จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤศจิกายน 26, 2024, 11:45:26 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประเพณีการแต่งงาน ในจังหวัดกำแพงเพชร  (อ่าน 6610 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1440


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: ธันวาคม 14, 2010, 10:12:11 am »

ประเพณีการแต่งงาน จังหวัดกำแพงเพชร
   ประเพณีการแต่งงาน ในจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการบันทึกการสืบทอดจากการปฏิบัติมากกว่าการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร การศึกษาประเพณีการแต่งงาน จากนวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช ของครูมาลัย ชูพินิจ ระหว่าง ทิด รื่น หนุ่มวังแขม กับสุดใจสาวปากคลองสวนหมาก ทำให้เราทราบว่าการแต่งงานระหว่างอดีตกับปัจจุบันยังไม่แตกต่างกันมากนัก แม้ระยะเวลาจะห่างกันกว่าหนึ่งร้อยปี ซึ่งประเพณีการแต่งงานของกำแพงเพชร แบ่งเป็นสามขั้นตอนคือ
   การสู่ขอ  ฝ่ายหญิงจะพิจารณา ว่าผู้ชายเป็นคนดี มีศีลธรรม เป็นคนทำมาหากิน ฝ่ายชายจะพิจารณาว่าฝ่ายหญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือน มีกิริยามารยาทดี  ไถ่ถามกันถึงสินสอดทองหมั้น ตกลงกันและฝ่ายชายจะยกขันหมากมาสู่ขอและหมั้นกันในที่สุด
   พิธีหมั้น เมื่อได้ฤกษ์แล้วฝ่ายชายจะให้เฒ่าแก่คนเดิม หรือผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ ซึ่งต้องเป็นคู่สามีภรรยา ที่อยู่กินกันอย่างปกติสุข อยู่ในศีลธรรมปฏิบัติแต่คุณงามความดี เป็นผู้นำของหมั้นไปโดยมีขันโตกสองใบใส่ของหมั้นและสิ่งที่เป็นสิริมงคล ตามความเชื่อ ได้แก่  ใบพลู หมาก ถั่ว งา ใบเงิน ใบทอง  ใช้ผ้าคลุมสีสวยคลุมขันหมาก ห่อแล้วห้ามเปิดอีก จนกว่าจะถึงพิธี เมื่อเฒ่าแก่ฝ่ายชาย นำขันหมากไปถึง ฝ่ายหญิงต้อง ต้องหาเฒ่าแก่มารับขันหมากหมั้น ประกาศการหมั้นโดยเฒ่าแก่ฝ่ายชายอาจจะกล่าวว่า
   วันนี้เป็นวันดี  ขอหมั้นนางสาว.... กับนาย.... เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะรับหมั้นและจะนำของหมั้นลงไปตรวจนับ โดยละเอียด  และมอบสินสอดทองหมั้นทั้งหมดให้กับ ให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นผู้เก็บแล้วคืนขันให้ฝ่ายชาย อาจหมั้นตอนเช้า แต่งงานตอนกลางวัน หรือในตอนเย็นในวันเดียวกันก็ได้
   ตอนเช้ามีพิธีสงฆ์ เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้ว ฝ่ายชายจะต้องแห่ขันหมากมาบ้านฝ่ายหญิง ขันหมาก มีผ้าคลุม ทั้งหมดแปดคู่ คู่แรกถือสินสอดทองหมั้น คู่ต่อมาถือโตกใส่เป็ดไก่ ซึ่งอาจใช้เป็ดไก่จริงหรือใช้แป้งปั้นเป็นเป็ดไก่แทนก็ได้ จากนั้นมีขนมต้มขาว ขนมต้มแดง  หัวหมูต้ม  ขนมจีน ทุกอย่างต้องจัดเป็นคู่ ผ้าไหว้คือผ้าขาวและผ้าแดง อย่างละผืน ให้ญาติฝ่ายชายถือมา อาจเป็นเด็กผู้หญิง พรหมจารี
