หัวข้อ: อำเภอปางศิลาทอง ปางตาไวเลื่องลือแม่วงก์งาม หินดาตกระเดื่องนามหมู่บ้านเด่น โพธ เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ พฤษภาคม 12, 2017, 11:01:20 pm อำเภอปางศิลาทอง
ปางตาไวเลื่องลือแม่วงก์งาม หินดาตกระเดื่องนามหมู่บ้านเด่น โพธิ์ทองพืชพันธุ์งามนามร่มเย็น ร่วมกันเป็นปางศิลาทองของกำแพง อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอำเภอสำคัญอำเภอหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ในจำนวนอำเภอทั้งหมด ๑๑ อำเภอ อำเภอปางศิลาทอง มีธรรมชาติที่งดงาม มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ประชาชนมีความรักและความสามัคคี มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย รักสงบ อาชีพสำคัญคืออาชีพทางการเกษตร อำเภอปางศิลาทองเกิดขึ้น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2536 แบ่งเขตท้องที่อำเภอคลองขลุง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอปางศิลาทอง มีเขตการปกครองรวม 3 ตำบล คือ ต.โพธิ์ทอง ต.หินดาต ต.ปางตาไว ต่อมามีพระราชกฤษฏีกายกฐานะเป็น อำเภอปางศิลาทอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นอำเภอปางศิลาทอง ได้อย่างภูมิใจ ของชาวกำแพงเพชร อำเภอปางศิลาทอง เป็นการนำชื่อของตำบลทั้ง 3 ตำบล คือ ต.ปางตาไว (ปาง) , ต.หินดาต (ศิลา) , ต.โพธิ์ทอง (ทอง) มารวมเป็นชื่ออำเภอ ปางศิลาทอง ปาง มาจาก ปางตาไว หรือตำบลปางตาไว ศิลา แปลว่า หิน หรือตำบลหินดาต ทอง มาจาก โพธิ์ทอง หรือตำบลโพธิ์ทอง อำเภอปางศิลาทอง ขนานนามได้อย่างเหมาะสม มีที่มาของชื่ออำเภอได้อย่างชัดเจนและลงตัว ทำให้ทุกตำบลในอำเภอปางศิลาทองมีความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของชื่อ ปางศิลาทอง อำเภอปางศิลาทองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดกำแพงเพชร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอคลองลาน อำเภอเมืองกำแพงเพชร และอำเภอคลองขลุง ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอขาณุวรลักษบุรี ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอแม่วงก์ (จังหวัดนครสวรรค์) ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภออุ้มผาง (จังหวัดตาก) คำว่าปางตาไว มาจากคำบอกเล่าว่าที่มาของชื่อตำบลว่า คำ แต่เดิมมีชาวนาคนหนึ่งได้มาตัดไม้ยาง ชาวนาคนนี้มีชื่อว่า“ตาไว” เขาได้สร้างที่พักแรมอยู่ในป่า ซึ่ง เรียกว่า“ปาง”ชาวบ้านที่ผ่านมา ผ่านไปได้พบเห็น จึงเรียกชื่อบริเวณนี้ว่า “ปางตาไว” แล้วต่อมามีประชาชนอพยพจากท้องถิ่นอื่นมาอาศัยอยู่มีจำนวนมากขึ้นจึงตั้งเป็นหมู่บ้านและให้ชื่อ “บ้านปางตาไว” ปางตาไวเลื่องลือแม่วงก์งาม อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ จำนวน ๒๗๙,๗๐๐ไร่ หรือประมาณ ๔๔๗.๕๒ ตารางกิโลเมตร และอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ประมาณ ๒๗๙,๐๕๐ ไร่ หรือประมาณ ๔๔๖.๔๘ ตารางกิโลเมตร รวมเนื้อที่ทั้งหมด ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จำนวน ๘๙๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๕๘,๗๕๐ ไร่ อยู่ห่างจากจังหวัดกำแพงเพชร ประมาณ ๗๗ กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านคลองปลาสร้อย หมูที่ 7 ตำบลปางตาไว ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตากสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายกันอยู่ตามเทือกเขาถนนธงชัยลดหลั่นลงมาจนถึงพื้นราบ ประมาณ 40-50 ลูก ยอดที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาโมโกจู” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,964 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ ส่วนพื้นที่ราบมีไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ[5] ที่ตำบลปางตาไว คุณครูลำพึง กิ่งนอก คุณครูกศน.