื้อขายกันที่ท่าหมันแห่งนี้ คือบริเวณ ตลาดนครชุมปัจจุบัน ท่าน้ำที่มีในตอนนี้ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีผู้คนมาใช้มากที่สุดแห่งหนึ่งที่บ้านปากคลองสวนหมาก ร้านผัดไทยแม่สุภาพ ปากคลอง ก็ เคยเป็นที่ตั้งของวัดท่าหมันเช่นกัน ที่คนปากคลองรู้จักกันดี วัดท่าหมัน ไม่มีโบสถ์ มีแต่ศาลาขนาดใหญ่ หลังจากวัดท่าหมันร้าง ปัจจุบัน รื้อไปไว้ที่ วัดสว่างอารมณ์ ดัดแปลงแก้ไขให้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างศาลาอเนกประสงค์ วัดท่าหมันเคยมีโรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้านประจำตำบลปากคลองเรียกกันว่า โรงเรียนวัดท่าหมันเมื่อวัดร้างจึงย้ายโรงเรียนมาอยู่ที่โรงเรียนบ้านนครชุมในปัจจุบัน วัดท่าหมันมีเจ้าอาวาสหลายรูป ที่รู้จักกันดีคือพระอาจารย์เณร (บุญมี ยศปัญญา) พระอาจารย์ปลั่ง วังลึก พระอาจารย์สวย อินจันทร์ พระอาจารย์ช่วย พระอาจารย์เขียนพระอาจารย์แก้ว ต่อมาวัดกลายเป็นวัดร้าง ด้วยสาเหตุหลายประการ ทำให้กลายเป็นวัดร้าง ต่อมาวัดท่าหมัน ได้ให้เช่าที่ดินสร้างเป็นอาคาร ร้านค้า บ้านเรือน ตลาดนครชุมบางส่วน ในขณะนี้ ร่องรอยของวัดท่าหมัน เคยมีภาพถ่ายในอดีตซึ่งผู้เขียนเคยเห็นจากหีบโบราณของอาจารย์สนิม บุญหนัก ซึ่งปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยภาพแรกเป็นศาลาท่าน้ำของวัดท่าหมัน มีเด็กนักเรียนหญิง ๘ คน อยู่ที่ท่าน้ำ เป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนประชาบาลวัดท่าหมัน สภาพของศาลาคงทรุดโทรมจะพังมิพังแหล่ ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นงานศพของนายส่างหม่อง ชาวไทยใหญ่ที่เข้ามาทำกิจการค้าไม้ที่คลองสวนหมาก เมื่อเสียชีวิตประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ทางญาติได้ตั้งบำเพ็ญการกุศลไว้ที่ศาลาวัดท่าหมัน ดูจากภาพถ่ายแล้วต้องเป็นพ่อค้าผู้ร่ำรวยอันดับต้น ๆ ของชุมชนคลองสวนหมาก ประวัติของวัดท่าหมันเท่าที่พอสืบค้นได้ เกิดจากชาวคลองสวนหมากที่ผ่านการต่อสู่กับโรคภัยไข้เจ็บ ภัยธรรมชาตินานาประการ เมื่อร้อยกว่าปีก่อนได้กลับเข้ามาสู้ชีวิตด้วยความเสียสละและความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อท้องถิ่นจนสามารถสร้างบ้านเมืองสืบทอดต่อมา เมื่อชุมชนเจริญขึ้น และเห็นว่าวัดพระบรมธาตุอยู่ไกลไม่สะดวกในการไปทำบุญ จึงได้มีการรวบรวมทุนทรัพย์แล้วจัดสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นบริเวณกลางหมู่บ้าน ใช้เนื้อที่ประมาณ ๔-๕ ไร่ โดยมีพระอาจารย์ช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสร้างวัด บริเวณของวัดมีท่าน้ำ เป็นทางขึ้นลงของล้อเกวียนและอยู่ใกล้กับต้นหมันใหญ่ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดท่าหมัน” โดยมีพระอาจารย์ช่วยได้ดูแลวัดจนมรณภาพ ด้วยคุณงามความดีของพระอาจารย์ช่วย ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันก่อสถูปเพื่อบรรจุอัฐิของท่านเอาไว้เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี บริเวณที่เป็นสถูปอยู่แถวกลางตลาดนครชุมซึ่งปัจจุบันถูกรื้อถอนออกไปหมดแล้ว ภายหลังการมรณภาพของพระอาจารย์ช่วย ได้มีพระอาจารย์แก้ว เข้ามาดำเนินการต่อโดยพัฒนาและขยายบริเวณวัดให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ชาวบ้านเลยเรียกว่าวัดเป็น “วัดท่าหมันแก้วปุณณวาสน์” และมีการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นเป็นหลังแรกของตำบลคลองสวนหมาก โดยใช้ศาลาของวัดเป็นอาคารเรียน พระเครื่องที่ได้จากกรุวัดท่าหมันนั้น มีจำนวนไม่มากนักจากที่พบเห็นจึงเป็นที่หวงแหนสำหรับผู้ที่ครอบครองเป็นอย่างยิ่งส่วนมากจะอยู่กับผู้มีฐานะที่ดี และเท่าที่รู้บางองค์บางพิมพ์โด่งดังแต่ลงเป็นกรุอื่นที่ดังและเป็นที่รู้จัก ไม่ได้ลงว่ากรุท่าหมัน ในเมื่อพระองค์นั้นๆขึ้นมาจากเจดีย์เก่าที่อยู่ที่บริเวณวัด ซึ่งพระที่ลงกรุนั้นจะมีผสมทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ยุคแรกๆเป็นต้นมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีพระเครื่อง.ของเมืองนี้ ที่อยู่กรุเดียวกัน อาจเป็นเพราะว่าเมื่อสร้างเจดีย์ที่วัดท่าหมันผู้คนได้นำพระกรุนานาชนิดมาประดิษฐานไว้ในเจดีย์วัดท่าหมัน จึงทำให้กรุวัดท่าหมันจึงมีพระที่หลากหลายมาก กรุแตกคนรุ่นนั้นเรียกว่ากรุวัดท่าหมัน คนรุ่นหลังไม่ทราบ จึงสันนิษฐานตามพระพุทธลักษณะเป็นกรุอื่นๆไป จะมีทั้งถึงยุคและไม่ถึงยุค มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ามาสัมภาษณ์ผู้เขียนบ่อยๆว่า วัดท่าหมันอยู่ตรงไหน หาไม่พบ วันนี้จึงถือโอกาสเล่าสู่กันฟัง ว่าวัดท่าหมันมีอยู่จริง แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว แม้แต่ต้นหมันที่ท่าน้ำ ก็อาจน้ำกัดเซาะโค่นไปแล้วเช่นกัน จึงเหลือเพียงตำนานวัดท่าหมันมาจนทุกวันนี้ อ.สันติ อภัยราช |