จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช

หมวดหมู่ทั่วไป => จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร => ข้อความที่เริ่มโดย: apairach ที่ พฤษภาคม 05, 2017, 10:37:46 am



หัวข้อ: เรื่องเล่าชาวปากคลอง ตอนที่ ๑๘ เรื่องส่างหม่องมีตัวตนจริงๆท
เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ พฤษภาคม 05, 2017, 10:37:46 am
เรื่องเล่าชาวปากคลอง ตอนที่ ๑๘  เรื่องส่างหม่องมีตัวตนจริงๆที่บ้านปากคลอง
เรื่องเล่าชาวปากคลอง
   เรื่องเล่าชาวปากคลอง ตอนที่ ๑๘  เรื่องส่างหม่องมีตัวตนจริงๆที่บ้านปากคลอง
        ส่างหม่องเป็นชาวไทยใหญ่มาจากเมืองกุกกิก ประเทศพม่า  เป็นคหบดี หรือมหาเศรษฐี ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้มีการศึกษาดี มีชีวิตที่ทันสมัยเหมือนชาวตะวันตก         ได้เดินทางมาอยู่คลองสวนหมากในสมัยเดียวกับพะโป้ ได้เข้ามาประกอบอาชีพการทำป่าไม้ ในราวพศ. ๒๔๒๐  และได้สมรสกับนางฝอยทอง มีบุตรธิดา ๔ คน เมื่อนางฝอยทองเสียชีวิตลง ส่างหม่องจึงได้แต่งงานใหม่กับนางเฮียงสาวชาวลาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาอยู่คลองสวนหมาก และได้ย้ายมาปลูกบ้านเรือนไทยปั้นหยาห่างจากบ้านหลังเดิมเล็กน้อย ส่างหม่องและนางเฮียงไม่มีบุตรด้วยกัน ดังนั้นจึงขอนางเถาและนายหุ่นมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมต่อมานางเถาได้สมรสกับนายบุญคง ไตรสุภา  มีบุตรธิดา ๕ คน ส่วนนายหุ่นได้สมรสกับนางบน แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน และต่อมานางเถาได้เสียชีวิตลง       นายบุญคง ไตรสุภา จึงได้สมรสใหม่กับนางบนและได้ช่วยกันเลี้ยงดูบุตรของนายบุญคง และนางเถา   นางกฤษณา เหลี่ยมเคลือบ (บุตรสาวนายบุญคง ไตรสุภาเป็นผู้ให้ข้อมูล ปัจจุบันอายุ ๗๘ ปี (๒๕๕๙) )  บ้านหลังนี้สันนิษฐานว่าควรสร้าง เมือง ๑๒๐ ปีมาแล้ว คือสร้างราวปี พ.ศ. ๒๔๓๙
 ส่างหม่องเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการร่วมบูรณะพระบรมธาตุร่วมกับพะโป้ โดยเป็นผู้อัญเชิญยอดฉัตร  วัดพระบรมธาตุมาจากมะระแหม่ง ประเทศพม่าส่างหม่องเสียชีวิตก่อนนางเฮียง แต่ไม่มีใครสามารถระบุปี  ที่เสียชีวิตได้ เพราะไม่มีหลักฐานสนับสนุน ดูจากรูปถ่าย อายุราว ๕๐ ปี แสดงว่าส่างหม่อง น่าจะมีอายุกว่า  ๕๐ปีและสันนิฐานว่า เสียชีวิต ราวปี ๒๔๘๐ ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง กับวรรณกรรมเรื่องชั่วฟ้าดินสลาย ของ ครูมาลัย ชูพินิจ และมีตัวตนจริงๆ ในยุเดียวกับพะโป้

บ้านส่างหม่อง เป็นเรือนทรง ปั้นหยา(สิ่งปลูกสร้างซึ่งมีหลังคาเอนเข้าหาอกไก่ทั้ง ๔ ด้าน ไม่มีหน้าจั่ว เรียกว่า เรือนปั้นหยา. (เปอร์เซีย ปั้นหย่า ว่า วัตถุที่ทําเป็นหัตถ์ของเจ้าเซ็นประดิษฐานอยู่ในกะดีซึ่งมีลักษณะหลังคาเช่นนั้น).) เรือนปั้นหยา เป็นเรือนไม้อิทธิพลยุโรป ในยุคล่าเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศส พระราชวังและบ้านเรือนขุนนางนิยมสร้าง แบบยุโรป มุงหลังคาด้วยกระเบี้อง หลังคาทุกด้านชนกันแบบพีระมิด ไม่มีหน้าจั่ว ถ้ามีหน้าจั่ว จะกลายเป็นทรงมะนิลา ผสมกับปั้นหยา มีทั้งแบบใต้ถุนสูง และสองชั้น) ยกใต้ถุนสูง ใต้ถุนโล่งใช้เป็นพื้นที่เก็บของหลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ แบบยุโรป  บ้านมีขนาดหน้ากว้าง ๑๒ เมตร ลึก ๘.๕๐ เมตร มีสองระดับ คือนอกชานขนาดใหญ่ มีระเบียงภายนอกขนาดกว้างประมาณ ๓ เมตร บริเวณทางเข้าสู่ตัวบ้านเป็นบันไดราว ๗ ขั้น เข้าสู่ชานบ้านภายใน พื้นที่โล่งส่วนกลางมีการยกพื้นราว ๐.๕๐ เมตร และยาวตลอดไปถึงพื้นที่ครัว ภายในบ้านมีห้องนอนใหญ่  อยู่ด้านหน้า เป็นห้องนอนมีประตูบานเฟี้ยมส่วนด้านหลังมีห้องเก็บของ ๑ ห้อง ปัจจุบันใช้เป็นที่อาศัยเพียงด้านเรือนชานด้านหน้า เนื่องจากในห้องจะใช้เก็บข้าวของเครื่องใช้ เช่น เตียงโบราณ ตู้เก็บถ้วยจานโบราณ โต๊ะเครื่องแป้ง ซึ่งของใช้อยู่ในสภาพที่ดีทุกชิ้น หน้าถัง บานเฟี้ยม ขนาดใหญ่ มีลวดลายที่งดงาม ช่องลมมีลายที่งดงาม หน้าต่างเปิดออก ต่างกับ แบบเรือนไทย
               บ้านส่างหม่องที่เราไปค้นพบ เป็นบ้านที่มีสภาพสมบูรณ์มาก เกือบร้อยเปอร์เซ็น ภายในบ้าน มีเครื่องใช้ ของส่างหม่อง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ทันสมัย มากมาย อาทิ เครื่องกรองน้ำ ตู้เซพ ขนาดใหญ่ ๒ ตู้ โต๊ะทำงาน เพียงเหล็กขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ โต๊ะเครื่องแป้งขนาดใหญ่สวยมาก  เครื่องมือใช้สอยครบถ้วน
บ้านส่างหม่องปัจจุบันเป็นของนายบุญคง  ไตรสุภา ตกมาเป็น ของนางกฤษณา เหลี่ยมเคลือบตั้งอยู่  บ้านเลขที่ ๑๓๑ หมู่ที่ ๕ ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร  อยู่เลยโรงเรียนบ้านนครชุม มาทางตลาดนครชุม นิดเดียว น่าเที่ยวชมที่สุด
บ้านส่างหม่องหลังนี้ สมควรที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ประจำจังหวัดกำแพงเพชร อย่างยิ่ง เพราะเหมาะสมทุกอย่างทุกประการ

               สันติ อภัยราช