จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤศจิกายน 23, 2024, 06:37:21 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บารมีพระมากพ้นรำพัน /พระปิยมหาราช บรรยายเรือนจำกลางกำแพงเพชร ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔  (อ่าน 7008 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1440


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: ตุลาคม 20, 2011, 06:55:49 pm »

พระบารมีมากพ้นรำพัน
วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช
บรรยายวันศุกร์ที่ ๒๑ตุลาคม๒๕๕๔ เวลา ๙.๐๐น ? ๑๐.๓๐ น. ณ   หอประชุมเรือนจำกลางกำแพงเพชร  แดน ๓
บรรยายโดยอาจารย์สันติ อภัยราช


    
นิติศาสตรบัณฑิต การศึกษาบัณฑิต ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
77 คนดี แทนคุณแผ่นดิน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพขร
ครูภูมิปัญญาไทย  อาจารย์ 3 ระดับ 9  

บารมีพระมากพ้นรำพัน
วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช
บรรยายวันศุกร์ที่ ๒๑ตุลาคม๒๕๕๔ เวลา ๙.๐๐น ? ๑๐.๓๐ น. ณ   หอประชุมเรือนจำกลางกำแพงเพชร  แดน ๓
บ้านเมืองใด   ไร้กษัตริย์      ฉัตรประเทศ
จะเทวษ       ด้วยเป็นทาส    ของชาติไหน
เพราะมีพระ   มหากษัตริย์     เป็นฉัตรชัย
เมืองไทย     จึงเป็นถิ่น        แผ่นดินทอง


 
พระมหากษัตริย์ราชวงศ์ จักรี


 
บุรพ พระมหากษัตริย์ ในปราสาทพระเทพบิดร


 
บารมีพระมากพ้น             รำพัน
พระพิทักษ์ยุติธรรม์          ถ่องแท้
บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน        ส่องโลก    ไซร้แฮ
ทวยราษฏร์รักบาทแม้      ยิ่งด้วยบิตุรงค์


                                        


สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์
พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระบรมราชสมภพเมื่อ
วันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖



 
 
ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม) เมื่อเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต ทรงศึกษาวิชาการยิ่งปืนไฟจากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) ทรงศึกษาวิชาคชกรรมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และวิชาอื่นๆ อันสมควรแก่บรมราชกุมาร


 
สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์และบุตรชายแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ทรงฉายหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง พ.ศ. 2404

ภาพสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ เมื่อทรงพระเยาว์





ภาพที่ระลึก รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกิจการรถไฟขึ้นในปี พ.ศ. 2429





พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (ประทับนั่ง) พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์
กรมขุนพินิจประชานาถ ทรงเชิญผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำสิงคโปร์ (มีสเตอร์แฮรี ออร์ด)
มาชมสุริยุปราคา ณ พลับพลาที่ประทับ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้พระองค์ทรง
สามารถคำนวนเวลาที่คราสเสวยเต็มดวงได้อย่างแม่นจำ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2411 ผู้สำเร็จราชการ ก็ได้กราบบังคมทูลเชิญพระองค์เสด็จสิงคโปร์ด้วย แต่พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน
__________________


 
ปี 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ฯ (ประทับยืนหน้าสุดถือพระมาลา) ขณะทรงมีพระชนมายุ
18 พรรษา เสด็จสิงคโปร์และปัตตะเวีย (อินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษและดัทช์ ที่
มีความเจริญสูงสุดในย่านนี้ เพื่อทอดพระเนตรบ้านเมืองและกิจการสาธารณูปโภคต่างๆ ภาพนี้ถ่ายที่  สวนพฤกษศาสตร์ สิงคโปร์



พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทรงฉายหน้าพลับพลาเมืองปัตตานี ในวโรกาสพระราชทานขนม ผลไม้ และของกินต่างๆ
เลี้ยงฉลองราษฎรในวันทำบุญฉลองศาลาการเปรียญ วัดตานีนรสโมสร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2432


 
ทรงพักผ่อนที่เกาะสีชัง

พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ ๕ พระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ
----------------------------------
ที่ ๒/๖๑๓๔ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


วันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒

ถึง ลูกชายใหญ่ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ

ด้วยเมื่อวันที่ ๖ เดือนนี้ เวลากลางคืน เป็นเวลาที่เจ้ามีอายุเต็มเสมอเท่ากับพ่อเมื่อได้รับสมมติเป็นเจ้าแผ่นดิน นึกตั้งใจไว้ว่าจะเขียนหนังสืออำนวยพร และสั่งสอนตักเตือนเล็กน้อย ก็เฉพาะถูกเวลาลงไปปากลัดเสีย จึงเป็นแต่ได้บอกด้วยปากโดยย่อ บัดนี้พอที่จะหาเวลาเขียนหนังสือฉบับนี้ได้จึงได้รีบเขียน ขอเริ่มความว่า

คำซึ่งกล่าวว่า ได้รับสิริราชสมบัติเป็นคำไพเราะจริงหนอ เพราะสมบัติย่อมเป็นที่ปรารถนาของบุคคลทั่วหน้า และย่อมจะคิดเห็นโดยง่าย ๆ ว่า ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ย่อมจะมีเกียรติยศยิ่งกว่าคนสามัญ ย่อมจะมีอำนาจจะลงโทษแก่ผู้ซึ่งไม่พึงใจ อาจจะยกย่องเกื้อกูลแก่ผู้ซึ่งพึงใจ และเป็นผู้มีสมบัติมาก อาจจะใช้สอยเล่นหัวหรือให้ปันแก่ผู้ที่พึงใจได้ตามประสงค์ ผลแห่งเหตุที่ควรยินดีกล่าวโดยย่อเพียงเท่านั้น ยังมีข้ออื่นอีกเป็นหลายประการ จะกล่าวไม่รู้สิ้น

แต่ความจริงหาเป็นเช่นความคาดหมายของคนทั้งปวงดังนั้นไม่ เวลาซึ่งกล่าวมาแล้วอันจะพูดตามคำไทยอย่างเลว ๆ ว่ามีบุญขึ้นนั้น
ที่แท้จริงเป็นผู้มีกรรมและมีทุกข์ยิ่งขึ้น ดังตัวพ่อได้เป็นมาเอง อันจะเล่าโดยย่อให้ทราบต่อไปนี้

ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดามารดาหรือที่ร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็กมีอายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเองยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่ แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่คือ ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในเวลานั้น เปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายในภายนอกหมายเอาทั้งในกรุงและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส

เพราะฉะนั้น พ่อจึงถือว่าวันนั้นเป็นวันเคราะห์ร้ายอย่างยิ่ง อันตั้งแต่เกิดมาพึ่งได้มีแก่ตัวจึงสามารถที่จะกล่าวในหนังสือฉบับก่อนว่าเหมือนตะเกียงอันริบหรี่ แต่เหตุใดจึงไม่ดับ เป็นข้อที่ควรจะถามหรือควรจะเล่าบอก การที่ไม่ดับไปได้นั้น

