พระกำแพงอู่ทอง วังพาน
วังพาน หรือบางพาน เป็นเมืองเก่าสมัยสุโขทัยเมืองบางพาน เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมืองหนึ่งที่น่าศึกษาอยู่ในเขตอำเภอพรานกระต่าย เป็นเมืองที่สำคัญและเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นราชธานี หรือก่อนหน้านั้น หลักฐานจากจารึกนครชุม ซึ่งจารึกเมื่อปี พ.ศ.1900 ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จารึกไว้ว่า " พิมพ์เอารอยตีน…….อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองบางพาน เหนือจอมเขานางทอง " ซึ่งหมายถึงการนำรอยพระพุทธบาทจำลองมาประดิษฐานไว้ที่เขานางทองเมืองบางพานแสดงว่าเมืองบางพานเคยเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
เมื่อทำการขุดแต่ง เมืองบางพาน ได้พบพระพิมพ์หนึ่งซึ่งงดงามมาก มีลักษณะคล้ายพระพิมพ์สมัยอู่ทอง พุทธลักษณะเป็นปางมารวิชัย บางพิมพ์เป็นปางสมาธิ มีทั้งเนื้อ ดิน เนื้อชิน และเนื้อว่าน เป็นลักษณะว่านหน้าทอง ก็มี มีหลายขนาด ขาดใหญ่สุด สูงประมาณ ๖ เซนติเมตร อยู่ในซุ้ม สามชั้น ฐานสูง ฐานมีลักษณะบัวหงาย หลายชั้น สัฆาฏิสั้นเลยพระนาภี กับระหว่างพระอุระ บางพิมพ์ จรดพระนาภี ความงดงามไม่แพ้พิมพ์ใดๆ ที่พบในเมืองกำแพงเพชร
พุทธคุณ มีอิทธิปาฏิหาริย์ ทางเมตตามหานิยม ทำมาค้าขายคล่อง เจรจาความ ได้ชัดเจน สง่างาม เชื่อกันว่าถ้าพกพาเงินทองจะไหลมาเทมา เป็นที่แสวงหาของผู้สะสมพระเครื่องกันทุกคน