จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช

หมวดหมู่ทั่วไป => จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร => ข้อความที่เริ่มโดย: apairach ที่ มกราคม 11, 2013, 09:32:29 am



หัวข้อ: นครโกสัมพี เมืองโบราณยุคหินต่อสมัยทวาราวดีที่น่าศึกษายิ่ง
เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ มกราคม 11, 2013, 09:32:29 am
นครโกสัมพี เมืองโบราณยุคหินต่อสมัยทวาราวดีที่น่าศึกษายิ่ง
นครโกสัมพี เมืองโบราณยุคหินต่อสมัยทวาราวดีที่น่าศึกษายิ่ง
วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๖ เป็นวันที่เรานัดหมาย กับนักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ ว่าจะไปศึกษา โบราณสถานและโบราณวัตถุ นครโกสัมพี  นครก่อนประประวัติศาสตร์ ของเมืองกำแพงเพชร ได้นัดหมายกับนักโบราณคดี จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร และจากอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร  ๔ ท่าน นำโดยคุณวีระศักดิ์  แสนสะอาด  อาจารย์รุ่งเรือง สอนชู นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของเมืองกำแพงเพชร ได้รับความกรุณาจาก ผู้กำกับการตำรวจภูธร โกสัมพี  ท่านพันตำรวจเอกกวีรัชช กตัญญู  ให้ตำรวจนำทางในการสำรวจด้วย ไปพบกับผู้ใหญ่บรรจบ สืบมี หมู่ที่ ๓ บ้านคลองเมือง ตำบลโกสัมพี และท่านผู้อาวุโส อีกสองท่าน  คือลุงจวน จูแนบ อายุ ๖๙ ปี และคุณตากวน เต็มปลื้ม อายุ ๗๗ ปี นำคณะของเรา ไปสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบ ในนครโกสัมพี   
เราไปพบกันที่ วัดศรีตะหัตถยาราม  ใกล้กับนครโกสัมพี ซึ่งมีวัตถุโบราณ ที่เก็บสะสมไว้จำนวนมาก คณะของเราค้นหาวัตถุโบราณ แม้จากใน เจดีย์ที่เก็บอัฐิ ของท่านเจ้าอาวาส รูปเก่า เพื่อนำมาศึกษา เราพบขวานหิน กำไลหิน ลูกปัด ลูกกระพรวน ถ้วยชามสมัยโบราณจำนวนมาก นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า อาจเป็นยุคหินใหม่ ราว ๒๐๐๐ ปี ถึง ๓๐๐๐ ปี มาแล้ว และอาจต่อเนื่อง มาถึง ราวพุทธศักราช ๑๐๑๑ ที่ พระยากาลวรรณดิศ เจ้าเมืองตาก ได้ไปสร้างนครโกสัมพี ขึ้น ตามหลักฐานจากพงศาวดารเหนือที่ว่า
แล้วพระยากาฬวรรณดิศราช ให้พระยาทั้งหลายไปตั้งเมืองอยู่ทุกแห่ง แลขุนนางขึ้นไปถึงเมืองทวารบุรี เมืองสันตนาหะ แลเมืองอเส เมืองโกสัมพีแล้วมานมัสการที่พระพุทธเจ้าตั้งบาตรตำบลบ้านแม่ซ้องแม้วนั้น
                      เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชิ้นเดียว ที่กล่าวถึง การสร้างเมืองโกสัมพี ของพระยากาลวรรณดิศ  หลังจาก ทิ้งเมืองตาก ไปสร้างเมืองละโว้ แล้ว
                  นับว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ ชาวโกสัมพีนคร ยังมิได้ศึกษาเรื่องราว และหลักฐานอันยิ่งใหญ่ของนครโกสัมพี อันเป็นรัฐนครแห่งแรก บนลุ่มน้ำปิง และหลักฐานต่างๆ ได้ถูกนำไปจากโกสัมพี เกือบหมดสิ้น การศึกษาครั้งนี้ เป็นการบันทึกความสำคัญของนครโกสัมพี ไว้อย่างละเอียด  เพื่อเป็นแนวทางให้คนอีกรุ่นหนึ่งได้ศึกษา ต่อไป ไม่นาน เราอาจเห็นการขุดแต่ง นครโกสัมพี ให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญ แห่งลุ่มน้ำปิง อีกเมืองหนึ่ง ฝันนั้น น่าจะเป็นจริงได้
สันติ  อภัยราช