จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 20, 2025, 04:27:15 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1] 2 3 ... 10
 1 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2025, 04:11:36 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ฮืมฮืม??⭐️?ฮืมฮืม?ผู้ว่าฯกำแพงเพชร นำส่วนราชการ และเทศบาลเมืองกำแพงเพชรประกอบพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อหลักเมือง ในงานประเพณีสงกรานต์ 2568

             วันที่ 15 เม.ย.68 เวลา 08.29 น. ที่ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร นายชาธิป รุจนเสรี  ผู้ว่าราชการจังวัดกำแพงเพชร เป็นประธานนำหัวหน้าส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร เพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2568 โดยมี นางกาญจนี รุจนเสรี  นายกเหล่ากาชาดจังหวัดฯ , นายวุฒิชัย ศุภอรรถพานิช นายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกำแพงเพชร, หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ข้าราชการ พนักงานและเจ้าหน้าที่สังกัดเทศบาลเมืองกำแพงเพชร และประชาชนเข้าร่วมในพิธี 
           
              ภายในพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร (ประธานในพิธี) จุดเทียนธูปบูชาด้านหน้าโต๊ะเครื่องสังเวย และเทียนชัยขันน้ำสาครต้นกลางปรัมพิธี และคณะผู้บริหาร จุดเทียนลำดับวิปัสสี 8 ต้น จากนั้นพราหมณ์ในพิธีเริ่มประกอบพิธี ก่อนเชิญประธานในพิธี และคณะ ร่วมปักธูปลงที่เครื่องสักการะสังเวย บายศรี พร้อมโปรยข้าวตอกดอกไม้  ขณะที่ ประธานพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เริ่มจุดเทียนธูปเปิดกรวยสักการะ ด้านบนศาลหลักเมือง ถวายพวงมาลัย ผ้าสามสี และสรงน้ำจากสังข์ลงที่เสาหลักเมืองและเศียรพระเทพารักษ์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะ เป็นการสมโภชน์เสาหลักเมือง ตามคติประเพณีโบราณแบบราชนิยม เป็นอันเสริจพิธี

 2 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2025, 04:10:34 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
=== พิธีปล่อยขบวนรถแห่ผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ในงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๔ กิจกรรม “สงกรานต์ เย็นสบาย สายน้ำปิง” ===

วันจันทร์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๘  เวลา ๑๔.๓๐ น. นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถแห่ผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ่านถนนสายราชดำเนิน ๑ และ ถนนเทศา ๒ ไปยังวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ในงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๘ กิจกรรม “สงกรานต์ เย็นสบาย สายน้ำปิง” โดยมีนายอนุพันธ์ พานิช ท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชร นายปริญญา ถวัลย์อรรณพ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นการร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมานาน ด้วยเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ภายใต้การนำของนายวุฒิชัย ศุภอรรถพานิช นายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร ได้ตระหนักถึงการสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้ดำรงอยู่สืบไป จึงได้จัดงานนี้ขึ้น เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป อีกทั้งให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของของไทย และท้องถิ่นเมืองกำแพงเพชร และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำหรับการจัดงานประเพณีฯ โดยเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ได้ร่วมบูรณาการการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ร่วมกับจังหวัดกำแพงเพชร กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร และภาคเอกชน ร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าว ระหว่างวันที่  ๙ - ๑๕ เมษายน ๒๕๖๘
โดยรถขบวนได้ถูกตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้สีสันสวยงามเข้ากับบรรยากาศสงกรานต์ ชาวชุมชนต่างแต่งกายด้วยชุดไทย ร่วมแห่ห่มผ้าองค์เจดีย์พระบรมธาตุ เป็นพิธีเก่าแก่ที่สืบทอดมาหลายสิบปีของชาวเมืองกำแพงเพชร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เคลื่อนขบวนจากบริเวณหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ไปตามถนนสายหลักของตัวเมืองกำแพงเพชร ท่ามกลางประชาชนที่เล่นสาดน้ำกันทั้งสองข้างทาง ได้ร่วมสรงน้ำพระและร่วมขบวนแห่ผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ตลอดเส้นทางถนน ราชดำเนิน ๑ และถนนเทศา ๒ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมสำคัญนี้ ก่อนที่ขบวนจะเดินทางข้ามสะพานแม่น้ำปิง ไปยังวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และได้ถวายผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ แด่พระเมธีวชิรภูษิต เจ้าคณะอำเภอทรายทองวัฒนา ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง จากนั้นจึงห่มผ้ารอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรม
ในการนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมร่วมเดินขบวนแห่ฯ และร่วมถวายผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ณ สถานที่ดังกล่าว

 3 
 เมื่อ: เมษายน 11, 2025, 10:07:41 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
=== การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบบทการแสดงแสง สี เสียง โครงการสร้างกิจกรรมรองรับการท่องเที่ยว กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ครั้งที่ ๓/๒๕๖๘ ===

วันศุกร์ที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๘  เวลา ๑๓.๓๐ น.
นายสันติ อภัยราช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบบทการแสดงแสง สี เสียง โครงการสร้างกิจกรรมรองรับการท่องเที่ยว กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ครั้งที่ ๓/๒๕๖๘ โดยมีนายปริญญา ถวัลย์อรรณพ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ด้วยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร ได้กำหนดจัดการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้โครงการสร้างกิจกรรมรองรับการท่องเที่ยว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ “กำแพงเพชร เพริศแพร้ว เทิดศรัทธา พระบารมี สดุดีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๖ เมษายน ๒๕๖๘ เพื่อพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้มีความหลากหลาย กระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในท้องถิ่น โดยมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมือง มรดกโลกทางวัฒนธรรมเป็นกลไกในการสร้างรายได้ เกิดการกระจายรายได้ในระดับเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกำแพงเพชร โดยที่นักท่องเที่ยว ประชาชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ ร่วมเป็นสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในที่ประชุมได้มีการพิจารณารายละเอียดบทการแสดง เพื่อให้การแสดงมีความสมบูรณ์ และถูกต้องตามประวัติศาสตร์
ในการนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

#สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
#สาสน์ศิลป์วัฒนธรรมกำแพงเพชร

 4 
 เมื่อ: เมษายน 09, 2025, 08:19:46 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
https://phetkamphaengnews.com/archives/36656

แถลงข่าวเตรียมจัด แสง สี เสียง ยิ่งใหญ่! เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปลุกชีวิตเมืองมรดกโลก

      วันที่ 8 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ กำแพงเพชร ชั้น 2 อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ได้มีการแถลงข่าวการเตรียมจัดงานแสดงแสง สี เสียง สุดตระการตา เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายใต้ชื่อ “กำแพงเพชร เพริศแพร้ว เทิดศรัทธา พระบารมี สดุดี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”  โดยมี นายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธาน พร้อมด้วย นายปริญญา ถวัลย์อรรณพ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร, นายอภินนัท์ มุสิกพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร, อ.อมรศักดิ์ กุลสุ และ อ.สันติ อภัยราช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม ร่วมการแถลงข่าว

      รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เน้นย้ำความโดดเด่นของจังหวัดในฐานะเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีโบราณสถานงดงาม ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และวิถีชุมชนที่น่าสนใจยังคงกลิ่นไอของความเป็นไทยแบบดั้งเดิม จึงสามารถผสานการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างลงตัว มุ่งหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น

      ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการจัดงานคือการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์และคุณค่าของเมืองกำแพงเพชรผ่านการแสดงแสง สี เสียง และสื่อผสมที่ตระการตา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสเสน่ห์ของเมืองมรดกโลกแห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลก ประจำปีงบประมาณ 2568

      วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวถึงพื้นเพของชาวกำแพงเพชรที่เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำปิง มีเอกลักษณ์ด้านหัตถกรรม เกษตร และประเพณีท้องถิ่นที่น่าภาคภูมิใจ รวมถึงบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเฉพาะในยุคสุโขทัยและสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

      ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม ได้กล่าวเสริมถึงความสำคัญของกำแพงเพชรในอดีต ที่เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญเชื่อมโยงสุโขทัยและอยุธยา มีโบราณสถานมากมายที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรือง จนได้รับการยกย่องเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ระดับโลก รวมถึงความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับเมืองกำแพงเพชร ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติและสร้างความภาคภูมิใจในแผ่นดินไทย

      จังหวัดกำแพงเพชรมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าการจัดกิจกรรมแสดงแสง สี เสียง ในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความน่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวกำแพงเพชรในฐานะ “ผู้สืบสานอารยธรรมลุ่มน้ำปิง” อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

 5 
 เมื่อ: เมษายน 01, 2025, 08:35:43 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
วันเสาร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวชิรเมธี (วีระ วรปญฺโญ ป.ธ.๙, ผศ.ดร.) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง และผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์กำแพงเพชร ณ เมรุชั่วคราววัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
เวลา ๐๙.๐๐ น.  เชิญหีบศพออกตั้งบำเพ็ญกุศล ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานหีบทองทึบประกอบศพ ณ ศาลาธรรมจักรซันเดย์ วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง
เวลา ๑๖.๐๐ น.  เชิญหีบศพเวียนเมรุ แล้วเชิญขึ้นตั้งบนจิตกาธาน โดยได้รับความเมตตาจากพระเทพวัชรสิทธิเมธี เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง พร้อมด้วย พระครูวชิรปัญญากร รองเจ้าคณะจังหวัด ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดบ่อสามแสน พระครูวชิรคุณพิพัฒน์ รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดถาวรวัฒนา(ใต้) เดินนำหีบศพเวียนเมรุ คณะสงฆ์ ข้าราชการ ผู้นำท้องที่ และพุทธศาสนิกชน ร่วมในพิธี
ในการนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมพิธีเชิญหีบศพเวียนเมรุ อีกทั้งกำกับดูแลการปฏิบัติงาน โดยมอบหมายให้ นายศุภชัย พูลสมบัติ นายภาณุสิทธิ์ ทะสน นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ พร้อมด้วย พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี และพนักงานขับรถ กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ปฏิบัติหน้าที่ตามหมายรับสั่งที่ ๑๓๔๓ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๘ ในการตั้งแต่งเครื่องเกียรติยศประกอบศพ (หีบทองทึบ) และเชิญหีบทองทึบประกอบศพเวียนเมรุ ทั้งนี้ จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันอาทิตย์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๘
ผลการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสมพระเกียรติ

ติดต่อสอบถามเรื่องการขอพระราชทานเกี่ยวกับพิธีการศพได้ที่
ห้องงานประสานขอพระราชทานเพลิง ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร ชั้น ๑
ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.
โทร. ๐๖-๒๔๕๑-๙๔๗๘
#ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ภาพและข้อมูล : กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานจังหวัดกำแพงเพขร

 6 
 เมื่อ: มีนาคม 21, 2025, 05:37:21 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ตอนที่ ๑๔

เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๑๔ : ช่วงเวลา “๕ ปีชม” ของหลวงตาเอกแห่งวัดพระบรมธาตุ

หลังจากช่วงเวลาแห่งการพัฒนาวัดพระบรมธาตุ “๕ ปีซ่อม ๕ ปีสร้าง ๕ ปีสวย” รวมเป็น เวลา ๑๕ ปีผ่านไป ในช่วงจากปี พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๕ ผู้เขียนขอเรียกว่าช่วงเวลานี้ว่า “๕ ปีชม” เพราะเป็นช่วงที่ทุกอย่างภายในวัดเริ่มลงตัว เป็นห้วงเวลาที่หลวงพ่อไม่ได้ทุ่มเทกับการก่อสร้าง มากมายเหมือนก่อนหน้านี้ และเป็นช่วงคุณงามความดีที่หลวงพ่อได้สั่งสมมาเริ่มผลิดอกออกผล หรือได้รับอานิสงส์แห่งบุญนั้น

ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุยังได้อนุรักษ์ฟื้นฟู กิจกรรมงานบุญต่าง ๆ ของวัดพระบรมธาตุให้คงอยู่คู่กับวัดและชุมชน พยายามจัดกิจกรรมงาน บุญตลอดทั้งปีเพื่อไม่ให้ชาวบ้านกับวัดมีความห่างเหินกัน แต่การทำบุญของหลวงพ่อไม่ใช่การ เปิดรับบริจาค ขอเพียงแค่คนมาร่วมงานที่วัดจัดขึ้นก็พอแล้ว งานบุญสำคัญของวัดพระบรมธาตุใน ตลอดระยะเวลา ๑ ปีนั้น เริ่มต้นจากงานไหว้พระบรมธาตุ เพ็ญเดือน ๓

