จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มกราคม 12, 2025, 10:32:03 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บ้านท่าช้าง ดินแดนไทดำ อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร วัฒนธรรมไทดำล้ำค่า เอก  (อ่าน 5727 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1445


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: สิงหาคม 25, 2018, 06:36:14 am »

บ้านท่าช้าง  ดินแดนไทดำ  อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
   วัฒนธรรมไทดำล้ำค่า   เอกลักษณ์ภาษาถิ่น    ดินแดนข้าวปลา  เสื้อผ้างดงาม ลือนามคลองลาน ถิ่นฐานท่าช้าง
   คำขวัญประจำ บ้านท่าช้าง  ตำบลคลองลานพัฒนา  อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ได้บอกเรื่องราวของ ไทยทรงดำ ที่บ้านท่าช้างจังหวัดกำแพงเพชรกำแพงเพชร อย่างชัดเจน และเหมาะสมอย่างที่สุด ที่กำแพงเพชรมีชาวไททรงดำ อยู่จำนวนมาก กระจายไปเกือบทั้งจังหวัด และที่หมู่บ้านท่าช้างแห่งนี้ มีชาวไทดำที่ยังรักษาวัฒนธรรมและประเพณีไว้ได้อย่างมั่นคงและแน่นอน โดยมีคนหลานรุ่นช่วยกัน ดำรงความเป็นไทดำที่ท่าช้างมาอย่างสง่างดงาม ควรแก่การศึกษาอย่างที่สุด ได้มีโอกาสไปสัมผัสกับกลุ่มไทดำท่าช้างอยู่สองวัน สนิทสนมราวสองปีทีเดียว ทุกคนมีน้ำใจที่งดงาม พาไปเที่ยวทุกมุมในหมู่บ้าน อย่างละเอียดสุดไม่ลืม ไม่ลืมแน่นอน
ผู้ไทดำ หรือไทยทรงดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทหรือเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ในปัจจุบัน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือตอนเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ ผู้ไทดำหรือไทยทรงดำมีชื่อเดิมเรียกกันว่า ไทดำ หรือ ผู่ไต๋ดำ เพราะนิยมใส่เสื้อดำล้วน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนไทที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น “ไทขาว”หรือ นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและไทแดง หรือชอบใช้สีแดงขลิบและตกแต่งชายเสื้อสีดำเป็นต้น ไทดำกลุ่มนี้ได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนไทยภาคกลางเรียกกันว่า “ลาวทรงดำ” เพราะเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับลาวและอพยพมาพร้อมกับลาวกลุ่มอื่น ๆต่อมาชื่อเดิมได้หดหายลง คำว่า”ดำ” หายไปนิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า”ลาวทรง”หรือ “ลาวโซ่ง” ซึ่งไม่ใช่คำเรียกที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือเรียก ชนกลุ่มนี้ว่า ผู้ไท ดำนั่นเอง คำว่า โซ่ง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ซ่วง” ซึ่งแปลว่า กางเกง เพราะเพราะชาวไทดำนิยมนุ่งกางเกงทั้งชายและหญิง คนไทยและลาวพวนจึงเรียกว่า ลาวซ่วง ซึ่งหมายถึงลาวนุ่งกางเกง ต่อมาเพี้ยนเป็น โซ่ง เหตุที่เรียกไทดำว่า ลาวโซ่ง เพราะคำว่า “ลาว” เป็นคำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคนที่อพยพมาจากถิ่นอื่น แต่ชาวไทดำหรือไทยทรงดำถือตนเองว่าเป็นชนชาติไท จึงนิยมเรียกตนเองว่า ไทดำ หรือผู้ไต๋ดำผลพวงสงครามสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทำให้ไทดำ หรือไทยทรงดำ ถูกกวาดต้อนครัวมาอยู่เพชรบุรี
ระยะแรกไทดำตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย (สมัยพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 1) ระยะที่สอง (สมัยรัชกาลที่ 3) โปรดฯ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลมไทดำหรือไทยทรงดำ จึงมาตั้งถิ่นฐานที่ท่าแร้ง เมื่อปี พ.ศ. 2378 - 2381 สงครามครั้งนั้น พวกลาวพวน พวกลาวเวียง ซึ่งเป็นชนชาติไทยด้วยสาขาหนึ่ง ได้ถูกกวาดครัวมาด้วยกัน เมืองเพชรจึงประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า “สามลาว” อันได้แก่ ไทดำ ลาวพวน และ ลาวเวียง
ธรรมชาติของผู้ไทดำ หรือไทยทรงดำ ชอบอยู่ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ชอบภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา เสมือนถิ่นดั้งเดิมของตน ครัวโซ่งกลุ่มนี้ มิชอบภูมิประเทศที่ท่าแร้ง เพราะโล่งเกินไป จึงได้อพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สะพานยี่หน ทุ่งเฟื้อ วังตะโก บ้านสามเรือน เวียงคอย เขาย้อย ตามลำดับ บางส่วนย้ายมาสู่กำแพงเพชร หลายกลุ่ม หลายพื้นที่ ที่มีชัยภูมิที่เหมาะสม ในที่สุดอพยพมาอยู่ที่บ้านท่าช้างกำแพงเพชร เกือบร้อยปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานมีครอบครัวหลากหลาย รักษาความเป็นไทดำไว้ได้เป็นอย่างดี น่าชื่นชมอย่างยิ่ง
ไทดำ ปลูกบ้านที่มีลักษณะของตนเองแบบหลังคาไม่มีจั่ว หลังคายกอกไก่สูง มุงด้วยตับต้นกกมิใช่ตับจาก รูปหลังคาลาดคุ่มเป็นรูปคล้ายกระโจม คลุมลงมาต่ำเตี้ยจรดฝา ดูไกลๆ จะดูเหมือนไม่มีฝาบ้าน เพราะหลังคาคลุมมิดจนมองไม่เห็น บ้านผู้ไทดำ จะไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากไทดำ มาจากเวียดนามและลาว อยู่ตามเทือกเขา อากาศหนาวเย็น ไม่ชอบมีหน้าต่างให้ลมโกรก พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ รองพื้นด้วยหนังสัตว์ มีใต้ถุนบ้านสูงโดยใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ด้วยที่บ้านท่าช้างมิมีบ้านลักษณะนี้ให้เห็นอีกแล้ว นับว่าน่าเสียดาย
เดิมบ้านท่าช้าง เป็นที่อาศัยของช้างป่าโขลงใหญ่ มักจะมาเล่นน้ำและข้ามไปข้ามมาที่บริเวณท่าช้าง ทุกวัน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า ท่าช้าง ปัจจุบันท่าช้าง ยังมีสภาพที่มองเห็นได้ว่า เป็นดังเรื่องเล่าขานกันมาจริง มีท่ามีช้าง มีจินตภาพที่ชัดเจนมาก
จุดเด่นของบ้านท่าช้างอยู่ที่ประชาชน ชาวท่าช้าง มีนำใจไมตรี ใสซื่อบริสุทธิ์ เสียสละตั้งใจทำงาน เมื่อเข้าใกล้อยู่ใกล้จะรู้สึกเป็นสุขมากเลยทีเดียว
สตรีชาวไทดำที่บ้านท่าช้าง มักมีหน้าตาสวยรูปร่างดี ผิวพรรณงดงาม มีมิตรไมตรี เป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี น่ายกย่อง น่าหลงใหล ถ้าจะชมสาวงามไม่ต้องไปที่ใด มาที่ท่าช้าง ท่านจะประทับใจที่สุด
การแต่งกายที่เอกลักษณ์สำคัญ
ผู้ชายชาวไทยทรงดำจะใส่เสื้อสีดำ  แขนยาว  ทรงกระบอกแคบ  ผ่าหน้าตลอด  ติดกระดุมเงินมียอดแหลมประมาณ  10 – 15 เม็ด  ตัวเสื้อตัดเย็บแบบเข้ารูปคอตั้งแบบชาวจีน  ด้านข้างผ่าปลายทั้ง 2 ข้าง  ส่วนเสื้อด้านล่างแหวกออกให้ห่างกัน  เสื้อแบบนี้เรียกว่า  “เสื้อไท้  หรือ  เสื้อซอน”  ใช้ใส่ในการเดินทางและทำงานทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน
          ส่วนกางเกงที่สวมใส่จะเป็นกางเกงขาสั้นสีดำหรือสีครามแก่  ปลายขาแคบเรียวยาวแค่เข่าแบบกางเกงขาก๊วยของจีน  เอวกว้าง  มีตะเข็บด้านข้าง  เรียกว่า   “ส้วงขาเต้น”       หรือ “ส้วงก้อม”  กางเกงอีกแบบหนึ่งเรียกว่า  “ส้วงฮี”  เหมือนส้วงก้อมแต่ขายาวถึงตาตุ่ม    กางเกงทั้งสองแบบนี้นิยมใส่กับเสื้อไท้ในชีวิตประจำวัน         
การแต่งกายของผู้ชายในการไปงานพิธีการต่าง ๆ จะแต่งกายด้วย “เสื้อฮี” ซึ่งตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีดำใส่ได้ทั้งสองด้านประดับตกแต่งด้วยเศษผ้าไหมชิ้นเล็ก ๆ  สีขาว    สีเขียว  สีแดง  สีส้ม  ตรงสาบชายเสื้อ  ปลายแขนและใต้รักแร้  และเหนือรอยผ่าด้านข้างทั้ง 2 ข้าง    เสื้อฮีของผู้ชายจะตัดเข้ารูปยาวถึงเข่าคอกลมป้ายไปทางซ้าย ผ่าหน้ายาวตลอด มีกระดุมไว้คล้อง  1 เม็ด กุ้นรอบคอด้วยผ้าไหมสีแดงแล้วเดินไหมสีอื่นทับเพื่อความสวยงาม มีกระดุมติดที่หน้าอกและเอว  แขนเสื้อเป็นแขนกระบอกตะเข็บเสื้อด้านข้างมีการตกแต่งด้วยเศษผ้าต่าง ๆ  ชายเสื้อด้านในประดับด้วยไหมและกระจกเป็นลวดลายสีต่าง ๆ โดยถ้าเป็นงานมงคลต่าง ๆ เช่น    งานแต่งงาน  งานพิธีเสนเรือน  จะใส่เอาด้านที่มีลายสวยงามอยู่ด้านใน  แต่ถ้าเป็นงานที่ไม่เป็นมงคลก็จะกลับเอาด้านที่มีลวดลายสวยงามออกมาด้านนอกแทน เช่น ใช้คลุมศพ เป็นต้น เสื้อฮีนี้เมื่อใช้แล้วจะไม่มีการซักแต่จะเพียงผึ่งแดดเท่านั้นมิให้สีตก และก่อนจะใส่เสื้อฮีจะสวมเสื้อเชิ้ตเข้าไว้ด้านใน  เสื้อฮีจึงเป็นเสมือนเสื้อนอกที่ใช้ในงานที่สำคัญต่าง ๆ
               เครื่องแต่งกายอีกอย่างหนึ่งของชาวไทยทรงดำ  คือ  กระเป๋าคาดเอวทำด้วยผ้าสีดำสลับด้วยผ้าสีแดง และเหลืองปลายสายเย็บกลึงให้กลมเรียวเล็ก ตอนปลายมีพู่ทำด้วยไหม สีต่างๆทั้งสองปลาย ตรงกลางเย็บผ้าติดทำเป็นกระเป๋าไว้ใส่ของคล้ายกระเป๋ามีฝาปิดใช้คาดทับเสื้อนอกตรงเอวไว้สำหรับใส่ข้าวของในชีวิตประจำวัน
ผู้หญิงชาวไทยทรงดำใส่เสื้อที่เรียกว่า “เสื้อก้อม”  เป็นเสื้อทอด้วยผ้าฝ้ายสีดำ หรือสีครามแก่แขนยาวทรงกระบอก     คอตั้งแบบชาวจีน คอผ่าหน้าตลอดติดกระดุมเงินประมาณ  10 – 15 เม็ด  ตัดเย็บเข้ารูปเอวสั้น
                    ผู้หญิงชาวไทยทรงดำ นุ่งผ้าซิ่นสีดำหรือสีครามแก่  พื้นมีลายเป็นเส้นตรงสีขาวเล็ก ๆ ยาวตามแนวตั้งทอด้วยเส้นด้ายสีดำสลับสีขาวหรือฟ้าอ่อนเป็นลาย  เรียกว่า  “ผ้าลายแตงโม”  ที่เชิงซิ่นติดตีนซิ่นลายขวางกว้างประมาณ 2 นิ้ว ส่วนตอนบนของผ้าซิ่นใช้ผ้าดำไม่มีลาย    กว้างประมาณ 2 นิ้วเย็บติดกับตัวผ้าซิ่นลายแตงโมบนผ้าซิ่นนี้สื่อความหมายถึง   การเป็นพี่เป็นน้องกันระหว่างชาวไทยกับชาวลาวโดยใช้ลายใหญ่2 เส้น  ขนานกัน      ส่วนลายเส้นเล็กและเส้นใหญ่เดี่ยว ๆ  หมายถึง  การแยกย้ายพลัดพรากจากกัน วิธีการนุ่งผ้าซิ่นของชาวไทยทรงดำมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกับชาติอื่น ๆ คือ  จะจับปลายซิ่นส่วนบน 2 ข้างพับเข้าหากันมาทับกันไว้ตรงกลางเอว  แล้วคาดเข็มขัดรัดไว้ไม่ให้ผ้าหลุด  ดึงซิ่นให้ด้านหน้าสูงกว่าด้านหลังเพื่อความสะดวกในการเดิน  แล้วพับชายผ้าลงมาตรงหน้าท้องปิดเข็มขัด  น่าศึกษาและติดตาม


