จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ธันวาคม 22, 2024, 01:30:50 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
 81 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 20, 2023, 12:44:00 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
รำโคมประทีป
งามเอยงามประทีป ระยิบยับ
ส่องสว่างแสงประดับ เจดีย์ใหญ่
พระบรมธาตุ ศูนย์รวมแห่งจิตใจ
งามวิไลนางรำ นำศรัทธา

หลักฐานเก่าที่สุดคือหลักฐาน จาก ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สมัยสุโขทัย กล่าวถึงประทีปโคมไฟ ในการนำทางเสด็จ ของพระร่วงเจ้า ที่บรรดาสาวงาม ถือ  ประทึปโคมไฟ เพื่อส่องสว่างทางแห่งธรรม นำมรรคา บูชาพระ
บรมธาตุ
สันนิษฐานว่า ในระหว่างขบวนเสด็จหยุด เมื่อถึงที่ศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นางผู้ถือประทีปโคมไฟ จะร่ายรำ
ถวาย พระบรมสารีริกธาตุ แสงไฟจากโคมประทีป จะส่องสว่างงดงามตามท่วงท่ารำ    การรำโคมประทีป นิยมรำในเวลากลางคืน ..ช่วงย่ำสนธยา เป็นต้นไปงดงามราวกับการเคลื่อนคล้อยของดวงดาวประดับนภา เป็นที่เพลินตาและเพลินใจต่อพระร่วงเจ้าและชาวประชาที่ถวายสักการะ พระบรมสารีรืกธาตุ ของพระพุทธเจ้า ตราบนิรันดร์สมัยกระทั่ง ในกาลปัจจุบัน
รำลึกองค์ พุทธะ ผู้ยิ่งใหญ่
กว่าโพธิ์ไทร ศรัทธา มหาศาล
รำประทีป โคมไฟ อยู่เหนือกาล
ขอสว่างทุกวันวาร ในใจเทอญ

 82 
 เมื่อ: กันยายน 04, 2022, 10:05:33 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
เพลง พิษฐาน
บันทึกเพลงพื้นบ้านที่จะกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ คือ บันทึกเรื่อง รำพิษฐาน หรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า การเก็บดอกไม้เข้าโบสถ์                                                                                                         
   ลุงเหรียญเล่าว่าในช่วงของวันตรุษสงกรานต์ของทุกปี ชาวบ้านของตำบลวังแขม จะพากันไปทำบุญตักบาตรกันที่วัดวังแขม หรือวัดจันทารามในปัจจุบันครั้นพอทำบุญเสร็จแล้ว บรรดาหนุ่มๆสาวๆ ก็จะพากันไปเก็บดอกไม้สวยที่ปลูกอยู่ตามบ้าน แล้วนำมาบรรจงเรียงใส่พานให้สวยงาม                                           เมื่อนำดอกไม้ใส่พานได้อย่างสวยงามแล้ว ก็พากันนำมาถวายพระประธานในโบสถ์คือหลวงพ่อศรีมงคล          ซึ่งเป็นพระประธานในโบสถ์เก่า  ซึ่งสร้างกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรียกว่า “พิษฐาน” ในโบสถ์กัน                     การนำดอกไม้มาพิษฐานในโบสถ์ หญิงและชายจะนั่งคนละข้างกัน แล้วต่างคนต่างนำพานดอกไม้ กราบพระกันตามประเพณี เมื่อเสร็จจากกราบหลวงพ่อศรีมงคลแล้ว ฝ่ายชายจะหันมาทางฝ่ายหญิง แล้วเริ่มร้องเพลงเกี้ยวสาวที่นั่งในโบสถ์ ในทำนองเพลงพิษฐาน บทร้องจะร้อง เป็นการโต้ตอบกับระหว่างชายหญิง ฝ่ายหญิงจะร้องก่อนว่า
“ ตั้งใจหมายจิตยอดพิษฐานเอย  สองมือถือพานทองเอาดอกพุด  เกิดมาชาติหน้าแสนใดก็ขอให้ได้บริสุทธิ์  พิษฐานบรรเลงขอให้เกรงอย่างพิษฐานเอย”                                                                                                    ฝ่ายชายจะร้องต่อ โดยจะเปลี่ยนกลอนตรงท้ายบทตรงชื่อดอกไม้ให้ลงกับชื่อฝ่ายหญิงที่ตนเองร้องแซวว่า    “ตั้งใจหมายจิตยอดเจ้าพิษฐานเอย  สองมือถือพานเอาดอกกระดังงา   เกิดชาติหน้าแสดใดก็ขอให้ได้กับแม่วรรณา  พิษฐานบรรเลงขอให้เกรงอย่างพิษบานเอย”                                                                               เมื่อฝ่ายชายร้องจบ ฝ่ายหญิงก็จะโต้ตอบว่า “ตั้งใจหมายจิตเจ้าพิษฐานเอย  สองมือถือพานเอาดอกกระดังงาให้พี่ทำบุญเสียให้เกือบตาย  ก็ยังไม่ได้กับแม่วรรณา  พิษฐานบรรเลงขออย่าให้เกรงพิษฐานเอย”  ทั้งพ่อเพลงและแม่เพลง ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะร้องโต้ตอบกันเป็นลักษณะของกลอนสดเป็นการใช้ปฏิภาณไหวพริบมาร้องซึ่งกันและกัน  แต่จะลงท้ายบทกลอนด้วยคำว่า “เอย” เสมอ หลังจากร้องโต้ตองเพลงพิษฐานในโบสถ์แล้วก็พากันกราบพระ และออกมาร้องรำทำเพลงกันต่อที่หน้าโบสถ์ เป็นเพลงโต้ตอบกันในลักษณะแนะนำหมู่บ้าน โดยร้องเป็นเพลงคล้ายเพลงพวกมาลัยจนเวลาใกล้เที่ยง                                  เมื่อถึงเวลาเที่ยง ฝ่ายหญิงก็จะชวนฝ่ายชายไปรับประทานอาหารกลางวันกันที่บ้านเพื่อแสดงออกถึงความสนิทสนมและคุ้นเคยกันในกลุ่ม                                                                                                                  ครั้นตะวันเริ่มบ่าย  พระอาทิตย์อ่อนแสงลง ก็จะพากันไปเล่นรำวงที่ริมหาดทรายหน้าวัด โดยร้องเป็นเพลงรำวงง่ายๆเช่น “จำปีลอยมา  จำปาลอยวน  จะรำก็รำ  อย่ามาทำเดินวน” แล้วก็ร้องเพลงอื่นๆเป็นเพลงรำวงตามถนัด นอกจากการเล่นรำวงกันริมท่า บางพวกก็จะมีกิจกรรมอื่นๆเช่นการเล่นลูกโยน และขนทรายเข้าวัดไปร่วมกันก่อพระเจดีย์ทรายในวัดซึ่งเป็นรูปเจดีย์ใหญ่องค์เดียวที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันก่อขึ้นมาปรากฏเห็นเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ อยู่ในวัดจันทารามมาตราบเท่าทุกวันนี้



 83 
 เมื่อ: กันยายน 04, 2022, 10:03:20 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ประวัติหลวงพ่อทวีปวัดจันทาราม

