หัวข้อ: ชุมชนปากคลองใต้ เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ สิงหาคม 11, 2014, 09:00:29 pm ชุมชนบ้านปากคลองใต้ ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร
จังหวัดกำแพงเพชร .................... โครงการส่งเสริมการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในชุมชน ประจำปี 2551 สถานการณ์ ในสภาวการณ์ปัจจุบัน วิถีของสังคมมนุษย์ในโลกนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในอดีตมนุษย์ยังชีพด้วยการเกษตรกรรม ระยะต่อมา เมื่อสังคมมีการขยายตัวและเกิดความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตมากขึ้น ก็ทำให้เกิดการปฏิวัติสังคมไปสู่การผลิตอุตสาหกรรม จนกระทั่งประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา สังคมมนุษย์ได้พัฒนาไปยังยุคสมัยของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังที่ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ (1980) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ของโลกทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ในหนังสือ คลื่นลูกที่ 3 (The Third Wave) ซึ่งได้กล่าวถึงคลื่นลูกที่ 1 เป็นสังคมเกษตรกรรม คลื่นลูกที่ 2 เป็นสังคมอุตสาหกรรม และคลื่นลูกที่ 3 เป็นสังคมเทคโนโลยีและสารสนเทศ ในขณะเดียวกัน เมื่อกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตไทย หรือวัฒนธรรมในอีกนัยหนึ่งต้องพิจารณาในภาพรวมให้ทราบถึง โครงสร้าง องค์ประกอบ ลักษณะ รวมทั้งแง่มุมของสังคมด้วย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของประเทศที่ไม่อาจแยกออกจากองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งจะมีส่วนสัมพันธ์กันและมีผลกระทบต่อกันและกัน เช่น เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การศึกษา เทคโนโลยี ปัญหาวิกฤตของประเทศไทย ที่กำลังเกิดขึ้นในด้านสังคมวัฒนธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งผลกระทบทางลบ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ส่งผลให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งในแง่การเป็นสื่อนำพาข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ผลผลิตทางอุตสาหกรรม วัฒนธรรม ที่มีอำนาจครอบงำความคิดและค่านิยมของคนไทย ตลอดจนสื่อที่มีบทบาท เผยแพร่ลัทธิทุนนิยมและการบริโภคนิยมที่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นภัยคุกคามความสงบสุข ความสมดุลและความมั่นคงของสังคมไทย ถึงแม้ภาครัฐจะมีแนวทางในการปฏิรูปประเทศเพื่อเป็นการแก้ปัญหา และให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เนื่องจากปัญหาต่างๆเกิดขึ้นและสะสมมาเป็นเวลานาน จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องมีมาตรการและกลไกการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีแนวพระราชดำรัส ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำสังคมอยู่เย็นเป็นสุขที่ถาวร มั่นคงและยั่งยืน สร้างความสามัคคี สมานฉันท์ สร้างพลังในชุมชน และร่วมกันแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังแผนภูมิสำคัญ และความหมาย ของเศรษฐกิจพอเพียง ดังมีรายละเอียดดังนี้ ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ?