หัวข้อ: เขานางทอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยการวางผังของโบราณส เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2012, 08:04:40 pm นำเยาวชน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนคลองลานวิทยา ไปศึกษาเขานางทอง ที่เมืองบางพาน เขานางทอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยการวางผังของโบราณสถานวางตามแนวยาวเขามีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านบนสูงสุดเป็นเจดีย์ใหญ่ทรงดอกบัวตูม หรือ พุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานเจดีย์กว้าง ๑๒ เมตร ก่อด้วยอิฐปูนแลง ส่วนบนเป็นศิลาแลง ถัดมาเป็นเจดีย์ราย เล็ก ๓ องค์ กว้าง ๒ เมตร เท่ากันทุกองค์ ถัดมาเป็นวิหาร ๔ ตอน ตอนแรกยาว ๑๓ เมตร กว้าง ๖ เมตร ดอนที่สองกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๑ เมตร ส่วนด้านท้ายสุดคล้ายที่ตั้งบุษบก เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (ปัจจุบันได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเทพมหานคร) ความในจารึกว่า ?.ณ นั้นไซร้ พระยาธรรมมิกราช ให้ไปพิมพ์เอารอยตีน?. พระเป็นเจ้าเถิงสิงหล อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฎบรรพต ประมาณเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้ จุ่งคนทั้งหลายแท้?อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองศรีสัชนาลัย เหนือจอมเขา?อันหนึ่งประดิษฐานไว้ ในเมืองสุโขทัยเหนือเขาสุมนกูฎ อันหนึ่ง ประดิษฐานไว้ในเมืองบางพานเหนือจอมเขานางทอง ในหนังสือ ?เที่ยวเมืองพระร่วง? พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชาธิบายเกี่ยวกับเขานางทองไว้ดังนี้ ยอดเขานี้มีกองแลงอยู่กองหนึ่งซึ่งอาจเป็นพระเจดีย์ ได้ตั้งอยู่บนเนินหนึ่ง อีกเนินหนึ่งมีอะไรคล้ายบุษบกอยู่บนนั้น ที่ระหว่างเนินทั้งสองนี้ มีแผ่นศิลาสลักเป็นรอยพระพุทธบาทไว้แผ่นหนึ่ง นอกจากลายก้นหอยที่นิ้ว กับจักรใหญ่อยู่ตรงฝ่าพระบาทมีลายต่างๆ แบ่งเป็นห้อง ดูเป็นทำนองจีน มีอะไรคล้ายกับเก๋งจีน อยู่ในนั้นคล้ายห้อง ทางริมแผ่นศิลาข้างซ้ายพระบาท แต่นอกรอยพระบาทออกมามีตัวอักษรขอมจารึกอยู่ แต่ศิลากะเทาะออกเสียมาก อ่านไม่ได้ความ พระบาทนี้เหลือที่จะกำหนดอายุได้อาจเป็นของเก่าครั้งพระร่วง? เหตุที่เรียกว่าเขานางทองเพราะ เชื่อกันว่า เขาลูกนี้ เป็นที่อยู่ของนางทอง มเหสีของพระร่วง ดังตำนาน ของเขานางทองที่ว่า นางทองเป็นผู้หญิงสาวชาวบ้านเมืองพานที่สวยงามมาก ต่อมาถูกพญานาค กลืนเข้าไปในท้อง พระร่วงเจ้าผู้ครองนครเมืองพานได้พบเห็นจึงได้เข้าช่วยโดยใช้อิทธิฤทธิ์ของตน ล้วงนางทองออกมาจากคอของพญานาค เนื่องจากนางทองเป็นคนที่มีสิริโฉมงดงามจึงเป็นที่สบพระทัยของพระร่วง ต่อมาจึงได้อภิเษกเป็นพระมเหสี ( เมียหลวง ) และยังได้นางพันหญิงชาวบ้านอีกคนหนึ่งเป็นพระสนมเอก ( เมียน้อย ) อีกองค์หนึ่งด้วย อยู่มาวันหนึ่งพระร่วงได้เสด็จไปเที่ยวในกรุงสุโขทัย พระมเหสีทองซึ่งเป็นคนที่มีความมานะอดทนขยันหมั่นเพียรในการทอผ้าด้วยกี่ทอผ้า