๑. คือเยียวยารักษาร่างกายด้วยยาบำบัดโรคและความอดกลั้นต่อปรารถนา คือไม่หาความสุขเพราะกินของที่มีรสอร่อย อันจะทำให้เกิดโรค
๒. ปฏิบัติอธิษฐานใจเป็นกลาง มิได้สำแดงอาการกิริยาโดยแกล้งทำอย่างเดียว ตั้งใจเป็นความแน่นอนมั่นคง เพื่อจะแผ่ความเมตตากรุณาต่อชนภายใน คือน้อง และแม่เลี้ยงทั้งปวงตามโอกาสที่จะทำได้ ให้เห็นความจริงใจว่ามิได้มุ่งร้ายหมายขวัญต่อผู้หนึ่งผู้ใด การอันใดที่เป็นข้อกระทบกระเทือนมาเก่าแก่เพียงใดมากหรือน้อย ย่อมสำแดงให้ปรากฏว่าได้ละทิ้งเสียมิได้นึกถึงเลย คิดแต่จะมั่วสุมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยควรที่จะสงเคราะห์ได้อย่างใดก็สงเคราะห์ มีที่สุดถึงว่าอายุน้อยเพียงเท่านั้นยังได้จูงน้องเด็ก ๆ ติดเป็นพรวนโตอยู่ทุกวัน แม่เจ้าคงจะจำได้ในการที่พ่อประพฤติอย่างใดในขณะนั้น
๓. ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ใหญ่ซึ่งท่านเชื่อเป็นแน่ว่าพ่อเป็นเจว็ดครั้งหนึ่งคราวหนึ่งอย่างเรื่องจีน แต่ถึงดังนั้นพ่อได้แสดงความเคารพนับถืออ่อนน้อมต่อท่านอยู่เสมอ เหมือนอย่างเมื่อยังมิได้เลือกขึ้นเป็นสมมติกษัตริย์เช่นนั้น จนท่านก็มีความเมตตาปรานีขึ้นทุกวัน ๆ
๔. ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งรู้อยู่ว่ามีความรักใคร่นับถือพ่อมาแต่เดิมก็ได้แสดงความเชื่อถือรักใคร่ยิ่งกว่าแต่ก่อน จนมีความหวังใจว่าถ้ากระไรคงจะได้ดีสักมื้อหนึ่ง หรือถ้ากระไรก็จะเป็นอันตรายสักมื้อหนึ่ง
๕. ผู้ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นศัตรูป้องร้ายก็มิได้ตั้งเวรตอบคือเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง ย่อมเคารพนับถือและระมัดระวังมิให้เป็นเหตุว่าคิดจะประทุษร้ายตอบหรือโอนอ่อนยอมไปทุกอย่าง จนไม่รู้ว่าผิดว่าชอบเพราะเหตุที่รู้อยู่ว่าเป็นศัตรู
๖. ข้าราชการซึ่งเป็นกลางคอยฟังว่าชนะไหนจะเล่นนั่นนั้นมีเป็นอันมาก แต่พ่อมิได้แสดงความรู้สึกให้ปรากฏเลย ย่อมประพฤติต่อด้วยอาการเสมอ แล้วแต่ความดีความชั่วของผู้นั้น แม้ถึงรู้อยู่ว่าเป็นศัตรูหรือเฉย ๆ แต่เมื่อทำความดีแล้วต้องช่วยยกย่องให้ตามคุณความดี
๗. ผู้ซึ่งเป็นญาติพี่น้องมิได้ยกย่องให้มียศศักดิ์เกินกว่าวาสนาความดีของตัวผู้นั้น ถ้าผู้นั้นทำผิดต้องปล่อยให้ได้รับความผิด ผู้นั้นทำความดีก็ได้รับความดีเท่ากับคนทั้งปวง มีแปลกอยู่แต่เพียงมารู้อยู่ในใจด้วยกันแต่เพียงว่าปรารถนาจะให้ไปในทางดีเพื่อจะได้ยกย่องขึ้น เมื่อไปทางที่ผิดก็เป็นที่เสียใจ แต่ความเสียใจนั้นไม่มาหักล้างมิให้ยินยอมให้ผู้ผิดต้องรับความผิด
๘. ละเว้นความสุขสบาย คือ กินและนอนเป็นต้น สักแต่ชั่วรักษาชีวิตไว้พอดำรงวงศ์ตระกูลสืบไป พยายามหาคนที่จะใช้สอยอันควรจะเป็นที่วางใจได้ มีน้องเป็นต้น อันมีอายุเจริญขึ้นโดยลำดับ
๙. เมื่อมีผู้ที่ร่วมคิดในทางอันดีมากขึ้น จึงค่อยแผ่อำนาจออกโดยยึดเอาทางที่ถูก ต่อสู้ทางที่ผิด เมื่อชนะได้ครั้งหนึ่งสองครั้ง ความนิยมของคนซึ่งตั้งอยู่ในทางกลางย่อมรวนเรหันมาเห็นด้วยก่อน จึงเกิดความนิยมมากขึ้น ๆ จนถึงผู้ซึ่งเป็นศัตรูก็ต้องกลับเป็นมิตร เว้นไว้แต่ผู้ซึ่งมีความปรารถนากล้า อันจะถอยกลับมิได้เสียแล้วก็ต้องทำไป แต่ย่อมเห็นว่ากำลังอ่อนลงทุกเมื่อ ๆ
๑๐. พ่อไม่ปฏิเสธว่า ในเวลาหนุ่มคะนองเช่นนั้นจะมิได้ซุกซน อันเป็นเหตุให้พลาดไปหลายครั้ง แต่อาศัยเหตุโอบอ้อมที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น และความรู้เห็นในผู้ซึ่งควรจะไว้ใจได้แก้ไขให้รอดจากความเสียถ้าไม่ได้ประพฤติใจดังเบื้องต้นแล้ว ไหนเลยจะรอดอยู่ได้ คงล่มเสียนานแล้ว การอันใดซึ่งเกิดเป็นการใหญ่ ๆ ขึ้น ดูก็ไม่น่าที่จะยกหยิบเอามากล่าวในที่นี้ เพราะจะทำให้หนังสือยาวเกินไป แต่พ่อยังเชื่อว่าถึงเหตุเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะเป็นคนหนุ่มก็ยังได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ จึงได้ตั้งตัวยืนยาวมาได้ถึง ๒๕ ปี นี้แล้ว