เศรษฐกิจพอเพียง? เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง มีหลักพิจารณา ดังนี้ กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้ 1. พอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ 2. มีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ 3. มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ 1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ 2. เงื่อนไขความธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี ชุมชนบ้านปากคลองใต้ ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เป็นชุมชนหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนการทำงานและกิจกรรมที่หลากหลายโดย ยึดถือหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมั่นคง ร่วมกันระหว่างสมาชิกในชุมชนด้วยกันเอง มีอาชีพ มีเงินออม มีรายได้และมีสวัสดิการในชุมชน โดยชุมชนมีความสามัคคีกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ชุมชนมีความเข้มแข็งน่าอยู่ ปลอดภัย พึ่งตนเองได้ และก้าวย่างสู่ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เข้มแข็งบนพื้นฐานทางวัฒนธรรมจนเป็นที่ยอมรับจากชุมชนอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างได้ ประวัติความเป็นมาของชุมชน ชุมชนบ้านปากคลองใต้ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง ฯ จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่อาศัยของชุมชนบ้านปากคลองใต้ ประมาณ 140 ปี ซึ่งดั้งเดิม ชุมชนปากคลองใต้เป็นที่ตั้งของ เมืองนครชุม ซึ่งเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีความเจริญรุ่งเรืองมากว่า 700ปี จากจารึกหลักที่ 3 หรือจารึกนครชุม กล่าวถึงพญาลิไทพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย โดยมีเมืองนครชุมเป็นเมืองลูกหลวง เมืองนครชุมเจริญรุ่งเรืองกว่า 200ปี เมื่อลำน้ำปิงเปลี่ยนทิศทางกัดเซาะกำแพงเมืองนครชุม พังทลายตกแม่น้ำปิง จึงย้ายเมืองมาอยู่ฝั่งตะวันออก เรียกกันว่าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อประมาณ ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครชุม ได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต)เสด็จมาที่เมืองนครชุม และมีความมั่นคงสูงสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2449 เมื่อพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นมาที่เมืองนครชุมต่อมาประชาชนเรียกขานเมืองนครชุมว่าบ้านปากคลองสวนหมาก โดยมีปากคลองกลางหมู่ที่ 3 เป็นศูนย์กลาง เจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม สภาพทั่วไป ในสมัยโบราณ นครชุม เป็นศูนย์เส้นทางคมนาคม เป็นย่านชุมชนหนาแน่น เป็นแหล่งค้าขายตั้งแต่สมัยโบราณ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ปากคลองเหนือ ปากคลองกลางและปากคลองใต้ ถนนหนทางเป็นดินลูกรัง และส่วนมากการคมนาคมจะใช้รถจักรยาน และเดินเท้า ส่วนการตั้งบ้านเรือนถิ่นที่อยู่อาศัยส่วนมากจะมุงด้วยใบจาก ในขณะเดียวกัน การประกอบอาชีพของชุมชนบ้านปากคลองใต้ มีอาชีพทำไร่ ทำนา ค้าขาย ทำสวนมะพร้าว แตงโม ทำไร่ยาสูบและอาชีพรับจ้าง หาของป่าและค้าไม้ ในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านปากคลองใต้ มีหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ผสมผสานกัน เช่น จีน ลาว (ลาวเวียงจันทน์) ชาวมอญ และพม่า กะเหรี่ยง และชาวเขาเกือบทุกเผ่า ในปัจจุบันนี้ ชาวบ้านปากคลองใต้จะมีชาวต่างจังหวัดมาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่ บ้านปากคลองใต้มากพอสมควร เป็นผลให้มีหลายเผ่าพันธุ์ไม่ว่าจะมาจากทางเหนือ อีสาน กลางและภาคใต้ และวิถีชีวิต