ได้ไปซักผ้าอ้อมที่สระน้ำซึ่งพระร่วงได้สร้างพระตำหนักแพหน้าพระราชวังใน คลองใหญ่ไว้เป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบถและซักผ้า ในวันนั้นขณะที่ซักผ้าอ้อมเสร็จและจะนำไปตาก (บริเวณที่ตากผ้าอ้อมนั้น ไม่มีต้นไม้ขึ้นเลย จะโล่งเตียนไปหมด เพราะพระร่วงสาปไว้สำหรับตากผ้าอ้อม) ระหว่างที่ตากผ้าอ้อมพระมเหสีทองก็กลัวว่าผ้าอ้อมจะไม่แห้งจึงทรงอุทานขึ้น เป็นทำนองบทเพลงเก่าว่า ?ตะวันเอยอย่ารีบจร นกเอยอย่ารีบนอน หักไม้ค้ำตะวันไว้ก่อน กลัวผ้าอ้อมจะไม่แห้ง? ผลปรากฏว่าตะวัน หรือดวงอาทิตย์ไม่ยอมเคลื่อน จนกระทั่งผ้าอ้อมแห้ง จึงได้โคจรต่อไปและที่ คลองใหญ่หน้าพระราชวังแห่งนั้น พระร่วงได้เลี้ยงจระเข้ไว้ด้วย แล้วพอดีจระเข้ตัวนั้นเกิดหิวขึ้นมาจึงคาบพระมเหสีทองไป เพื่อเอาไปกินแต่ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระร่วงกลับจากสุโขทัยพอดี พอกลับมาพระร่วงไม่เห็นนางทองจึงถามพวกนก พวกกวาง (สมัยนั้นเชื่อกันว่าสัตว์ทุกตัวพูดได้) ว่าพระมเหสีทองหายไปไหน พวกสัตว์ต่างๆ ก็บอกว่าพระมเหสีทองได้ถูกจระเข้คาบไปแล้ว พระร่วงได้ยินดังนั้นก็รีบตามไปทันที พระร่วงเดินทางไปทางไหนต้องการให้เป็นทางเดินก็ปรากฏเป็นทางเดิน ทางเกวียนตลอดทาง พระร่วงได้เดินทางผ่านนาป่าแดง คลองวัว และได้ขอน้ำกินแถวๆ หมู่บ้าน (หมู่บ้านนาป่าแดงปัจจุบัน) พระร่วงพูดว่า ?ข้าหิวน้ำจังเลย ขอน้ำกินหน่อยได้ไหม? คนในหมู่บ้านไม่ให้กินจึงพูดว่า ?น้ำข้าไม่มี? พระร่วงเป็นคนที่วาจาศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว พระร่วงจึงพูดว่า ?เออ อย่างนั้นพวกมึงก็ไม่ต้องมีน้ำกินตลอดไป? จนป่านนี้นาป่าแดงจึงไม่ค่อยมีน้ำกินน้ำใช้กัน พระร่วงได้ตามจระเข้ที่คาบพระมเหสีทองทันที่คลองทองแดง (ใกล้ ๆ ศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน) พอเจอกันก็สายเสียแล้ว จระเข้ได้กินพระมเหสีทองไปแล้ว พระร่วงจึงสาปจระเข้ให้เป็นหินอยู่ตรงนั้นมาถึงทุกวันนี้ พระร่วงเสด็จกลับเข้าวังด้วยความสลดใจและไม่อาจลืมความรักความอาลัยในตัวพระมเหสีทองได้จึงอพยพราษฎรลงไปทางใต้เพื่อไปตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองสังขบุรีแขวงเมืองอยุธยา เมืองพานจึงกลายเป็นเมืองร้างในยุคหนึ่ง ในปัจจุบันนี้มีราษฎรจากอำเภอพรานกระต่าย มาตั้งถิ่นฐานกันอยู่หลายสิบหลังคาเรือน เมื่อไม่นานมานี้บริเวณคลองวังพาน ( อยู่ใกล้กับวัดพานทองศิริมงคล ) ได้มีการขุดลอกคลองโดยเครื่องจักรกลของทางราชการ ได้ขุดพบ พระ เครื่องปั้นดินเผา เศษกระเบื้องตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยภายในครัวเรือนของชาวเมืองโบราณเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้พบเสาไม้ตะเคียนซึ่งสันนิษฐานว่าหน้าจะเป็นศาลาที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครในอดีต เป็นหลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของเมืองพาน เยาวชนและครูอาจารย์ให้ความสนใจ อย่างดียิ่งขอชื่นชม ในการได้สืบสาน อารยธรรมเขานางทองร่วมกัน |