จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤศจิกายน 26, 2024, 04:48:54 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 กษัตริย์เมืองเทพนคร สืบค้นโดยอาจารย์รุ่งเรือง สอนชู  (อ่าน 12659 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1440


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: ธันวาคม 22, 2010, 04:16:46 pm »

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)  กษัตริย์เมืองเทพนคร 
สืบค้นโดยอาจารย์รุ่งเรือง  สอนชู
                 
                สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)  ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นอาณาจักรที่ แผ่ขยายอาณาเขตกว้างขวางออกไป จากภาคเหนือ ภาคตะวันออกถึงภาคใต้ของประเทศไทยและบางส่วนของพม่า มีอายุยืนยาวกว่า 400 ปี  แต่พระราชประวัติของพระองค์นั้นมีที่มาจากหลายแหล่งแต่ยังไม่มีหลักฐานที่ยุติได้ว่ามีเชื้อสายหรือพระราชวงศ์มาจากที่ใดแน่  มีผู้ที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์หลายท่านยังเชื่อว่า   มีถิ่นกำเนิดอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร     ผู้เขียนจึงขอนำหลักฐานจากพงศาวดาร โบราณคดี ที่ผู้ที่มีความรอบรู้ได้กล่าวไว้นั้น  มานำเสนอให้ผู้สนใจได้รับรู้ถึงพระราชประวัติอีกครั้งหนึ่ง
พระราชประวัติของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)  ฉบับดั้งเดิม
                 จากเรื่องเทศนาจุลยุทธการวงศ์  ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารชิ้นแรกที่กล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)  โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)  ในหนังสือประชุมพงศาวดาร  ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1  หน้า  189-191 ได้ทรงเทศนาถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ไว้ดังนี้
                 ? บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายพระสัทธรรมเทศนา ในจุลยุทธการวงศ์ สำแดงเรื่องลำดับโบราณกษัตริย์ในสยามประเทศนี้  อันบุพพาจารย์รจนาไว้ว่า
                  กาลเมื่อพระเจ้าเชียงรายพ่ายแพ้ยุทธสงครามแต่พระยาสตองเสียพระนคร  พาประชา
ราษฎรชาวเมืองเชียงราย  ปลาสนาการมาสู่แว่นแคว้นสยามประเทศ ถึงราวป่าใกล้เมืองกำแพงเพชร  ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระองค์  สมเด็จอมรินทร์ทราธิราชนิมิตพระกายเป็นดาบสมาประดิษฐานอยู่ตรงหน้าช้างพระที่นั่ง  ตรัสบอกให้ตั้งพระนครในที่นี้เป็นชัยมงคลสถาน  บรมกษัตริย์ก็ให้สร้างพระนครลงในที่นั้น  จึงให้นามชื่อว่าเมืองไตรตรึงษ์  พระองค์เสวยไอศุริยสมบัติอยู่ในพระนครนั้นตราบเท่าทิวงคต  พระราชโอรสนัดดาครองสมบัติสืบๆ กันมาถึงสี่ชั่วกษัตริย์
                  ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่ง เป็นปุ่มปมไปทั้งร่างกาย  ทำไร่ปลูกพริกมะเขืออยู่ในแดนพระนครนั้น  เก็บผลพริกมะเขือขายเลี้ยงชีวิต  แลมะเขือต้นหนึ่งอยู่ใกล้ห้าง  บุรุษนั้นไปถ่ายปัสสาวะลงที่ริมต้นนั้นเป็นนิจ  มะเขือนั้นออกผล  ผลหนึ่งใหญ่กว่ามะเขือทั้งปวง    พอพระราชธิดาไตรตรึงษ์มีพระทัยปรารถนาจะเสวยผลมะเขือ  จึงให้ทาสีไปซื้อ  ก็ได้ผลใหญ่นั้นมาเสวย  นางก็ทรงครรภ์  ทราบถึงพระราชบิดาตรัสไต่ถาม  ก็ไม่ได้ความว่าคบหาสมัครสังวาสกับบุรุษใด  ต่อมาพระธิดา
