หัวข้อ: พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน (ท้าวแสนปม)กษัตริย์3เมือง สืบค้นโดยอาจารย์รุ่งเรือง สอนชู เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ มกราคม 23, 2013, 02:50:06 pm พระเจ้าศิริชัย เชียงแสน (ท้าวแสนปม) กษัตริย์ 3 เมือง
สืบค้นโดยอาจารย์รุ่งเรือง สอนชู ตำนานท้าวแสนปม เป็นตำนานที่กล่าวขานกันมาช้านาน ผู้เขียนได้เล่าที่มาของตำนานว่ามาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ตำนานท้องถิ่น จากพงศาวดาร จากบทละคร ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นไม่ได้กล่าวถึงที่มาของท้าวแสนปมว่ามาจากที่ไหน เป็นเชื้อสายตระกูลใด ผู้เขียนมีข้อสงสัยมานานว่า ท้าวแสนปมเป็นพระชนก(บิดา) ของสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 1(อู่ทอง) และมีความสามารถที่สร้างเมืองเทพนครขึ้นมาได้ จะต้องไม่ใช่ชาวบ้านหรือบุคคลทั่ว ๆไป ผู้เขียนพยายามสืบค้นหาหลักฐาน จนได้พบในหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มแรกถึงสิ้นอยุธยา ของคณาจารย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในหน้า 132 ? 133 ได้กล่าวถึงที่มาของท้าวแสนปม ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวมาสรุปไว้ดังนี้ พระพนมวัง โอรสพระพนมทะเลศรี ( เจ้าเมืองเมืองศรีสัชนาลัย) ได้อภิเษกสมรสกับ นางสะเดียง(พระธิดาแห่งเมืองไตรตรึงษ์) ได้ไปครองเมืองนครศรีธรรมราช มีโอรสทรงพระนามว่า เจ้าศรีราชา ในเวลาต่อมา พระพนมวังได้มาครองเมืองลพบุรีในระยะปี พ.ศ. 1826 เจ้าศรีราชาได้อภิเษกสมรสกับพระนางสนไส้(ธิดาของเมืองไตรตรึงษ์องค์ที่ 2) โดยมีโอรสทรงพระนามว่า ราม ในปี พ.ศ. 1862 พระพนมวังสวรรคต เจ้าศรีราชาได้ครองทั้ง 2 เมืองคือ เมืองลพบุรีและเมืองไตรตรึงษ์ และในปี พ.ศ. 1862 นั้น เจ้าศรีราชาได้ยกไพร่พลมาสร้างเมืองเทพนคร แล้วขึ้นครองราชย์สมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนาถ แต่ชื่อสามัญเรียกว่า ศิริไชยเชียงแสน(ชาวบ้านเรียกท้าวแสนปม) ส่วนพระนางสนไส้ มีพระนามว่า นางจันทราเทวีศรรตนฉายา ต่อมาพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน(ท้าวแสนปม)ได้มีอำนาจเป็นประมุขแคว้นไทยทางใต้ และทรงแยกอำนาจอิสระมาจากสุโขทัยสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระองค์ได้สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าพะแนงเชิง ในปี พ.ศ. 1867 ในปี พ.ศ. 1873 พระเจ้าแสนเมืองมิ่งกษัตริย์มอญสวรรคต พระเจ้าศิริไชยเชียงแสน(ท้าวแสนปม)ได้ยกทัพไปแย่งเอาเมืองทะวายตะนาวศรีมาไว้ในอำนาจได้ ในปี พ.ศ. 1876 พระเจ้าราม โอรสของพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน(ท้าวแสนปม)ได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาเมืองอู่ทอง ในปี พ.ศ. 1878 พระยาอู่ทองสวรรคต พระเจ้ารามจึงได้ครองเมืองแทน ในพระนามว่า สมเด็จเจ้ารามราชา หรือ พระเจ้าอู่ทอง มีโอรสกับพระมเหสีซึ่งปรากฏพระนามภายหลังว่า พระราเมศวร พระเจ้าศิริไชยเชียงแสน(ท้าวแสนปม) สวรรคต พระเจ้ารามราชาได้กลับมาครอง เมืองเทพนคร ส่วนทางเมืองอู่ทองโปรดให้ขุนหลวงพะงั่ว(พี่พระมเหสี)ซึ่งขณะนั้นครองเมืองสองพันบุรี(สุพรรณบุรี)ไปครองเมืองอู่ทองแทน ดังนั้น ท้าวแสนปม คือ โอรสของเมืองลพบุรี มีพระนามว่า เจ้าศรีราชา หรือ พระเจ้าศิริไชยเชียงแสน หรือ สมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนาถ ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ถึง 3 เมือง คือ เมืองลพบุรี เมืองไตรตรึงษ์ และ เมืองเทพนคร อ้างอิง ถนอม อานามวัฒน์ , รศ. และคณะ,ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงสิ้นอยุธยา. กรุงเทพมหานคร : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2528. |