จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช

หมวดหมู่ทั่วไป => จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร => ข้อความที่เริ่มโดย: apairach ที่ พฤษภาคม 05, 2024, 09:16:34 am



หัวข้อ: ขุนพันธรักษ์ราชเดช ปราบโจรกำแพงเพชร(ตอน ๑) ต่อมาทางจังหวัดกำแพงเพชรเก
เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ พฤษภาคม 05, 2024, 09:16:34 am
ขุนพันธรักษ์ราชเดช
ปราบโจรกำแพงเพชร(ตอน ๑)
           ต่อมาทางจังหวัดกำแพงเพชรเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม ขนาดเรือเมล์กับรถยนต์รับส่งผู้โดยสารไปมาระหว่างจังหวัดนครสวรรค์-กำแพงเพชรต้องเลิกกิจการ เพราะถูกรบกวนจากอันธพาลแสดงอำนาจไม่ยอมเสียเงิน ตำรวจก็ไม่กล้าจับกุม ขนาดเกิดฆ่ากันตายในใจกลางตลาด ตำรวจก็ไม่ใส่ใจ ไม่มีการชันสูตรพลิกศพ ไม่มีการติดตามจับผู้ร้าย ถ้าเกิดเหตุใกล้ริมแม่น้ำ พวกชาวบ้านจะช่วยกันลากศพทิ้งลงแม่น้ำ โรงมหรสพต้องหยุดหมดทุกโรง โรงเรียนก็เปิดปิดไม่เป็นเวลา เหล้ายาบุหรี่ไม่มีขาย เนื่องจากมีการค้าฝิ่นกันเสรี ขนาดผู้กำกับการตำรวจมีมลทินมัวหมองเรื่องค้าฝิ่นเถื่อน จึงถูกสั่งพักราชการ ทำให้ ร.ต.อ.ประคอง  ก้องสมุทรนักเรียนนายร้อยตำรวจ(ห้วยจรเข้) ที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ.๒๔๗๖) รองผู้กำกับการขอย้ายไปอยู่ที่อื่น ขนาดมีคำสั่งย้ายมาถึงยังไปไหนไม่ได้  เพราะไม่มีผู้กำกับมาทำงาน ข้าราชการและชาวบ้านส่วนใหญ่ติดฝิ่นกันจนโงหัวไม่ขึ้น แต่โรงยาฝิ่นยังขาดทุนทุกปี เพราะมีตำรวจมาเบ่งกินข้าวฟรี สูบฝิ่นฟรี แถมนึกสนุกหยิบปืนขึ้นยิงดังก้องทั้งวันทั้งคืน  สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ต้องทำงานหรืออยู่เวร ในเวลาปฏิบัติราชการก็ไม่มีการอบรม

           ขณะนั้น พล.ต.ต.พระพิจารณ์พลกิจ อธิบดีตำรวจได้พ้นตำแหน่งจากการเกษียณอายุ ทางรัฐบาลได้มอบให้หลวงสังวรณ์สุวรรณชีพ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือมารักษาการแทนในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจชั่วคราว จึงต้องการแก้ไขเหตุการณ์บ้านเมืองให้คืนความสงบสุข โดยสรรหาตำรวจมือปราบเดินทางไปปฏิบัติงานที่กำแพงเพชร ในช่วงนั้นมือปราบที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมีอยู่สองคน คือ มือปราบแดนใต้ พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช กับมือปราบนครบาล ร.ต.อ.ยอดยิ่ง  สุวรรณาคร ผู้พิชิตเสือฝ้าย แต่ผู้ที่มีอคติต่อ ร.ต.อ.ยอดยิ่ง ก็มีไม่น้อย โดยให้ความเห็นว่า ถ้าส่งยอดยิ่งไปก็เท่ากับเติมเกลือลงในน้ำทะเล  แต่กับ พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ก็ยังมีมลทินเรื่องไปเข้ากับพวกเสือที่ชัยนาท จึงตัดสินใจคำสั่งให้พระราชญาติรักษา(ประกอบ  บุนนาค)ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ่อค้าคนสำคัญที่มีอาณาเขตติดต่อกับกำแพงเพชร มาประชุม  ผลการลงคะแนนปรากฏว่า พ.ต.ต.ขุนพันธ์รักษ์ราชเดชชนะ ร.ต.อ.ยอดยิ่ง  สุวรรณาคร เพียงคะแนนเดียว

