จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ธันวาคม 25, 2024, 10:57:33 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติอำเภอบึงสามัคคี  (อ่าน 4973 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1444


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: เมษายน 28, 2020, 11:07:18 am »



               เดิมเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นท้องที่ตำบลระหานขึ้นการปกครองกับ  อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วย ๕ หมู่บ้านคือบ้านโพธิ์เอน บ้านระหาน บ้านหนองบัว  บ้านคอปล้อง และบ้านสามขา ราษฎรประกอบอาชีพทำนาและหาของป่า เช่นทำน้ำมันยาง ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐ มีราษฎรจากอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ ๓๐ ครอบครัวได้อพยพมาอาศัยอยู่บ้านชายเคือง และปี พ.ศ.๒๔๗๕ มีราษฎรจากจังหวัดนครปฐม อพยพมาอยู่ที่บ้านทุ่งสนุ่นอีกกลุ่มหนึ่งปีพ.ศ.๒๔๗๕ได้มีการแยกการปกครองจากอำเภอคลองขลุงยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอแสนตอ(อำเภอขาณุวรลักษบุรีในปัจจุบันทำให้ตำบลระหานเปลี่ยนมาขึ้นการปกครอง กับอำเภอขาณุวรลักษบุรี ประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๕ มีราษฎรจากอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์อพยพ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านโนนพลวงอีกกลุ่มหนึ่ง ราษฎรเหล่านี้ได้บุกเบิกถางพงเข้าจับจองที่ดินประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ต้องต่อสู้กับสัตว์ร้าย โรคภัยไข้เจ็บ และโจรผู้ร้าย ด้วยความทรหดอดทน แม้จะต้องประสบกับภยันตรายต่างๆ แต่ราษฎรดังกล่าวต่างก็ร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ ด้วยเหตุที่พื้นที่มีบริเวณกว้างขวางอาศัยการเข้าจับจองบุกร้างถางพง ทำให้ราษฎรจาก ภาคอีสานเช่น จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น และ ภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครปฐม และจังหวัดข้างเคียง เช่น พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี เข้ามาจับจองที่ดินและจัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้าน ทำให้ตำบลระหานมีหมู่บ้านถึง ๒๑ หมู่บ้าน จึงได้แยกการปกครองออกเป็นอีกตำบลหนึ่งคือตำบลวังชะโอน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ต่อมาได้มีการแยกตำบลวังชะโอน ซึ่งขณะนั้นมี ๑๙ หมู่บ้าน เป็นตำบลบึงสามัคคี เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ ด้วยความสามัคคีของราษฎร ผสมผสาน ความสามารถและภูมิปัญญาของผู้นำและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงได้รวมตำบลระหานวังชะโอน และบึงสามัคคี ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอบึงสามัคคี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๗ โดยใช้ชื่อว่า "กิ่งอำเภอบึงสามัคคี" เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยแยกการปกครองจากอำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร แล้วต่อมาแยกตำบลระหานออกเป็นตำบลเทพนิมิตและต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอบึงสามัคคี  ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ โดยมีผลบังคับในวันที่ ๘ กันยายน ปีเดียวกัน ดังนั้น อำเภอบึงสามัคคีจึงมี ๔ ตำบลคือ ตำบลวังชะโอน ตำบลระหาน ตำบลบึงสามัคคี และตำบลเทพนิมิต

ที่ตั้งและอาณาเขต
               อำเภอบึงสามัคคี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้
                              ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอทรายทองวัฒนา และ อำเภอไทรงาม
                              ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอบึงนาราง (จังหวัดพิจิตร)
                              ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอบรรพตพิสัย (จังหวัดนครสวรรค์) และ อำเภอขาณุวรลักษบุรี
                              ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอคลองขลุง และ อำเภอทรายทองวัฒนา