บัดนี้ ลูกมีอายุเท่ากับพ่อในเวลาที่ได้มีความทุกขเวทนาแสนสาหัสเช่นนั้น จึงได้มีใจระลึกถึงประสงค์จะแนะให้รู้เค้าเงื่อนแห่งความประพฤติอันได้ทดลองมาแล้วในชั่วอายุเดียวเท่านั้น แต่จะถือเอาเป็นอย่างเดียวกันเหมือนตีพิมพ์ย่อมไม่ได้อยู่เอง เพราะบริษัทและบุคคลกับทั้งเหตุการณ์ภูมิพื้นบ้านเมืองผิดเวลากัน ในเวลานี้เป็นการสะดวกดี ง่ายกว่าแต่ก่อนมากยิ่งนัก ตัวชายใหญ่เองก็ตั้งอยู่ในที่ผิดกันกับพ่อ ถ้าประพฤติตัวให้ดีจะดีได้เร็วกว่าง่ายกว่าเป็นอันมากในการภายใน แต่การภายนอกย่อมหนักแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงจะเป็นการจำเป็นที่จะทำช้าอย่างพ่อเคยทำมาไม่ได้ การสมัครสมานภายในต้องเรียบร้อยโดยเร็วไว้รับภายนอกให้ทันแก่เวลา จึงขอเตือนว่า


๑. ให้โอบอ้อมอารีต่อญาติและมิตรอันสนิท มีน้องเป็นต้น เอาไว้เป็นกำลังให้จงได้
๒. อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ไม่ว่าเจ้านายหรือขุนนาง ฟังคำแนะนำตักเตือนในที่ควรฟัง
๓. อย่าถือว่าเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรมสำหรับจะเทียมแอกเทียมไถทำการที่หนัก การซึ่งจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้นเป็นความทุกข์มิใช่ความสุข
๔. การที่เป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดไว้แล้วจะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้วมีสองทาง คือ บวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชังอันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจหรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้วว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้

เมื่อลงปลายหนังสือฉบับนี้ ต้องขออำนวยพรเจ้า ซึ่งยังมิต้องรับการหนักอย่างเช่นพ่อต้องรับมา ในเมื่ออายุเพียงนี้ยังมีพร้อมอยู่ทั้งบิดามารดาคณาญาติ ซึ่งจะช่วยอุปถัมภ์บำรุงให้สติปัญญาความคิดแก่กล้าขึ้น จนถึงเวลาที่ควรจะรับแล้วและได้รับโดยความสะดวกใจดีกว่าที่พ่อได้เป็นมาแล้ว ขอให้หมั่นศึกษาและทำในใจในข้อความที่ได้กล่าวตักเตือนมานี้ ละความเกียจคร้าน ตั้งใจพยายามทำทางไว้ให้ดีทุกเมื่อ ถ้าสงสัยอันใดข้อใดไม่เข้าใจให้ถาม จะอธิบายให้ฟัง ให้อ่านหนังสือนี้จำได้ทุกข้ออย่าให้เป็นแต่เหมือนอ่านหนังสือพิมพ์เล่น
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
------------------------------------------------------------------------------------







จากซ้าย สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ - สมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ-สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ - สมเด็จฯเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร





รถรางขณะแล่นผ่าน หน้าวังบูรพาภิรมย์ สมัยรัชกาลที่ 5 จะเห็นเสากระโดงบนหลังคาพาดเกี่ยวสายไฟตลอดทางเพื่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าผลัก ดันให้วิ่ง
พระราชกรณียกิจ
๑.   เลิกทาส


 
กฎหมายโบราณแบ่งทาสออกเป็น 7 ชนิด
        1. ทาสสินไถ่
        2. ทาสในเรือนเบี้ย
        3. ทาสได้มาแต่บิดามารดา
        4. ทาสท่านให้
        5. ทาสช่วยมาแต่ทัณฑ์โทษ
        6. ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย
        7. ทาสเชลยศึก
        ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน และได้ใช้เวลาเพียง30ปีเศษทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยมิเกิดการนองเลือด เหมือนกับประเทศอื่น ๆ เลย