          แต่หลวงสังวรณ์สุวรรณชีพ อธิบดีตำรวจมีความสงสัยว่า นายตำรวจที่มียศเป็นขุนยังมีเหลืออีกหรือ ทราบข่าวหมดไปนานแล้ว ถ้ามีชีวิตอยู่ไม่แก่จนหนวดยาวหรือ จึงมีหนังสือเรียกตัว พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชมาพบที่กรมตำรวจ

          วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๙๐ ขุนพันธ์ฯได้รับโทรเลขจากกรมตำรวจ จึงเดินทางเข้ากรุงเทพไปกรมตำรวจ(ขณะนั้นยังตั้งอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ที่ปทุมวันยังไม่สร้าง)

          ในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๙๐ เวลา ๑๐.๓๐ น. พ.ต.ต.บุตร เข้าไปรายงานตัวต่ออธิบดีตามระเบียบแล้ว ทันทีที่พบหน้าหลวงสังวรณ์สุวรรณชีพเอานิ้วชี้มาตรงหน้าแล้วพูดว่า คนนี้หรือคือขุนพันธ์ฯ  ทำไมตัวนิดเดียวแถมมีหนวดด้วย คนเขาว่าเป็นเสือเมืองสุพรรณบุรี

         ครั้งแรกขุนพันธ์ฯตกใจไม่น้อยที่ผู้บังคับบัญชาเรียกตัวมาตำหนิ โดยไม่ทราบความมุ่งหมายจะมาไม้ไหนหรือหลวงนรินทร์สรศักดิ์จะไปฟ้องเพิ่มเติมอีก ขุนพันธ์ฯได้แต่ยืนนิ่งไม่โต้ตอบ

        สักครู่หนึ่งอธิบดีตำรวจก็พูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า“เมื่อก่อนโน้นคนอื่นเขาว่าเป็นเสือ แต่เดี๋ยวนี้เขาเชื่อกันแล้วว่าขุนพันธ์ฯเป็นคนดี ฉันไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยอยากพบ ฉันจะให้ขึ้นไปอยู่เมืองกำแพงเพชรจะได้หรือไม่”

         ขุนพันธ์ฯยังยืนนิ่งคอยอ่านใจเจ้านาย จนมีเสียงถามต่อมาอีกว่า“รู้หรือเปล่าว่าเมืองกำแพง

          เพชรนั้นเป็นอย่างไร” ขุนพันธ์ฯได้กราบเรียนไปว่า“ทราบแล้ว เมืองกำแพงเพชรนั้นอยู่ต่อแดนกับเมืองพิจิตร ซึ่งกระผมเคยอยู่มาเกือบ ๓ ปี พวกโจรพรานกระต่ายเคยล้ำแดนเข้ามาปล้น กระผมเคยขี่ม้าไล่ตามจับ แต่พวกโจรได้หนีเข้าเขตนอกพื้นที่รับผิดชอบ ทำให้พวกโจรยังลอยนวลมาถึงบัดนี้”

        อธิบดีตำรวจพยักหน้ารับรู้เรื่องราวและถามต่อไปอีกว่า“ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”

        ขุนพันธ์ฯได้กราบเรียนไปว่า เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ดี ไม่ว่าบ้านเมืองใด หากเจ้าหน้าที่ไม่ดีแล้วก็จะต้องเป็นเช่นนั้น หากเจ้าหน้าที่ดีมีความสามารถแล้ว พวกโจรผู้ร้ายก็จะไม่กำเริบ

        อธิบดีตำรวจนิ่งอยู่สักครู่ก่อนจะถามด้วยเสียงอันดังว่า“ที่ว่าเขาไม่ดีไม่ดีนั้น ใครไม่ดี”