ประสูติพระราชกุมาร  พระรูปโฉมงามประกอบด้วยลักษณะอันบริบูรณ์  พระญาติทั้งหลายบำรุงเลี้ยงพระราชกุมารจนโตขึ้น  ประมาณพระชนม์สองสามขวบ  สมเด็จพระอัยกาปรารถนาจะทดลองเสี่ยงทายแสวงหาบิดาพระราชกุมาร  จึงให้ตีกลองป่าวร้องบุรุษชาวเมืองทั้งหมด  ให้ถือขนมหรือผลไม้ติดมือมาทุกคน  มาพร้อมกันที่หน้าพระลาน  ทรงพระอธิษฐานว่าถ้าบุรุษผู้ใดเป็นบิดาของทารกนั้น  ขอจงทารกนี้รับเอาสิ่งของในมือแห่งบุรุษนั้นมาบริโภค  แล้วให้อุ้มกุมารนั้นออกไปให้ทุกคนรับรู้  บุรุษกายปมนั้นได้แต่ก้อนข้าวเย็นถือมาก้อนหนึ่ง  พระราชกุมารนั้นก็เข้ากอดเอาคอ  แล้วรับเอาก้อนข้าวมาบริโภค  ชนทั้งปวงเห็นก็พิศวงชวนกันกล่าวติเตียนต่าง ๆ  สมเด็จพระบรมกษัตริย์ก็ละอายพระทัย  ได้ความอัปยศ  จึงพระราชทานพระราชธิดาและพระนัดดาให้แก่บุรุษแสนปมให้ใส่แพลอยไปถึงที่ไร่มะเขือไกลจากพระนครทางวันหนึ่ง  บุรุษแสนปมก็พาบุตรภริยาขึ้นสู่ไร่อันเป็นที่อยู่  ด้วยอานุภาพแห่งชนทั้งสาม  บันดาลให้สมเด็จอมรินทริราช  นิมิตกายเป็นวานรนำทิพยเภรีมาส่งให้นายแสนปมนั้น  แล้วตรัสบอกว่า  ท่านจะปรารถนาสิ่งใดจงตีเภรีนี้  อาจให้สำเร็จที่ความปรารถนาทั้งสิ้น  บุรุษแสนปมปรารถนาจะให้รูปงามจึงตีกลองนั้นเข้า อันว่าปมเปาทั้งปวงก็อันตรธานหาย  รูปชายนั้นก็งามบริสุทธิ์  จึงนำเอากลองนั้นกลับมาสู่ที่สำนัก  แล้วบอกเหตุแก่ภริยา  ส่วนพระนางนั้นก็กอร์ปด้วยปิติโสมนัส  จึงตีกลองนิมิตทอง ให้ช่างกระทำอู่ทองให้พระราชโอรสไสยาสน์  เหตุดังนั้นพระราชกุมารจึงได้พระนามปรากฏว่าเจ้าอู่ทองจำเดิมแต่นั้นมา  เมื่อจุลศักราชล่วงได้ 681 ปี  บิดาแห่งเจ้าอู่ทองราชกุมาร  จึงประหารซึ่งทิพยเภรีนิมิตเป็นพระนครขึ้นใหม่ที่นั้น  ให้นามชื่อว่าเทพนคร มีมหาชนทั้งปวงชวนกันมาอาศัยอยู่ในพระนครนั้นเป็นอันมาก  พระองค์ก็ได้เสวยไอศุรียสมบัติเมืองเทพนคร  ทรงพระนามกรชื่อพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน  เมือจุลศักราชล่วงได้ 706  ปี  พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนเสด็จดับขันธ์ทิวงคต  กลองทิพย์นั้นก็อันตรฐานหาย  สมเด็จพระเจ้าอู่ทองราชโอรสได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดาได้  6  พระวัสสา  ทรงพระปรารภจะสร้างพระนครใหม่  จึงให้ราชบุรุษให้เที่ยวแสวงหาภูมาประเทศที่มีพรรณมัจฉาชาติบริบูรณ์ครบทุกสิ่ง  ราชบุรุษเที่ยวหามาโดยทักษิณทิศ ถีงประเทศที่หนองโสน กอรปด้วยพรรณมัจฉาชาติพร้อมบริบูรณ์  สมเด็จบรมกษัตริย์ทรงทราบ  จึงยกจตุรงค์โยธาประชาราษฎรทั้งปวง  มาสร้างพระนครลงในประเทศที่นั้นในกาลเมือจุลศักราชล่วงได้  712  ปี  ให้นามบัญญัติชื่อว่ากรุงเทพมหานครนามหนึ่ง  ตามนามพระนครเดิมแห่งพระราชบิดา  ให้ชื่อว่าทวาราวดี  นามหนึ่ง  เหตุมีคงคาล้อมรอบเป็นของเขตดุจเมืองทวาราวดี  ให้ชื่อศรีอยุธยานามหนึ่ง  เหตุเป็นที่อยู่แห่งชนชราทั้งสอง  อันชื่อยายศรีอายุและตาอุทะยาเป็นสามีภริยากัน  อาศัยอยู่ในที่นั้น  ประกอบพร้อมด้วยนามทั้งสามจึงเรียกว่า  กรุงเทพหานคร บวรทวาราวดี  ศรีอยุธยา