การดำรงชีวิตจะแตกต่างกันไปของแต่ละวัฒนธรรม วัฒนธรรมและประเพณี จากคำบอกเล่าของนางวันเพ็ญ บุญญาสิทธิ์ อายุ 67 ปี เล่าว่า ชาวบ้านปากคลองใต้ ได้อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นซึ่งสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ในสมัยโบราณจะมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น ระบำคล้องช้าง ในสมัยก่อนนี้มีช้างจำนวนมาก ก็ได้ดัดแปลงมาเป็นการละเล่นระบำคล้องช้าง รำวงพวงมาลัย รำแม่ศรี รำโทน แม่งูกินหาง ลูกช่วง มอญซ่อนผ้า สันนิษฐานว่า จะมีมานานประมาณ 100 กว่าปี ระบำคล้องช้างของชาวปากคลองกลาง นางลำภู ทองธรรมชาติ อายุ 68 ปี เล่าว่า การเล่นลูกช่วง จะมักนิยมเล่นกันในช่วงสงกรานต์ ของกลุ่มหนุ่มสาวจะมีการฟ้อนรำ หลังจากการละเล่นเสร็จแล้ว ก็จะมีการเลี้ยงข้าวปลาอาหารกัน ส่วนการแห่นางแมว เป็นประเพณีสมัยโบราณ ซึ่งจะแห่ไปตามบ้านเรือนเมื่อไปถึงบ้านใครเจ้าของบ้านก็จะเอาน้ำราด หรือรดน้ำ เพื่อเป็นสิริมงคลตามประเพณี ประเพณีการตาย ลุงเชิด นุ่มพรม อายุ 72 ปี ในเรื่องของความเชื่อชาวบ้านปากคลองใต้ในสมัยโบราณเชื่อว่า ถ้าคนถูกยิงตาย คลอดลูกตายจะต้องฝัง เหตุผลก็เพราะว่าการตายโหง (เช่นการตายด้วยอุบัติเหตุ ถูกยิงตาย ฯลฯ) ถือว่าเป็นผีดุร้ายมากจะขึ้นมาอาละวาด ซึ่งจะต้องฝังดิน ส่วนมากศพจะนำไปไว้ที่วัด ส่วนการตายโดยทั่วไปต้องเผา และการสวด 3 วัน 7 วัน เหมือนเดิม ทั้งนี้แล้วแต่ฐานะของเจ้าภาพ ประเพณีการเกิด ลุงเชิด นุ่มพรม เล่าว่าคนในสมัยโบราณเชื่อว่าการเกิดนั้น จะนำรกฝังไว้ใต้บันไดหรือใกล้บ้าน ทั้งชายและหญิงเพื่อเอาเคล็ดไม่ให้เด็กเที่ยวโดยใช้วัสดุคือหม้อดินหรือห่อผ้า ประเพณีทำบุญกลางบ้าน คนในสมัยโบราณมีความเชื่อว่า การทำบุญสะเดาะเคราะห์ต่อกะบาล มีองค์ประกอบของการทำบุญคือ มีข้าวพล่า ปลายำ พริก มะเขือ นำมาคละเคล้าร่วมกันในพิธีดังกล่าว เมื่อทำพิธีกรรมทางสงฆ์ พระสวดเสร็จแล้วจะนำไปทิ้งไว้ที่ทางสามแพร่ง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ พิธีกรรมทางศาสนา ในส่วนของความเชื่อทางพิธีกรรมทางศาสนา คนในสมัยโบราณจะมีประเพณีการทอดกฐินน้ำ และกฐินบก โดยนำกฐินลงเรือแห่จาก วัดพระบรมธาตุ ไปตลาดนครชุม และจากตลาดนครชุมมาที่วัด โดยการทอดกฐินประเภทนี้หายไปประมาณ 50 ปีแล้ว ประเพณีการทอดผ้าป่าแถว นางวันเพ็ญ บุญญาสิทธิ์ อายุ 67 ปี เล่าว่า การทอดผ้าป่าแถว เป็นพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งจัดที่วัดพระบรมธาตุ องค์ประกอบของผ้าป่าแถวจะประกอบไปด้วย กิ่งไม้ 1 กิ่ง ธูปเทียน ของที่บรรจุลงใส่ในชะลอมมีกล้วย อ้อย ส้ม ข้าวสาร นำตาล ผ้าสบง หรือ ผ้าเช็ดตัว โดยจะทอดถวายประมาณเดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ก่อนประเพณีลอยกระทง ประเพณีการห่มผ้าพระธาตุ นางลำภู ทองธรรมชาติ อายุ 68 ปี เล่าว่า การห่มผ้าพระธาตุจะมีขึ้นใน วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นประเพณีสำคัญของชาวปากคลองกลางคู่กับวัดพระบรมธาตุ กล่าวโดยสรุปพอสังเขปงานวัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนาและพิธีกรรม 1.ระบำคล้องช้าง 2.รำพวงมาลัย 3.รำแม่ศรี 4.รำโทน 5.แม่งูกินหาง 6.การเล่นลูกช่วง 7.การเล่นมอญซ่อนผ้า 1.การแห่นางแมว 2.การเกิด 3.การตาย 4.การทำบุญกลางบ้าน 5.การแข่งเรือยาว 1.การทอดกฐินน้ำ และกฐินบก 2.การทอดผ้าป่าแถว 3.