งานประจำปีไหว้พระบรมธาตุ เพ็ญเดือน ๓ มีมาตั้งแต่เมื่อไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ผู้สูงอายุชาวนครชุมได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ประเพณีไหว้พระบรมธาตุนครชุมในวันเพ็ญเดือน ๓ เท่าที่จำความได้ก็มีมาช้านานแล้ว โดยทางวัดพระบรมธาตุจะจัดงานขึ้น และพุทธศาสนิกชนใน จังหวัดกำแพงเพชรก็จะรับรู้โดยทั่วกันว่า ช่วงวันเพ็ญเดือน ๓ จะต้องเดินทางมาไหว้พระบรมธาตุ นครชุมหรือมาเที่ยวงานไหว้พระบรมธาตุนครชุมเป็นประจำทุกปี ซึ่งทางวัดพระบรมธาตุจะจัดงาน ขึ้นในช่วงระหว่างวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงแรม ๓ ค่ำเดือน ๓ ของทุกปี ในลานพระบรมธาตุจะมีซุ้มต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญ เช่น ซุ้มถวายสังฆทาน ซุ้มตักบาตรประจำวันเกิด ซุ้มตัก บาตร ๑๐๘ ซุ้มสวดนพเคราะห์สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ซุ้มบูชาวัตถุมงคล ซุ้มผ้าป่าสนับสนุน การศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นต้น ในงานประเพณีดังกล่าวจึงเป็นงานบุญอันยิ่งใหญ่ที่เปิด โอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญพร้อม ๆ กับการไหว้ขอพรองค์พระบรมธาตุนครชุมด้วย

ส่วนกลางคืนนั้น ก็จะมีมหรสพสมโภชตลอดทุกคืน เช่น ลิเก หนังกลางแปลง รำวงย้อน ยุค และการแสดงที่เวทีกลางซึ่งจะเป็นการแสดงของเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัด กำแพงเพชรที่ส่งนักเรียนมาร่วมแสดงสมโภชองค์พระบรมธาตุนครชุมในช่วงงานประจำปี มหรสพ ต่างๆ จะยุติลงในเวลาประมาณเที่ยงคืนของทุกคืน และตลอดช่วงงานประเพณีจะมีร้านค้ามากมาย มาตั้งร้านจำหน่ายสินค้า ทั้งสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP สินค้าจากโรงงาน อาหารเครื่องดื่มและ ข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป

นอกจากนี้ ในช่วงงานประเพณีไหว้พระบรมธาตุนครชุมยังมีการเผาข้าวหลาม “มหกรรม เผาข้าวหลามภูมิปัญญาไทย” จำหน่ายเพื่อนำรายได้ร่วมทำบุญกับทางวัดพระบรมธาตุด้วย ทำให้“ข้าวหลาม” เป็นเอกลักษณ์และของฝากสำคัญของงานประเพณีไหว้พระบรมธาตุนครชุมไปแล้ว เพราะในรอบ ๑ ปี จะมีการเผาข้าวหลามเพียง ๕ วัน เฉพาะช่วงงานประเพณีเท่านั้น เดิมทีก่อน หน้าที่หลวงพ่อจะมาอยู่วัดพระบรมธาตุนั้น การเผาข้าวหลามจะทำอยู่บ้านใครบ้านมัน แล้วค่อย เอามารวมกันทำบุญที่วัด เมื่อหลวงพ่อมาอยู่จึงสนับสนุนไม้ไผ่และมะพร้าวสำหรับทำกะทิ พร้อม ทั้งชวนให้ชาวบ้านมาเผาข้าวหลามรวมกันอยู่ภายในวัด แต่ละปีข้าวหลามจะถูกเผาเป็นจำนวนมาก ขูดมะพร้าวคั้นกะทิ แช่ข้าวและเผากันสด ๆ ร้อน ๆ ภายในวัด ทำให้ข้าวหลามมีความสดใหม่และ อร่อยหวานมันเป็นเอกลักษณ์ แต่ละปีจะมีผู้คนมาเข้าคิวรอซื้อข้าวหลามเป็นจำนวนมาก

ในพิธีเปิดงานไหว้พระบรมธาตุ เพ็ญเดือน ๓ หลวงพ่อจะให้มีการนิมนต์พระเดชพระคุณ พระเทพวัชราภรณ์ (เฉลิม วีรธมฺโม ป.ธ. ๕) เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ อำเภอเมืองกำแพงเพชร มาเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และชัยมงคลถาคาในพิธีเปิดงานเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคณะสงฆ์ฝ่าย มหานิกายและธรรมยุติกนิกายในจังหวัดกำแพงเพชรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะเป็นสาวก ของพระพุทธเจ้า ภายหลังพระเทพวัชราภรณ์ได้ลาออกจากตำแหน่งและย้ายไปจำพรรษาที่วัด ประชาบำรุง จังหวัดมหาสารคาม ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ หลวงพ่อก็ให้นิมนต์พระครูปัญญาสัตติคุณ (ณรงค์ศักดิ์ จิตฺวํโส) เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) วัดไพรสณฑ์รัตนาราม อำเภอ คลองลาน (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระสุนทรวชิราจารย์) มาเป็นประธานสงฆ์ในพิธีนี้แทน

ประเพณีก่อพระทราย จัดขึ้นในช่วงวันตรุษไทย คือวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ จะมีการนำ ทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำปิงมาก่อเป็นเจดีย์ทราย แล้วประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และกระดาษสีให้เกิด ความสวยงาม

ประเพณีสงกรานต์ ทางวัดพระบรมธาตุจะจัดกิจกรรมเป็นเวลา ๓ วัน วันแรกตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน จะมีกิจกรรมก่อเจดีย์ทราย วันที่สองตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ช่วงเช้าจะมีกิจกรรม ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้กับอดีตเจ้าอาวาสวัดและทำบุญรวมญาติ ช่วงบ่ายจะมีกิจกรรม สรงน้ำพระ ซึ่งหลวงพ่อจะเปิดโอกาสให้ญาติโยมสรงน้ำขอพรได้ในช่วงเวลานี้ และวันที่สามตรงกับ วันที่ ๑๔ เมษายน ช่วงกลางวันจะมีพิธีแห่ผ้าห่มองค์พระบรมธาตุ ช่วงเย็นจะมีพิธีก่อพระทรายน้ำ ไหล โดยนำทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำปิงมาก่อเป็นเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และ กระดาษสีให้เกิดความสวยงาม จากนั้นก็จะมีการถวายพระทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง

วันที่ ๒๒ - ๒๓ มิถุนายนของทุกปี นับตั้งแต่สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรม ราชาลิไทยแล้วเสร็จ หลวงพ่อมีดำริให้จัดงานวันสถาปนาพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรม ราชาลิไทย และรำลึกการสถาปนาพระบรมธาตุนครชุม ในงานจะเป็นกิจกรรมแบบงานวัดทั่วไปในช่วงเย็นวันที่ ๒๒ มิถุนายนจะมีกิจกรรมรำบวงสรวงดวงพระวิญญาณพระมหาธรรมราชาลิไทย ภาคค่ำจะมีมหรสพสมโภช เช่น ลิเกหรือการแสดงของนักเรียนจากโรงเรียนในเขตใกล้เคียง ช่วง เช้าวันที่ ๒๓ มิถุนายนจะมีกิจกรรมทำบุญตักบาตร และช่วงบ่ายจะมีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ พระมหาธรรมราชาลิไทย ระยะแรกงานนี้หลวงพ่อใช้งบประมาณทางวัดจัดขึ้น ต่อมาทางองค์การ บริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้สนับสนุนงบประมาณบางส่วน และในงานนี้จะมีการทำบุญแจก ทานข้าวสารอาหารแห้งอีกด้วย

วันที่ ๙ - ๑๒ สิงหาคมของทุกปี หลวงพ่อดำริให้มีการจัดงานบวชศีลจารินีเฉลิมพระ เกียรติ ๑๒ สิงหามหาราชินี โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนมาบวชศีลจารินีรักษาศีล ๘ เข้าพัก ปฏิบัติธรรมอยู่ภายในวัด ทุกปีมีผู้มาร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติปีราวละ ๑๒๐ - ๒๐๐ คน วันที่ ๒๕ สิงหาคมของทุกปี หลวงพ่อดำริให้มีการจัดงานรำลึก ร. ๕ เสด็จประพาสต้น เนื่องจากใน
วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรและทรงนมัสการพระบรมธาตุนครชุม ทุกปีหลวงพ่อจึงให้มี การจัดงานรำลึกทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล บางปีในช่วงกลางวันก็จัดให้มีการละเล่น พื้นบ้าน และจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ

ช่วงเทศกาลกินเจของแต่ละปี หลังจากที่มีเจ้าภาพถวายรูปเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากไม้ หอมกฤษณาขนาดใหญ่ และทางวัดได้สร้างวิหารแปดเหลี่ยมประดิษฐานไว้ด้านหลังอาคารตลาด น้ำนครชุมในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ทางวัดก็จะมีการจัดทำโรงครัวเจ เพื่อรองรับผู้ที่ถือศีลกินเจและ เดินทางมาขอพรเจ้าแม่กวนอิมไม้หอมกฤษณา

วันสารทไทย ซึ่งตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ถือเป็นงานบุญสำคัญของวัดที่หลวงพ่อ ดำริให้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก่อนวันสารทไทยจะมีการทำข้าวต้มลูกโยนตลอดทั้งวัน ในเช้า วันงานจะมีการบิณฑบาตกระยาสารท กล้วยไข่ และข้าวต้มลูกโยน หลังพระภิกษุสามเณรฉัน ภัตตาหารเช้าเสร็จก็จะเป็นพิธีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ตลอดทั้งวันทั้งคืน โดย หลวงพ่อมักจะขึ้นแสดงธรรมกัณฑ์ทศพรเป็นกัณฑ์แรก จากนั้นก็จะเป็นพระธรรมกถึกแสดงธรรม ต่อเนื่องกันไปจนถึงรุ่งเช้า แต่ละปีก็จะนิมนต์พระธรรมกถึกทั้งภายในวัดและวัดอื่นที่มีชื่อเสียงใน การเทศน์เฉพาะกัณฑ์มาแสดงธรรม

วันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ช่วงเช้าก็จะมีการทำบุญและตักบาตร เทโวโรหณะที่ลานพระบรมธาตุ และวันลอยกระทง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ช่วงเย็นก็จะมีการ ทอดผ้าป่าแถว และช่วงค่ำก็จะมีกิจกรรมลอยกระทงสายกาบกล้วยที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง

วันที่ ๓ - ๖ ธันวาคมของทุกปี หลวงพ่อดำริให้มีการจัดงานบวชศีลจารินีเฉลิมพระเกียรติ ๕ ธันวามหาราช (ภายหลังเปลี่ยนเป็นงานถวายพระราชกุศลแทน) โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนมาบวชศีลจารินีรักษาศีล ๘ เข้าพักปฏิบัติธรรมอยู่ภายในวัด ทุกปีมีผู้มาร่วม กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติปีราวละ ๑๒๐ - ๒๐๐ คน

วันที่ ๓๑ ธันวาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะมีพิธีเจริญพระพุทธ มนต์ ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ ซึ่งหลวงพ่อมีดำริให้จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีขึ้น เป็นวัดแรก ๆ ในประเทศไทย โดยจะเริ่มมีการสวดมนต์ตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐ น. เป็นต้นไป เมื่อถึง เที่ยงคืนจะมีการตักบาตรเที่ยงคืนด้วยเมล็ดถั่ว งา ข้าวเปลือก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดม สมบูรณ์และเจริญงอกงาม ในคืนนี้ก็จะมีญาติโยมส่วนหนึ่งมาตั้งโรงทานตลอดคืน โดยเฉพาะโรง ทานปลากริมไข่เต่าจากชุมชนเจดีย์หัก จังหวัดราชบุรี ที่มีศรัทธาในตัวหลวงพ่อจะขึ้นมาทำโรงทาน แทบทุกปี เป็นที่รอคอยลิ้มรสของชาวกำแพงเพชรเป็นอย่างมาก

ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วัดวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวัน อาสาฬหบูชา ช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร แสดงพระธารรมเทศนา ๑ กัณฑ์ ในเนื้อหาที่ เกี่ยวข้องกับวันสำคัญนั้น ๆ ปกติแล้วหลวงพ่อมักจะเป็นผู้แสดงพระธรรมเทศนาด้วยตนเอง ช่วง ค่ำก็จะมีพิธีเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ ซึ่งที่วัดพระบรมธาตุจะมีพิธีเวียนเทียนในเวลา ๒๐.๐๐ น. เนื่องจากหลวงพ่อเห็นว่าเป็นช่วงที่อากาศบริเวณลานพระบรมธาตุเริ่มเย็น พื้น กระเบื้องไม่ร้อนมาก และพุทธศาสนิกชนสามารถกินข้าวมื้อค่ำแล้วค่อยมาเวียนเทียนได้ จะได้ไม่ รีบร้อนมากนัก ส่วนวันวิสาขบูขาจะแตกต่างจากวันอื่นเล็กน้อยเพราะจะมีพิธีถวายสลากภัตต์ด้วย และในวันเข้าพรรษาก็จะมีโยมแอ๊ด (ผู้เขียนจำชื่อจริงไม่ได้) จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นำ ดอกเข้าพรรษาจากแม่สอดมาถวายหลวงพ่อ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนที่มา ทำบุญได้ใช้เวียนเทียนเป็นประจำทุกปี

ในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ในทุกบ่ายวันอาทิตย์หลวงพ่อจะจัดให้มีการเทศน์มหาชาติ เฉลิมพระเกียรติไปจนตลอดทั้งพรรษา และมีการถ่ายทอดเสียงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจาย เสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดกำแพงเพชร (สวท. 97.25 Mhz) อีกด้วย

นอกจากกิจกรรมของทางวัดที่มีวันจัดงานเป็นที่แน่นอนดังกล่าวมานี้แล้ว ยังมีงานบุญอื่น ที่กำหนดวันไม่ได้แน่นอน เช่น พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และงานบุญอื่น ๆ ที่มักจะมีการ จัดขึ้นอยู่เนือง ๆ เนื่องจากวัดพระบรมธาตุเป็นสถานที่จัดงานสำคัญ ๆ ของทางหน่วยงาน บ้านเมืองและคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร ที่สำคัญคือทุกงานหลวงพ่อจะอยู่เป็นประธานสงฆ์โดย ตลอด และทุกงานหลวงพ่อจะกำกับดูแลการจัดกิจกรรมด้วยตัวเอง ภาพหลวงพ่อร่วมกับพระภิกษุ สามเณรและญาติโยมร่วมกันเตรียมงานด้วยตัวท่านเอง ไม่ทอดทิ้งคนทำงาน งานเสร็จดึกหลวงพ่อ ก็จะอยู่ด้วยจนดึก เป็นภาพที่ชินตาของชาวนครชุมและศิษยานุศิษย์ ไม้กวาดและอุปกรณ์สำหรับ การทำความสะอาดและพัฒนาด้านอาคารสถานที่จะอยู่ที่ท้ายรถไฟฟ้า (รถกอล์ฟ) ซึ่งเป็นรถส่วนตัวที่หลวงพ่อใช้ขับสำหรับตรวจการณ์ภายในวัดเสมอ เมื่อเจอจุดไหนที่ไม่สะอาดหรือไม่ เรียบร้อย หลวงพ่อก็จะจอดรถและใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจากท้ายรถลงมือทำความสะอาดทันที

ช่วงเวลานี้ หลวงพ่อก็ยังไม่หยุดการพัฒนาตัวเอง ได้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตร บัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่เปิดทำ การเรียนการสอน เน้นผู้เรียนที่เป็นพระสังฆาธิการและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป เนื่องจากสามารถเทียบโอนได้ หลวงพ่อสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๕๖๑

หลังจากหลวงพ่อสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์แล้ว ก็ สมัครเข้าเรียนต่อในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย หลังจากเรียนภาคทฤษฎีจบตามหลักสูตรกำหนด หลวงพ่อก็เริ่มอาพาธ ช่วงเวลาที่แข็งแรงขึ้นก็พยายามที่จะทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จการศึกษา แต่ทว่าในช่วงต้นเดือน ตุลาคม ๒๕๖๒ ศาสตราจารย์ พล.ต.ท. หญิง ดร. นัยนา เกิดวิชัย ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา วิทยานิพนธ์ก็ถึงแก่กรรม หลวงพ่อก็มีอาการทรุดลงตามลำดับ จึงไม่อาจที่จะทำวิทยานิพนธ์ให้ สำเร็จการศึกษา แต่ถึงกระนั้นหลวงพ่อก็รักษาสภาพนิสิตไว้โดยตลอด

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๑๕
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม

 7 
 เมื่อ: มีนาคม 21, 2025, 05:30:48 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๑๓ : (ต่อ) แนวทางพัฒนาวัดพระบรมธาตุ : “๕ ปีซ่อม ๕ ปีสร้าง ๕ ปีสวย”

๕ ปีสวย (ต่อ)
เมื่อถมดินเสร็จทางจังหวัดกำแพงเพชรก็ได้ดำเนินการสร้างอาคารตลาดน้ำนครชุม เป็น อาคารโถง กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร เพื่อใช้ประโยชน์ในการให้ชาวบ้านมาค้าขายผลิตภัณฑ์ ในชุมชน และได้สร้างอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ชั้นเดียว เพื่อใช้ ประโยชน์ในการบริการนักท่องเที่ยว และเผยแพร่องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในแนวขนานกัน กับอาคารตลาดน้ำนครชุม ปัจจุบันใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์ที่ทั้งทางวัดพระบรมธาตุ หน่วยงาน ราชการและชุมชนได้ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะใช้เป็นที่จัดกิจกรรมประชุมสัมมนา นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการสร้างห้องน้ำสำหรับบริการนักท่องเที่ยวจำนวน ๒ ห้อง เป็นอาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ พื้นปูด้วยเซรามิคอย่างดี ไว้ในบริเวณดังกล่าวด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เกิดรัฐประหารขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมโดยคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ หลัง รัฐประหารมีการการชุมนุมและเคลื่อนไหวในทางการเมือง กิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ ในชุมชนก็งดไป ปีนั้นหลวงพ่อจึงปรารภกับผู้ว่า ฯ สุรพลว่า อยากสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชา ที่ ๑ หรือพญาลิไทย ผู้ทรงสถาปนาพระบรมธาตุนครชุมและต้นพระศรีมหาโพธิ์เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์และรักษาความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของ วัดพระบรมธาตุไว้ ซึ่งทางผู้ว่า ฯ สุรพลก็เห็นด้วยและอนุมัติงบประมาณจำนวน ๓.๕ ล้านบาทเป็น ทุนตั้งต้น จากนั้นหลวงพ่อก็ได้ระดมทุนเพิ่มเติมโดยการสร้างวัตถุมงคลพระบูชาและพระกริ่งพระ พุทธมหาธรรมราชา พระบรมธาตุจำลองขนาดต่าง ๆ และพระพิมพ์เนื้อโลหะและเนื้ออิฐ ๗๐๐ ปี รวมทั้งสร้างพระบรมรูปพระมหาธรรมราชาลิไทยขนาดบูชา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้บริจาค บูชาระดมทุนเพื่อจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วย