พระสิทธิธรรมเวที นามเดิม ทวีป  นามสกุล สมพงษ์ เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้อง ๔คน                         ของคุณพ่อเฟื่อง คุณแม่บุญเกิด สมพงษ์  เกิดเมื่อวันที่อังคารที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๗๗ ตรงกับแรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ณ หมู่ที่ ๕ ต. แม่ลาด อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร
บรรพาชา
เมื่อวันที่  ๒๖ กรกฎาคม  ๒๔๙๓  ณ  วัดโมลี ต.บางรักใหญ่ อ.บางบัวทอง จ. นนทบุรี                                   โดยมี พระราชปรีชามุนี เป็นพระอุปัชฌาย์                                                                                                                          อุปสมบท
เมื่อวันที่  ๔ พฤษภาคม  ๒๔๙๗ ณ วัดโมลี ต.บางรัก อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี โดยมี พระราชปรีชามุนีเป็นพระอุปัชฌาย์  พระปรีชานนทโมลีเป็นพระกรรมวาจาจารย์พระมหาเยื้อน สิรินฺโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์                วิทยฐานะ
พ.ศ.  ๒๔๘๙   สำเร็จชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านท่ามะขาม ต.แม่ลาด อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร
พ.ศ.   ๒๔๙๗     สอบได้ น.ธ. เอก  สำนักเรียนวัดโมลี  จ.นนทบุรี
พ.ศ.    ๒๕๐๒    สอบได้  ป.ธ.  ๕   สำนักเรียนวัดโมลี  จ. นนทบุรี
การศึกษาพิเศษสอบได้ วิชาพิเศษมูล (พ)                                                                                                                    งานปกครอง
พ.ศ.   ๒๕๐๘   เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทาราม
พ.ศ.    ๒๕๑๑    เป็นเจ้าคณะตำบลวังแขม – วังยาง
พ.ศ.    ๒๕๑๒   เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.     ๒๕๑๙   เป็นเจ้าคณะอำเภอคลองขลุง
พ.ศ.      ๒๕๓๖  เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร

งานศึกษา
พ.ศ.    ๒๕๐๑     เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำสำนักศาสนศึกษาวัดโมลี
พ.ศ.     ๒๕๐๘    เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจำสำนักศาสนศึกษาวัดจันทาราม
พ.ศ.     ๒๕๑๕    เป็นครูใหญ่โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่   วัดจันทาราม
พ.ศ.      ๒๕๑๙  - ๒๕๓๙  เป็นประธานในการสอบธรรมสนามหลวงประจำ  อ.คลองขลุง กิ่ง อ.ทรายทองวัฒนา และกิ่ง อ.ปางศิลาทอง
งายเผยแพร่
พ.ศ.    ๒๕๑๒   เป็นพระธรรมทูตสายที่  ๓  ประจำอำเภอคลองขลุง
พ.ศ.     ๒๕๑๒  เป็นวิทยากรประจำโรงเรียนมิตรอารี  โรงเรียนบ้านท่ามะขาม โรงเรียนบ้านวังแขม  โรงเรียนวังแขมวิทยาคม 
งานสาธารณูปการ
พ.ศ.  ๒๕๐๗  ได้บูรณะและปฏิสังขรณ์  วัดจันทารามใหม่เกือบทั้งหมด ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
สมณศักดิ์
พ.ศ.    ๒๕๑๖    เป็นพระครูสัญญาบัตร  ที่พระครูโสภณพัชรญาณ เจ้าคณะตำบลชั้นโท
พ.ศ.   ๒๕๒๐      ได้เลื่อนสมณศักดิ์   เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นโท
พ.ศ.    ๒๕๒๔      ได้เลื่อนสมณศักดิ์  เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก
พ.ศ.    ๒๕๓๙       ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์  เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เปรียญที่ พระสิทธิธรรมเวที เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกครองราช ๕๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว




 84 
 เมื่อ: กันยายน 04, 2022, 10:00:13 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ประวัติหลวงพ่อศรีมงคล  และประวัติ รอยพระพุทธบาทจำลอง
วัดจันทาราม  ตำบลวังแขม  อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
      
      ตามที่ นายร่อน  มีชัย  อายุ 81  ปี ได้ เล่า  ว่า วิหารที่หลวงพ่อศรีมงคล ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันนี้ว่าจะเป็นชาวพม่า เป็นผู้สร้าง ขึ้นนั้นเพราะว่าวิหารหลวงพ่อศรีมงคลได้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก  และเป็นทิศที่ประเทศของพม่าไม่ทราบว่าในปีใดและพ.ศ.ใด   ได้แต่ทราบว่าเป็นวิหารที่เก่าแก่มาก ตามที่คนเก่าแก่เล่ามา  เป็นเวลานับ มาหลายร้อยปี
      ส่วนรอยพระพุทธบาท จำลองที่เป็นเนื้อโลหะ ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่อศรีมงคลก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครทราบที่แน่ชัดว่าได้มาอย่างไร และตั้งแต่เมื่อปีใด และ พ.ศ.ใด เช่นกัน ก็ได้สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ เช่น ลุงร่อน    มีชัยและลุงเหรียญ   นาคนาม  ที่เป็นบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงกับวัด มาโดยตลอดได้   สอบถามแล้วได้รับคำตอบว่าตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน อยู่โรงเรียนวัดก็ได้เห็นรอยพระพุทธบาทมีอยู่ในวิหารหลวงพ่อศรีมงคลแล้ว  ต่อจากนั้นลุงเหรียญยังบอกอีกว่ามีตัวอักษรอยู่ที่ใบสีมาวิหารหลวงพ่อศรีมงคล  และเป็นตัวเลข ว่า   ร.ศ.120   ไม่ทราบว่า จะตรงกับ พ.ศ.ใด  และหมายความว่าอะไร ตามที่สอบถามคนเก่าๆ  แล้วก็ได้ข้อมูลมา  เพียงเท่านี้เอง  ก่อนนั้น เมื่อทางวัดมีงานเทศกาล ใดๆ เช่นงานประจำปีปิดทองไหว้พระ ก็จะยกรอยพระพุทธบาทจำลองออกมาให้ชาวบ้านได้ปิดทองรอยพระพุทธบาทกันเป็นประจำ  ต่อมาทางคณะกรรมการวัด ก็จะนำออกมาให้ชาวบ้านได้ปิดทองกันในวันงานเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบันนี้  แต่ในตอนนี้ฝาที่สำหรับปิด-เปิดไว้ใส่ปัจจัย  ได้ถูกพวกมิจฉาชีพลักไปเสียแล้ว   ทางวัดก็ไม่ทราบว่าถูกลักไปตั้งแต่เมื่อไรเช่นกัน    สำหรับในตอนนี้พระที่วัดได้ช่วยกันเอาไปเก็บไว้ที่อุโบสถหลังใหม่แล้ว  เพื่อป้องกันพวกมิจฉาชีพและเพื่อความปลอดภัย