                 สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ราชาภิเษก เสวยสวริยาธิปัตย์ถวัลยราท  ณ  กรุงเทพมหานคร  ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี  และวันเมื่อราชาภิเษกนั้น  ได้สังข์ทักษิณาวรรต  ณ  ภายใต้ต้นไม้หมันในพระนคร  เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นพระชนม์ได้  37  พระวัสสา  แล้วให้พระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ตรัสเรียกว่าพระเชษฐาธิราชไปปกครองสมบัติ  ณ  เมืองสุพรรณบุรี  ให้พระนามพระราเมศวรกุมารไปผ่านสมบัติ ณ เมืองลพบุรี
                 ครั้งนั้นมีเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร 16  เมือง คือ เมืองมะละกา  เมืองชะวา
เมืองตะนาวสี  เมืองนครศรีธรรมราช  เมืองทวาย  เมืองเมาะตะมะ  เมืองเมาะลำเลิง  เมืองสงขลา  เมืองจันทบูร  เมืองพระพิศนุโลกย์  เมืองสุโขทัย  เมืองพิไชย  เมืองพิจิตร  เมืองสวารรคโลกย์ 
เมืองกำแพงเพชร  เมืองนครสวรรค์
                 พระองค์ทรงสร้างพุไทยสวรรค์ยาวาศวิหารและรัตนะวนาวาศรีวิหาร คือวัดป่าแก้ว  พระสถิตอยู่ในราชสมบัติ  20  พระวัสสาก็เสด็จทิวงคต ?
                 จากเรื่องเทศนาจุลยุทธการวงศ์ได้กล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)นั้น  พอที่จะสรุปเป็นข้อๆได้ว่า
1.   พระราชวงศ์ทางผ่ายพระชนนีมาจากเชียงราย สร้างเมืองไตรตรึงษ์ ส่วนพระชนก(บุรุษแสนปม)ทรงพระนามภายหลังว่าพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน ยังไม่ทราบว่ามาจากที่ใด
2.   พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนสร้างเมืองเทพนครเมื่อจุลศักราช 681 หรือพุทธศักราช 1862
3.   สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1(พระเจ้าอู่ทอง) ขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองเทพนครต่อจากพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน เมือจุลศักราช 706 หรือปีพุทธศักราช 1887  ครองเมืองเทพนครได้ 6  พรรษาได้ย้ายไปสร้างเมืองกรุงศรีอยุธยาและสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมือจุลสักราช 712 หรือพุทธศักราช 1893
4.   สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) มีความเกี่ยวข้องกับพระบรมราชาธิราช(หลวงพะงั่ว)  ถือเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ และตรัสเรียกพระเชษฐา
          พระราชประวัติของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) จากเทศนาจุลยุทธการวงศ์
ข้อความที่กล่าวในแต่ละข้อ มีหลักฐานจากพงศาวดาร และโบราณคดีที่จะนำมารับรองได้ว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นเชื้อสายชาวกำแพงเพชรจริง ดังนี้
พระราชวงศ์ทางผ่ายพระชนนีมาจากเชียงรายสร้างเมืองไตรตรึงษ์ 
     พงศาวดารโยนก ในหนังสือประชุมพงศาวดาร  ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 7 
หน้า  489-491 กล่าวถึง พระเจ้าไชยศิริเจ้าเมืองไชยปราการ  ถูกกองทัพจากเมืองสเทิม(รามัญ)เข้าโจมตี ไม่สามารถป้องกันรักษาเมืองไชยปราการไว้ได้  จึงพาบรรดาข้าราชการและประชากรหลบหนีมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งริมแม่น้ำปิง(เมืองแปบ)เมือครบกำหนด 3 วัน ได้ฝังหลักเมืองตั้งพระนคร ขนานนามขึ้นเป็น ?เมืองกำแพงเพชร?  เมื่อจุลศักราช 366 วันอังคาร เดือน 9 แรม 4  ค่ำ ปีมะเส็ง (พ.ศ. 1547)  และได้สร้างเมืองไตรตรึงษ์ในเวลาต่อมา
     