       ขุนพันธ์ฯกราบเรียนว่า ทุกคนตั้งแต่ชั้นเล็กๆจนถึงชั้นผู้ใหญ่

        หลวงสังวรณ์สุวรรณชีพนั่งนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง“เออจริง ฉันจะให้ขึ้นไปอยู่เมืองกำแพงเพชรจะว่าอย่างไร”

          พ.ต.ต.บุตร ยืนนิ่งอีก แต่ในหัวใจยังครุ่นคิดถึงเรื่องสุพรรณบุรีและชัยนาทอยู่ ก่อนจะตัดสินใจพูดออกไปว่า“เป็นพระคุณอย่างเหลือล้นที่กรมตำรวจยังเรียกใช้ แต่จะขอความกรุณาให้กลับขึ้นไปสุพรรณบุรีและชัยนาท เพื่อล้างมลทินที่ถูกกล่าวหาเป็นเสือ”

         อธิบดีกรมตำรวจพูดขึ้นว่า“เขาจะให้ไปกำแพงเพชรยังจะขืนไปสุพรรณบุรีและชัยนาทอีก ส่วนเรื่องปราบผู้ร้ายทุกคนเชื่อว่าขุนพันธ์ฯทำได้ แต่จะเก่งแต่อย่างเดียวไม่ได้ เรื่องจัดการกับเมืองกำแพงเพชรให้สงบเคยทำมาก่อนหรือ

         พอขุนพันธ์ฯได้ฟังดังนั้นก็ตัดสินใจกราบเรียนไปว่า เมื่อทางกรมตำรวจมีความประสงค์เช่นนั้นก็จะไป แต่จะขอพร ๔ ประการ หากท่านกรุณาให้ก็ขอรับรองว่าต้องทำงานสำเร็จแน่ๆ

        หลวงสังวรณ์สุวรรณชีพรู้สึกแปลกใจไม่น้อย“ลองว่ามาให้ฟังซิ ถ้าให้ได้ก็จะให้

ขุนพันธ์ฯเห็นนายยิ้มแย้มดี จึงได้ลำดับพรตามความต้องการคือ
๑. รองผู้กำกับการที่จังหวัดกำแพงเพชรนั้น ขอได้กรุณาให้ขุนพันธ์ฯเป็นผู้เลือกเอง อย่าได้แต่งตั้งใครที่ขุนพันธ์ฯไม่ได้ขอมาก่อน หากเลือกไม่ได้ขุนพันธ์ฯก็จะขอไปคนเดียว

๒. ใครๆก็ดีเมื่อขุนพันธ์ฯรายงานมาแล้วว่าไม่ดี ขอให้ทางกรมได้กรุณาเชื่อไว้ก่อนโดยไม่ต้องตั้งกรรมการ เพราะการตั้งกรรมการนั้น มันแล้วแต่พยานของใครดีไม่ดีและเป็นเรื่องล่าช้าเสียเวลา  อาจจะทำให้คนมีความผิดเป็นไม่ผิด คนไม่ผิดเป็นผิดได้

๓. เมื่อทำสำเร็จแล้วขอกลับไปสุพรรณบุรี-ชัยนาท

๔. ขอเงินเดือนขึ้น ๑ ขั้น หากทำได้ตามความต้องการของกรม

         เมื่ออธิบดีกรมตำรวจได้ฟังก็ตอบตกลงและยังย้อนถามขุนพันธ์ฯว่า ขอเงินเดือนขั้นเดียวเท่านั้นหรือ ตอนนี้ขุนพันธ์ฯได้ยืนยันกับท่านไปว่าขอขั้นเดียว ท่านยังกล่าวต่อไปว่างานนี้จะให้ขุนพันธ์ฯไปทำสัก ๔ เดือน ถ้ายังไม่เรียบร้อยจะเพิ่มให้อีก

         ฝ่ายขุนพันธ์ฯยังคงเชื่อความขลังของพร ในใจคิดว่าเพียงเดือนเดียวอาจสำเร็จเรียบร้อยหมดจึงได้แต่ยืนนิ่งไม่มีการคัดค้าน