นายฟุ้ง     ปานสุด
กำนันตำบลวังแขม
ผู้ให้ข้อมูล เพิ่มเติม


 85 
 เมื่อ: สิงหาคม 15, 2022, 04:12:41 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
รู้ทัน และป้องกัน การทุจริต ประพฤติมิชอบ ในวงราชการ (ฉบับย่อ)
๑, การติดสินบน ในประวัติศาสตร์
   ๑.๑ พระยาจักรี รับสินบนเป็นไส้ศึก ให้อยุธยา
   ๑.๒ นายแสนตำนาน บ่อสามแสน กำแพงเพชร
        ๑.๓ พระยากำแพง ถูกฟ้อง เรื่องการทุจริต ต่อหน้าที่
๒. การทุจริต ประพฤติมิชอบ เดิมเรียกว่า ฉ้อราษฎร์ บังหลวง
๓. การพัฒนาการทุจริต และประพฤติมิชอบ
   ๓.๑ การรับสินบน การให้สินบท
        ๓.๒ การรวมมือกัน ทุจริต ระหว่างข้าราชการ พ่อค้า ผู้รับเหมา ประชาชน
       ๓.๓  การทุจริต เชิงนโยบาย ร้ายแรงมาก
๔. รูปแบบการทุจริต
   ๔.๑ ทุจริตสีดำ    คน รับไม่ได้
       ๔.๒   ทุจริตสีเทา   รับได้บางคน
       ๔.๓   ทุจริตสีขาว   การใช้อภิสิทธิ์
๕. เราเคยชินกับการทุจริต หรือ
        ๕.๑ ส่วนใหญ่เคยรับว่าเยเกี่ยวข้อง
        ๕.๒  ร้อยละ ๙๐ ยอมรับว่าเคยลัดคิว
         ๕.๓ ร้อยละ ๘๐ เคยรับสินบน
            ๕.๔ ร้อยละ๘๑ ยอมรับว่า เคยใช้ของหลวง ในเรื่องส่วนตัว
             ๕.๕ ร้อยละ ๘๐ ยอมรับว่า เคยรับทรัพย์สิน ในหน้าที่
              ๕.๖ ร้อยละ ๙๓ ยอมรับว่า เคยลอกการบ้าน
              ๕.๗ ร้อยละ ๖๐ ยอมรับว่า เคยทำผิดกฎจราจร
              ๕.๘ ร้อยละ ๓๔ ยอมรับว่าเคยถูกรีดไถ จากข้าราชการ
              ๕.๙ ร้อยละ ๒๔ ยอมรับว่า ว่าเคยรับเงิน นักการเมือง เลือกตั้ง
     ๕.๑๐ ร้อยละ ๒๐ ยอมรับว่า เคยให้สิทธิ์พืเศษ  แก่พี่น้อง
๖. ทำมไมคนต้องคอร์รัปชั่น
     ๖.๑ ต้องการสำเร็จสูงสุด ในชีวิต
     ๖.๒ ต้องการการยกย่องและยอมรับ
     ๖.๓ ต้องการเป็นเจ้าของ
     ๖.๔ ต้องการ ปลอดภัย และมั่นคง
๗. ทำไมสามารถทุจริต ได้
    ๗.๑ ไม่พอเพียง ไม่ซื่อสัตย์
    ๗.๒  มีโอกาส
   ๗.๓ มีปัญหาการเงิน
๘. สาเหตุที่ทุจริต
    ๘.๑ มีความโลภ 
๘.๒ มีโอกาส 
๘.๓ ขาดจริยธรรม
๘.๔ รู้ว่าเสี่ยง แต่คุ้ม
๙. รูปแบบคอร์รัปชั้น
   ๙.๑ เรียกเงินใต้โต๊ะ
        ๙.๒ ค่าตอมมิชชั่น
   ๙.๓ สินบน ผูกขาดโครงการ
   ๙.๔ การเล่นพวก
   ๙.๕ การใช้อำนาจช่วยพี่น้อง
๑๐.  การแก้ไขการทุจริต
   ๑๐.๑ เริ่มจากตัวเอง
   ๑๐.๒ ปลุกใจ คนรุ่นใหม่
   ๑๐.๓ ปลูกฝังความถูกต้อง
         ๑๐.๔ จัดตั้งชมรมสตรอง จิตพอเพียง ต้านทุจริต ทั้งประเทศ
๑๑. ทำตัวเป็นแบบอย่าง
   ๑๑.๑ ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม
   ๑๑.๒ ไม่ทนต่อการทุจริต
   ๑๑.๓ เป็นแบบอย่าง
๑๒ ปราบปราม เป็นหน้าที่ ของ ป.ป.ช.

           
   



 86 
 เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2022, 08:01:04 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
=== โครงการเชิดชูเกียรติศิลปินท้องถิ่น เครือข่ายมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ๙ จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ===

วันเสาร์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่าและศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดโครงการเชิดชูเกียรติศิลปินท้องถิ่น เครือข่ายมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ๙ จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การนำของรองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปิน และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน
ในการนี้ นางสาวนุชรินทร์ภัทร์ ธีระบุญยะ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วย นางสาวพชรพรรณ ชุ่มเปี่ยม ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม และนางสาวกนกวรรณ สมบุญโสด นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ เข้าร่วมโครงการ โดยนายสันติ อภัยราช ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม เข้ารับรางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินท้องถิ่น ๙ จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง “รางวัลศรีสุวรรณภิงคาร” สาขาวรรณศิลป์ พร้อมทั้งประสานชุมชนคุณธรรมบ้านวังพระธาตุร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลไตรตรึงษ์ นำการแสดง “ระบำ ก.ไก่” ไปแสดงในงานดังกล่าวด้วย ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

#สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
#สาสน์ศิลป์วัฒนธรรมกำแพงเพชร

ขอเชิญกดถูกใจและกดติดตามแฟนเพจของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรได้ที่
https://www.facebook.com/KPPProvincialCulturalOffice

 87 
 เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2022, 07:58:40 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
=== โครงการสัมมนาเรื่องแนวทางการพัฒนาสู่การจัดตั้งสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) ภาคเหนือตอนล่าง ===

วันเสาร์ที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเรื่องแนวทางการพัฒนาสู่การจัดตั้งสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสู่การจัดตั้งสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) การบรรยายพิเศษข้อมูลพื้นฐานระดับประเทศภายใต้แนวคิดภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ประธานคณะทำงานฯ และการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเพื่อรับฟังความคิดเห็น จำนวน ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มภูมิภาษาและวรรณศิลป์ กลุ่มภูมิบ้านภูมิเมือง และกลุ่มภูมิปัญญาแผ่นดิน
ในการนี้ นางสาวนุชรินทร์ภัทร์ ธีระบุญยะ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร มอบหมายให้ นางสาวปฐมาภรณ์ จริยวิทยานนท์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ เข้าร่วมโครงการ พร้อมกันนี้ ผู้จัดโครงการได้เชิญนายสันติ อภัยราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์เยาวลักษณ์ ใจวิสุทธิ์หรรษา และนางชนิกา ศรีวรรธนศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม เข้าร่วมกิจกรรมระดมความคิดในแต่ละกลุ่มด้วย ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

#สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
#สาสน์ศิลป์วัฒนธรรมกำแพงเพชร

ขอเชิญกดถูกใจและกดติดตามแฟนเพจของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรได้ที่
https://www.facebook.com/KPPProvincialCulturalOffice

 88 
 เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2022, 07:53:16 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) รากฐาน ภูมิภาษา ปัญญาแผ่นดิน ลึกซึ้งรากเหง้า ภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก
.
วันที่ 9 กรกฏาคม 2565 ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก  คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา, มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน และ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมสัมมนาเรื่อง “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” ประจำภาคเหนือตอนล่างขึ้น ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก , ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ , ครูบาอาจารย์ , ปราชญ์พื้นที่ และศิลปินผู้เกี่ยวข้องอีกหลากหลาย เพื่อประมวลความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดให้มีองค์กรในรูปสถาบันเพื่อบริหารจัดการดูแลให้เป็นเอกภาพ ไม่กระจัดกระจายดังสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
            งานเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร และกล์าวรายงานโดยรองศาสตราจารย์ ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ประธานคณะทํางานฯ จากนั้นมีพิธีเปิดการสัมมนาและการบรรยายพิเศษเรื่อง “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม และการบรรยายเรื่อง ข้อมูลพื้นฐานระดับประเทศภายใต้แนวคิดภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ประธานคณะทํางานฯ
.
       ตามด้วยการแบ่งกลุ่มระดมความคิด เพื่อรับฟังความคิดเห็น จํานวน 3 กลุ่ม อาทิ 1.กลุ่มภูมิภาษาและวรรณศิลป์ โดย นายเจน สงสมพันธ์ นายภาณุพงษ์ คงจันทร์ และนายธนบัตร ใจอินทร์, 2.กลุ่มภูมิบ้านภูมิเมือง โดย นายพินิจ นิลรัตน์ ผศ.ดร.ขวัญชนก นัยจรัญ และดร.สุวรรณี ทองรอด และ 3.กลุ่มภูมิปัญญาแผ่นดิน โดย ผศ.ดร.อํานาจ เอี่ยมสําอางค์
ผศ.ดร. ว่าที่รัอยตรีโสภณ ลาวรรณ์ ,ดร.ภูริตา เรืองจิรยศ และ ดร.น่านฟ้า จันทะพรม
.
จากนั้นมีการนําเสนอผลการระดมความคิดกลุ่มย่อยและรับฟังความคิดเห็น ดําเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ประธานคณะทํางาน พิจารณาฯ ภาคเหนือ และมีพิธีปิดการสัมมนา โดย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธารคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะ และวัฒนธรรม
.
     ซึ่งในการระดมความคิดเห็นนี้นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า ภาษา ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรม ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ยังคงเป็นสิ่งที่สะท้อนความงามและความเจริญของมนุษย์ทั้งยังเป็นรากฐาน พื้นฐาน และภูมิฐาน อันเป็นอารยะธรรมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่ผ่านมาการดำเนินงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม จะอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานของภาครัฐ โดยมีภาคเอกชนสนับสนุน แต่สำหรับภาคประชาชนอาจยังไม่ได้มีบทบาทและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การสะท้อนปัญหา การพัฒนานโยบาย การเร่งรัดติดตามและการเสนอแนะที่มีแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน หัวข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดให้มีองค์กรในรูปแบบสถาบันเพื่อบริหารจัดการดูแลให้เอกภาพ มิใช่กระจัดกระจายดังสภาพที่เป็นอยู่ มิฉะนั้นจะเกิดความล้าหลังทางวัฒนธรรมแล้ว ยังอาจตกเป็นเหยื่อทางวัฒนธรรม
.
            สถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์กรมหาชน) นี้ต้องมีลักษณะพลังสามภาคส่วน คือ ภาคราชการ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) ภาคประชาชน ดังเรียก ไตรภาคี ซึ่งต้องเป็นเอกภาพกันอย่างมีดุลยภาพอันเป็นเรื่องต้องลงลึกในรายละเอียดต่อไป เพราะเรื่องของศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินนี้สำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้อยู่ในมือของราชการแต่โดยลำพังเพียงเท่านั้นจึงเกิดเป็นเวทีต่างๆทั้ง 4 ภูมิภาคขึ้น โดยในแต่ละกลุ่มจะแบ่งศิลปินออกเป็นดังนี้ 1.กลุ่มภาษาและวรรณศิลป์ จะมี นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ ภาษาถิ่น 2.กลุ่มภูมิบ้านภูมิเมือง จะมีแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ของดีชุมชน และ 3.กลุ่มปัญญาแผ่นดิน จะมีปราชญ์ด้านแผนโบราณ หัตถกรรม ศาสนา ประเพณี อาหาร ศิลปะการแสดง และศิลปะพื้นบ้านแขนงต่างๆ
          จากนั้นมีการบรรเลงดนตรี  อ่านกวี  งานเขียน และอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกันโดยศิลปินในพื้นที่อีกด้วย ดังภาพบรรยากาศเหล่านี้.....
.
           ทั้งนี้สามารถติดตามเวทีจากภาคอีสานตอนบน ที่ จ.อุบลราชธานี และภาคกลาง ที่กรุงเทฟมหานครได้เร็วๆ นี่ที่นี่ได้เช่นกัน จะเมื่อไหร่ อย่างไร... โปรดติดตาม...