พระราชกณียกิจที่สำคัญ
1.   กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบงานที่เดิมเป็นของสมุหนายก ดูแลกิจการพลเรือนทั้งหมดและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและชายทะเลตะวันออก
2.   กระทรวงนครบาล รับผิดชอบกิจการในพระนคร
3.   กระทรวงโยธาธิการ รับผิดชอบการก่อสร้าง
4.   กระทรวงธรรมการ ดูแลการศาสนาและการศึกษา
5.   กระทรวงเกษตรพานิชการ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์
6.   กระทรวงยุติธรรม ดูแลเรื่องตุลาการ
7.   กระทรวงมรุธาธร ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์
8.   กระทรวงยุทธนาธิการ รับผิดชอบปฏิบัติการการทหารสมัยใหม่ตามแบบยุโรป
9.   กระทรวงพระคลังสมบัติ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงการคลัง
10.   กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) รับผิดชอบการต่างประเทศ
11.   กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบกิจการทหาร และบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้
12.   กระทรวงวัง รับผิดชอบกิจการพระมหากษัตริย์

การเสด็จประพาสต้น กำแพงเพชร


 
แม่หวีด ศุภดิษฐ์   คนงามเมืองกำแพงเพชร


 
เสด็จโดยเรือหางแมงป่อง


 
พระยาวิเชียรปราการ รับเสด็จ



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมนามาภิไธย
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชวรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร
ราชวงศ์   ราชวงศ์จักรี

ครองราชย์   1 ตุลาคม พ.ศ. 2411

บรมราชาภิเษก   ครั้งที่ 1 : 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411
ครั้งที่ 2 : 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416

ระยะครองราชย์   42 ปี
รัชกาลก่อนหน้า   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลถัดไป   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดประจำรัชกาล   วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ข้อมูลส่วนพระองค์
พระราชสมภพ   20 กันยายน พ.ศ. 2396

สวรรคต   23 ตุลาคม พ.ศ. 2453
รวมพระชนมพรรษา 57 พรรษา
พระราชบิดา   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชมารดา   สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

พระบรมราชินี   สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระราชโอรส/ธิดา   77 พระองค์


 
ที่ตั้งพระบรมศพ



บรรยากาศในการเคลื่อนพระบรมศพออกจากพระราชวังดุสิตผ่านพระบรมรูปทรงม้าไปตามถนนราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวังเต็มไปด้วยความเศร้าสร้อย พระบรมศพในพระโกศทองกั้นด้วยฉัตรสีขาวขลิบทองค่อยๆ เคลื่อนออกจากประตูพระที่นั่งพระราชวังดุสิตเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. มีการตัดสายไฟออกเพื่อให้ยอดพระยานุมาศสามารถผ่านไปได้สะดวก ไฟฟ้าที่เคยสว่างอยู่ก็พลันมืดมิด แต่ทางการได้เอาตะเกียงมาติดกับปลายไม้ไผ่ดวงชวาลาให้แสงสว่างแก่
ขบวนพระบรมศพ
ประชาชนที่รู้ข่าวสวรรคตก็พากันนุ่งขาวและนุ่งดำมาปูเสื่อเรียงรายสองข้างทางถนนราชดำเนินเพื่อถวายความจงรักภักดีเป็นครั้งสุดท้ายต่อพระบรมศพแห่งพระผู้ทรงประทานความเป็นไทยอย่างแท้จริงกับคนไทย

ใบหน้าของแต่ละคนมีแต่สีความเศร้าสลดที่เป็นหญิงน้ำตาไหลพรากลงสองแก้มที่เป็นชายแม้ใจแข็งก็ยังมีน้ำตาซึมด้วยความเสียใจ ขบวนพระบรมศพนำหน้าด้วยปี่กลองเครื่องสูงเคลื่อนที่ออกจากประตูพระราชวังดุสิตมุ่งหน้าไปตามถนนราชดำเนินผ่านลานพระบรมรูปทรงม้าไปช้าๆ