การวางศิลาฤกษ์สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาลิไทยจัดขึ้นวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ซึ่งตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรและ ทรงนมัสการพระบรมธาตุนครชุมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ซึ่งหลวงพ่อได้ขออนุญาตทางราชการจัดเป็น งานใหญ่เรียกว่า “งานเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย” ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ในงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่เคยเสด็จพระราช ดำเนินมายังพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร มีกิจกรรมเสวนาทางวิชาการในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนมี กิจกรรมรื่นเริงโดยวงดนตรีของทหารพราน

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับทีมงานของเครือข่ายสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรจัดทำบ้านดินตัวอย่าง และจัดนิทรรศการทางการเกษตรทฤษฎีใหม่อีกด้วย ซึ่งภายหลังหลวงพ่อได้มีส่วนสำคัญในการ ช่วยเหลือและส่งเสริมการทำกิจกรรมของเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มนี้ ทั้งเข้าร่วมกิจกรรม สนับสนุนงบประมาณ ที่สำคัญคือ ในการจัดสวนหย่อมรอบลานพญาลิไทย เพื่อรับสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ณ วัดพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ หลวงพ่อก็ได้มอบหมายให้เครือข่ายเกษตรกรกลุ่มนี้มาเป็นผู้ดำเนินการจัดสวน ด้วยความไว้วางใจ

มูลเหตุในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาลิไทยในครั้งนี้ หลวงพ่อเล่า ไว้ในคำอนุโมทนาในหนังสือ “พระมหาธรรมราชาลิไทย ปฐมมหาธรรมราชาแห่งอาณาจักร สุโขทัย” ซึ่งเป็นหนังสือที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาและเรียบเรียงขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ณ วัดพระบรมธาตุ และมีคุณครูเพ็ญรำเพย ขวัญวงศ์ เป็นเจ้าภาพ จัดพิมพ์จำนวน ๔,๐๐๐ เล่ม สิ้นงบประมาณจัดพิมพ์จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ไว้ว่า

“หลวงพ่อพระมหาสุธีร์ เขมจารี อดีตเจ้าอาวาสวัดสหราษฎร์รังสรรค์ ซึ่งเคยจำพรรษาอยู่ ที่วัดพระบรมธาตุมาก่อน ได้ปรารภสมัยที่อาตมามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุใหม่ ๆ ว่า ขอให้ดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไทย) ให้สำเร็จ ด้วย เพราะจักได้ตอบแทนคุณูปการของพระองค์ท่านที่มีต่อวัดพระบรมธาตุ นครชุม และจังหวัด กำแพงเพชร และพระองค์เป็นพระราชาผู้ทรงธรรมควรแก่การรำลึกถึง เป็นต้นแบบแห่งการ ประพฤติปฏิบัติธรรม ตั้งแต่นั้นมาก็ตั้งปณิธานไว้ว่าจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พญาลิไทยให้ สำเร็จ จวบจนท่านสุรพล วาณิชเสนี มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จึงได้ร่วมกัน สร้างจนสำเร็จ นับเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่ควรจดจำไว้ชั่วกาลนาน”

การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาลิไทยสำเร็จได้นั้น กล่าวได้เลยว่า ท่านผู้ว่า ฯ สุรพล เป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง แม้จะย้ายไปรับราชการเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทยแล้วแต่ก็ยังควบคุมและประสานงานการสร้างพระบรมราชานุสาวรียืในทุก โอกาสดังปรากฏในคำนิยมของผู้ว่า ฯ สุรพล วาณิชเสนี ในหนังสือ “พระมหาธรรมราชาลิไทย ปฐมมหาธรรมราชาแห่งอาณาจักรสุโขทัย” ว่า

“ถึงแม้ว่าจะได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยก็ตาม แต่การ ควบคุมและประสานงาน การขออนุญาตการก่อสร้างจากกรมศิลปากร การก่อสร้างฐานและการ ออกแบบองค์พญาลิไทยก็ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง แม้การขึ้นหุ่นเพื่อเตรียมการหล่อก็ต้องคอยอาศัย ช่างของกรมศิลปากร คือช่างอัษฎายุทธ์ อยู่เย็น เป็นผู้ออกแบบและมาคอยควบคุมมิให้ผิดเพี้ยนได้ โดยคำนึงถึงความเป็นพระราชาผู้ทรงธรรม ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา นักรบ ใบหน้า ออกเมตตา ในพระหัตถ์ถือคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง แม้แต่เครื่องทรงก็ต้องศึกษาจากประวัติศาสตร์ เพื่อให้ตรงกับยุคของพญาลิไทย”

องค์พระบรมรูปพระมหาธรรมราชาลิไทยหล่อด้วยโลหะทองเหลืองรมดำ ขนาดสูงสองเท่า ครึ่งของคนจริง ออกแบบโดยนายอัษฎายุทธิ์ อยู่เย็น นายช่างกรมศิลปากร ทำพิธีเททองหล่อ ณ โรงหล่อประติมาไฟน์อาร์ท จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๐ และได้ทำพิธีอัญเชิญ พระบรมรูปประดิษฐานบนฐานสูง ๗ เมตรเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ซึ่งตรงกับวันที่พระมหา ธรรมราชาลิไทยทรงสถาปนาพระบรมธาตุนครชุมตามที่ปรากฏในจารึกนครชุม พ.ศ. ๑๙๐๐ พร้อมกันนี้ หลวงพ่อยังได้สร้างลานพญาลิไทย กว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร เพื่อปรับภูมิทัศน์ สิ้นงบประมาณในการจัดสร้างทั้งสิ้นราว ๗.๕ ล้านบาท

นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้ร่วมกับจังหวัดกำแพงเพชรและสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดกำแพงเพชรสร้างห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี อำเภอเมืองกำแพงเพชร ภายในพื้นที่ ของวัดพระบรมธาตุ ทางทิศตะวันออกของลานพญาลิไทย เหตุที่หลวงพ่อให้สร้างห้องสมุด ประชาชนในพื้นที่วัดนั้น เพราะหลวงพ่อเล็งเห็นความสำคัญของห้องสมุดที่ต้องควบคู่ไปกับ สถาบันการศึกษา เนื่องจากภายในวัดพระบรมธาตุมีสถานศึกษาถึง ๓ แห่ง ได้แก่ หน่วยวิทย บริการ ฯ มจร จังหวัดกำแพงเพชร โรงเรียนวัดพระบรมธาตุ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม “ธรรม กิตติวงศ์” นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าเยื้องกับวัดยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคมซึ่ง เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร การที่มีห้องสมุด ประชาชนอยู่ใกล้ ๆ นั้นก็จะทำให้นิสิตและนักเรียนสามารถมาค้นคว้าหาข้อมูลได้สะดวก ทั้งยังทำ ให้วัดพระบรมธาตุเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและพัฒนาชุมชนตามหลัก “บวร : บ้าน วัด โรงเรียน” ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้ทางราชการจะมีงบประมาณในการจัดสร้างอาคารห้องสมุดแต่ในการตกแต่งภายในและภายนอกบางอย่างหลวงพ่อก็ให้คนงานของวัดเข้าไปช่วยดำเนินการอยู่ เนือง ๆ