ดังนั้นจากเทศนาจุลยุทธการวงศ์  กษัตริย์เชียงรายผู้สร้างเมืองไตรตรึงษ์  ตรงตาม
พงศาวดารโยนกคือพระเจ้าไชยศิริ เจ้าเมืองไชยปรากการ  ที่พาประชากรหลบหนีมาถึงเมืองแปบแล้วสถาปนาขึ้นเป็น ?เมืองกำแพงเพชร?และสร้างเมือง ?ไตรตรึงษ์?ในคราวหลัง


พระเจ้าศิริไชยเชียงแสน(บุรุษแสนปม)สร้างเมืองเทพนคร
           เทศนาจุลยุทธการวงศ์  พระเจ้าศิริไชยเชียงแสน(บุรุษแสนปม)ได้ทรงสร้างเมืองเทนคร  เมื่อจุลศักราช 681(พุทธศักราช 1862)   ในช่วงระยะที่ยังไม่พบเมืองเทพนครนั้น นักประวัติศาสตร์จึงยังไม่เชื่อว่าเรื่องราวในเทศนาจุลยุทธการวงศ์เป็นความจริง เป็นเพียงตำนานที่เล่ากันต่อมา  ในคราวหลังพบหลักฐานทางโบราณคดี  มีเมืองไตรตรึงษ์และเมืองเทพนครเกิดขึ้นจริง   ดังผังเมืองโบราณและภาพถ่าย ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำบัญชีทะเบียนทรัพย์สินด้านโบราณสถาน  จังหวัดกำแพงเพชร ไว้


 

สถานที่ตั้งและและภาพถ่ายเมืองไตรตรึงษ์และเมืองเทพนคร
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1(พระเจ้าอู่ทอง) เป็นกษัตริย์เมืองเทพนคร 
                  ตำนานกรุงเก่า ตอน 1 ประวัติกรุงเก่า  พระราชพงศาวดารสังเขป  ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม5  หน้า 9  ได้กล่าวว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นกษัตริย์เมืองเทพนคร ก่อนไปตั้งกรุงศรีอยุธยา โดยคัดลอกข้อความเป็นบางส่วนมาอธิบายดังนี้
                 ? ครั้นเมื่อจุลศักราช 712  ปี  พระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์เชียงราย  ซึ่งเสวยราชสมบัติในเมืองเทพนคร  เมืองนี้ที่จะอยู่ใกล้กับเมืองที่มีอำนาจ  จะเป็นที่คับแคบ  ซึ่งพระเจ้าอู่ทองจะขยายเขตแดนออกไปอีกไม่ได้  หรือกลัวเมืองอื่นจะมาทำอันตรายได้ง่ายในอย่างใด  จึงได้เสด็จลงมาสร้างเมืองหลวงขึ้นที่ตำบลหนองโสนข้างทิศตะวันตกกรุงศรีอยุธยา?
                จากข้อความ สรุปได้ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1(พระเจ้าอู่ทอง)ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองเทพนครต่อจากพระเจ้าศิริใชยเชียงแสน  แล้วจึงย้ายไปสร้างกรุงศรีอยุธยาในคราวหลัง