ดินดำ น้ำดี
               อำเภอบึงสามัคคี มีแหล่งน้ำ และดินที่อุดมสมบูรณ์มาก จะปลูกพืชพันธุ์ชนิดใดก็ได้ผลอย่างดีเยี่ยมมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยทำการเกษตรจำนวนมาก ก่อนออกเดินทางไปสำรวจบันทึกสารคดีโทรทัศน์ ได้พบ นางสาวรัศมี ศรีภิบาล ผอ.กศน.อำเภอบึงสามัคคี และนายสมควร พันผา ครูอาสา กศน.อำเภอบึงสามัคคี ท่านนำไปสวนเกษตรที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพเกษตร ที่ สวนเพียงรดา ที่ยืนยันว่า อำเภอบึงสามัคคี ดินดำ น้ำดี อย่างแท้จริง ได้พบกับเจ้าของสวน นางสมปอง ตันเจริญ และบุตรชาย คือ นายภานุลักษณ์ ตันเจริญ และเด็กหญิงเพียงรดา ตันเจริญ ธิดาของนายภานุลักษณ์ ตันเจริญ ใช้ชื่อลูกสาวเป็นชื่อสวน สวนเพียงรดา อยู่ที่หมู่ที่ ๑ บ้านดงเย็น ตำบลระหาน ได้จัดสรรที่ดิน ปลูกส้ม มะม่วง มะละกอ นับร้อยไร่ โดยขุดคลองส่งน้ำถึงที่ทุกแปลง ทำเป็นร่องน้ำ นำเรือเข้าไปรดน้ำ ฉีดยา ฉีดปุ๋ย ได้อย่างลงตัว มีผลผลิต จำนวนมาก ทั้งขายผลผลิต และขายกิ่งตอน มีรายได้ปีละนับล้านบาท จึงยืนยันยันได้ว่า ดินดำ น้ำดี อย่างไม่ต้องสงสัย

สามัคคี ทั่วเขต
               อำเภอบึงสามัคคี จัดงาน บุญผะเหวด ได้ยิ่งใหญ่ มีประชาชนเข้าร่วมงานหลาย หมื่นคน โดยจัดที่ วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม นับตั้งแต่ พระมหาอภิชาติ กิตฺติวรญฺญู เป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ท่านได้พัฒนาวัดและพัฒนาคนไปพร้อมๆกัน ถึงพื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และทัศนคติที่อาจจะเห็นต่างกันบ้าง แต่ท่านก็ได้ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนากับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาเป็นตัวสื่อกลางเชื่อมความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยจะเห็นได้จากเวลาที่วัดทุ่งสนุ่นรัตนารามจัดงานประเพณีบุญต่างๆไม่ว่าจะเป็นประเพณีไทยหรือประเพณีอีสาน ต่างก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งทางวัดได้จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ นั้น มีประชาชนเข้าร่วมงานหลายหมื่นคน จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นงานบุญผะเหวดแห่งเดียวของภาคเหนือตอนล่างที่มีประชาชนเข้าร่วมงานมากที่สุด และจัดยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้เลยทีเดียว ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีของชาวลุ่มแม่น้ำโขง (ลาวครั่ง ลาวเวียง ลาวอีสาน) ที่อพยพมาอยู่ที่นี่ให้คงอยู่ไม่สูญหายไปตามกาลเวลาและระยะห่างจากรากเหง้าบรรพบุรุษของตน จึงยืนยันได้ตามคำขวัญที่ กล่าวว่า สามัคคี ทั่วเขต

