จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤศจิกายน 23, 2024, 10:20:56 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปริศนา ชื่อเมืองกำแพงเพชร สืบค้นโดยอาจารย์รุ่งเรือง สอนชู  (อ่าน 5915 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1440


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: ตุลาคม 19, 2011, 06:48:17 pm »

เมืองกำแพงเพชร   มีชื่อหลายชื่อ
สืบค้นโดยอาจารย์รุ่งเรือง  สอนชู
                 ตามตำนานเชียงแสน  หน้า 107  และพงศาวดารโยนก  หน้า 490-491  ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 7  มีข้อความที่กล่าวตรงกันว่า  พระเจ้าไชยศิริเชียงแสนได้ทรงสถาปนา?เมืองกำแพงเพชร? เมื่อวันอังคาร แรม 4  ค่ำ เดือน เก้า ปีมะเส็ง พ.ศ. 1547   ในคราวที่พระเจ้าไชยศิรินำหมู่บ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำปิงคือฝั่งนครชุมและฝั่งชากังราวมาสถาปนาขึ้นเป็นเมืองกำแพงเพชรนั้น  ยังไม่มีการสร้างคูเมือง หรือกำแพงเมืองแต่อย่างใด  แต่ได้มีการสร้างเมืองกำแพงเพชรขึ้นในคราวหลัง    มีหลักฐานระบุไว้ว่าสร้างเมืองกำแพงเพชรครั้งแรกที่ฝั่งนครชุม  เมื่อประมาณ พ.ศ. 1800-1900   และมีหลักฐานระบุว่าสร้างเมืองกำแพงเพชรครั้งที่ 2 ฝั่งชากังราว เมื่อประมาณ  ศตวรรษที่ 20-21 
                จากเอกสารต่างๆ ที่ได้สืบค้น พบว่า เมืองกำแพงเพชรนั้น มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นได้หลายชื่อ ได้แก่
                                    1.  เมืองนครชุม
                                    2.  เมืองชากังราว 
                                    3.  เมืองพิจิตรปราการ
                                    4.  เมืองวิเชียรปราการ
                                    5.  เมืองเชลียง
                                    6. เมืองบลางพล  หรือ บางพล หรือปางพล
               ในข้อที่ 1  และ 2   เรียกเมืองกำแพงเพชรว่า  เมืองนครชุมและเมืองชากังราว นั้น  ความเห็นของผู้เขียนเชื่อว่า   การสร้างเมืองกำแพงเพชรครั้งแรกสร้างที่ฝั่งนครชุม  จึงเรียกชื่อเมืองตามชื่อสถานที่ใช้สร้างว่า ?เมืองนครชุม? และเช่นเดียวกัน สร้างเมืองกำแพงเพชรครั้งที่ 2 ที่ฝั่งชากังราว ก็เรียกชื่อเมืองกำแพงเพชรครั้งนั้นว่า ?ชากังราว?     
              ในข้อที่ 3 เมืองพิจิตปราการ และ 4 เมืองวิเชียรปราการ สืบค้นได้ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า  หน้า 11 ว่าหมายถึงเมืองกำแพงเพชร ตามข้อความที่ได้คัดลอกดังนี้
              ?เชื้อวงศ์ของพระองค์ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อมารวม 15 พระองค์
               อนึ่งโอฆบุรี  เมืองพิไชย  เมืองพิจิตรปราการ (วิเชียรปราการ คือกำแพงเพชร) เมืองทมันไป้ เมืองทั้ง 4 ที่กล่าวมานี้  เชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เป็นผู้สร้างขึ้นไว้?
           