        ขุนพันธ์ได้รับคำสั่งให้ออกเดินทางในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๙๐ จึงเริ่มเก็บข้าวของเตรียมตัว

            ฝ่ายคุณเฉลา ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของขุนพันธ์ทราบว่า สามีต้องไปรับตำแหน่งผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรก็ตกใจ เพราะทราบข่าวมาว่าเมียนายอำเภอพรานกระต่ายเข้ามาในเมือง แต่ในระหว่างทางถูกโจรฉุดลากเข้าป่า แล้วหายสาบสูญไปตั้งแต่บัดนั้น

         ครั้งแรกขุนพันธ์ฯมีความตั้งใจจะเดินทางด้วยเกวียน แต่กว่าจะถึงเมืองกำแพงเพชรต้องเวลาร่วมเดือน เพื่อที่จะให้งานสำเร็จตามกำหนดที่รับปากกับอธิบดีตำรวจไว้ จึงจำเป็นต้องไปติดต่อขอเช่าเรือแดงที่เคยสัญจรเมื่อสามปีก่อน แต่ได้รับการปฏิเสธกลับมา

         ขุนพันธ์ฯผิดหวังกลับมาปรับทุกข์กับภรรยาของตน คุณเฉลาแนะนำให้ไปหาคุณนายของผู้จัดการเดินเรือ ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราชเหมือนกัน
บ่ายวันนั้นขุนพันธ์ฯกลับไปที่บริษัทอีกครั้ง เพื่อขอพบคุณนายผู้จัดการเดินเรือ

         ฝ่ายคุณนายผู้จัดการเดินเรือสาววัยไม่ถึง ๓๐ ปี ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าจอมสว่างในรัชกาลที่ ๕(ธิดาพระยานครศรีธรรมราช น้อยกลาง ณ นคร) ออกมาต้อนรับ พร้อมกับทักทายคนบ้านเดียวกันและถามจุดประสงค์ที่มาในครั้งนี้

          ขุนพันธ์ฯยกมือไหว้อย่างนอบน้อมและแนะนำตนเอง“ผมขุนพันธ์ฯเป็นชาวนครศรีฯครับ ทราบข่าวท่านเป็นลูกหลานเจ้าจอมสว่างกับเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต(แย้ม ณ นคร) เลยมากราบคารวะ ผมมีเพื่อนร่วมรุ่นที่จบพร้อมกันเคยไปอาศัยอยู่ที่บ้านเจ้าพระยาบดินทร์ฯ คือ คุณบัญญัติ ณ นคร (นักเรียนนายร้อยตำรวจ(ห้วยจรเข้)ที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ.๒๔๗๒) ที่เป็นผู้กำกับอยู่เกาะคา ลำปาง และ ร.ต.ต.พริ้ง ณ นคร(นักเรียนนายร้อยตำรวจ(ห้วยจรเข้)ที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ.๒๔๗๒) ที่เป็นผู้กำกับอยู่ชัยนาท วันนี้ผมมาขอเช่าเรือไปเมืองกำแพงเพชร แต่ท่านผู้จัดการไม่ยอม

            พอคุณนายทราบก็หันไปบอกกับผู้จัดการเดินเรือผู้เป็นสามีว่า“ชาวใต้ด้วยกันต้องช่วยกันซิ”

           ในที่สุดขุนพันธ์ได้เช่าเรือเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท  แต่มีข้อสัญญาว่า“เมื่อเรือจะจอดและค้างคืนที่ใดขุนพันธ์ฯจะต้องชักธงชาติบนหลังคาเรือ แล้วประกาศให้คนรู้ทั่วกันว่า เป็นเรือราชการไปเมืองกำแพงเพชร ไม่ใช่เรือรับจ้างคนโดยสาร” ขุนพันธ์ฯตอบตกลง

            คืนวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๙๐ เวลาตีสอง เรือได้ออกจากอยุธยามุ่งตรงไปยังกำแพงเพชร