การเกษตร ก้าวหน้า
               ที่สวนเกษตรพอเพียงของ นายเฉลิม พีรี เดิมประกอบอาชีพทำไร่อ้อย และ ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน เพื่อส่งโรงงานแต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิต โดยแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง มาปลูกส้มโอ ท่าน ได้ทำกิจกรรมพืชเชิงเดี่ยวพบว่า มีภาระหนี้สินอยู่ตลอดเวลา เพราะต้อง จัดซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และ ยาเคมีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของตนเอง อีกทั้งไม่สามารถที่จะควบคุมการใช้จ่ายของครอบครัวได้ ท่านได้ทราบถึงแนวทางการปรับปรุงบำรุงดินในสภาพป่าที่เสื่อมโทรม พร้อมมีการอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงเกิดจุดเปลี่ยนที่เกิดแรงจูงใจให้อยากปรับปรุงกิจกรรมของตนเอง ให้มาอนุรักษ์ดินและน้ำ ในขณะเดียวกัน ก็ได้น้อมนำเอา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ มาปรับวิธีคิด
นายเฉลิม พีรี ทำเองซึ่งต่อยอดจากการเข้าอบรมกับ กศน. รวมทั้งเลี้ยงไก่ เป็ด เลี้ยงหมูหลุม จากนั้นก็มีการผลิตน้ำส้มควันไม้และการผลิตน้ำหมักจากพืชสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น มาใช้ทดแทนการใช้สารเคมี นอกจากนั้นยังได้ปรับสวนส้ม เป็นการปลูกไม้ยืนต้นแบบผสมผสาน ร่มเย็น ให้เป็นธรรมชาติ
               นายเฉลิม เป็นบุคคลที่มีความรู้ ด้านการเกษตรอย่างแท้จริง พร้อมเป็นคนที่ปฏิบัติจริงเป็นคนที่เรียนรู้ อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้ปรับปรุงพื้นที่รอบๆที่อยู่อาศัย และปรับปรุงสวนส้มโอให้เป็นฐานการเรียนรู้หลายฐาน ปัจจุบันได้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นแบบอย่างในชุมชน และมีผู้สนใจมาขอศึกษา และ มาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องในปีหนึ่งไม่น้อยกว่าพันคน
               นอกจากนั้นยังมีหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มาประสานงานแห่งความร่วมมือ เพื่อพัฒนากิจกรรมของลุงเฉลิม เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามแนว คือ การขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น ที่เปรียบเหมือนงานวิจัยที่น่าทึ่งคือใช้ยอดของต้นไม้ เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นกิ่งแก่ แบบที่ใช้ปักชำกันทั่วไป ตัดด้วยกรรไกรหรือ มีดคมๆ ให้รอยตัดเป็นแนวเฉียงนำมาปักชำในดินที่เตรียมไว้ คือดินที่ขุดลึกลงไปจากหน้าดิน ไม่ใช้หน้าดินหรือดินผสมปุ๋ยใดๆนำดินที่ได้มาพรมน้ำให้พอชุ่ม นำดินมาใส่ภาชนะที่เราจะใช้ชำยอดไม้ ให้สามารถมองเห็นได้ว่ารากจากยอดต้นไม้ อากาศที่ปิดและไอน้ำจะทำให้กิ่งชำมีน้ำตลอด และไอน้ำจะเร่งตาให้ออกใบใหม่ขึ้นมา เร่งให้ใบเปิด เพื่อรับแสง จะส่งผลให้เกิดการสังเคราะห์เป็นอาหาร เร่งให้กิ่งเกิดราก ทิ้งไว้ประมาณ ๑๕ วัน จะเกิดรากงอกออกมาให้เห็น ตามแบบนักวิจัยชาวบ้านหรือปราชญ์ชาวบ้าน พืชที่ใช้วิธีนี้มีหลายอย่างด้วยกันที่ลุงเฉลิมได้ทดลองทำแล้ว ได้แก่ มะนาว มะกรูด ชมพู่ สะเดา มะเดื่อ หม่อนบราชิล ทับทิม แคนา แคป่า มะกอก มะไฟ ตะขบป่า แมงลักผักแพ้ว ผักขม เป็นต้น สามารถขยายพันธุ์ได้ครั้งละมากๆตามที่ต้องการ พืชไม่กลายพันธุ์ และมีความแข็งแรงกว่าการตอนกิ่งหรือปักชำแบบธรรมดา คือสิ่งที่ลุงเฉลิม ที่เริ่มต้นจากพื้นที่ที่มีอยู่เล็กผืนหนึ่งกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ทำให้การเกษตรก้าวหน้า อย่างแท้จริง

ชาวประชาร่วมใจ
               ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศภก.)อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร
โดยมีผู้นำ ในการนำเดินการโดย นายอำพร ป้อมทอง ผู้ใหญ่บ้าน และนางสุนีย์ ป้อมทอง ภรรยา เป็นผู้นำ พลิกจากนา ๘๐ไร่ มาสร้างศูนย์เรียนรู้ ในเนื้อที่ ๖ไร่ และขยายขึ้นเรื่อยๆ แบ่งฐานการเรียนรู้ออกเป็น แปดสถานี คือ
               สถานีที่ ๑ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว
               สถานีที่ ๒ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยโรงงาน
               สถานีที่ ๓ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกล้วยน้ำว้า
               สถานีที่ ๔ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
               สถานีที่ ๕ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผัก
               สถานีที่ ๖ การจัดการดิน ปุ๋ย และการใช้น้ำอย่ารู้คุณค่า
               สถานีที่ ๗ การผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ (เชื้อจุลินทรีย์)
               สถานีที่ ๘ เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ/ไร่นาสวนผสม
               ประชาชนให้ความร่วมมือ ร่วมใจมาเรียนรู้และสาธิต ตามฐานทั้งแปด สมกับคำขวัญที่ว่า  ชาวประชาร่ามใจ อย่างแท้จริง

คำสำคัญ : บึงสามัคคี

ที่มา : สันติ อภัยราช. (2559). สารคดีโทรทัศน์ วัฒนธรรม จังหวัดกำแพงเพชร : ตอน อำเภอบึงสามัคคี. กำแพงเพชร: ม.ป.พ.

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!