การแห่ผ้าห่มพระธาตุ แผนที่เมืองเก่านครชุม วัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใคร (ลักษณะเฉพาะตัว เอกลักษณ์ของชุมชน) ชุมชนบ้านปากคลองใต้ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง ฯ จังหวัดกำแพงเพชร มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน โดยเฉพาะประเพณี การแห่หลวงพ่อโบราณ นางลำภู ทองธรรมชาติ อายุ 68 ปี เล่าว่า การแห่หลวงพ่อโบราณ เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่มายาวนานกว่า 50 ปี ลักษณะของการแห่หลวงพ่อโบราณโดยจะเริ่มจากการแห่หลวงพ่อไปเก็บดอกไม้ที่บ้านท่าเดื่อ ใช้คนหาบหาม และปัจจุบันนี้ พระโบราณยังอยู่ที่วัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง ฯ จังหวัดกำแพงเพชร ประเพณีที่ไม่เหมือนกับชุมชนทั่วๆไป เช่น -ประเพณีแห่นางแมวขอฝน -ประเพณีการทอดผ้าป่าแถว -ประเพณีงานเพ็ญเดือน 3 เดือน 4 -ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุ -ประเพณีการทำบุญกลางบ้าน -ประเพณีการแต่งานแบบลาว และปัจจุบันนี้แต่งงานแบบไทย -ประเพณีกวนข้าวเหนียวแดง (เผาข้าวหลาม/หุงข้าวกระทะ) การขับเคลื่อนชุมชนตามแนวทางโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ? คลังสมองและภูมิปัญญา ชุมชนบ้านปากคลองใต้ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง ฯ จังหวัดกำแพงเพชร มีการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงและดนตรี และภูมิปัญญาของชาวบ้านโดยเฉพาะ 1.การเล่นกลองยาว นายสาคร เกษาพร อายุ 45 ปี เล่าว่า การเล่นกลองยาวของชุมชนบ้านปากคลองใต้ จะมีการตีกลองที่ไม่เหมือนใคร คือ มีการตีหยอกล้อกันและกัน มีลูกปัด ลูกรัว และลูกขัด โดยเสียงกลองจะมีอยู่ 3 เสียง คือ เสียง ป๊ะ โป่ง โป้ง 2.การละเล่นพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้านก็จะมีระบำคล้องช้าง รำแม่ศรี รำพวงมาลัย ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นของชุมชนบ้านปากคลองใต้ 3.การตีกลองยาว นายเชิด นุ่มพรม เป็นบุคคลที่รู้เรื่องในการตีกลองยาวเป็นอย่างดี และ นายบุญเชิด ดาราน้อย บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และได้สืบสานมาจนทุกวันนี้ 4.การทำขนมข้าวตอก นางสมถวิล เอกปาน อายุ 75 ปี เป็นผู้รู้ในเรื่องการทำขนมข้าวตอก และในปัจจุบันนี้ยังใช้แบบพิมพ์โบราณ อบเทียนหอม ในการทำขนมข้าวตอก 5.การทำเมี่ยง นางกรองทอง กุลบุตร ชุมชนบ้านปากคลองใต้ เป็นผู้อนุรักษ์สืบทอดการทำเมี่ยงนี้เอาไว้ การถ่ายทอดการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ในการถ่ายทอดการเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนบ้านปากคลองใต้ สมัยก่อนได้รวมกลุ่มแม่บ้าน ตั้งกลุ่มกลองยาว โดยมีนายเชิด นุ่มพรม เป็นผู้ถ่ายทอดและเป็นผู้สอนให้ ซึ่งในสมัยโบราณกลองยาวของกลุ่มแม่บ้านปากคลองใต้ มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ต่อมาในปัจจุบันนี้ ไม่มีคนตีกลองยาวก็เลิกราไปโดยปริยาย และต่อมามีกลุ่มกลองยาวของผู้ช่วย บุญเชิด ดาราน้อย แทนและในปัจจุบันนี้ การละเล่นกลองยาว ยังไม่ได้ถ่ายทอดไปให้เยาวชนรุ่นหลัง เนื่องจากอุปกรณ์มีไม่เพียงพอ ไม่ครบ การนำกลองยาวไปแสดง นายเชิด นุ่มพรม ได้เล่าว่า ในสมัยก่อนกลองยาวของแม่บ้าน ได้รับการติดต่อไปแสดงที่ต่างจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดสุโขทัย อุทัยธานี มีจำนวนผู้เล่นมากมีจำนวนหลายคน และในปัจจุบันนี้ บุคคลและคณะมีอายุมากแล้วไม่สามารถเล่นต่อไปได้เลยหยุดไปโดยปริยาย เพราะสังขารไม่ให้ และในส่วนของ ระบำคล้องช้าง รำโทน แม่ศรี รำเพลงพวงมาลัย ก็สามารถถ่ายทอดให้นักเรียน นักศึกษา