 89 
 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2022, 01:58:07 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
การแสดง แสง เสียง ประกอบจินตนาการ
เรื่อง
พระบารมีปิยกษัตริย์ปกฉัตร  นครไตรตรึงษ์
๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๙ นาฬืกา ณ วัดวังพระธาตุ นครไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง กำแพงเพชร
ตามโครงการ “ชากังราว นครแห่งศิลป์” ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร
,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,
บทนำ
   ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลไตรตรึงษ์  โรงเรียนนครไตรตรึงษ์   และประชาชนชาวนครไตรตรึงษ์  นำเสนอ การแสดง แสง เสียง ประกอบจินตนาการ เรื่อง พระบารมีปิยกษัตริย์ ปกฉัตร  นครไตรตรึงษ์  เพื่อ แสดงถึง พระมหากรุณาธิคุณของ พระปิยมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ที่มีต่อ นครไตรตรึงษ์ อันได้แก่ พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน  ท้าวแสนปม พระเจ้าอู่ทอง และพระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวงของปวงประชา ให้ตราตรึง อยู่ในจิตใจของของประชาชน อยู่ชั่วกัลปาวสาน
          เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระมหากษัตตริยาธิราช ทุกพระองค์ จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้ยืนขึ้นเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี ต่อสถาบัน พระมหากษัตริยาธิราช โดยพร้อมเพรียงกัน...............(เปิดเพลงสรรเสริญบารมี)
องก์ที่ ๑ …สถาปนา นครไตรตรึงษ์   (๑๐ นาที)
…….สายน้ําแม่ระมิงค์ที่ใสสะอาด ไหลผ่านนครเชียงใหม่ ลงมาทางทิศใต้สู่ ดินแดนที่อุดมสมบรูณ์ยังเป็น ป่า ดงดิบที่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบดินแดนอันงดงาม เช่น นี้ …..พระเจ้าพรหม โอรสแห่ง พระเจ้าพังคราชได้ขับไล่ขอมดําจากเหนือลงสู่ใต้ ระยะทางหลายร้อยเส้น มีการต่อสู้กันตลอดเส้นทางขอมดําได้สู้พลางถอยพลาง ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตาย ราวใบไมร่วง ไล่ลงมาจนติดลําน้ําปิงตอนใต้ ขอมดํา ไม่ สามารถหนีไปได้ …..อัมรินทราธิราชเกรงผู้คนจะล้มตาย จนหมดสิ้น…จึงเสด็จมาจากสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ เปิดโลกสวรรค์กับโลกมนุษย์ให้เห็น กัน( เหาะมา) จึงรับสั่งแก่ พระวิษณุกรรมเทพเจ้าแห่ง ช่าง เป็น มธุรสวาจา
 พระอินทร์… ท่านวิษณุกรรมผู้ทรงไว้ซึ่งเทพเจ้าแห่ง ช่างอันประเสริฐสุด โปรดได้ เนรมิตกําแพงเมืองให้สูงตระหง่านและแข็งแกร่งประดุจเพชรกั้น ไม่ให้ ผู้คนทําร้ายซึ่งกันและกันให้สูญเผ่าพันธุ์เถิด
พระวิษณุกรรม   ท่าน เทพเจ้า ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ ด้วยอำนาจแห่งความดีงาม ขอบันดาลให้เกิดกำแพงที่ยิ่งใหญขวางกั้นมิให้มนุษย์สองเผ่าพันธ์ ได้เข่นฆ่ากันให้เป็นบาปกรรม สืบต่อไป
ทันใด…เกิดกําแพงศิลาแลงอันมหศัจรรย์ขวางกั้นมิให้ทั้งสองฝ่ายประหัตถ์ ประหาร กัน…พระเจ้าพรหมจึง ยกกองทัพ กลับบ้านเมือง……

พระเจ้าชัย ศิริโอรสพระเจ้าพรหม อพยพไพร่พล เพื่อตั้งราชธานีแห่งใหม่ รอนแรมมาแรมเดือน     มาถึงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์นี้จึง สถาปนานครไตรตรึงษ์ ขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช ๑๕๔๘
พระเจ้าชัยศิริ     แผ่นดินนี้ อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก มีลำน้ำปิงไหลผ่าน ข้าวปลา อาหาร อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก เหมาะกับการสร้างพระนคร ข้า จึงขอประกาศ   สถาปนา ให้พระนครแห่งนี่ มีนามว่าพระมหานครไตรตรึงษ์....................ขอให้ชื่อพระนครแห่งนี้ สถิตย์อยู่ชั่วกัลปาวสาร ................................
 (ระบำไตรตรึงษ์ เฉลิมฉลองพระนคร)
ตัวละคร
 ๑ พระเจ้าพรหม ทหารเอก 4 คน ทหารขอม 30 คน ทหารพระเจ้าพรหม30คน พระอินทร์ พระวิษณุกรรม
๒.พระเจ้าชัยัศิริ  มเหสี  สนม กํานัล ทหารเอก 4 คน (เดิม) ทหาร 60 คนเดิม
๓ ระบำไตรตรึงษ์  ๙ คน 
จบองค์ที่ ๑