               ในหนังสือเล่มเดียวกัน หน้าที่   200-201  ได้อธิบายถึงชื่อหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยรวมทั้งเมืองกำแพงเพชร ตามข้อความที่คัดลอก ดังนี้
                97.  เมืองพิไชยนคร      (เมืองพิไชย)
                98.  เมืองพิจิตรปราการ (เมืองวิเชียรปราการ คือเมืองกำแพงเพชร)
                99.  เมืองสิงห์บุรี          (ตรง)
               ข้อที่ 5  เรียกเมืองกำแพงเพชรว่า เชลียง  สืบค้นได้ จากหนังสือ 2  เล่ม ได้แก่
               1.จากเรื่อง จดหมายเหตุโหร ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก  เล่ม 1  หน้า  11  ได้กล่าวถึงวันประสูติของพระเจ้าพรหมผู้ซึ่งเคยไล่ปราบขอมมาถึงเมืองกำแพงเพชร โดยมีข้อความว่า
             ?ปีมะเส็ง  จ.ศ. 283  วันพุธ แรม 6 ค่ำ เดือนแปด เวลารุ่งเช้า เกิดพระเจ้าพรหมราชกษัตริยิ์ที่  41  เชียงแสน  ซึ่งปราบขอมพ่ายแพ้ลงมาถึงแดนชะเลียง?
              คำว่า ?ชะเลียง? มีเชิงอรรถอธิบายว่าหมายถึง กำแพงเพชร ดังนี้
                        ?ต้นฉบับที่ใช้ตรวจสอบใช้ว่า กำแพงเพ็ชร์?
                2. พงศาวดารโยนก เรื่อง ว่าด้วยติโลกราชทำศึกกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 7 หน้า  595  มีเรื่องราวที่สรุปได้ว่า พระยาอุทิศเจียง
เจ้าเมืองพิษณุโลกยอมเป็นเมืองขึ้นต่อเจ้าเมืองเชียงใหม่  จึงทำให้พระยาติโลกราชเจ้าเมืองเชียงใหม่คิดที่จะแย่งชิงเอาอาณาจักรสุโขทัยทั้งหมดจากกรุงศรีอยุธยา  จึงได้ยกทับหลวงไปเมืองพิษณุโลกและออกโจมตียึดเมืองอื่นๆ และได้ยกทัพเข้าสู่เมืองกำแพงเพชร แต่เรียกชื่อเมืองกำแพงเพชรว่า เมืองเชลียง ดังข้อความทีคัดลอกมาเป็นบางส่วน ดังนี้
                 ?พระยาติโลกราชเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ เสด็จยกทัพหลวงไปเมืองสองแคว เพื่อจะป้องกันเอาเมืองฝ่ายเหนือแห่งพระนครศรีอยุธยา  จึงเสด็จไปตั้งทัพอยู่ ณ เมืองทุ่งยั้ง  มีรี้พลทัพหลวงสี่หมื่น  ทัพหัวเมืองหมื่นหนึ่ง รวมเป็นห้าหมื่น  แล้วยกไปตั้งอยู่ข้างแม่น้ำกรังในเมืองสองแคว  20  วัน  จึงยกไปตีปากยม  ครั้นได้ปากยมแล้ว  จึงให้หมื่นหารนครยกไปตีเมืองเชลียงไปถึงตำบลน้ำรึม เพลาค่ำมีมหาเถรรูปหนึ่งมาบอกว่า  ที่นี้ไม่ควรยั้งควรนอน  ชาวเชลียงเขามีมากนักจักมากระทำร้าย  หมื่นยี่ซาตอบว่าเจ้ากูอย่าร้อนใจ  ตูข้าหากหลายนักมักมิเป็นไร  ก็พากันพักแรม ณ ที่นั้น ครั้นเพลาเที่ยงคืนชาวเชลียงยกออกมาปล้นทัพ
หมื่นนคร เสียชาวนครไปมากนัก (นครนี้คือนครลำปาง)?
                  ตำบลน้ำรึม มีเชิงอรรถอธิบายว่า ?บ้านน้ำรึมอยู่ใกล้เมืองกำแพงเพชรสัก 200 เส้น?
                  ดังนั้นชาวเมืองเชลียง ย่อมหมายถึงเมืองกำแพงเพชร  ถ้าเป็นเชลียง(ศรีสัชนาลัย) ระยะทางไกลเกินไปที่ยกทัพมาตีทหารของพระยาติโลกราชที่ตำบลน้ำรึมได้
               ข้อที่ 6  เรียกเมืองกำแพงเพชร ว่า บลางพล หรือ บางพล หรือ ปางพล  สืบค้นได้จากหนังสือ 2  เล่มได้แก่
1.   เรื่องหริภุญไชย ว่าด้วยระยะทางนางจามเทวี  จากพงศาวดารโยนก ในหนังสือ
ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1  หน้า 500  เป็นเรื่องที่กล่าวถึงการเดินทางของพระนางจามเทวีจากเมืองลพบุรีขึ้นไปเมืองลำพูน ซึ่งเคยพักที่เมืองกำแพงเพชร แต่เรียกกำแพงเพชรว่า ?บางพล?ดังข้อความที่คัดลอกมาเป็นบางส่วนดังนี้
              ?ครั้นยกจากเมืองบางประบาง  ไปประทับพักพล  ณ  เมืองคันธิกะ  ยกจากเมืองคันธิกะไปประทับพักพล  ณ  เมืองบุรัฐะ   ยกจากเมืองบุรัฐะขึ้นไปประทับ  ณ  เมืองบุราณะ  ยกจากเมืองบุราณะขึ้นไปประทับเมืองเทพบุรี (บ้านโคน) ยกจากเมืองเทพบุรีไปประทับเมืองบางพล(กำแพงเพชร)  ยกจากเมืองบางพลไปประทับเมืองรากเสยด  (ที่เกาะรากเสียด)?
2.   จากหนังสือตำนานมูลศาสนา เชียงใหม่ เชียงตุง  ในหน้า 13 ซึ่ง ศ.ดร. ประเสริฐ  ณ นคร และ
นายปวงคำ  ตุ้ยเขียว ผู้ปริวัตร ได้กล่าวสรุปชื่อเมืองบลางพล หรือ ปางพล ว่าหมายถึงเมืองกำแพงเพชร ดังนี้
              ?เมืองบลางพล คือเมืองกำแพงเพชร (สด.29 ปด.59) ฉบับป่าแดงเชียงตุง พูดถึงพระสุริยธิกรณเป็นประธานของพระเมืองปางพล  ส่วนฉบับสวนดอกว่าท้าวแสนสอยดาวแห่งกำแพงเพชรมอบเรื่องศาสนาไว้กับพระมหาสุริยาธิกรณ  แสดงว่ากำแพงเพชรคือ บลางพล
อ้างอิง
           กรมศิลปากร, คำให้การชาวกรุงเก่า  คำให้การขุนหลวงหาวัด และ พระราชพงสาวดารกรุงเก่า ฉบับ         
                   หลวงประเสริฐอักษรนิติ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คลังวิทยา,2515.
          คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนา
                    ภิเษก เล่ม  1. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2542.
          คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนา
                    ภิเษก เล่ม 7. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2545.
          สมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี.             
                   ตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่และเชียงตุง.  กรุงเทพมหานคร: ศักดิ์โสภาการพิมพ์,2537.

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!