ได้รับความรู้ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีโบราณเอาไว้ได้และสืบทอดเจตนารมณ์มาถึงทุกวันนี้ การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม อาจารย์มานพ ศิริไพบูลย์ อายุ 66 ปี เล่าว่า การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนั้นทางชุมชนบ้านปากคลองใต้ ได้ประสานงานกับ รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ในการจัดอบรมคุณธรรม จริยธรรม นักเรียน มีโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม และโรงเรียนเจริญสุข รวมระยะเวลาในการจัดอบรม จำนวน 2 คืน 3 วัน ระยะเวลาในการอบรมนั้นจะขึ้นอยู่กับเงินงบประมาณ หลังจากอบรมเสร็จแล้วมีประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนมาก ควรจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง โดยประสานงานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของพระวิทยากร เป็นผู้มีประสบการณ์มากและมีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กนักเรียน ชาวบ้านซึ่งมีความซาบซึ้ง มีจิตสำนึกในคุณธรรม จริยธรรมมากขึ้นและในชุมชนก็ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ เช่นวันพ่อ วันแม่ และวันพระ พระศรีวชิราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ การจัดทำลานวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับ เทศบาลตำบลนครชุม ได้จัดกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม บริเวณถนนสายชากังราว หน้าวัดพระบรมธาตุ โดยในส่วนของทางด้านสถาปัตยกรรม บ้านเรือนทรงโบราณ/ศิลปะสมัยโบราณ โดยขอความร่วมมือกับชุมชน/ชาวบ้าน ให้รักษาศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ นายเชิด นุ่มพรม นายเชิด นุ่มพรม เล่าว่า การจัดถนนสายวัฒนธรรม มีนักท่องเที่ยวมาชมพิพิธภัณฑ์ ถ้ามาเป็นกลุ่มไม่กระจายจะสามารถอธิบายประวัติและความเป็นมาได้ แต่ถ้าต่างคนต่างมาดูจะไม่สามารถอธิบายรายละเอียดได้ทั้งหมด โดยสถานที่ ณ วัดพระบรมธาตุ จะมีพวกพระเครื่อง เงิน และหม้อดิน ฆ้อง ซึ่งมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุ ศูนย์สารสนเทศ ห้องสมุดชุมชน ชาวชุมชนบ้านปากคลองใต้ มีห้องสมุดชุมชนที่สามารถให้บริการได้ ณ วัดพระบรมธาตุ ภายในศูนย์ ฯ ประกอบด้วย หนังสือ วารสาร เอกสาร หลักฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ พร้อมบริการ อินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ด้วย การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเริ่มต้นกันอย่างไร ความพอประมาณ นายเชิด ดาราน้อย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ได้เล่าว่า คณะกลองยาวจะมีรายได้จากเงินค่าจ้างค่าตอบแทนจำนวน 2,000 บาท กับคณะกลองยาว จำนวน 15 คน ก็จะแบ่งสันปันส่วนกันตามจำนวนเงินที่ได้รับ โดยจะไม่เก็บเข้ากองทุนหมู่บ้านแต่อย่างใด นางลำไย เทพสุวรรณ ได้เล่าว่า ชุดการแสดงพื้นบ้าน รายได้จากการแสดงชุดการแสดงพื้นบ้านได้เงินมาเท่าไหร่ก็จะแบ่งปัน โดยจะไม่แบ่งเข้ากองทุนจะแบ่งเท่ากันตามจำนวนเงินที่ได้รับ แนวทางการดำเนินงานของชุมชนบ้านปากคลองใต้ในอนาคต ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ชาวชุมชนบ้านปากคลองใต้ จะขับเคลื่อนชุมชนไปสู่ความสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในชุมชน โดยเน้น 1.