ตำบลปางตาไว พาคณะของเราไปชม วัดไพรสวรรค์ วัดที่มีการออกแบบ สถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนที่ใดในประเทศไทย ท่านพระใบฎีกาสมเกียรติ ฉัตรปัญโญ ท่านเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลปางตาไวอีกตำแหน่ง นำชมวัดไพรสวรรค์อย่างละเอียด งดงามน่าชม เหมือนสวรรค์บนดินเลยทีเดียว หินดาตกระเดื่องนามหมู่บ้านเด่น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถโปรด ให้แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรและป่าไม้จังหวัดกำแพงเพชร จัดหาพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวบ้านเขาแม่พืช และบ้านแปลงสี่ โดยจัดที่ทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ และให้มีการพัฒนาคุณถาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ตลอดจนส่งเสริมให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จะทำให้ขายสินค้าของที่ระลึกได้”จากพระราชเสาวนีย์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดโครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ณ พื้นที่บ้านอุดมทรัพย์ หมู่ที่ 8 ตำบลหินดาต กิ่งอำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร มีเนื้อที่ประมาณ 210 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราษฎรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน ทำไร่เลื่อนลอย ได้มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมให้ราษฎรได้ประกอบอาชีพที่ถนัด พร้อมกับช่วยฟื้นฟูสภาพป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และส่งเสริมให้หมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป คุณครูลำพึง กิ่งนอก นำเราไปพบ ชาวเขาเผ่าเมี้ยน (เย้า) ได้เข้ามาอยู่ที่ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ ๔ ครั้ง นางแสงระวี คุ้งแก้วเจริญ หรือนางม่วงเสี่ยว แซ่เติ่น ได้เล่าให้คณะทำงานฟัง และนำชาวเย้า มาปักผ้าให้ชม ที่ลานหมู่บ้าน ท่านเล่าว่า ผ้าที่ปักทั้งหมด พระราชินีจะรับซื้อไว้ทั้งหมด โดยจะส่งคนมารับผ้าไปและนำเงินมาให้ในราวอีก สามสี่เดือนต่อมาชาวเมี้ยนทุกคนระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระราชินีของเขาตลอดมา นอกจากนั้นชาวเขายังมีผลผลิต ในโครงการหลวงอีกหลายอย่างอาทิ การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ และปลูกองุ่นพันธุ์ต่างประเทศ ในโรงเรือนที่งดงาม และมั่นคง นำโดยนายวุ่นชิง ฟุ้งวิเศษ ชาวเขาเผ่าเมี้ยน โพธิ์ทองพืชพันธุ์งามนามร่มเย็น ตำบลโพธิ์ทอง แต่เดิมขึ้นอยู่กับการปกครองของตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง ราว ๆ ประมาณพ.ศ. 2520 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศแบ่งเขตตำบลในอำเภอเป็น ตำบลโพธิ์ทอง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ 2536 ได้มีโอกาสได้ไปแวะชม ที่บ้านไผ่ยาวสามัคคี ตำบลโพธิ์ทอง ได้พบกับอดีตผู้ใหญ่บ้าน นายจำปี มหานนท์ ประธานสภาเกษตรกรที่บ้านของท่าน มีการจัดทำการเกษตรอย่างครบวงจร สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างดี และมีความสุขที่ได้ทำงาน เป้นเกษตรกร สมกับคำขวัญที่ว่า โพธิ์ทองพันธุ์พืชงามนามร่มเย็น อย่างแท้จริง Muj9e[] ร่วมกันเป็นปางศิลาทองของกำแพง อำเภอปางศิลาทอง เป็นอำเภอที่มีประชาชนหลากหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่มีวัฒนธรรมประเพณีที่ไม่ซ้ำใคร มีทั้งไทยกลาง ไทยอิสาน ไทยเหนือ และไทยภูเขา ต่างอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข มีความสามัคคี ไม่มีความขัดแย้งกัน นับว่าอำเภอปางศิลาทอง เป็นอำเภอที่น่าอยู่มากที่สุดอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร และในประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ วัดป่าธรรมธารา (เขาน้ำอุ่น) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ บ้านเขาน้ำอุ่น ต.หินดาต อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ โดยชาวบ้านเขาน้ำอุ่น ได้แก่ พ่อใหญ่แท่น และนายคำพลอย ร่วมกันถวายที่ดินคนละ ๖ ไร่ นางน้อย ถวายที่ดิน ๑ ไร่ รวมถวายที่ดินทั้งหมด ๑๓ ไร่ แด่ท่านหลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี หมู่บ้านเขาน้ำอุ่นนี้มีครัวเรือนประมาณ ๒๕๘ ครัวเรือน ประชากรจำนวน ๑,๒๗๖ คน สภาพและตำแหน่งที่ตั้ง วัดป่าธรรมธารา ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาน้ำอุ่น ห่างจากโรงพยาบาลปางศิลาทองประมาณ 500 เมตร อยู่ห่างจากโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ 2 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากตัวอำเภอปางศิลาทองประมาณ 7 กิโลเมตร อยู่ติดถนนสาย คลองลาน – ลาดยาว วัดตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาน้ำอุ่น ในอดีตเคยเป็นเทือกเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากได้ถูกชาวบ้านและนายทุนบุกรุกแผ้วถาง จนกลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้นโล่งเตียนและเกิดไฟไหม้ป่าขึ้นทุกปี จนกระทั่งบริเวณเทือกเขาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่งจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถชื่อว่า " โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ " และจากการช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่า ซึ่งนำโดยท่านพระครูธรรมธรวิชัย อภิฐาโน (พระครูปลัดสัมพิพัฒน์วิริยาจารย์) ภายหลังจากที่ท่านได้เดินทางมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าธรรมธาราท่านได้พัฒนาวัดป่าธรรมธารา อย่างก้าวไกลและมั่นคง งดงามเป็นระเบียบเรียบร้อยหาวัดใด ในประเทศไทยเทียบเท่าได้ยาก ท่านได้กรุณานำชม อาคารอเนกประสงค์ลักษณะขิงพิพิธภัณฑ์ทั้งห้าชั้น มีวัตถุทางพระพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่าอย่างมากมาย อาทิ พระพุทธรูปที่สลักด้วยหิน ด้วยหยก ปางต่างๆ ขนาดมหึมา จำนวนมาก เกจิอาจารย์พระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์ในประเทศไทยครบทุกรูป อย่างมีระเบียบ เรียบร้อยสะอาดตา น่าสนใจอย่างยิ่งบรรยากาศ บนอาคารอเนกประสงค์จัดกิจกรรมได้ทุกอย่างแม้แต่การประชุมและสัมมนา ที่พัก พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เมื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าแต่ละชั้น ล้วนมีทิวทัศน์ที่งดงามเป็นธรรมชาติอย่างที่สุด หาวัดป่าหรือวัดในเมืองใดๆ เทียบชั้นได้ยากจริงๆ ที่มาของบ่อน้ำอุ่น ในอดีตจากคำบอกเล่าของชาวบ้านในยุคแรก ๆ ที่ได้มีการย้ายถิ่นฐานมาอยู่บริเวณนี้เล่าว่า “เดิมบริเวณแห่งนี้เป็นป่ารกทึบ และได้มีชาวบ้านเข้าไปหาของป่าและทำไร่ในบริเวณนั้นแล้วพบแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีขนาดความกว้างเท่ากับรอยเท้าช้าง 2 รอย อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน บ่อที่ 1 คือ บ่อน้ำเย็น บ่อที่ 2 คือ บ่อน้ำร้อน ซึ่งชาวบ้านได้ทดลองนำไข่ไปต้มในบ่อน้ำร้อนพบว่าไข่สุก ขณะนั้นชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้รักษาโรคได้ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเล่าอีกว่าได้พบแสงประหลาดไม่ทราบว่ามาจากที่ใด แต่มักจะปรากฎอยู่บริเวณบ่อน้ำนั้น จนกล่าวขานกันว่า “บริเวณนี้มีเหล็กไหล” จนกระทั่งมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพากันมาค้นหาเหล็กไหล แต่ไม่สามารถค้นหาได้ ต่อมามีพระภิกษุซึ่งนับว่าเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดพร้อมด้วยชาวบ้านมีความคิดว่าจะขยายบ่อน้ำเพื่อบูรณะและใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำร้อน แต่มีเหตุการณ์ประหลาดจนในที่สุดก็ไม่สามารถขุดขยายได้จึงล้มเลิกโครงการนี้ไปจากเหตุการณ์นี้ทำให้บ่อน้ำร้อนและบ่อน้ำเย็นรวมเป็นบ่อเดียวกันซึ่งต่อมาชาวบ้านเรียกว่า “บ่อน้ำอุ่น” ในปัจจุบัน ได้มีชาวบ้านใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำอุ่น โดยต่อท่อ พีวีซี ไปใช้ในการอุปโภคบริโภคหลายร้อยหลังคาเรือน คาดไม่ถึงว่าน้ำจากบ่อเล็ก ๆ ในเทือกเขาน้ำอุ่นแห่งนี้ จะสามารถหล่อเลี้ยงชาวบ้านเขาน้ำอุ่นได้เกือบทั้งหมู่บ้าน พระครูปลัดสัมพิพัฒน์วิริยาจารย์ ได้กรุณานำชมบ่อน้ำอุ่นด้วยตัวท่านเอง นับว่าท่านมีความกรุณากับรายการโทรทัศน์วัฒนธรรมของเราอย่างที่สุด เรากราบลาท่านมาเพื่อที่จะได้ศึกษา แง่มุมต่างๆ ของปางศิลาทองที่ซ่อนอยู่ ถ้าท่านมาที่จังหวัดกำแพงเพชร เชิญแวะชม อำเภอปางศิลาทอง ชมวัฒนธรรมประเพณี ชมธรรมชาติที่งดงาม ชมวัดที่หลากหลายแบบ ชมวัฒนธรรมและประเพณีชาวเขา ชมบ้านเล็กในป่าใหญ่ ชมผ้าปักที่ฝีมือหาตัวจับยาก และเชิญเที่ยวชม อำเภอปางศิลาทอง ของกำแพงเพชร สมดังคำขวัญ ปางตาไวเลื่องลือแม่วงก์งาม หินดาตกระเดื่องนามหมู่บ้านเด่น โพธิ์ทองพืชพันธุ์งามนามร่มเย็น ร่วมกันเป็นปางศิลาทองของกำแพง ขอบคุณ คุณครูลำพึง กิ่งนอก คุณครูกศน.ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ที่เสียสละเวลา นำชมอำเภอปางศิลาทองอย่างละเอียด ด้วยความเสียสละ บท อ.สันติ อภัยราช |