ประเพณีเสนบ้านหรือเสนเรือน
ประเพณีเสนเฮือน หรือประเพณีเซ่นผีเรือนของลาวโซ่งจัดขึ้นเพื่อเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษซึ่งเชื่อว่า บรรพบุรุษของตนที่ตายไปจะได้ไม่อดอยากเป็นอยู่สุขสบาย มีผลให้ลูกหลานมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายด้วย ลาวโซ่งทุกคนจึงต้องทำพิธีเสนผีเฮือนเป็นประจำปีละครั้ง หรือ ๒-๓ ครั้ง เพราะเชื่อว่าถ้าผีบรรพบุรุษอดอยากจะก่อกวนสมาชิกในครัวเรือน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงจะเดือดร้อน ไม่มีความสุข เจ็บไข้ได้ป่วย เกิดอัปมงคลแก่ครอบครัว ที่สำคัญจะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนอกตัญญูไม่รู้จักบรรพบุรุษที่เคยเลี้ยงดูมา ลาวโซ่งจะไม่ทำพิธีเสนผีเฮือนในเดือน ๙ เดือน ๑๐ เพราะเชื่อว่าเดือนเก้าเดือนสิบผีเฮือนต้องไปเฝ้าแถน การเสนผีจะไม่ปรากฏผลใด ๆ จึงนิยม เสนเฮือนเดือน ๔ ๖ และ ๑๒ เพราะเป็นเดือนที่ว่าง ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์
การฟ้อนรำของไทดำ
โดยมีลักษณะเด่นของการเคลื่อนไหวร่างกาย 6 ส่วนคือ 1.การใช้เท้ามี 2 ลักษณะคือ การย่ำเท้าและการก้าวเท้า การก้าวเท้ามี 5 วิธี ได้แก่ ก้าวย่าง ก้าวไขว้ ก้าวลากเท้า ก้าวเขยิบเท้า และก้าวยั้งเท้า 2. การใช้ขามี 2 ลักษณะ คือการงอขาและการนั่งยองๆ 3.การใช้ลำดับมี 3 ลักษณะ คือลำตัวตั้งตรง ลำตัวเอนไปด้านหลัง และลำดับเอนไปด้านข้าง 4. การใช้มือมี 7 ลักษณะ ได้แก่ ม้วนมือ ช้อนมือ ไขว้มือ ควงมือ โฉบมือ ตักมือ และมือปัดป้อง 5. การใช้แขนมี 2 ลักษณะ ได้แก่ ตั้งวงสูง ตั้งวงต่ำ 6. การใช้สะโพก โดยมีลักษณะเด่น คือ การทรงตัวโดยยืนย่อเข่าโย้ตัวฟ้อน การนั่งยองๆ ฟ้อนในลักษณะจ้ำติดดิน สำหรับการฟ้อนจะขึ้นอยู่กับทำนองเพลง 4 เพลง ตามลำดับคือ 1. แคนช้า หรือแคนเดิน 2. แคนเร็ว หรือแคนแล่น 3. แคนแกร หรือแคนกะแล่ 4. แคนเวียงหรือแคนเยิบ แคนเดินเปรียบเสมือนหนุ่มสาวสร้างความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน แคนแล่นเปรียบเสมือนหนุ่มเล้าโลมและสาวหลบหลีก แคนกะแล่เปรียบเสมือนหนุ่มสาวสมัครสมานในรสรัก แคนเยิบเปรียบเสมือนชายหญิงที่แสดงถึงความสุขสมหวังในความรัก ส่วนการฟ้อนแบบปัจจุบันอาศัยรูปแบบการฟ้อนดั้งเดิมอยู่บ้าง แต่จะประยุกต์ขึ้นใหม่ตามสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแต่ละท้องถิ่นของกลุ่มชนไทยทรงดำ  ถ้าท่านได้ชมจะสนุกสนานมากๆ ต้องลุกไปร่วมรำเลยทีเดียว โดยเฉพาะตอนรำยั่วกัน สนุกและมีลีลาที่น่าสนใจกระเซ้าเหย้าแหย่กัน สนุกและเพลิดเพลินอย่างที่สุด


สองวันเต็ม เช้าจรดค่ำ ทำให้ผม รักและหลงใหลในวัฒนธรรมของ ไทดำบ้านท่าช้าง ไม่อยากที่จะจากมาเลยทีเดียอยากจะเชิญชวนทุกท่านว่า ถ้ามีเวลาหรือผ่านไปคลองลานจากกำแพงถึงสี่แยกคลองน้ำไหล เลี้ยวซ้าย เข้าไปนิดเดียว หน้าโรงเรียนบ้านท่าช้าง มีศูนย์วัฒนธรรมชาวไทดำ แล้วท่านจะรู้สึกเช่นเดียวกับผม หรือมากกว่าผม ไม่น้อยกว่าผม อย่างแน่นอน
อ.สันติ อภัยราช   ๒๒ สิงหา ๖๑




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!