   การยกขันหมากจะแห่กันมาอย่างสนุกสนาน นำขบวนด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย  อย่างละคู่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการเริ่มครอบครัวใหม่ ให้มีกล้วยมีอ้อยปลูกไว้ประจำบ้านใหม่ หรือเรือนหอใหม่ ปิดท้ายขบวนด้วยถาดใส่ผลไม้ และขนมต่างๆ  เช่นขนมกง ขนมโก๋ ขนมปุยฝ้าย ขนมถ้วยฟู  มะพร้าวอ่อนเป็นลูก
กล้วยดิบ เป็นหวี อ้อยเป็นท่อน  ทุกอย่างต้องเป็นคู่ ก่อนเคลื่อนขบวนต้องโห่สามครั้ง เมื่อถึงบ้ายฝ่ายหญิง ต้องโห่อีกครั้ง  เพื่อบอกให้ทราบว่ามาถึงแล้ว  เมื่อเจ้าบ่าวจะขึ้นบ้าน จะต้องก้าวข้าม หญ้าแพรกที่วางอยู่บนก้อนหิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความหนักแน่น และความเจริญงอกงาม จะต้องผ่านประตูเงินประตูทอง ที่สมมุติขึ้นโดยใช้เด็กหรือผู้ใหญ่ 2 คน ถือสร้อยหรือเข็มขัดกั้นไว้  การผ่านประตูต้องเสียเงินและสุรา ปัจจุบันฝ่ายชายจะเตรียมเงินไว้จ่าย โดยเฉพาะประตูทอง ผู้กั้นจะเรียกเงินค่าผ่านประตูทองสูงกว่าประตูเงิน จึงจะเข้าไปในบ้านได้
   ฝ่ายชาย จะเปิดขันหมากต่อหน้าพ่อแม่ฝ่ายหญิง จะนำเงินและทองมานับ และอวยพรให้คู่บ่าวสาว ให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข  หลังจากนั้นทำพิธีไหว้ผีบ้านผีเรือน บอกเล่าแก่ ผีปู่ย่าตายาย ว่าบ่าวสาวขออนุญาต แต่งงานและอยู่กินกัน โดยการจุดเทียน 6 คู่  ของไหว้ผีบ้าน ผีเรือน ผีปู่ย่า ตายายได้แก่ ขนมจีน น้ำยา หัวหมู น้ำพริกดำ อาจเรียกว่า กินสี่ถ้วย  เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ขนมนมเนยจะแบ่งกัน โดยแบ่งกันระหว่างบ้านเจ้าบ่าวและเจ้าสาวคนละครึ่ง
   ส่วนการหลั่งน้ำพระพุทธมนตร์ ประเพณีดั้งเดิมนั้น คู่บ่าวสาวจะแต่งตัวอย่างงดงาม จะรดน้ำทั้งตัว โดยทั้งหนุ่มสาวจะเปียกโชก ตั้งแต่ศีรษะ ถึงปลายเท้า ต่อมารดน้ำแค่ศีรษะ และพัฒนามารดน้ำเพียงแต่มืออย่างเดียว เดิมต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เพราะหนุ่มสาวไม่รู้จักกันดีพอ ภายหลังไม่ต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เพราะทั้งคู่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
   ส่วนการปูที่นอนหรือเรียงหมอน  ผู้ปูต้องเลือกคู่สามีภรรยา ที่อยู่กันอย่างมีความสุข มีศีลธรรมและมีบุตร เมื่อไหว้เจ้าที่เจ้าทางแล้ว ผู้ใหญ่ที่ปูที่นอน  อาจลงนอนเป็นพิธี  เมื่ออวยพรเสร็จแล้ว ผุ้ใหญ่จะกลับกันหมด แล้วห้ามคู่สมรส ออกมาจากห้องหออีก ส่วนการกล่อมหอด้วยมโหรี ปัจจุบันไม่มีแล้ว
   การแต่งงานของชาวกำแพงเพชร  มีบางส่วนที่เหมือนเดิม บางส่วนที่แตกต่าง แต่ละท้องถิ่นจะมีประเพณีการแต่งงานที่แตกต่างกันไป แต่การแต่งงานที่กำแพงเพชรยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ ของกำแพงเพชรไว้ได้ เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน
ขอบคุณ คุณอริษา ท่อนแก้ว และคุณนิพันธ์ ท้าวแดนคำ ที่เป็นแม่แบบในการแต่งงาน โดยใช้ประเพณีของกำแพงเพชร โดยละเอียด รายการโทรทัศน์วัฒนธรรม ขอบคุณที่ทุกท่านให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดวัฒนธรรมของกำแพงเพชรสู่ลูกหลานอย่างดีที่สุด
                     สันติ อภัยราช


   
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!