องก์ ที่ ๒ ตำนานท้าวแสนปม กำเนิดพระเจ้าอู่ทอง  (๒๐ นาที)
          มีตำนานเล่าขานต่อๆกันมาว่า มีชายหนุ่ม รูปร่าง ประหลาดคนหนึ่ง มีปุ่มปม เต็มตัว  ถูกลอยแพ ตามแม่น้ำปิง มาถึง หน้านครไตรตรึงษ์  ติดอยู่ที่เกาะขึ้เหล็ก ชายคนนั้น ขึ้นอาศัยบนเกาะ  ชาวบ้านเห็นชายหนุ่มนั้น จึงพากันเรียกว่าแสนปม ตามที่เห็น และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะแสนปม ในกาลต่อมา  แสนปม ได้ ทำการปลูกกระท่อม และปลูกผักสวนครัว เลี้ยงชีวิต
มะเขือพร้าว เป็นพืชที่แสนปม ปลูกไว้จำนวนมาก มะเขือพร้าว มีผจลขนาดใหญ่ มีสีขาวนวล งามมาก มีต้นหนึ่งแสนปมที่ปลูกไว้ข้างบันไดกระท่อม แสนปม ปัสวะรดทุกเช้า  จึงมีผลโตสวยงาม ขนาดใหญ่กว่าทุกต้นในสานนั้น..............
  จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว พระนครไตรตรึงษ์ ว่า มะเขือพร้าว บนเกาะปมนั้นงามนัก มีผลขนาดใหญ่เป็นที่มหัศจรรย๋ แก่ผู้พบเห็น ข่าวลือ ไปถึงพระกรรณของ พระนางอุษา พระราชธิดาผู้เลอโฉม ของ กษัตริย์แห่งนครไตรตรึงษ์ 
นางอุษา   พระพี่เลี้ยง ทั้ง ๔  เราได้ข่าวลือว่า ที่เกาะปม มีมะเขือพร้าวผลใหญ่ เป็นที่มหัศจรรย์นัก เราใคร่จะเห็น และอยากเสวยด้วย พี่ทั้งสี่ พาเราไปชมสวนมะเขิอพร้าาที่เกาะปม ได้หรือไม่
พระพี่เลี้ยง   พี่ว่าต้องไปทูลขออนุญาต จากเสด็จพ่อ เสด็จแม่ ของ พระราชธิดา ก่อน เราจึงไปได้เพค่ะ มิฉนั้น พระองค์ทรงพิโรธแน่ๆ เพราะ ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงและหวงพระราชธิดา ยิ่งนัก นะเพค่ะ
ณ ที่ในพระราชฐาน ชั้นในพระเจ้านครไตรตรึงษ์ และพระมเหสี เสด็จออก ขุนนางและมหาดเล็ก สนมกำลัล เข้าเฝ้าเต็มท้องพระโรง พระนางอุษา และพระพี่เลี้ยง เข้าเฝ้าอยู่ด้วย  เมื่อว่าราชการเรียบร้อยแล้ว  นางอุษาเสด็จเข้าไปใกล้ แล้วทูลขอพระราชทานอนุญาต
นางอุษา   เสด็จพ่อเสด็จแม่เพค่ะลูกขออนุญาตไปประพาสนอกพระนคร  เพื่อชมสวน ในเกาะปม  หน้าเมืองใกล้แค่นี้เพค่ะ จะรีบไปรีบกลับ ไม่ให้ทั้งพระองค์เป็นห่วง เพค่ะ
เจ้าไตรตรึงษ์  อย่าไปเลยลูก พ่อเป็นห่วง ลูกยังไม่เคยออกนอกพระนครเลย   ลองถามแม่ดูซิ ว่ามีความเห็นประการใด จะให้ไปไหม
นางอุษา   เสด็จแม่เพค่ะ ลูกขออนุญาต ไปกับพระพี่เลี้ยง ทั้ง๔ และ ทหารคุ้ม สัก สี่คน ลูกอยากชมบ้านเมืองและประชาราษฎรของเราด้วยเพค่ะเสด็จแม่อนุญาต นะเพค่ะ
พระมเหสี   เมื่อลูกอยากไปเยี่ยมพสกนิกร ของเรา แม่ก็อนุญาต  พระพี่เลี้ยง และทหารทั้ง ๔ ดูแลลูกเราให้ดี อย่าให้มีภยันตรายใดๆแก่ลูกของเรา
พระพี่เลี้ยงและ  ทหารทั้ง ๔    กราบทูลพร้อมกันว่า    พระพุทธเจ้าข้า กระหม่อมฉัน จะพิทักษ์พระธิดา ด้วยชีวิต ของกระหม่อมฉันพระพุทธเจ้าข้า  (ปิดไฟ)
ที่เกาะปมพระธิดา เดินทอดพระเนตร เห็นมะเขือพร้าว ดกผลใหญ่ งดงามดังคำร่ำลือ  แสนปมเข้าเฝ้า ถวายมะเขือพร้าว ผลที่งามที่สุด ในสวน หลายผล
พระธิดา       เราขอบใจเจ้ามาก แสนปม  ที่ถวายมะเขือพร้าวแก่ เรา เราจะนำไปทำอาหารเสวย ในพระราชวัง เราขอให้ หมากแก่เจ้าหนึ่งคำ เป็นรางวัลเพื่อตอบแทนน้ำใจของเจ้า   เรากลับแล้วนะแสนปม
แสนปม      ข้า พระพุทธเจ้า ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ทรงพระสิริโฉมงดงาม เกษมสำราญทุกวารเวลา พระพุทธเจ้าข้า
                  (ปิดไฟ)
ในพระราชวัง ราชฐานชั้นใน ข่าวพระราชธิดา ทรงพระครรภ์  ล่วงรู้ถึง ท้าวไตรตรึงษ์ และพระมเหสี ทรงตรัสให้พระธิดา และพระพี่เลี้ยงเข้าเฝ้า ในราชสำนักส่วนพระองค์
พระเจ้าไตรตรึงษ์    อุษาลูกเรา  ลูกท้องกับใครบอกพ่อมา พ่อจะลากคอมันออกมารับผิดชอบ (สุรเสียงดัง ด้วยความโกรธ)
นางอุษา       ลูกไม่ทราบ เลยเพค่ะ ลูกไม่เคยยุ่งกับชายใดเลย ลงโทษลูกเถิดเพค่ะ ที่ทำให้เสด็จพ่อเสียพระเกียรติ ลูกยอมรับผิดทุกประการ แล้วแต่เสด็จพ่อเห็นสมควรเพค่ะ
พระมเหสี     เสด็จพี่เพค่ะ หม่อมฉัน คิดว่า เทพยดา คงลงมาเกิด เป็นหลานเรา ทรงพระบารมี เสริมพระชะตาของพระองค์เพค่ะในกาลข้างอาจเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ใหญ่ ชนะสิบทิศ นะเพค่ะ
พระเจ้าไตรตรีงษ์  เราจะเลี้ยงหลานเราไว้ เมื่อรู้ความเราจะอธิฐานให้พบพระบิดาที่แท้จริง ของหลานเรา เจ้าอุษาจงดูแลพระครรภ์ของเธอให้จงดี อย่าให้เป็นอันตรายต่อหลานเรา
( ทุกคนกราบ ปิดไฟ)
เมื่อพระราชโอรส รู้ความ พระเจ้าไตรตรึงษ์ ทรงป่าวร้อง  ให้ ผู้ชาย ทั้งใกล้ไกล มาให้พระหลานขวัญเลือก ทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าพระหลานขวัญ รับของจากผู้ใดจะรับผู้นั้น อภิเษก กับพระราชธิดา เป็นพระราชบุตรเขย และยก นครไตรตรึงษ์ให้ครอบครอง
บรรดา กษัตริย์ต่างเมิอง ต่างถือ ของดีๆ มาถวายพระราชโอรส ๆไม่รับของ จากใครๆเลย  บรรดาผู้ชายทุกคนที่ปรารถนาจะเป็นราชบุตรเขย ต่างผิดหวังตามๆกัน เมื่อพระราชโอรส มิรับของจากผู้ใดเลย มาถึงตนสุดท้าย แสนปม ถือก้อนข้าวเย็นมาถวาย
พระราชโอรสทรงรับ และเสวยข้าวเย็นนั้น ทำให้พระเจ้าไตรตรึงษ์ ทรงยอม ตามที่พระองค์ อธิษฐานไว้ ด้วยความไม่เต็มพระทัย
(มีผู้แสดง ประกอบการบรรยาย)
แสนปม พานางอุษาและพระราชโอรส  มาอยู่เกาะปม อย่างมีความสุข  แสนปม ไปทอดแห ที่คลองขมิ้นหน้าเมือง ทอดเท่าไร ก็ไม่ได้ปลา ได้แต่ขมิ้น ได้ทิ้งขมิ้นไป เหลือติดใต้ท้องเรือ เมื่อกลับมากระท่อม ขมิ้นเหล่านั้นกลายเป็นทองคำ  แสนปมนำทองคำมาทำอู่ให้ลูกนอน  จึงเรียกชื่อลูกว่า อู่ทอง ตามเปลทองที่นอนนั้น ชาวเมืองขนานนามเด็กคนนี้ว่าอู่ทอง เช่นกัน
(ปิดไฟ)
กาลต่อมา อัมรินทร์ทราธิราช  ประสงค์ที่จะช่วย แสนปม และด้วยบุญญาธิการของเจ้าอู่ทอง ที่จะได้เป๋นกษัตริย์ที่ยื่งใหญ่ภายภาตหน้า จึงแปลงกลายเป็นวานร ถือฆ้อง ใบน้อยลงมาลงมา เมื่อแสนปมหักล้างถางพง วันใด เช้าขึ้น ต้นไม้ที่ถากถางวันวาน กลับตั้งตรง ดังเดิม หลายครั้ง หลายครา แสนปมจึงลอบดู จึงได้ทราบว่า เป๋นลิงน้อย ตีฆ้อง ทำให้ต้นไม้ตั้งขึ้น จึงจับลิงไว้ และลิงได้มอบฆ้องวิเศษให้และบอก ว่า ประสงค์สิ่งใดใด้อธิษฐานสิ่งนั้นและตีฆ้อง จะได้ตามที่ปรารถนา ทุกประการ
   แสนปม จึง อธิษฐานให้รูปงาม และเนรมิต มหานครขึ้น เรียกขานราชธานีว่า เทพนคร อยู่ฝั่งตะวันออก ตรงข้ามนครไตรตรึงษ์ และแสนปม สถาปนาตนเอง เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าท้าวแสนปม มีนางอุษาเป็นพระมเหสี ส่วนราชโอรส เมื่อขึ้นครองราชย์ ตาทตำนานว่า ไปสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขึ้นเป็นราชธานี  ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทอง  ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา............................(ยิงพลุ)
ตัวละคร
          ท้าวไตรตรึงษ์  มเหสี    นางอุษา    แสนปม   ๒ ตัว   พี่เลี้ยง ๔ คน    ทหาร ๔ คน เดิม   เจ้าเมืองต่างๆ  สิบคน
ลิง ประชาชน  ๑๐ คน
อุปกรณ์ เปลทอง ฆ้อง  และของที่ เข้าต่างเมืองถือมา มะเขือ ต้น ผล
จบองก์ที่  ๒