การให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ไม่เกิดความขัดแย้ง ชุมชนปากคลองใต้ เป็นชุมชนที่มีความสามัคคี ทำงานร่วมกันหลายสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มแข็งทาง ด้านวัฒนธรรมอาทิ 1.1 การแสดงระบำคล้องช้าง 1.2 การแสดงรำแม่ศรี 1.3 การแสดงรำโทน 1.4 การแสดงรำเพลงพวงมาลัย 1.5 การแสดงกลองยาว 1.6 การทำอาหารพื้นบ้าน 1.7 ภาษาพื้นบ้าน 1.8 วัฒนธรรมทางการแต่งกาย 1.9 วัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น 1.10 การพิมพ์พระเครื่องจำหน่าย 1.11 การทำเครื่องปั้นดินเผา คลองสวนหมาก 2.มีความสามัคคี สมานฉันท์ ประชาชนชาวปากคลองใต้ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยครั้ง ทำให้มีความเข้าใจกันพึ่งพากันและการมีความสามัคคี สมานฉันท์ ทำให้สามารถดำเนินงานต่างๆได้อย่างประสบความสำเร็จ ในทุกเรื่อง 3.มีรายได้เพิ่ม ประชาชนชาวปากคลองใต้ ได้มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมบ่อยครั้งทำให้มีรายได้ในหมู่บ้านพอสมควรทำให้ ทุกคนอยู่ในฐานะดี มีความสุข กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งในที่สุด 4.มีงบประมาณสนับสนุน ประชาชนชาวปากคลองใต้ มีรายได้จากการแสดง ซึ่งได้รับจากหน่วยงานต่างๆ สม่ำเสมอและ จาก องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 5.การเสียสละของผู้นำชุมชน ผู้นำชุมชนปากคลองใต้ มีความเสียสละทั้งเงินทองและเวลาในการประสานงานติดต่อกัน ระหว่างรับงานการแสดง จากหน่วยงานต่างๆ 6.ผู้นำมีความเข้มแข็ง ผู้นำชุมชนปากคลองใต้มีความเข้มแข็ง มีหลายช่วง หลายสมัย แต่เดิมผู้ใหญ่บ้านจะเป็นศูนย์กลางของการนำ ต่อมาเปลี่ยนเป็น ภรรยาของผู้นำหมู่บ้าน และกลายเป็นคหบดีที่ผู้คนนับถือในที่สุด 7.ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ประชาชนชาวปากคลองใต้ จะมีอุดมการณ์ในการเสียสละ เมื่อมีรายได้จะแบ่งกัน โดยเป็นธรรม ไม่มีการเอาเปรียบกัน 8.ผู้นำมีคุณธรรมและจริยธรรม ผู้นำชุมชนปากคลองใต้ เป็นบุคคลที่อยู่ในศีลธรรมยึดมั่นในพระพุทธศาสนา อย่างเคร่งครัด ทำให้เป็นคนดี อย่างน่ายกย่อง ปัญหาต่างๆจึงไม่มี นุมชนแห่งนี้ สะพานเชื่อมชุมชน กำแพงเพชรและปากคลอง ประโยชน์จากการระดมทุน การระดมทุนของชุมชนบ้านปากคลองใต้ส่วนมากจะมาจาก 1 การแสดงพื้นบ้าน และกลองยาว และวัฒนธรรมอื่นๆ เมื่อได้มาแล้วจะนำมาตั้งเป็นกองทุน ในการดำเนินการให้กู้ยืม หรือสวัสดิการช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้าน ในงานสำคัญต่างๆ 2.งบ SML ได้รับงบประมาณ จากหน่วยงานของรัฐ มาดำเนินการจัดงานทางวัฒนธรรมให้ชุมชนเข้มแข็งยิ่งขึ้น 3.จาก อปท. (อบต./เทศบาล/อบจ.) เพื่อมาพัฒนาจัดการอบรม สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีให้เข้มแข็งมากขึ้น 4.ภาคเอกชน,ธุรกิจเอกชน,ภาครัฐจากส่วนราชการต่าง ๆที่ดำเนินการจัดการแสดง ทำเอกสารในการบันทึกงานทางวัฒนธรรมให้มีคุณค่ามากขึ้น โครงการส่งเสริมการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในชุมชน ของชุมชนบ้านปากคลองใต้ ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร จึงเกิดประโยชน์ต่อสังคม และคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องและสามารถดำเนินการให้เป็นแบบอย่างในการที่เป็นชุมชนเข้มแข็งทางด้านวัฒนธรรม นับว่าหาได้ยากยิ่ง ในสังคมไทยปัจจุบัน เรียน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้ถอดบทความการเรียนรู้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นตัว ร่าง ผอ.กลุ่ม ฯ ช่วยตรวจดูด้วยนะครับ จะเพิ่มเติม ประยุกต์ เสริมแต่งอย่างไรได้เลยนะครับ (นายสงัด อินทรวง) นักวิชาการวัฒนธรรม 7ว |