ในขณะนั้นก็มีหมอกสีขาวเกิดขึ้น หมอกนี้ไม่ลอยสูงแต่ลอยเลี่ยอยู่กับพื้นดินเป็นควันสีขาวอ้อยอิ่งอยู่ไปมาและลอยขึ้นมาเกือบจะถึงศีรษะของผู้คน ดังนั้นเมื่อขบวนพระบรมศพผ่านมาจึงตัดหมอกนั้นเข้าไปเหมือนกับราชรถพระอินทร์ที่ลอยลงมาจากฟ้า หมอกนั้นมีความหนาวเหน็บจนจับขั้วหัวใจโบราณเรียกหมอกนี้ว่า ?หมอกธุมเกศ? จะมีขึ้นเมื่อมีเหตุอันใหญ่หลวงขึ้นในแผ่นดิน ครั้งนี้หมอกธุมเกศลงตั้งแต่หัวค่ำแสดงให้เห็นความวิปริตของดินฟ้าอากาศเหมือนดั่งว่าสมเด็จพระสยามเทวาธิราชจะบันดาลให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการสลดอาลัยในการเสด็จสู่สวรรคัลลัยของพระผู้เป็นมหาราชผู้เลิกทาสในแผ่นดิน
การเฝ้ารอถวายบังคมพระบรมศพนั้นไม่ต้องลุกขึ้นชะเง้อมองว่าขบวนพระบรมศพมาถึงที่ใดแล้ว ทั้งนี้เพียงใช้หูก็พอจะรู้ว่าขบวนเคลื่อนมาใกล้ตัวเองมาเพียงใด ทั้งนี้เพราะเมื่อพระยานุมาศเคลื่อนที่ผ่านมาถึงที่ใดเสียงร่ำไห้ก็ดังขึ้นอย่างเซ็งแซ่ บอกให้รู้ได้ในยามนั้นว่าขบวนพระบรมศพใกล้เข้ามาแล้ว ยิ่งเสียงร่ำไห้ได้ยินชัดขึ้นก็แสดงว่าพระยานุมาศเคลื่อนที่มาใกล้ตัวเองแล้ว
เสียงร่ำไห้อันเกิดจากส่วนลึกของจิตใจทวยราษฎร์แสดงให้เห็นถึงความสลดอาลัยต่อการจากไปของพระผู้เป็นดวงประทีปแห่งแผ่นดินเคล้ากับเสียงปี่
และกลองอันวิเวกวังเวงทำให้เกิดความสลดสังเวชใจอย่างสุดจะบรรยายได้
<O </O

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุลซึ่งได้ไปหมอบเฝ้าถวายบังคมขบวนพระบรมศพที่ถนนราชดำเนินได้ทรงนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ที่ทรงร่วมอยู่ด้วยว่า
<O </O
?ข้าพเจ้าเคยได้ยินเสียงปี่เสียงกลองมาแล้วเคยได้เห็นแห่พระศพเจ้านาย
มาแล้วหลายพระองค์ แต่คราวนี้ตกใจสะดุ้งทั้งตัวเมื่อเห็นพระมหาเศวตฉัตรกั้นมาบนพระบรมโกศสีขาวกับสีทองเป็นสง่าทำให้รู้ได้ทันทีว่าเป็นพระบรมศพแล้วก็ร้องไห้ออก
มาไม่ทันรู้ตัวเหลียวไปดูทางอื่นเห็นแต่แสงเทียนที่จุดสักการะอยู่ข้างถนน
แวมๆ ไปตลอดในแสงเทียนนั้นมีแต่หน้าเศร้าๆ หรือปิดหน้าอยู่เราหมอบกราบกับพื้นปฐพี พอเงยหน้าก็เห็นทหารที่ยืนถือปืนเอาปลายลงดินก้มหน้าลงบนด้ามปืนอยู่
ข้างหน้าเราเป็นระยะทางไปตลอดสองข้างถนนนั้น น้ำตาของเขากำลังหยดแปะๆ ลงบนหลังมือของเขาเอง ทหารผู้อยู่ในยูนิฟอร์มอันแสดงว่ากล้าหาญยังร้องไห้เพราะเสียดายประมุขอันเลิศของเขา
<O </O
เสด็จพ่อตรัสเล่าว่าได้โทรเลขไปตามหัวเมืองให้ระวังเหตุการณ์ในตอน
เปลี่ยนแผ่นดิน ได้ตอบมาทุกทางว่าภายในเจ็ดวัน แต่วันสวรรคตนั้นไม่มีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นเลยสักแห่งเดียวในพระราชอาณาจักร ฉะนั้นจึงเข้าใจว่าแม้แต่โจรยังเสียใจหรือตกใจในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราชของเรา

สันติ อภัยราช


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 24, 2011, 06:47:41 pm โดย santi » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!