ห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี แล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ และสมเด็จพระ กนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงพระยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร ห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี อำเภอเมืองกำแพงเพชร อย่างเป็นทางการ ในคราวเสด็จ พระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ยังมีคณะเจ้าภาพภายใต้การนำของพระมหาบุญเลิศ มหาวีโร ป.ธ. ๗ ได้สร้างพระพุทธชินราชแกะสลักจากไม้กฤษณา ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปไม้กฤษณาที่มีขนาดใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย อัญเชิญมาประดิษฐานที่วิหารจำลองหน้าศาลาการเปรียญ ภายหลังเมื่อจะมี การรื้อศาลาการเปรียญจึงอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาธรรมจักรซันเดย์ซึ่งสร้าง ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ และศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุมยังได้รับคัดเลือก จากกระทรวงวัฒนธรรมให้ยกฐานะเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชตำบลนครชุม โดยมีหลวงพ่อทำ หน้าที่ในตำแหน่งประธานศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชตำบลนครชุมอีกด้วย

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ หลวงพ่อทราบว่าโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมจะทำการรื้อ อาคารเรียนไม้หลังเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรมออกเพื่อสร้างเป็นอาคารเรียนคอนกรีตหลังใหม่ขึ้น ทดแทน จึงได้ประสานงานกับทางโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษากำแพงเพชร - พิจิตรเพื่อขอไม้เก่าของอาคารมาสร้างเป็นอาคารปฏิบัติธรรม ซึ่งทางหน่วยงานดังกล่าวก็ดำเนินการส่ง เรื่องขออนุมัติตามขั้นตอนของระเบียบราชการจนสามารถรื้อถอนและนำไม้มาสร้างอาคารปฏิบัติ ธรรมได้ โดยหลวงพ่อได้ว่าจ้างผู้รับเหมาทำการรื้อถอนและนำไม้มาที่วัดพระบรมธาตุ จากนั้นก็ ดำเนินการสร้างเป็นหอวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อว่า “วัชร - นารี” เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าอาคารหลังนี้ สร้างขึ้นจากอาคารเรียนไม้หลังเก่าของโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมซึ่งเคยมีชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนกำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทยาลัย” และโรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา” อาคาร หลังนี้สร้างขึ้นทางทิศตะวันตกติดกับลานจอดรถ เป็นอาคารไม้สองชั้น ทรงไทยปั้นหยา กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ชั้นบนเป็นที่พักผู้เข้าปฏิบัติธรรม ชั้นล่างเป็นห้องปฏิบัติธรรมและจัดกิจกรรม ต่าง ๆ มีห้องน้ำในตัวอาคารทั้งชั้นล่างและชั้นบนชั้นละ ๑๒ ห้อง มีมุขด้านหน้าใช้เป็นห้องรับรอง ทั้งยังได้ดำเนินการบูรณะพระนอนซึ่งประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระบรม ธาตุ โดยการขยับเปลี่ยนทิศและสร้างอาคารใหม่แทนที่อาคารเดิม เป็นอาคารโถงไม่มีฝาผนัง มี พาไลยื่นมาด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองด้วย

ในปีเดียวกันนี้ ตระกูลเดชศรี โดยการนำของคุณถนอม เดชศรี และคุณพิกุล เดชศรี ได้มี ศรัทธาที่จะถวายพระพุทธรูปโบราณซึ่งทางตระกูลได้สะสมไว้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางพุทธ ศิลป์ของวัดพระบรมธาตุ และประสงค์ที่จะเป็นเจ้าภาพสร้างพระวิหารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป โบราณดังกล่าว ตลอดจนพระพุทธรูปโบราณองค์อื่น ๆ ที่พบในวัดพระบรมธาตุ หลวงพ่อพิจารณา แล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทางวัด ชุมชนและพระพุทธศาสนาจึงไม่ขัดศรัทธาตระกูลเดชศรี และ อนุญาตให้สร้างพระวิหาร “พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป” ขึ้นบนลานพระบรมธาตุทางทิศตะวันตกให้ ขนานในแนวกันกับพระอุโบสถที่อยู่ทางทิศตะวันออกขององค์พระบรมธาตุ เป็นพระวิหารหลังคา ทรงไทย กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ใช้งบก่อสร้างกว่า ๒๑ ล้านบาท ภายในเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปโบราณพุทธศิลป์สมัยต่าง ๆ กว่า ๑๐๐ องค์ สร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จ ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณภายในพระวิหารนี้ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรม ราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ณ วัดพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ หลวงพ่อยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรพุทธศาสตร ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ด้วย การทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ “รูปแบบภาวะผู้นำเชิงพุทธของผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย” อันมี เนื้อหาที่สัมพันธ์หรือต่อยอดจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของหลวงพ่อในสาขาวิชาการบริหาร การศึกษา มหาวิทยานเรศวร การรับสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกเป็นหลักสูตรที่ ๒ หรือเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า “จบด๊อกเตอร์ ๒ ใบ” ทำให้มีคนเรียกชื่อหลวงพ่อแบบแซว ๆ กันว่า “เจ้าคุณ ซุปเปอร์ด๊อกเตอร์” หรือ “เจ้าคุณดับเบิ้ลด๊อกเตอร์”

หลวงพ่อทั้งพัฒนาวัด พัฒนาคนโดยการสอนหนังสือ และพัฒนาตนโดยการเรียนหนังสือ แต่ก็พยายามแบ่งเวลาในการทำงานวิจัยซึ่งถือเป็นหนี่งในภาระงานหลักของอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีในจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อมีงานวิจัยตามเกณฑ์การยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ หลวงพ่อจึงยื่นขอกำหนดตำแหน่งทาง วิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต่อหน่วยงานรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัยในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ผลการพิจารณาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ผลงานทางวิชาการของหลวงพ่อผ่านการพิจารณาคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของคณะกรรมการ การอุดมศึกษา (สกอ.) และสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้หลวง พ่อเป็น “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา” ดังปรากฏความในคำสั่งมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ ๓๐๕/๒๕๕๙ เรื่อง แต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่า

“อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙ (๙) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ และมติสภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๙ วันพุธที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงแต่งตั้งให้ พระราชวชิรเมธี (วีระ วรปญฺโญ), ดร. อายุ ๕๖ พรรษา ๓๖ วุฒิการศึกษา ป.ธ. ๙, พธ.บ. (พระพุทธศาสนา), อ.ม. (ศาสนาเปรียบเทียบ), กศ.ด. (การ บริหารการศึกษา) ตำแหน่ง อาจารย์ สังกัด วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙”

จากคำสั่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๙ จึงทำให้ หลังจากนี้เป็นต้นไป ชื่อของหลวงพ่อปรากฏในเอกสารต่าง ๆ ว่า “พระราชวชิรเมธี, ผศ.ดร.” อัน เป็นการระบุตำแหน่งทางวิชาการไว้ท้ายราชทินนาม ต่างจากบุคคลทั่วไป เนื่องจากมหาวิทยาลัย สงฆ์มีแนวปฏิบัติว่า สมณศักดิ์หรือราชทินนามนั้นเป็นสิ่งพระได้รับพระราชทานจากพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเอาชื่อตำแหน่งหรืออื่นใดที่ไม่ใช่สิ่งพระราชทานมานำหน้าย่อมเป็นการไม่ บังควร จึงมีการนำตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าวไปต่อท้ายราชทินนามแทน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ หลวงพ่อยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน คณะกรรมการการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ฝ่ายศาสนศึกษา ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอีกด้วย

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๑๔
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม

 8 
 เมื่อ: มีนาคม 19, 2025, 10:22:34 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
=== การประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ครั้งที่ ๑/๒๕๖๘ ===

วันพุธที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๘  เวลา ๑๓.๓๐ น. นายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ครั้งที่ ๑/๒๕๖๘  ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ มีนโยบายในการส่งเสริมการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพคน องค์กรและหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อน และส่งเสริมคุณธรรม เพื่อให้คนไทยมีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมเพิ่มขึ้น มุ่งสู่สังคมคุณธรรมที่คนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ ภายใต้หลักธรรมคำสอนของศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทย และคุณธรรม ๕ ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัด ดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) ภายในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนร่างประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อน “ จังหวัดคุณธรรม” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ พิจารณาปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ และพิจารณาแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมจังหวัดกำแพงเพชร มีการรายงานผลการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมในภาพรวมของจังหวัดกำแพงเพชร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ แผนการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมของจังหวัดกำแพงเพชรภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) รายงานผลการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ การคัดเลือกและยกย่องคนดีศรีจังหวัด โครงการเสริมหนุนกลไกเครือข่ายทางสังคมเพื่อการขับเคลื่อนจังหวัดจังหวัดคุณธรรม และโครงการส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม นำการศึกษา ให้ที่ประชุมรับทราบ
ในการนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วย ข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ดำเนินการจัดประชุมฯ โดยมีคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมจังหวัด มีนางสาวสิริกร นิลกำแหง พัฒนาการจังหวัดกำแพงเพชร นายสมชาย ดอนสมพงษ์ ศึกษาธิการจังหวัดกำแพงเพชร นางสาวมะลิวัน สิทธิโยธี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกำแพงเพชร นายวีระ บัวผัน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต ๒ นายสันติ อภัยราช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนราชการ หน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ทั้งนี้ ก่อนเริ่มประชุม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ โดยมีนางสาวเบญจวรรณ จันทราช หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร เป็นผู้นำชม ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

 9 
 เมื่อ: มีนาคม 19, 2025, 06:14:54 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
๑๙มีนาคม ๒๕๖๘ ครบรอบ ๕๔ ปี แห่งการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อเก็บรวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมท้องถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นเป็นผู้แทนพระองค์

หมายเหตุ ภาพถ่ายเก่าเป็นภาพในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๔

 10 
 เมื่อ: มีนาคม 14, 2025, 04:50:39 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ฮืมฮืม??⚡มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จัดกิจกรรม "มรดกวิถีชุมชน 2 ฝั่งสายน้ำ ตามรอยเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 จังหวัดกำแพงเพชร" สืบสานมรดกวัฒนธรรม Soft Power ด้านอาหารและวัฒนธรรม

วันที่ 13 มี.ค.68 เวลา 19.30 น. ที่พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ (พิพิธภัณฑ์เรือนไทย) ต.ในเมือง อ.เมือง นายชธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร มอบหมายให้ นายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมให้การต้อนรับ นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานเปิดกิจกรรม "มรดกวิถีชุมชน 2 ฝั่งสายน้ำ ตามรอยเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 จังหวัดกำแพงเพชร" สืบสานมรดกวัฒนธรรม Soft Power ด้านอาหารและวัฒนธรรม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรียนุช พรหมภาสิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, นางกาญจนี รุจนเสรี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ, ข้าราชการ, เจ้าหน้าที่, ประชาชน ภาครัฐและเอกชนในจังหวัดกำแพงเพชร,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสถาบันการศึกษา และบริษัทเอกชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมในวันและเวลาดังกล่าว
ภายในกิจกรรม มีการจัดแสดงวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมอันหลากหลายของ 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนตำบลไตรตรีงษ์ ชุมชนตำบลนครชุม และชุมชนตำบลในเมือง นอกจากนั้นทางสำนักศิลปะและวัฒนธรรมฯยังได้ทำการศึกษาและพัฒนาอาหารและผลิตภัณฑ์ผ่านกรอบแนวคิดตามรอยเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 สำหรับอาหาร 7 เมนู ประกอบด้วยอาหารทรงโปรดและอาหารพื้นถิ่น ได้แก่ ขนมจีน-น้ำยาจากตำบลไตรตรีงษ์ ผักห่อจากตำบลนครชุม พล่าน้ำเพลี่ยจากตำบลในเมือง ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิ กรีนคาเวียร์แกงไข่น้ำใส่เป็ดย่าง (ไข่ผา) และข้าวแช่ชาววัง (ข้าวสามสี) ซึ่งในเมนูอาหาร 2 เมนูสุดท้ายได้มีการพัฒนาโดยการนำไข่ผำและข้าวสามสีที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรร่วมกับชุมชนในพื้นที่ทั้งนี้เพื่อต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมอีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิง วัฒนธรรมและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ซึ่งนอกจากเมนูอาหารแล้วยังมีผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาเป็นของที่ระลึก แบ่งออกเป็นประเภท เสื้อ กระเป๋า และพวงกุญแจ อีกด้วย

หน้า: [1] 2 3 ... 10
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!