 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1(พระเจ้าอู่ทอง)  กษัตริย์เมืองอู่ทอง  เป็นชาวกำแพงเพชร
               กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุวรรณภูมิ จาก พงศาวดารโยนก  ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 7  หน้า  435-436    กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุวรรณภูมิ ได้เรียงลำดับไว้ว่า ลำดับที่ 6 พระยากาแต เชื้อนเรศร์หงสา   ลำดับที่ 7  อู่ทอง มาแต่เชลียง  ลำดับที่   8  ขุนหลวงพงั่ว
               ลำดับที่ 7  อู่ทอง มาแต่เชลียง  ซึ่ง ?เชลียง?  ก็หมายถึงเมืองกำแพงเพชรนั่นเอง
                เรื่อง ?อธิบายรัชการครั้งกรุงเก่า? ซึ่งเป็นพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเศก เล่ม 1 หน้า 356  ได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องของสมเด็จพระบรมราชาธิราช(หลวงพงั่ว) กับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
(พระเจ้าอู่ทอง)  ดังนี้
                 ? อธิบาย  เห็นว่าควรจะนับเปนราชวงษ์สุวรรณภูมิ์  เพราะเปนราชโอรสของพระเจ้ากรุงสุวรรณภูมิ์  ไม่ได้ร่วมวงษ์กับสมเด็จเด็จพระรามาธิบดีที่ 1  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นแต่เขยราชวงษ์สุวรรณภูมิ์?
                ชาวเมืองสุพรรณบุรี   ได้กล่าวถึงประวัติของเมืองสุพรรณบุรีที่พบได้ในเอกสารต่าง ๆ กล่าวไว้ดอนหนึ่งมีข้อความว่า
                 ?เมื่อพระเจ้ากาแต เชื้อสายมอญได้เสวยราชย์ในเมืองอู่ทอง แล้วย้ายราชธานีกลับมาอยู่ที่เมืองพันธุมบุรี ได้มอบหมายให้มอญน้อย (พระญาติ) สร้างวัดสนามไชยและบูรณะวัดลานมะขวิด (วัดป่าเลไลยก์) ในบริเวณเมืองพันธุมบุรีเสียใหม่ เมื่อบูรณะวัดแล้วทางราชการได้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา และชวนกันออกบวชถึงสองพันคน จึงได้เรียกชื่อเมืองนี้ใหม่ว่า "เมืองสองพันบุรี"
                 เมืองอู่ทอง มีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อกันมาหลายพระองค์ เรียกว่า "พระเจ้าอู่ทอง" ทั้งสิ้น และพระราชธิดาของพระเจ้าอู่ทอง ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าราม โอรสพระเจ้า
ศิริชัยเชียงแสน ต่อมาพระเจ้ารามขึ้นครองเมืองอู่ทองแทน (พ่อตา) คนทั่วไปก็เรียกว่า "พระเจ้าอู่ทอง"   เมื่อขุนหลวงพะงั่ว (พี่มเหสี) ขึ้นครองเมืองสองพันบุรี และได้ย้ายไปครองเมืองอู่ทอง
เมืองอู่ทองต้องกลายเป็นเมืองร้าง เพราะแม่น้ำจระเข้สามพันเปลี่ยนทางเดินใหม่และตื้นเขิน ซ้ำร้ายยังเกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) อีกด้วย ขุนหลวงพะงั่วจึงย้ายกลับมาประทับที่ เมืองสองพันบุรี และภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองสุพรรณบุรี" เมื่อ พ.ศ. 1890?
               
                  จากหลักฐานที่นำมากล่าวนั้นพอที่จะสรุปได้ว่า  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1(พระเจ้าอู่ทอง)ได้เป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์เมืองอู่ทอง(เป็นน้องเขยหลวงพะงั่ว)  ต่อมา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1(พระเจ้าอู่ทอง) ได้ขึ้นครองเมืองอู่ทอง  และในคราวหลังหลวงพะงั่วได้ขึ้นครองเมืองอู่ทองต่อจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)
บทสรุป
           หลักฐานต่าง ๆ ที่นำมาอธิบายนั้นสามารถที่จะกล่าวพระราชประวัติของสมเด็จรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)  ได้ว่า เป็นชาวกำแพงเพชร เป็นโอรสของพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน  ผู้สร้างเมืองเทพนคร  ได้เป็นราชบุตรเขยเมืองอู่ทอง( เป็นน้องเขยของหลวงพะงั่ว)   ได้เป็นกษัตริย์เมืองอู่ทอง  ได้เป็นกษัตริย์เมืองเทพนคร และครั้งสุดท้ายเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
            ดังนั้น  บุคคลผู้เป็นโอรสของพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน เป็นกษัตริย์เมืองอู่ทอง  เป็นกษัตริย์เมืองเทพนคร  และเป็นปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุทธยา ก็คือบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง ที่ทรงพระนามว่า
                                       ?สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)?

อ้างอิง
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี, ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนา
                    ภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2542.
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี, ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนา
                    ภิเษก เล่ม 5. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2544.
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี, ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนา
                    ภิเษก เล่ม 7. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2545.

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!