           ก่อนออกเดินทางคุณนายผู้จัดการเดินเรือได้มอบหวายของเจ้าจอมสว่าง ซึ่งผ่านการปลุกเสกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มอบให้เจ้านายไปปราบผู้ร้ายที่กระด้างกระเดื่อง โดยให้ขุนพันธ์ฯนำไปปราบผู้ร้าย

         วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๙๐ พักที่โรงแรมตึกขาว นครสวรรค์ เผอิญได้พบกับนายเข่งที่รู้จักกันแต่ครั้งอยู่พิจิตรมาขอไปด้วย โดยถามว่าไปกันกี่คน ขุนพันธ์ตอบว่าไปกัน ๕ คน คือ ขุนพันธ์ฯและภรรยา    ด.ญ.สุจิตรา อายุ ๖ ขวบ(บุตรสาว) ด.ญ.อักษร อายุขวบกว่าๆ(บุตรสาว) และ ด.ญ.กัลยา(หลานสาว)

         พอขุนพันธ์ฯมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย คุณเฉลาภรรยาคิดจะไม่ไปด้วย โดยจะขอนำเด็กๆไปรออยู่ที่บ้านญาติในกรุงเทพฯ แต่ขุนพันธ์ฯได้ชี้แจงว่า ถ้าไปกับนายเข่งเพียงสองคนแล้ว ใครเล่าจะหุงหาอาหารให้กิน ในที่สุดภรรยาขุนพันธ์ก็ยอมไปด้วย

          วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๙๐ ขุนพันธ์ฯออกจากปากน้ำโพ ผ่าน อ.เก้าเลี้ยว อ.ขาณุวรลักษณ์ ตลอดระยะทาง ข่าวผู้กำกับคนใหม่ล่วงรู้ไปถึงพวกโจรผู้ร้าย จึงถูกลองดีด้วยการปล่อยท่อนซุงไหลมาชนเรือขุนพันธ์ ทำให้การเดินทางต้องล่าช้าออกไปอีก

          วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๙๐ เวลาสามทุ่ม เรือแล่นมาถึง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร คนขับไม่ยอมขับต่อไปอีก เพราะมีท่อนซุงลอยมามากขึ้นทุกที ขุนพันธ์ฯได้ขึ้นไปบน สภ.อ.คลองขลุง เพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แล้วขอพบ ร.ต.อ.เยื้อน  จุลศิริ หัวหน้า สภ.อ.คลองขลุง(ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ๒๔๙๐-๒๔๙๕)แจ้งให้ทราบว่าผู้กำกับมาตรวจงาน ปรากฏว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นด้วยกัน จึงได้สนทนาเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นในกำแพงเพชรทั้งหมด

         รุ่งขึ้นเรือแล่นออกจาก สภ.อ.คลองขลุง มุ่งตรงไป จ.กำแพงเพชร หากจะขี่ม้าไปใช้เวลาเพียง ๓๐ นาทีก็ถึง แต่ติดขัดที่มีเด็กและสัมภาระมาด้วยจำเป็นต้องใช้เรือ ระยะทางอำเภอเดียวต้องเสียเวลาเกือบหนึ่งวันเต็ม เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ ที่ผู้พยายามขัดขวางไม่ให้ผู้กำกับคนใหม่ไปถึงกำแพงเพชรได้สำเร็จ แต่ทว่าขุนพันธ์ฯก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหมดได้สำเร็จ

          วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๐ เวลา ๒๑.๓๐ น. เรือได้มาถึงเมืองกำแพงเพชร พร้อมกับเข้าพักที่โรงแรมของนางถี่ตรงท่าเรือนั้นเอง
ในขณะขุนพันธ์ฯกำลังขนสัมภาระเข้าโรงแรมนิตยประภา ทันนั้นเองมีเสียงปืนดังขึ้นที่หน้าโรงแรมเหมือนเป็นการต้อนรับผู้กำกับคนใหม่ ขุนพันธ์ฯเข้าใจว่าถูกท้าทายจึงวิ่งขึ้นบันไดไปเอาปืนลงมา