องก์ที่ ๓  พระพุทธเจ้าหลวง ปกเกล้า ชาวไตรตรึงษ์  (๒๐ นาที)
    เช้าวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๔๙   เสียง เกราะ ดังสนั่นคุ้งน้ำ ที่ลานวัดวังพระธาตุ  ชาวบ้านต่างทยอยกันมา  เพียงไม่กี่นาที ชาวบ้าน ต่างมาประชุมเต็มลานวัด มีทั้งชายหญิง เด็กผู้ใหญ่ และภิกษุสงฆ์ เสียง อึงคนึงไปหมด ต่างคนต่างวิพากย์วิจารณ์ ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงตีเกราะเสียงดังขนาดนี้  หลายปีแล้วที่ไม่ได้ยินเสียงเกราะ ดังไปทั่วหมู่บ้านเพียงนี้
ผู้ไหญ่บ้าน  (ยืนขึ้น) นั่งลงพี่น้อง ลูกหลาน ชาววังพระธาตุ ข้ามีเรื่องสำคัญจะแจ้งให้ทุกคนได้ทราบเรื่องของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จะเสด็จมาโปรดพวกเราชาวบ้านวังพระธาตุ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ต่อพวกเราชาวบ้านธรรมดาๆยิ่งนัก
พระภิกษุ (เจ้าอาวาสวัดวังพระธาตุ) พระองค์ได  เสด็จละผู้ใหญ่ จึงดูตื่นเต้นมากขนาดนั้น คงไม่ใช่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   กระมัง เพราะพระองค์คงไม่เสด็จมาแดนบ้านป่าอย่างบ้านเราชาววังพระธาคุแน่ๆ
ผู้เฒ่า  ผู้อาวุโส   ข้าได้ยินมาว่า ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เสด็จมาด้วยพระองค์เอง วันนี้ ถึงบ้านแสนตอแล้วละ ข้าว่า ประมาณวันที่ ๒๒ สิงหาคม คงมาถึงบ้านเรา  แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า พระองค์จะเสด็จแวะบ้านวังพระธาตุไหม
ผู้ใหญ่บ้าน   ข้าได้รับแจ้งข่าว  จาก พระวิเชียรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชรว่า คืนวันที่ ๒๑ สิงหาคม พระองค์ จะประทับแรม ที่เกาะขี้เหล็ก หน้าบ้านวังพระธาตุเราของเรา และเช้าวันที่ ๒๒ จะเสด๊จขึ้นมาที่ ท่าน้ำวัดวังพระธาตุ  และจะเสด็จ เข้าในเมืองโบราณไตรตรีงษ์ เห็นพวกในเมือง ยกพวกมาถากถาง ทำทาง เข้า เมืองไตรตรึงษ์ ของเรา นับว่า น่ายินดีอบ่างยิ่ง เป็นบุญของพวกเรา ที่รอยพระบาท จะประทับ อยู่เมืองไตรตรึงษ์ ตลอดไป ข้ามีความสุขอย่างที่สุด
ผู้เฒ่า   ผู้อาวุโส  ข้าจะจัดกลองยาว ชุดใหญ่รับเสด็จ  ผู้ใหญ่ จะว่าประการใด จะเอาได้ยินถึงเทพนคร เลยทีเดียว ต้องดีที่สุด และวิเศษที่สุด ที่เราเคยเล่นกันมา ว่าอย่างไรพวกเรา
ชาวบ้าน    ต่างยกมือแสดงความยินดีทั่วกัน ข้าเห็นด้วยๆๆๆๆๆ ดังสนั่นไปทั่วลานวัด
ผู้ใหญ่บ้าน   ดีมากเลย  เราจะแสดงความจงรักภักดี ต่อพระเจ้าอยู่หัว ให้ร่ำลือ ไปชั่วลูกหลานหลายร้อยปี ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้เข้าเฝ้า อย่างใกล้ชิด ข้าได้ข่าวว่า พระอวค์จะเสด็จ มาอย่างสามัญชน ไม่ประสงค์ให้ใครต้อนรับ และเดือดร้อน แต่เราจงรักภักดี  จะต้อนรับพระองค์ อย่างสมพระเกียรติยศ
พวกผู้หญิง เตรียม อาหาร เพื่อการรับเสด็จด้วย เป็นอาหารพื้นบ้านของเรา  พระองค์จะประทัยใจพวกเรามากที่สุด พวกเราพร้อมไหม,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,
ชาวบ้าน     ยกมือชึ้นท่วมหัว และพูดพร้อมๆกันว่า ขอพระองค์ ทรงเจริญ   (ปิดไฟ)
พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นวัดวังพระธาคุ
(บรรยาย ) เรือหางแมงป่อง ค่อยๆแล่นเข้ามา  พระเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่หัวเรือหางแมงป่อง  ทรงบันทึกไว้ว่า..............
วันที่ ๒๒ เมื่อคืนนี้ฝนตกพร่ำเพรื่อไปยันรุ่ง แรกนอนรู้สึกว่าจะเย็น ต่อหลับไปตื่นขึ้นจึงรู้สึกเย็นเยือกไปทั้งตัว ท้องก็แข็งขลุกขลักอยู่เป็นนาน จนเอาสักหลาดขึงอุดหมดจึงนอนหลับ ตื่น ๒ โมงครึ่งออกเรือจวน ๓ โมง มาจากท่าขี้เหล็กเลี้ยวเดียวก็ถึงวังพระธาตุ ..................
.......วันนี้แลเห็นเขาประทัดซึ่งปันแดนยืนเป็นแถว ที่วังพระธาตุนี้เป็นชื่อของชาวเรือตั้ง วังไม่ได้แปลว่าบ้าน แปลว่าห้วงน้ำ พระธาตุนั้นคือพระธาตุซึ่งตั้งอยู่ตรงวังนั้น จอดเรือที่ที่เหนือวังพระธาตุนิดหนึ่ง พระธาตุนี้มีแท่นซ้อน ๓ ชั้น แล้วถึงชั้นคูหาบนเป็นรูปกลม ซึ่งกรมหลวงนริศเรียกว่าทนาน ถัดขึ้นไปจึงถึงบัลลังก์ปล้องไฉน ๗ ป้อง ปลี แล้วปักฉัตร ไม่ผิดกับพระเจดีย์เมืองฝางที่เห็น ซึ่งแก้เป็นพระเจดีย์มอญเสีย เขาว่าสุโขทัยสวรรคโลกเป็นรูปนี้ทั้งนั้น ของแผ่นดินฝ่ายเหนือเห็นจะไม่แปลกกันมาก องค์พระเจดีย์ชำรุดพังลงมาเสียซีกหนึ่ง มีรากระเบียงรอบวิหาร ๔ ทิศ วิหารใหญ่ที่บูชาอยู่ทิศใต้ พระอุโบสถซึ่งมีสีมาเป็นสำคัญอยู่ทิศตะวันออก เยื้องไม่ตรงกลาง เขาปลูกโรงหลังคามุงกระเบื้องในที่ใกล้พระเจดีย์ด้านตะวันออก มีพระพุทธรูปทั้งยืนทั้งนั่งหลายองค์ พระพุทธรูปหน้าตาดีแปลกกว่าที่เคยเห็น เป็นช่างได้ทำได้ถ่ายรูปที่เหล่านี้ไว้ เวลานี้มีพระซึ่งขึ้นมาแต่เมืองนนท์ เป็นคนเคยรู้จักมาแต่ก่อน ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ในที่นี้ คิดจะปฏิสังขรณ์ปลูกกุฏิซึ่งอยู่เยื้องหน้าพระธาตุ ห่างจากศาลามุงกระเบื้องเดิมซึ่งอยู่ข้างริมน้ำใต้ลงไป.................................. (เมื่อประทับนั่ง ชาวบ้านเล่นกลองยาวถวาย  คนัง เงาะติดตาม ลงมาสนุกกับชาวบ้าน อย่างสนุกสนาน ทุกคนมีความสุขร่วมกัน...................

เสด็จเข้านครไตรตรึงษ์  พระองค์เสด็จลงจากที่ประทับ เสด็จไปทางด้านหลัง วิหาร
.......เดินจากวังพระธาตุไปตามลำน้ำข้างเหนือ ทาง ๒๖ เส้น ถึงคูด้านใต้ของเมืองไตรตรึงษ์ คูนั้นใหญ่กว้างราว ๑๕ วา ลึกลงเสมอพื้นหาด แต่น้ำแห้งยืนเข้าไปจนถึงเชิงเทิน หลังเมืองไปมีถนนข้ามเข้าเมืองอยู่กลางย่านด้านใต้ แต่ด้านเหนือไม่มีถนน มีแต่ลำคูมาบรรจบด้านใต้ กำหนดเชิงเทินยาวตามลำแม่นำ ๔๐ เส้น ยืนเข้าไปทางตะวันตกตะวันออก ๓๗ เส้นเห็นเป็นเมืองใหญ่โตอยู่ พื้นพื้นดินไปทั่วทั้งนั้น ในท้องคูก็เป็นแลง เข้าไปในเมืองหน่อยหนึ่งก็พบโคก เห็นจะเป็นวิหาร เจดีย์หักพังตั้งอยู่เบื้องหลัง ถัดเข้าไปอีกหน่อยเรียกว่าเจดีย์ ๗ ยอด จะเป็นด้วยผู้ที่มาตรวจตราค้นพบสามารถจะถางเข้าไปได้แต่ ๗ ยอด แต่ที่จริงคราวนี้เขาได้ถางดีกว่าที่ได้ถางมาแต่ก่อน จึงได้ไปพบว่ากว่า ๗ คือพระเจดีย์ใหญ่ขนาดพระมหาธาตุริมน้ำอยู่กลาง มีพระเจดีย์ราย  ด้าน วิหารด้านเหนือวางเลอะๆทำนองนี้ นอกนั้นพระเจดีย์ล้อม ๑๔ องค์ ที่เขาค้นถากถางเข้ามาให้ดูได้เพียงเท่านี้ นอกนั้นยังเป็นป่าทึบอยู่มากไม่ใช่รกอย่างกรุงเก่า เป็นป่าสูงไม้ใหญ่ ข้างล่างโปร่ง ทั้งในเมืองนอกเมือง เหตุด้วยทิ้งร้างเป็นป่ามาช้านานกว่ากันมาก
เสด็จเที่ยวชม ทั่วเมืองโบราณนครไตรตรึงษ์  แล้ว
 ประทับเรือพระที่นั่ง ทรงโบกพระหัตถ์ ให้ราษฎร เรือค่อยๆแล่นออกจากท่าไป  ( ทุกคนก้มกราบกับพื้น เสียงทรงพระเจริญ ดังทั่ว คุ้งน้ำวังพระธาตุ เราจะจดจำความประทับใจนี้ ไปทั่วชีวิตของเรา...............................
ตัวละคร
      พระพุทธเจ้าหลวง    กรมพระยาดำรง  กรมพระนริศ  นายอ้น  คนัง  ผู้ใหญ่  พระ   ผู้อาวุโส  (ชาวบ้าน ชายหญิง เด็ก ประมาณ ๓๐ คน ใช้ทหาร องก์หนึ่งได้ )




องก์ที่ ๔ พระบารมีปกเกล้าชาวนครไตรตรึงษ์    (๗ นาที)
ขอพวกเรา ชาว นครไตรตรึงษ์ จังหวัด กำแพงเพชรทุกคนส่งจิต ขอพระราชทานบรมราชานุญาต......ขออำนาจแห่งหลวงพ่อโต หลวงพ่อเพชร แห่งวัดวังพระธาตุ   และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองไตรตรึงษ์  ทุกหนแห่ง ขอทรง ดลบันดาลให้
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ทรงเกษมส้าราญ  ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน....
จินตลีลาชุด ความฝันสูงสุด  ( ๑๐ คน) หรือเพลงที่ทางโรงเรียนเห็นสมควร)
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ     ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ      ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด              จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง  จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
       ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร       ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา      ไม่เสียหายชีวาถ้าสิ้นไป
นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง                  หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส
ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด          ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่          เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ            ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย



ฉาก ฟินาเร่ (๕นาที) เพลงมาร์ช นครไตรตรึงษ์ หรือเพลงอื่น ตามที่เห็นสมควร


บท อาจารย์สันติ อภัยราช

 90 
 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2022, 01:56:09 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
องก์ที่ ๔ พระบารมีปกเกล้าชาวนครไตรตรึงษ์    (๗ นาที)
ขอพวกเรา ชาว นครไตรตรึงษ์ จังหวัด กำแพงเพชรทุกคนส่งจิต ขอพระราชทานบรมราชานุญาต......ขออำนาจแห่งหลวงพ่อโต หลวงพ่อเพชร แห่งวัดวังพระธาตุ   และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองไตรตรึงษ์  ทุกหนแห่ง ขอทรง ดลบันดาลให้
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ทรงเกษมส้าราญ  ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน....
จินตลีลาชุด ความฝันสูงสุด  ( ๑๐ คน) หรือเพลงที่ทางโรงเรียนเห็นสมควร)
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ     ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ      ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด              จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง  จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
       ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร       ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา      ไม่เสียหายชีวาถ้าสิ้นไป
นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง                  หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส
ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด          ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่          เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ            ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย



ฉาก ฟินาเร่ (๕นาที) เพลงมาร์ช นครไตรตรึงษ์ หรือเพลงอื่น ตามที่เห็นสมควร


บทอาจารย์สันติ อภัยราช

หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!